2015.12.21 20:11
สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: จับผู้โพสต์แผนผังการทุจริตโครงการราชภักดิ์-คลิกไลก์ภาพหมิ่น/ รมว.มหาดไทย ยันไม่ใส่ ‘อาชีพ-รายได้’ บนบัตรประชาชนและไมโครชิป/ เฟซบุ๊กปรับวิธีรายงานปัญหาชื่อปลอม-อธิบายเหตุผลที่เลือกใช้ชื่อง่ายขึ้น/ ‘ศูนย์ทนายสิทธิ’ จัดทำคำแนะนำหากถูกคุมตัวจากการโพสต์-แชร์ข้อความในโซเชียลมีเดีย/ ดีแทคจับมือมูลนิธิวิกิมีเดีย เปิดตัว “Wikipedia Zero” ฯลฯ
8 ธันวาคม 2558
จับผู้โพสต์แผนผังการทุจริตโครงการราชภักดิ์-คลิกไลก์ภาพหมิ่น
ฐนกร ศิริไพบูลย์ ผู้ก่อตั้งเพจเฟซบุ๊ก “สถาบันคนเสื้อแดงแห่งชาติ” ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ก่อนที่ต่อมาจะถูกแจ้งข้อหากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 จากการกระทำ 3 เหตุการณ์ ได้แก่ 1. กดไลก์รูปภาพในเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาเป็นการดูหมิ่นสถาบันฯ 2. คัดลอกและแชร์รูปภาพประชดเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยงในเฟซบุ๊ก และ 3. คัดลอกและแชร์รูปภาพแผงผังเปิดโปงทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งเกี่ยวพันกับผู้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาล รวมทั้งนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและภรรยา โดยเหตุการณ์หลังถูกกล่าวหาว่าซึ่งเป็นการต่อต้านการทำงานของรัฐและปลุกปั่นยุยงให้เกิดความไม่สงบ ศาลทหารได้ออกหมายจับเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.58
เจ้าหน้าที่สืบสวนยังเตรียมดำเนินคดีกับแอดมินของกรุ๊ปดังกล่าวซึ่งมีจำนวนกว่า 20 คน และรวบรวมรายชื่อเจ้าของเฟซบุ๊กที่เป็นสมาชิกเพจดังกล่าวที่กดถูกใจและแชร์ข้อความหรือรูปภาพที่ไม่เหมาะสมเอาไว้ทั้งหมดแล้ว และฝ่ายกฎหมายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะดำเนินการจับกุมบุคคลที่ทำผิดกฎหมาย
ด้านพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า การกดไลก์และกดแชร์เป็นการกระทำความผิดซ้ำ มีเจตนาประสงค์ต่อผลที่จะเกิดขึ้นจึงเข้าข่ายการกระทำความผิด
ที่มา: Bangkok Post, มติชนออนไลน์, ประชาไท
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินส่งหนังสือถึงทีโอที แนะให้ฟ้องศาลเรื่องคลื่น 900 MHz โดยเร็ว
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) แจ้งผลวินิจฉัยข้อร้องเรียนของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทีโอที สำนักงานผู้ตรวจการฯ ระบุว่า ทีโอทีเป็นผู้มีสิทธิ์ในคลื่นความถี่ดังกล่าว และได้ขอให้ทีโอทีและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรีบปกป้องสิทธิ์โดยชอบธรรมของตัวเอง ด้วยการฟ้องศาลปกครอง เนื่องจากเป็นผู้เสียหายโดยตรง หากทีโอทีเพิกเฉย ผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะถือว่าผู้บริหารของทีโอทีทุกคนมีความผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ต่อไป อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.มีการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ตามกำหนดและได้ผู้ชนะคือ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ และบริษัททรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น
ที่มา: Blognone, โพสต์ทูเดย์
14 ธันวาคม 2558
ดีแทคจับมือมูลนิธิวิกิมีเดีย เปิดบริการแบบซีโรเรตติ้ง “Wikipedia Zero”
ดีแทคร่วมกับมูลนิธิวิกิมีเดีย และอาสาสมัครชุมชนวิกิพีเดียประเทศไทย เปิดบริการ “Wikipedia Zero” ให้ลูกค้าดีแทคสามารถใช้งานวิกิพีเดียผ่านโทรศัพท์มือถือโดยไม่เสียค่าบริการ ทั้งนี้ Wikipedia Zero เปิดให้บริการใน 63 ประเทศทั่วโลกกับผู้ให้บริการทางมือถือ 72 ราย สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันดีแทคเป็นผู้บริการรายแรกและรายเดียวที่เปิดให้บริการนี้ อนึ่ง บริการ “Wikipedia Zero” เป็นบริการแบบซีโรเรตติ้ง (zero-rating) บริการที่ 2 ต่อจากบริการ Free Basics ของเฟซบุ๊ก โดยก่อนหน้านี้เฟซบุ๊กได้ร่วมมือกับดีแทคและทรูมูฟอนุญาตให้ลูกค้าของทั้งสองบริษัทเข้าใช้บริการเฟซบุ๊กได้ฟรีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด อ่านความคิดเห็นเกี่ยวกับบริการประเภทซีโรเรตติ้ง
ที่มา: Blognone
15 ธันวาคม 2558
รมว.มหาดไทย ยันไม่ใส่ ‘อาชีพ-รายได้’ บนบัตรประชาชนและไมโครชิป แต่ใส่เพิ่มในฐานข้อมูล
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการคืนความสุขเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ว่าภายในปี 2560 นี้ จะบัตรประชาชนที่มีระบุอาชีพและรายได้ และประชาชน “ไม่ต้องอาย มีรายได้น้อยรายได้มากก็คนไทยทั้งสิ้น” ว่า ตนขอยืนยันว่าไม่มีการระบุรายได้และอาชีพลงบนบัตร หรือไมโครชิปบนบัตรประชาชนแต่อย่างใด ข้อมูลดังกล่าวจะไปใส่เพิ่มเติมในฐานข้อมูลของประชาชน เพื่อหาแผนในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย กระทรวงมหาดไทยยังได้ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด เพื่อพิจารณาหาแนวทางตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี ได้แก่ คณะกรรมการดูเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ และคณะกรรมการรวบรวมฐานข้อมูลอาชีพและรายได้ อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกมาระบุว่านโยบายบัตรประชาชนแบบระบุอาชีพและรายได้ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
ที่มา: สำนักข่าวไทย, ประชาไท, มติชนออนไลน์
16 ธันวาคม 2558
เฟซบุ๊กปรับวิธีรายงานปัญหาชื่อปลอม-อธิบายเหตุผลที่เลือกใช้ชื่อง่ายขึ้น ป้องกันการรายงานกลั่นแกล้ง
เฟซบุ๊กปรับปรุงระบบที่เกี่ยวกับการเลือกใช้ชื่อ หลังจากที่เคยออกมายอมรับว่านโยบายการใช้ชื่อจริงของบริษัทมีปัญหา การปรับปรุงระบบดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.หน้าจอรายงานปัญหาชื่อปลอม จากเดิมให้ใส่ข้อมูลแค่ว่าบัญชีดังกล่าวใช้ชื่อปลอม ส่งผลให้รายงานแกล้งกันได้ง่าย ระบบใหม่บังคับให้ผู้แจ้งปัญหาต้องใส่ข้อมูลละเอียดกว่าเดิม โดยแยกหมวดหมู่ของปัญหาที่พบและต้องอธิบายปัญหาอย่างละเอียด 2.หน้าจออธิบายเหตุผลในการเลือกใช้ชื่อ ในกรณีที่เฟซบุ๊กประเมินว่าบัญชีนั้นมีปัญหาเรื่องชื่อ และต้องยืนยันชื่อที่ใช้ ระบบใหม่ปรับวิธีการอธิบายเหตุผลและความจำเป็นของผู้ใช้ว่าทำไมเลือกใช้ชื่อดังกล่าว เช่น อธิบายว่าถูกกลั่นแกล้ง เปลี่ยนชื่อเพราะเปลี่ยนเพศ หรือเป็นชื่อตามชาติพันธุ์ เครื่องมือทั้งสองส่วนจะเปิดใช้เฉพาะผู้ใช้ในสหรัฐก่อน แล้วจะขยายไปยังประเทศอื่นๆ ในภายหลัง
ที่มา: Blognone
17 ธันวาคม 2558
เครือข่ายพลเมืองเน็ตออกแถลงการณ์ ย้ำคลิกไลก์ไม่ผิด-ม.14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่ใช่เรื่องหมิ่นประมาท
เครือข่ายพลเมืองเน็ตออกแถลงการณ์ ‘รัฐบาลต้องสนับสนุนการตรวจสอบของประชาชน’ ระบุการกดไลค์ไม่ผิดกฎหมายและเรียกร้องให้ระงับการดำเนินคดีหมิ่นประมาทออนไลน์โดยใช้มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อการแสดงความเห็นทุกกรณี แถลงการณ์ของเครือข่ายพลเมืองเน็ตครั้งนี้สืบเนื่องจากการจับกุมผู้ต้องหาหลายรายโดยใช้อำนาจตาม ม.44 จากการแชร์ผังทุจริตโครงการราชภักดิ์ และเชื่อมโยงไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมไปถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 หลังเจ้าหน้าที่พบว่าผู้ต้องหาไปคลิกไลก์ข้อความหมิ่นสถาบันและเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง อ่านแถลงการณ์
ที่มา: ประชาไท, เครือข่ายพลเมืองเน็ต
‘ศูนย์ทนายสิทธิ’ จัดทำคำแนะนำหากถูกคุมตัวจากการโพสต์-แชร์ข้อความในโซเชียลมีเดีย
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจัดทำคำแนะนำกรณีถูกจับกุมจากการโพสต์หรือแชร์ข้อความลงในโซเชียลมีเดีย หลังจากที่มีการควบคุมตัวและดำเนินคดีจากการใช้โซเลียลมีเดียมีเพิ่มขึ้นหลังรัฐประหารปี 2557 ทั้งข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 คำแนะนำรวมไปถึงเมื่อถูกคุมตัวไว้ที่ค่ายทหาร การปฎิบัติตัวเมื่อเจ้าหน้าที่จะขอคัดลอกข้อมูลจากอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ถอดรหัสผ่าน หรือขอเข้าระบบ การมีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การกับพนักงานสอบสวน อ่านคำแนะนำของศูนย์ทนายสิทธิฯ
ที่มา: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ประชาไท
ดีแทค ระบุอยากให้คงความเป็นอิสระขององค์กรกำกับดูแล-จัดสรรคลื่นควรแข่งกันที่ราคา
พิชิต แก้วมาคูณ ผู้อำนวยการสายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เผย ต้องการให้คงหลักการความเป็นอิสระขององค์กรกำกับดูแล (กสทช.) ที่เป็นอิสระและคงหลักการเรื่องคลื่นความถี่เหมือนที่เคยมีในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ระหว่างการอภิปรายหัวข้อ “อุปสรรคในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต” ในการสัมมนาประจำปีของมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง พิชิตให้ความเห็นด้วยว่า การประมูลคลื่นควรให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันที่ราคา ซึ่งการที่ร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับปัจจุบันที่กำหนดให้การจัดสรรคลื่นความถี่โดยการประมูลซึ่งต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะด้วยนั้นจะทำให้เกิดปัญหาตามมา เพราะไม่มีหลักเกณฑ์ว่าการคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะจะเป็นเช่นไร
ที่มา: ประชาไท
19 ธันวาคม 2558
แจส โมบาย-ทรูมูฟ ชนะประมูล 4G คลื่น 900
ผลประมูลใบอนุญาต 4 จี คลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ได้ผู้ชนะประมูล 2 รายได้แก่ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด ชนะการการประมูลคลื่น 895-905 เมกะเฮิร์ตซ์คู่กับ 940-950 เมกะเฮิร์ตซ์ และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ชนะการประมูลในชุดที่ 2 คลื่น 905-915 เมกะเฮิร์ตซ์ คู่กับคลื่น 950-960 เมกะเฮิร์ตซ์ รวมมูลค่าเงินที่ได้จากประมูลทั้งสิ้น 151,952 ล้านบาท
ทั้งนี้ การประมูลมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 19 ธ.ค. รวมระยะเวลากว่า 4 วัน มีผู้เข้าร่วมประมูลจำนวน 4 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด 2.บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด 3.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค และ 4.บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด
ถัดมาวันที่ 21 ธ.ค. พิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการของบริษัทแถลงแนวทางของบริษัทว่า บริษัทวางแผนจะลงทุน 2 หมื่นล้านภายใน 3 ปี มีบริษัทต่างชาติร่วมลงทุน โดยจะเช่าโครงข่ายของรัฐวิสาหกิจบางส่วนและมีการลงทุนสร้างในระยะยาวเองผ่านทางกองทุนรวมของบริษัท เป้าหมายของบริษัทคือเป็นเบอร์สองของตลาดอินเทอร์เน็ต ที่มีบริการทั้งบรอดแบนด์แบบมีสายและไร้สาย กำหนดเปิดบริการไม่เกินไตรมาส 2 ของปี 2559
ที่มา: เดลินิวส์, ประชาชาติธุรกิจ, Blognone
21 ธันวาคม 2558
เตือน แชร์ข้อมูลสุขภาพผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาติอาจผิด พ.ร.บ.สุขภาพฯ- รร.แพทย์มหิดลเพิ่มเรื่องใช้สื่อออนไลน์ลงหลักสูตร
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ระบุ การแชร์ข้อมูลสุขภาพของผูู้อื่นไม่ว่าจะด้วยเจตนาใด ล้วนมีความผิดตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 7 มีโทษจำคุกหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเจ้าของข้อมูล โดยเฉพาะเมื่อเจ้าของข้อมูลไม่รับทราบ นพ.อำพล ระบุด้วยว่า โรงเรียนแพทย์ของมหิดลกำลังบรรจุเรื่องการใช้สื่อออนไลน์ 17 ข้อเข้าไปในหลักสูตรเกี่ยวกับวิชาชีพ
ที่มา: ประชาไท
Tags: 4G, Article 116, Computer-related Crime Act, digital economy, digital forensics, Digital Weekly, DTAC, Facebook, FICC Annual Conference 2015, freedom of expression, hard infrastructure, human rights, identity card privacy, JAS Mobile Broadband, lese majeste, Ministry of Information and Communication Technology, Ministry of Interior, National Broadcasting and Telecommunications Commission, National Broadcasting and Telecommunications Commission Bill, National Health Act, net neutrality, privacy, Rajabhakti Park, real name policy, social media, spectrum, telecom, Thai Netizen Network, TOT, Wikimedia Foundation, Wikipedia Zero, zero rating, กระทรวงมหาดไทย, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน