2016.03.03 19:06
สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: แอมเนสตี้-เครือข่ายพลเมืองเน็ต-ไอลอว์ ยื่นจดหมายให้ครม.เปิดเผยชุดร่างกฎหมาย “มั่นคงดิจิทัล”/ ยูทูบเปิดตัวเครื่องมือเบลอบางวัตถุในวิดีโอ สนับสนุนความเป็นนิรนาม/ สภากลาโหมเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ไซเบอร์ป้องกันประเทศ/ นักศึกษามหาวิทยาลัยถูกจับกุมฐานขายปืนผ่านเฟซบุ๊ก/ อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทยและอดีตรมว.กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ถูกฝากขัง เหตุโพสต์วิจารณ์รองนายก ฯลฯ
26 กุมภาพันธ์ 2559
แอมเนสตี้-เครือข่ายพลเมืองเน็ต-ไอลอว์ ยื่นจดหมายให้ครม.เปิดเผยชุดร่างกฎหมาย “มั่นคงดิจิทัล”
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง (เครือข่ายพลเมืองเน็ต) และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ร่วมกันยื่นหนังสือต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2559 ที่ผ่านมา ขอให้คณะรัฐมนตรีเปิดเผยร่างกฎหมาย 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงไซเบอร์ฯ อันได้แก่ 1. ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 2. ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) 3. ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้มั่นใจว่าเนื้อหาในร่างกฎหมายดังกล่าวสอดคล้องกับหลักการระหว่างประเทศว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชนกับการสอดแนม และรายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิความเป็นส่วนตัวในยุคดิจิทัล ทั้งนี้ ร่างกฎหมายทั้ง 3 ยังอยู่ในระหว่างการนำมาทบทวนใหม่โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) โดยทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงไอซีทีเคยให้สัมภาษณ์ว่า อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีตั้งเป้าว่าร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลทั้งหมด 8 ฉบับ (รวมถึงร่างพ.ร.บ.ชุด “มั่นคงไซเบอร์” ทั้ง 3 ฉบับนี้) ต้องเข้าสู่กระบวนการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ได้ภายใน มี.ค. 59
ที่มา: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
นักศึกษามหาวิทยาลัยถูกจับกุมฐานขายปืนผ่านเฟซบุ๊ก
ดำรง อุ่นเรือนและพิชชาอร แพทยานนท์ นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งถูกจับกุมฐานขายอาวุธปืนผ่านเฟซบุ๊ก โดยพบหลักฐานเป็นอาวุธในห้องพัก หนึ่งในผู้ต้องหาระบุว่า ตนได้ขายอาวุธผ่านเฟซบุ๊กมาเป็นเวลา 3 เดือนแล้ว และส่งสินค้าให้กับลูกค้าผ่านทางไปรษณีย์ ทั้งคู่ถูกแจ้งข้อหามีอาวุธไว้ในการครอบครอง ปัจจุบันผู้ต้องหาทั้ง 2 อยู่ระหว่างถูกคุมขัง
ที่มา: Bangkok Post
ยูทูบเปิดตัวเครื่องมือเบลอบางวัตถุในวิดีโอ สนับสนุนความเป็นนิรนาม
ยูทูบเปิดตัวเครื่องมือ Custom Blurring ให้ผู้ใช้สามารถเบลอวัตถุบางอย่างในวิดีโอของตนก่อนเผยแพร่ (อาทิ ป้ายทะเบียนรถ บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง สถานที่) ยูทูบให้เหตุผลว่าฟังก์ชันใหม่นี้จะช่วยสนับสนุนความเป็นนิรนาม (anonymity) บนโลกออนไลน์ ฟังก์ชันนี้เปิดให้ใช้งานบนบราวเซอร์เท่านั้น
ที่มา: Blognone
28 กุมภาพันธ์ 2559
สนง.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติแจ้งความ พ.ร.บ.คอม ‘แพทย์-เพจสมาพันธ์แพทย์’ ระบุเผยแพร่ข้อมูลเท็จ
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุ สปสช.เข้าแจ้งความด้วยข้อหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ต่อพนักงานสอบสวนของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) กับผู้ดูแลเว็บไซต์และเจ้าเพจเฟซบุ๊กของสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ที่นำบทความ “โรงพยาบาลล้วนอัตคัตยากแค้นแสนสาหัส แต่ สปสช จะจ่ายโบนัส โดยเอาเงินที่เหลือเข้าสู่หมวดเงินอุดหนุนประชาชนชาวไทยถูกแย่งเงินทุนค่ารักษาพยาบาลอย่างเลือดเย็น” ของ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ซึ่ง สปสช.ระบุเป็นข้อมูลที่เป็นเท็จลงเผยแพร่ ทั้งยังเปลี่ยนแปลงตราสัญญาลักษณ์ของ สปสช. เป็นรูปปรสิตเผยแพร่ประกอบบทความ อันเป็นการใส่ความทำให้ สปสช.เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง สปสช.ยังยื่นฟ้องต่อศาลอาญาฐานหมิ่นประมาทต่อ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ผู้เขียนบทความด้วย
ที่มา: ประชาไท
29 กุมภาพันธ์ 2559
สภากลาโหมเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ไซเบอร์ป้องกันประเทศ
ที่ประชุมสภากลาโหมเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2558 กระทรวงฯ ให้เหตุผลในการเห็นชอบร่างดังกล่าวว่า ภัยคุกคามไซเบอร์ปัจจุบันมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติและถูกใช้เป็นเครื่องมือทางทหารของหลายประเทศ จึงต้องมีการดำเนินการระดับกระทรวงอย่างเป็นระบบและมีเอกภาพ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวมี 3 ประเด็นคือ 1. การป้องกัน (มีหน่วยงานกลางประสานงานในระดับนโยบายความมั่นคงที่ดูแลความปลอดภัยระดับชาติไปสู่กระทรวงกลาโหม, พัฒนาความร่วมมือกับมิตรประเทศ) 2. การป้องปราม (ตั้งศูนย์เฝ้าระวังภัยคุกคามจากไซเบอร์ที่พร้อมดำเนินการเชิงรุกต่อฝ่ายที่เข้าแทรกแซง) 3. ด้านการ “ผนึกกำลังไซเบอร์” พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมเผยว่า ต่อจากนี้จะทำแผนปฏิบัติการในระดับหน่วยต่อไป
ที่มา: เดลินิวส์
1 มีนาคม 2559
สมาคมวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ระบุ เสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
สมาคมวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทยระบุ เสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือไม่อันตรายต่อสุขภาพ เพียงแต่มีผลกระทบในเชิงความร้อนเท่านั้น ด้านฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เผยปัญหาเรื่องการติดตั้งเสาสัญญาณว่า ที่ผ่านมา กสทช.ได้รับร้องเรียนเรื่องอันตรายจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือเป็นจำนวนมาก รวมทั้งถูกต่อต้านการขยายสถานีฐานในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่มาจากความเข้าใจผิดในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ กสทช.มีการตรวจวัดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือให้มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) และจากการตรวจวัดค่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐานจำนวน 40 สถานีพบว่ามีค่าต่ำกว่าขีดจำกัดตามที่มาตรฐานกำหนดไว้มาก
ที่มา: เดลินิวส์
สพธอ.รับสมัครผู้เชี่ยวชาญความปลอดภัยไซเบอร์ 30 อัตรา
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ประกาศรับสมัครผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์ 30 อัตรา มีหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานรัฐและเอกชนในการตรวจสอบความปลอดภัยของอุปกรณ์และซอฟต์แวร์, บริหารโครงสร้างความมั่นคงไซเบอร์, ออกแบบความปลอดภัย, รักษาความมั่นคงปลอดภัยให้โครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ, เฝ้าระวัง วิเคราะห์ แก้ไข เหตุการณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ รวมทั้ง “การคุ้มครองข้อมูล” (data protection), เฝ้าระวังช่องโหว่ที่มีการประกาศโดยหน่วยงานต่างๆ ตำแหน่งดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับสำนักความมั่นคงปลอดภัย
ที่มา: Blognone, ข่าวรับสมัครงาน เว็บไซต์สพธอ.
2 มีนาคม 2559
อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทยและอดีตรมว.กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ถูกฝากขัง เหตุโพสต์วิจารณ์รองนายก
วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทยและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถูกทหารเชิญตัวจากบ้านพักเพื่อเข้า มทบ.11 เพื่อสอบถามและปรับทัศนคติ หลังโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่ากล่าวถึงยิ่งลักษณ์ ชินวัตรโดยใช้คำพูดไม่เหมาะสม ก่อนถูกปล่อยตัวพร้อมแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 ในกลางดึกคืนวันเดียวกัน ล่าสุด วันที่ 3 มี.ค. 59 วัฒนาผู้ถูกนำตัวมาขังที่ศาลอาญากรุงเทพให้ในข้อหา ‘นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” โดยขออนุญาตฝากขังมีกำหนด 12 วัน
ที่มา: ประชาไท
Tags: Amnesty International Thailand, anonymity, Computer-related Crime Act, Custom Blurring, cybersecurity, cyberwarfare, defamation, Digital Weekly, Electronic Transactions Development Agency, Facebook, gun, health, iLaw, National Broadcasting and Telecommunications Commission, National Cybersecurity Bill, national security, Personal Data Protection Bill, privacy, telecom, Thai Netizen Network, YouTube, กระทรวงกลาโหม, กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ, ร่างยุทธศาสตร์ไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2558, สภากลาโหม, สมาคมวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ