Thai Netizen Network

สรุปภาพรวมเสรีภาพในการแสดงออกบนอินเทอร์เน็ตปี 2555

courtesy to NathanaeIB on Flickr

ส่วนหนึ่งจากรายงานประจำปีของเครือข่ายพลเมืองเน็ตปี 2555 ซึ่งจะเผยแพร่เร็วๆ นี้ พร้อมกับให้ดาวน์โหลดทาง thainetizen.org

ในปี 2555 พบว่ามีคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่มีความเคลื่อนไหวจำนวน 9 คดี และมีคดีที่สืบเนื่องมาจากปีก่อน ยังไม่สิ้นสุดแต่ไม่มีความเคลื่อนไหวในปี 2555 จำนวน 3 คดี ขณะที่ไม่มีคดีใหม่เกิดขึ้น และรับรู้ในวงกว้างเลย นอกจากนี้ยังไม่พบรายงานข่าวการจับกุมคนเพิ่ม ด้วยข้อหาที่พ่วงกันระหว่าง มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ความเคลื่อนไหวทั้งหมดในปีนี้จึงเป็นการพิจารณาคดีและตัดสินคดีที่ดำเนินต่อเนื่องมาจากปีก่อนๆ ผลการพิจารณาคดีในภาพรวมเป็นไปในทางที่ไม่เป็นคุณกับผู้ถูกกล่าวหา ดังเช่นที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด แต่หากจะพยายามมองโลกในแง่ดี ก็สามารถพูดได้ว่า “ไม่เลวร้ายลงกว่าเดิม” และยังมีข่าวดีจากอย่างน้อยหนึ่งคดี ที่ผู้ถูกกล่าวหาถูกฟ้องตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และศาลชั้นต้นสั่งยกฟ้อง ซึ่งนับเป็นดคีที่ 2 ของคดีลักษณะนี้ที่ศาลสั่งยกฟ้อง นับตั้งแต่ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ถูกบังคับใช้ในปี 2550

ตารางแสดงความเคลื่อนไหวของคดีที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในปี 2555 (สงวนนามสกุลผู้ถูกกล่าวหาด้วยความผิดเรื่องเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เพื่อป้องกันไม่ให้เขาและครอบครัวได้รับผลกระทบจากการถูกคุกคาม อาจยกเว้นในเพียงบางกรณีที่นามสกุลของผู้ต้องหา/จำเลยเป็นที่รับรู้ในวงกว้างอยู่แล้ว)

# จำเลย ข้อหาตามพ.ร.บ.คอมฯ ข้อหาอื่นตามประมวลกม.อาญา ประเภทความผิด ปรากฏที่ ชั้นในกระบวนการยุติธรรม (ล่าสุด)
1) นายสุรภักดิ์ ภ. 14 112 เนื้อหา (สถาบัน) เฟซบุ๊ก ศาลชั้นต้นยกฟ้อง
2) นายสงคราม ฉิมเฉิด 14(1) 326, 328 เนื้อหา อีเมล ศาลชั้นต้นยกฟ้อง
3) นายโจ กอร์ดอน 14(3), 14(5) 112, 116(3) เนื้อหา (สถาบัน) บล็อก ได้รับพระราชทานอภัยโทษ
4) นายอำพล ต. 14(2), 14(3) 112 เนื้อหา (สถาบัน) เอสเอ็มเอส เสียชีวิตระหว่างรับโทษ
5) นายธันย์ฐวุฒิ ท. 14(3), 14(4), 15 112 เนื้อหา (สถาบัน) เว็บไซต์ กำลังรับโทษและขอพระราชทานอภัยโทษ
6) น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร 15 เนื้อหา (สถาบัน) เว็บบอร์ด ศาลอุทธรณ์
7) นายสุรพศ ท. 14(3) 112 เนื้อหา (สถาบัน) เว็บไซต์ข่าว ชั้นสอบสวน
8) นายณัฐ ส. 14(2), 14(3), 14(4), 14(5) 112 เนื้อหา (สถาบัน) ยูทูบ ได้รับการพักโทษ
9) นายภาณุพัฒน์ เพ็ญพัฒน์ฤกษ์เสริมสุข 5, 7, 9 269/5, 269/7, 334, 335 ระบบ ศาลชั้นต้นตัดสินว่าผิด
10) นายคธา ป. 14(2) เนื้อหา (สถาบัน) เว็บบอร์ด ศาลชั้นต้นตัดสินว่าผิด
11) นายอิบราฮิม ฟ. 14(2), 14(3) 112 เนื้อหา (สถาบัน) เว็บบอร์ด ศาลอุทธรณ์
12) นายชนินทร์ ค. 14 (3) 112 เนื้อหา (สถาบัน) เฟซบุ๊ก ศาลชั้นต้น
13) นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา 14(1) เนื้อหา เฟซบุ๊ก อัยการ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมแต่ละคดีได้ที่ ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โดย ไอลอว์

ส่วนสถานการณ์การปิดกั้นเว็บไซต์นั้น ในปี 2555 มีการระงับการเผยแพร่เนื้อหา หรือการปิดเว็บไซต์โดยอาศัยมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ผ่านคำสั่งศาล 161 ฉบับ รวมจำนวนทั้งสิ้น 20,978 ยูอาร์แอล โดยอ้างเหตุผลในการปิดกั้น 3 กรณี อันดับ 1 คือ เนื้อหาและภาพดูหมิ่น หมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท มีการระงับการเข้าถึง 16,701 ยูอาร์แอล คิดเป็นกว่า 79 % ของยูอาร์แอลที่ถูกระงับทั้งหมด อันดับ 2 เนื้อหาและภาพลามกอนาจาร มีการระงับการเข้าถึง 4,061 ยูอาร์แอล คิดเป็นกว่า 19 % และ อันดับ 3 เหตุผลอื่นๆ มีการระงับการเข้าถึง 216 ยูอาร์แอล คิดเป็นประมาณ 1 %

การปิดกั้นเนื้อหาประเภทอื่นที่พบใหม่ในปี 2555 เช่น การปิดกั้นคลิปตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง Innocence of Muslims บนเว็บไซต์ยูทูป ที่มีเนื้อหาล้อเลียนศาสดามุฮัมมัดของศาสนาอิสลาม และการปิดกั้นประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 บนเว็บไซต์นิติราษฎร์ การปิดกั้นส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปในลักษณะที่ไม่มีความโปร่งใส ไม่ชัดเจน และไม่มีความสม่ำเสมอในแต่ละผู้ให้บริการ (เช่น เว็บไซต์สามารถเข้าถึงได้จากไอเอสพี ก. แต่ไม่สามารถเข้าถึงได้จากไอเอสพี ข.) ทำให้ทั้งประชาชนผู้ใช้เน็ตและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ต่างไม่ได้รับความสะดวก ทั้งจากการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลและการไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเมื่อใดจะถูกปิดกั้น

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ในรายงานฉบับเต็ม เร็วๆ นี้

Exit mobile version