2010.11.10 18:31
เครือข่ายพลเมืองเน็ต ร่วมกับ ภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ และ ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเชิญเข้าร่วมงานสัมมนาสาธารณะ “การเมืองเรื่องอินเทอร์เน็ตและภาระของตัวกลาง”
วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน 2553 เวลา 9.00 – 16.30 น.
ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่า คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ประตูฝั่งถนนอังรีดูนังต์) [แผนที่]
(English version)
ความเป็นมา
ตั้งแต่การบังคับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ส่งผลให้เกิดปัญหาในเรื่องของผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง ทั้งในเรื่องของความคลุมเครือในแนวทางการปิดกั้นเว็บไซต์ หรือ การจับกุมผู้ให้บริการและผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโดยขาดความชัดเจนของกรอบการใช้กฎหมาย ทั้งนี้ในตัวบทของกฎหมายดังกล่าวดังกล่าวและระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องก็สะท้อนถึงปัญหาเช่นกันเช่น อาทิการให้คำจำกัดความของเนื้อหาที่ผิดกฎหมายอย่างกว้างโดยปราศจากคำนิยามที่ชัดเจนในทางปฏิบัติ จนนำไปสู่การบังคับใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองค่อนข้างมากในหลายกรณี โดยเฉพาะอย่างนี้ตัวบทในมาตรา 15 ที่ระบุถึงการรับผิดของตัวกลางหรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรวมถึงผู้ดูแลเว็บไซต์ต่างๆด้วย แม้จะไม่ได้เป็นผู้เขียนข้อความต่างๆด้วยตนเองแต่ถ้าเกิดความไม่รู้เท่าทันในการกำกับดูแลเนื้อหาทั้งหมดในเว็บไซต์ซึ่งมีจำนวนมากก็อาจทำให้ต้องมีความผิดอย่างร้ายแรงไปด้วยโดยปราศจากระบวนการต่างมีความรัดกุมพอในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งต่างจากแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานสากลของหลายประเทศที่มีความชัดเจนมากกว่าในการใช้กฎหมายเพื่อการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตโดยเพาะการต้องมีการปกป้องตัวกลางทั้งในฐานะ สื่อ และ พื้นที่ในการแสวงหาข้อมูลข่าวสาร ความคิดเห็น ความรู้ และการแสดงออกของพลเมือง
ดังนั้นที่ผ่านมาองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิเสรีภาพสื่ออินเทอร์เน็ต อาทิ เครือข่ายพลเมืองเน็ต ได้มีข้อเสนอให้มีการพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ดังนี้
-
พิจารณาและปฏิบัติกับ “ตัวกลาง” ในฐานะที่เป็นเพียงทางผ่านของข้อมูล (ท่อ) หรือเป็นเพียงที่พักข้อมูลแบบอัตโนมัติ (cache/buffer) และเข้าใจถึงธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตที่ข้อมูลไหลผ่านตัวกลางอย่างรวดเร็ว จนไม่อาจกลั่นกรองหรือควบคุมได้ในทางที่คุ้มค่าและไม่ก่อให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์
-
ถือว่าตัวกลางนั้นบริสุทธิ์โดยปริยาย (by default) โดยตระหนักว่าตัวกลางนั้นเป็นเพียงทางผ่านของข้อมูลเท่านั้น จนกว่าจะมีหลักฐานให้เชื่อได้ว่า ตัวกลางมีเจตนาสนับสนุนหรือสมรู้ร่วมคิดในการกระทำความผิด และจึงนำมาสู่การพิสูจน์ในชั้นศาล
-
หากศาลยังไม่ตัดสินว่า ข้อความที่เป็นปัญหานั้นผิดกฎหมายจริง และ/หรือ ผู้กระทำการตามมาตรา 14 (ผู้โพสต์ข้อความ) มีความผิดจริง จะยังเริ่มดำเนินคดีกับตัวกลางตามมาตรา 15 ไม่ได้
-
หากศาลตัดสินแล้วว่า ตัวกลางมีเจตนากระทำความผิดจริง โทษที่ตัวกลางต้องรับ จะต้องมีการแยกแยะแตกต่างหนักเบา ระหว่าง ทำเอง, สนับสนุน, ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ฯลฯ ตามหลักสัดส่วน
-
ต้องมีการบัญญัติข้อกำหนดลายลักษณ์อักษรเป็นกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ว่าด้วยหลักการแจ้งลบข้อความที่ผิดกฎหมาย (notice and takedown procedure) เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัย (safe harbour) ให้กับตัวกลาง เช่น เมื่อผู้ดูแลเว็บได้รับจดหมายจากเจ้าหน้าที่ว่ามีข้อความผิดกฎหมาย แล้วไม่ลบภายในเวลาอันสมเหตุผลตามที่กำหนด จึงอาจถูกพิจารณาว่ามีความผิด
จากปัญหาและข้อเสนอดังกล่าวเห็นได้ว่ามีความน่าสนใจในทางวิชาการทั้งในแง่มุมทางรัฐศาสตร์และสื่อมวลชนเป็นอย่างยิ่งเพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแสวงหาแนวทางที่เหมาะสมในการบังคับใช้กฎหมายที่สอดคล้องกับสถานการณ์และไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ดังนั้นทางศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ และภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมกับเครือข่ายพลเมืองเน็ต จัดเวทีสัมมนาสาธารณะครั้งนี้ขึ้นเพื่อเปิดเวทีให้การพูดคุยแลกเปลี่ยนทางวิชาการ โดยการเปิดเวทีให้นักวิชาการ สาธารณชน สื่อมวลชน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ร่วมกันของสังคมต่อไป
วัตถุประสงค์
- เปิดเวทีแลกเปลี่ยนทางวิชาการในประเด็นเรื่องอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวกับการเมืองและเสรีภาพสื่อ โดยเฉพาะบทบาทของอินเทอร์เน็ตในฐานะที่เป็นตัวกลางในการสื่อสาร
- สร้างการเรียนรู้สาธารณะ สำหรับการศึกษาวิจัยเรื่องเกี่ยวกับการเมือง สื่อสารมวลชน และอินเทอร์เน็ตในฐานะตัวกลางการสื่อสารทางการเมืองและสังคม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักสากล
- ระดมความคิดเห็นและข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆในเรื่องการเมืองที่ส่งผลต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างสมดุลในเรื่องของการธำรงเสรีภาพและความมั่นคงของชาติ
กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 50 คน
- นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กฎหมาย และสื่อสารมวลชน
- นักกิจกรรมทางสังคม
- ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
- ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต
- สื่อมวลชน
- สาธารณชน
กำหนดการ
(มีล่ามแปลสด ภาษาไทยและอังกฤษ ตลอดการสัมมนาและซักถาม)
8.30 น. ลงทะเบียน
9.00 น. กล่าวเปิดงานโดย ศ.ดร. อนุสรณ์ ลิ่มมณี รักษาการหัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
9.30 น. นำเสนอรายงานเรื่อง “การปิดกั้นและกลั่นกรองเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตภายหลังการรัฐประหารปี 2549” โดย ผศ.ดร. พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
10.00 – 12.00 น. นำวิจารณ์และอภิปรายโดย
- ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานชมรมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
- สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการฝ่ายศึกษาวิจัยด้านจริยธรรมกฎหมายและผลกระทบทางสังคมของเทคโนโลยีสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
- อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต
- ทิวสน สีอุ่น เครือข่ายพลเมืองเน็ต
12.00 – 13.00 น. พักกลางวัน
13.00 – 14.00 น. เวทีอภิปราย “พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ กับการเมืองเรื่องอินเทอร์เน็ต”
- ดร. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ดร. สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- สฤณี อาชวานันทกุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต
- ดำเนินรายการโดย อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ Siam Intelligence Unit (SIU)
14.00 – 14.15 น. พักของว่าง เครื่องดื่ม
14.15 – 16.30 น. เวทีอภิปราย “อินเทอร์เน็ตกับภาระของตัวกลาง บทเรียนไทยและสากล”
- สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการฝ่ายศึกษาวิจัยด้านจริยธรรมกฎหมายและผลกระทบทางสังคมของเทคโนโลยีสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สวทช.
- จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท www.prachatai.com
- วันฉัตร ผดุงรัตน์ ผู้ก่อตั้งและผู้ดูแลเว็บบอร์ดพันทิปดอตคอม www.pantip.com
- นิรันดร์ เยาวภา บรรณาธิการเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ www.manager.co.th
- ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ผู้ก่อตั้งและเว็บมาสเตอร์ เอ็กซ์ทีน www.exteen.com
- มรกต กุลธรรมโยธิน นายกสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย (TISPA) และรองกรรมการผู้จัดการบริษัทอินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน)
- Asst.Prof. Lokman Tsui ภาควิชาสื่อและการสื่อสาร City University of Hong Kong ตัวแทนจากฝ่ายนโยบายสาธารณะ Google
- *ตัวแทนจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
- ดำเนินรายการโดย สุภิญญา กลางณรงค์ เครือข่ายพลเมืองเน็ต