เครือข่ายพลเมืองเน็ต สนับสนุนให้บังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งฉบับ ตามกำหนด 1 มิ.ย.นี้

2022.05.09 11:00

9 พ.ค. 2565 — เครือข่ายพลเมืองเน็ต สนับสนุนจุดยืนของสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้คณะรัฐมนตรีเดินหน้าบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ทั้งฉบับ ครบทุกมาตรา ตามกำหนดในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นี้ หลังจากเลื่อนมาแล้ว 2 ปี ยืนยันคณะกรรมการและการเตรียมการกฎหมายลำดับรองมีความพร้อมเพียงพอแล้ว

ขอให้บังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ทั้งฉบับ ครบทุกมาตรา ตามกำหนด

เรียน คณะรัฐมนตรี

เครือข่ายพลเมืองเน็ต ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิด้านข้อมูลข่าวสารและสิทธิพลเมืองกับเทคโนโลยี และได้ติดตามการร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลฯ มาโดยตลอดตั้งแต่ร่างฉบับปี พ.ศ. 2552 เห็นว่า พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลฯ พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบันนั้น มีโครงสร้าง หลักการ และเหตุผล ตั้งอยู่บนร่างฉบับปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเสนอโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าว ได้มีการนำร่างฉบับปรับปรุงต่างๆ ที่ตั้งอยู่บนร่างปี พ.ศ. 2558 มาเผยแพร่เพื่อรับฟังความคิดเห็น ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการมาโดยตลอด นับจนถึงปัจจุบัน ผู้ประกอบการและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง มีเวลาได้รับทราบ ว่าจะมีกฎหมายลักษณะดังกล่าวออกมาบังคับใช้แล้วไม่น้อยกว่า 6 ปีเต็ม และได้รับทราบถึงเนื้อหารายมาตราของพ.ร.บ.ฉบับที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษามาแล้วเป็นเวลาเกือบ 3 ปีเต็ม ผู้ประกอบการในฐานะผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้รับประโยชน์จากการใช้ข้อมูลดังกล่าว จึงไม่ควรอ้างถึงความไม่พร้อมในการเตรียมการอีกต่อไป

สำหรับความพร้อมของหน่วยงานกำกับกิจการ ปัจจุบัน คณะกรรมการคุ้มครองส่วนบุคคลได้เริ่มปฏิบัติงานครบทั้งคณะแล้ว หลังประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้รับการสรรหาและอนุมัติแต่งตั้งตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 และวันที่ 11 มกราคม 2565 และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 โดยร่วมประชุมพร้อมกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 และในเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ได้แต่งตั้งประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จึงถือได้ว่าหน่วยงานกำกับกิจการมีความพร้อมแล้ว ทั้งในส่วนของคณะกรรมการหลัก และในส่วนของสำนักงาน

สำหรับความพร้อมของกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่คณะกรรมการยังได้รับแต่งตั้งไม่ครบ สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทำหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามบทเฉพาะกาล ได้ทำงานร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายลำดับรอง จำนวน 3 กลุ่มกฎหมาย โดยได้จัดฟังรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากกลุ่มธุรกิจ 7 กลุ่ม รวม 21 รอบ ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563–ตุลาคม 2564 และได้ร่างพระราชกฤษฎีกา ประกาศ ระเบียบ และข้อบังคับ ที่อยู่ในรูปแบบพร้อมนำไปพิจารณาประกาศใช้ จำนวน 29 ฉบับ ครอบคลุมทุกประเด็นที่จำเป็นตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว เช่น การขอความยินยอม การแจ้งวัตถุประสงค์ บันทึกรายการกิจกรรม การส่งหรือโอนข้อมูลไปยังต่างประเทศ กระบวนการรับเรื่องร้องเรียน ความรับผิดชอบของผู้ประมวลผลข้อมูล ขอบเขตการบังคับและการตั้งตัวแทนในราชอาณาจักร ฯลฯ จึงถือได้ว่ากระบวนการจัดเตรียมกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมแล้ว และหากมีส่วนใดที่ยังไม่สมบูรณ์ก็สามารถประกาศเพิ่มเติมได้หลังพ.ร.บ.ประกาศใช้ไปแล้ว เช่นที่เกิดขึ้นกับกฎหมายในชุดเดียวกันอย่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และพ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562

ในภาวะการใช้ชีวิตแบบใหม่ ซึ่งมีการทำงานและการใช้บริการระยะไกลในปริมาณมากขึ้น รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อมาตรการทางสุขภาพและเพื่อการเดินทางที่จะทวีมากขึ้นเช่นกัน ความจำเป็นที่จะต้องมีกลไกการคุ้มครองข้อมูลที่ครบถ้วนก็มีมากขึ้นตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายพลเมืองเน็ตจึงสนับสนุนจุดยืนของสภาองค์กรของผู้บริโภค และขอให้คณะรัฐมนตรี บังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ทั้งฉบับ ทุกมาตรา ตามกำหนด 1 มิถุนายน 2565 นี้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของข้อมูล และเพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจของธุรกิจไทยในการให้บริการกับลูกค้าต่างประเทศที่ต้องการกลไกคุ้มครองข้อมูลที่ได้มาตรฐานเทียบเท่าสากล

ขอแสดงความนับถือ

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล
ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต
9 พฤษภาคม 2565

อ้างอิง

ติดต่อ

อีเมลผู้ประสานงาน contact@thainetizen.org

Tags: , ,
%d bloggers like this: