2013.05.20 15:27
ส่วนหนึ่งจากรายงานประจำปีของเครือข่ายพลเมืองเน็ตปี 2555 ซึ่งจะเผยแพร่เร็วๆ นี้ พร้อมกับให้ดาวน์โหลดทาง thainetizen.org
ในปี 2555 พบว่ามีคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่มีความเคลื่อนไหวจำนวน 9 คดี และมีคดีที่สืบเนื่องมาจากปีก่อน ยังไม่สิ้นสุดแต่ไม่มีความเคลื่อนไหวในปี 2555 จำนวน 3 คดี ขณะที่ไม่มีคดีใหม่เกิดขึ้น และรับรู้ในวงกว้างเลย นอกจากนี้ยังไม่พบรายงานข่าวการจับกุมคนเพิ่ม ด้วยข้อหาที่พ่วงกันระหว่าง มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
ความเคลื่อนไหวทั้งหมดในปีนี้จึงเป็นการพิจารณาคดีและตัดสินคดีที่ดำเนินต่อเนื่องมาจากปีก่อนๆ ผลการพิจารณาคดีในภาพรวมเป็นไปในทางที่ไม่เป็นคุณกับผู้ถูกกล่าวหา ดังเช่นที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด แต่หากจะพยายามมองโลกในแง่ดี ก็สามารถพูดได้ว่า “ไม่เลวร้ายลงกว่าเดิม” และยังมีข่าวดีจากอย่างน้อยหนึ่งคดี ที่ผู้ถูกกล่าวหาถูกฟ้องตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และศาลชั้นต้นสั่งยกฟ้อง ซึ่งนับเป็นดคีที่ 2 ของคดีลักษณะนี้ที่ศาลสั่งยกฟ้อง นับตั้งแต่ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ถูกบังคับใช้ในปี 2550
ตารางแสดงความเคลื่อนไหวของคดีที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในปี 2555 (สงวนนามสกุลผู้ถูกกล่าวหาด้วยความผิดเรื่องเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เพื่อป้องกันไม่ให้เขาและครอบครัวได้รับผลกระทบจากการถูกคุกคาม อาจยกเว้นในเพียงบางกรณีที่นามสกุลของผู้ต้องหา/จำเลยเป็นที่รับรู้ในวงกว้างอยู่แล้ว)
# | จำเลย | ข้อหาตามพ.ร.บ.คอมฯ | ข้อหาอื่นตามประมวลกม.อาญา | ประเภทความผิด | ปรากฏที่ | ชั้นในกระบวนการยุติธรรม (ล่าสุด) |
---|---|---|---|---|---|---|
1) | นายสุรภักดิ์ ภ. | 14 | 112 | เนื้อหา (สถาบัน) | เฟซบุ๊ก | ศาลชั้นต้นยกฟ้อง |
2) | นายสงคราม ฉิมเฉิด | 14(1) | 326, 328 | เนื้อหา | อีเมล | ศาลชั้นต้นยกฟ้อง |
3) | นายโจ กอร์ดอน | 14(3), 14(5) | 112, 116(3) | เนื้อหา (สถาบัน) | บล็อก | ได้รับพระราชทานอภัยโทษ |
4) | นายอำพล ต. | 14(2), 14(3) | 112 | เนื้อหา (สถาบัน) | เอสเอ็มเอส | เสียชีวิตระหว่างรับโทษ |
5) | นายธันย์ฐวุฒิ ท. | 14(3), 14(4), 15 | 112 | เนื้อหา (สถาบัน) | เว็บไซต์ | กำลังรับโทษและขอพระราชทานอภัยโทษ |
6) | น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร | 15 | – | เนื้อหา (สถาบัน) | เว็บบอร์ด | ศาลอุทธรณ์ |
7) | นายสุรพศ ท. | 14(3) | 112 | เนื้อหา (สถาบัน) | เว็บไซต์ข่าว | ชั้นสอบสวน |
8) | นายณัฐ ส. | 14(2), 14(3), 14(4), 14(5) | 112 | เนื้อหา (สถาบัน) | ยูทูบ | ได้รับการพักโทษ |
9) | นายภาณุพัฒน์ เพ็ญพัฒน์ฤกษ์เสริมสุข | 5, 7, 9 | 269/5, 269/7, 334, 335 | ระบบ | – | ศาลชั้นต้นตัดสินว่าผิด |
10) | นายคธา ป. | 14(2) | – | เนื้อหา (สถาบัน) | เว็บบอร์ด | ศาลชั้นต้นตัดสินว่าผิด |
11) | นายอิบราฮิม ฟ. | 14(2), 14(3) | 112 | เนื้อหา (สถาบัน) | เว็บบอร์ด | ศาลอุทธรณ์ |
12) | นายชนินทร์ ค. | 14 (3) | 112 | เนื้อหา (สถาบัน) | เฟซบุ๊ก | ศาลชั้นต้น |
13) | นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา | 14(1) | – | เนื้อหา | เฟซบุ๊ก | อัยการ |
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมแต่ละคดีได้ที่ ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โดย ไอลอว์
ส่วนสถานการณ์การปิดกั้นเว็บไซต์นั้น ในปี 2555 มีการระงับการเผยแพร่เนื้อหา หรือการปิดเว็บไซต์โดยอาศัยมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ผ่านคำสั่งศาล 161 ฉบับ รวมจำนวนทั้งสิ้น 20,978 ยูอาร์แอล โดยอ้างเหตุผลในการปิดกั้น 3 กรณี อันดับ 1 คือ เนื้อหาและภาพดูหมิ่น หมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท มีการระงับการเข้าถึง 16,701 ยูอาร์แอล คิดเป็นกว่า 79 % ของยูอาร์แอลที่ถูกระงับทั้งหมด อันดับ 2 เนื้อหาและภาพลามกอนาจาร มีการระงับการเข้าถึง 4,061 ยูอาร์แอล คิดเป็นกว่า 19 % และ อันดับ 3 เหตุผลอื่นๆ มีการระงับการเข้าถึง 216 ยูอาร์แอล คิดเป็นประมาณ 1 %
การปิดกั้นเนื้อหาประเภทอื่นที่พบใหม่ในปี 2555 เช่น การปิดกั้นคลิปตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง Innocence of Muslims บนเว็บไซต์ยูทูป ที่มีเนื้อหาล้อเลียนศาสดามุฮัมมัดของศาสนาอิสลาม และการปิดกั้นประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 บนเว็บไซต์นิติราษฎร์ การปิดกั้นส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปในลักษณะที่ไม่มีความโปร่งใส ไม่ชัดเจน และไม่มีความสม่ำเสมอในแต่ละผู้ให้บริการ (เช่น เว็บไซต์สามารถเข้าถึงได้จากไอเอสพี ก. แต่ไม่สามารถเข้าถึงได้จากไอเอสพี ข.) ทำให้ทั้งประชาชนผู้ใช้เน็ตและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ต่างไม่ได้รับความสะดวก ทั้งจากการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลและการไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเมื่อใดจะถูกปิดกั้น
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ในรายงานฉบับเต็ม เร็วๆ นี้
Tags: 2012, Computer-related Crime Act, freedom of expression, lese majeste, Netizen Report