อย่าลืมฉัน! ชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล-มั่นคงไซเบอร์ เข้าสนช.ภายในมี.ค.นี้

2016.02.25 15:23

เตรียมรับมือชุดกฎหมายมั่นคงดิจิทัล กระทรวงไอซีทีขีดเส้นตาย “ร่างพ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์-คอมพิวเตอร์-คุ้มครองข้อมูล” พร้อมร่างกฎหมายเศรษฐฏิจดิจิทัลที่เหลือทุกฉบับต้องเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติภายในเดือนมีนาคม เพื่อให้ทันบังคับใช้จริงภายในปี 2559 นี้

ห่วง “Single Gateway”-“กฎอัยการศึกไซเบอร์” แฝงรูป

  • ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ร่างใหม่จากกฤษฎีกา – เพิ่มมาตรา 14/1 เพิ่มบทลงโทษเนื้อหาด้านความมั่นคง-ตื่นตระหนก ทำให้ยังเปิดช่องให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือปราบปรามผู้เห็นต่าง
  • ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลฯ ร่างใหม่จากกฤษฎีกาคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่เป็นอิสระ มีแนวโน้มทำงานคุ้มครองไม่ได้จริง เนื่องจากทำงานใต้โครงสร้างกระทรวง และต้องพึ่งพาสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ อย่างมาก (ตามมาตรา 16) นอกจากนี้กรรมการยังมาจากหน่วยงานรัฐในสัดส่วนสูง ทำงานไม่เต็มเวลา และอาจมีประโยชน์ขัดกัน
  • ร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ยังไม่มีร่างใหม่ให้ประชาชนเห็น ทั้งที่ใกล้ส่งเข้าสนช.แล้ว
  • ที่ผ่านมามีการจัดตั้งคณะทำงาน-จัดซื้อเครื่องมือดักรับข้อมูลจริง เช่น กระทรวงไอซีทีแต่งตั้งคณะทำงานทดสอบระบบเฝ้าติดตามสื่อออนไลน์ ประสานงานกับ International Internet Gateway เพื่อหาทางดูข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสลับ (คำสั่งก.ไอซีที ที่ 163/2557 15 ธ.ค. 2557) เอกสารยืนยันจากผู้ผลิตว่าผลิตภัณฑ์ควบคุมและดักรับข้อมูลกำลังถูกจัดส่งมา ประเทศไทย (Hacking Team, มิ.ย. 2558) และปอท.ประกาศจัดซื้อระบบติดตามข้อมูลสังคมออนไลน์อัตโนมัติ (19 ม.ค. 2559) ร่างมาตรา 33, 34 และ 35 ของพ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์จะช่วยให้ใช้เครื่องมือเหล่านี้ได้ถูกกฎหมายสะดวกขึ้น
  • รัฐบาลมีแนวโน้มจะลัดข้ามกระบวนการตรวจสอบ เช่น คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ขอให้กูเกิลพิจารณาลบเว็บไซต์ที่มีเนื้อหากระทบความมั่นคง โดยไม่ต้องรอคำสั่งศาล

เส้นเวลาความคืบหน้าร่างกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล (25 ก.พ. 2559)

ไทม์ไลน์การเดินทางของร่างกฎหมายดิจิทัลทั้งชุด

16 ธ.ค. 2557

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการร่างกฎหมายดิจิทัล 2 ฉบับแรก [1] ได้แก่

  • ร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. ….
  • ร่างพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

18 ธ.ค. 2557

ร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. …. เข้าสู่กระบวนการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา [2]

6 ม.ค. 2558

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการร่างกฎหมายดิจิทัลอีก 8 ฉบับที่เหลือ [3] ได้แก่

  • ร่างพ.ร.บ.ชุด “มั่นคงไซเบอร์” 3 ฉบับ:
    • ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ….
    • ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. …. (ฉบับกระทรวงไอซีทีเป็นผู้เสนอ)**
    • ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
  • ร่างพ.ร.บ.อื่นๆ ด้านจัดสรรทรัพยากรและจัดตั้งโครงสร้างหน่วยงานอีก 5 ฉบับ:
    • ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ. ….
    • ร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ….
    • ร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ร่างพ.ร.บ.กสทช.)
    • ร่างพ.ร.ฎ.จัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
    • ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

**ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. …. ยังมีอีกฉบับ ซึ่งสำนักปลัดนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ คณะรัฐมนตรีเคยอนุมัติให้ส่งร่างดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในปี 2557 ทว่าเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ถอนร่างดังกล่าวออก ฉะนั้น ในไทม์ไลน์นี้ เมื่อพูดถึง ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะหมายถึงร่างฉบับที่กระทรวงไอซีทีเป็นผู้เสนอเท่านั้น

9 ม.ค. 2558

ร่างพ.ร.บ.ต่อไปนี้ เข้าสู่กระบวนการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

  • ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. [4]
  • ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ….
  • ร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. [5]
  • ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. [6]
  • ร่างพ.ร.ฎ.จัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (เปลี่ยนหลักการเป็น ร่างพ.ร.บ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ….)  [7]
  • ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ. ….***
  • ร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ….***

***ร่างพ.ร.บ. 2 ฉบับนี้ถูกรวมหลักการกับร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. …. เป็น “ร่างพ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ….” [8]

9 ก.พ. 2558

ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. …. (ฉบับกระทรวงไอซีทีเป็นผู้เสนอ) เข้าสู่กระบวนการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา [9]

พ.ค. 2558

คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจแก้ร่างพ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. …. เสร็จ [10]

16 มิ.ย.2558

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. …. (รวม 3 ร่าง) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเสร็จแล้ว [11]

มิ.ย. 2558 (ไม่ระบุวัน)

คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจแก้ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสร็จ [12]

ก.ค. 2558

คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจแก้ร่างพ.ร.บ.ดังต่อไปนี้เสร็จ:

  • ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. …. [13]
  • ร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. [14]
  • ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. [15]
  • ร่างพ.ร.บ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. [16]

8 ก.ย. 2558

คณะรัฐมนตรีให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) นำร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. …. กลับไปทบทวนร่วมกับคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้ง [17]

ภายใน มี.ค.2559 (คาดว่า)

ทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) ให้สัมภาษณ์ว่า อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีตั้งเป้าว่าร่างกฎหมายดิจิทัลทั้งหมด 8 ฉบับ (รวมถึงร่างพ.ร.บ.ชุด “มั่นคงไซเบอร์” ทั้ง 3 ฉบับ) ต้องเข้าสู่กระบวนการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ได้ภายใน มี.ค. 2559 [18]

ภายในปลายปี 2559 (คาดว่า)

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเผยว่า ร่างกฎหมายดิจิทัลทั้ง 8 ฉบับ (รวมถึงร่างพ.ร.บ.ชุด “มั่นคงไซเบอร์” ทั้ง 3 ฉบับ) จะออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายภายในสิ้นปี 2559 [19]

สรุปสถานะปัจจุบันของร่างกฎหมาย

ตารางความคืบหน้าร่างกฎหมายดิจิทัล (25 ก.พ. 2559)

ชุดร่างพ.ร.บ. “มั่นคงไซเบอร์” 3 ฉบับ [20]:

  • ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. …. — ยังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และอยู่ระหว่างการนำมาทบทวนของกระทรวงไอซีที
  • ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. — คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการนำมาทบทวนของกระทรวงไอซีที
  • ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. …. — คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการนำมาทบทวนของกระทรวงไอซีที

ร่างพ.ร.บ.อื่นๆ อีก 5 ฉบับ:

  • ร่างพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. — คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจเสร็จแล้ว -> คณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบร่างแล้ว -> สภานิติบัญญัติรับหลักการแล้ว -> ขณะนี้อยู่ระหว่างคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างฯ ก่อนจะส่งให้สภานิติบัญญัติพิจารณารายมาตราและเห็นชอบร่างฯ และถ้าผ่านก็จะประกาศใช้เป็นกฎหมาย [21]
  • ร่างพ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. …. — คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการนำมาทบทวนของกระทรวงไอซีที
  • ร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. — คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการนำมาทบทวนของกระทรวงไอซีที
  • ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. — คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการนำมาทบทวนของกระทรวงไอซีที
  • ร่างพ.ร.บ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. — กระทรวงไอซีทีนำกลับมาพิจารณาทบทวน [22]

เวลาใกล้เข้ามาแล้ว อย่าลืมฉันล่ะ!

อ่านเพิ่มเติม

อ้างอิง

Tags: , , , , , , , , , , ,
%d bloggers like this: