สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: จับผู้โพสต์แผนผังการทุจริตโครงการราชภักดิ์-คลิกไลก์ภาพหมิ่น/ รมว.มหาดไทย ยันไม่ใส่ ‘อาชีพ-รายได้’ บนบัตรประชาชนและไมโครชิป/ เฟซบุ๊กปรับวิธีรายงานปัญหาชื่อปลอม-อธิบายเหตุผลที่เลือกใช้ชื่อง่ายขึ้น/ ‘ศูนย์ทนายสิทธิ’ จัดทำคำแนะนำหากถูกคุมตัวจากการโพสต์-แชร์ข้อความในโซเชียลมีเดีย/ ดีแทคจับมือมูลนิธิวิกิมีเดีย เปิดตัว “Wikipedia Zero” ฯลฯ
8 ธันวาคม 2558
จับผู้โพสต์แผนผังการทุจริตโครงการราชภักดิ์-คลิกไลก์ภาพหมิ่น
ฐนกร ศิริไพบูลย์ ผู้ก่อตั้งเพจเฟซบุ๊ก “สถาบันคนเสื้อแดงแห่งชาติ” ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ก่อนที่ต่อมาจะถูกแจ้งข้อหากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 จากการกระทำ 3 เหตุการณ์ ได้แก่ 1. กดไลก์รูปภาพในเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาเป็นการดูหมิ่นสถาบันฯ 2. คัดลอกและแชร์รูปภาพประชดเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยงในเฟซบุ๊ก และ 3. คัดลอกและแชร์รูปภาพแผงผังเปิดโปงทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งเกี่ยวพันกับผู้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาล รวมทั้งนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและภรรยา โดยเหตุการณ์หลังถูกกล่าวหาว่าซึ่งเป็นการต่อต้านการทำงานของรัฐและปลุกปั่นยุยงให้เกิดความไม่สงบ ศาลทหารได้ออกหมายจับเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.58
เจ้าหน้าที่สืบสวนยังเตรียมดำเนินคดีกับแอดมินของกรุ๊ปดังกล่าวซึ่งมีจำนวนกว่า 20 คน และรวบรวมรายชื่อเจ้าของเฟซบุ๊กที่เป็นสมาชิกเพจดังกล่าวที่กดถูกใจและแชร์ข้อความหรือรูปภาพที่ไม่เหมาะสมเอาไว้ทั้งหมดแล้ว และฝ่ายกฎหมายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะดำเนินการจับกุมบุคคลที่ทำผิดกฎหมาย
ด้านพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า การกดไลก์และกดแชร์เป็นการกระทำความผิดซ้ำ มีเจตนาประสงค์ต่อผลที่จะเกิดขึ้นจึงเข้าข่ายการกระทำความผิด
ที่มา: Bangkok Post, มติชนออนไลน์, ประชาไท
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินส่งหนังสือถึงทีโอที แนะให้ฟ้องศาลเรื่องคลื่น 900 MHz โดยเร็ว
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) แจ้งผลวินิจฉัยข้อร้องเรียนของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทีโอที สำนักงานผู้ตรวจการฯ ระบุว่า ทีโอทีเป็นผู้มีสิทธิ์ในคลื่นความถี่ดังกล่าว และได้ขอให้ทีโอทีและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรีบปกป้องสิทธิ์โดยชอบธรรมของตัวเอง ด้วยการฟ้องศาลปกครอง เนื่องจากเป็นผู้เสียหายโดยตรง หากทีโอทีเพิกเฉย ผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะถือว่าผู้บริหารของทีโอทีทุกคนมีความผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ต่อไป อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.มีการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ตามกำหนดและได้ผู้ชนะคือ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ และบริษัททรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น
ที่มา: Blognone, โพสต์ทูเดย์
14 ธันวาคม 2558
ดีแทคจับมือมูลนิธิวิกิมีเดีย เปิดบริการแบบซีโรเรตติ้ง “Wikipedia Zero”
ดีแทคร่วมกับมูลนิธิวิกิมีเดีย และอาสาสมัครชุมชนวิกิพีเดียประเทศไทย เปิดบริการ “Wikipedia Zero” ให้ลูกค้าดีแทคสามารถใช้งานวิกิพีเดียผ่านโทรศัพท์มือถือโดยไม่เสียค่าบริการ ทั้งนี้ Wikipedia Zero เปิดให้บริการใน 63 ประเทศทั่วโลกกับผู้ให้บริการทางมือถือ 72 ราย สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันดีแทคเป็นผู้บริการรายแรกและรายเดียวที่เปิดให้บริการนี้ อนึ่ง บริการ “Wikipedia Zero” เป็นบริการแบบซีโรเรตติ้ง (zero-rating) บริการที่ 2 ต่อจากบริการ Free Basics ของเฟซบุ๊ก โดยก่อนหน้านี้เฟซบุ๊กได้ร่วมมือกับดีแทคและทรูมูฟอนุญาตให้ลูกค้าของทั้งสองบริษัทเข้าใช้บริการเฟซบุ๊กได้ฟรีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด อ่านความคิดเห็นเกี่ยวกับบริการประเภทซีโรเรตติ้ง
ที่มา: Blognone
15 ธันวาคม 2558
รมว.มหาดไทย ยันไม่ใส่ ‘อาชีพ-รายได้’ บนบัตรประชาชนและไมโครชิป แต่ใส่เพิ่มในฐานข้อมูล
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการคืนความสุขเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ว่าภายในปี 2560 นี้ จะบัตรประชาชนที่มีระบุอาชีพและรายได้ และประชาชน “ไม่ต้องอาย มีรายได้น้อยรายได้มากก็คนไทยทั้งสิ้น” ว่า ตนขอยืนยันว่าไม่มีการระบุรายได้และอาชีพลงบนบัตร หรือไมโครชิปบนบัตรประชาชนแต่อย่างใด ข้อมูลดังกล่าวจะไปใส่เพิ่มเติมในฐานข้อมูลของประชาชน เพื่อหาแผนในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย กระทรวงมหาดไทยยังได้ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด เพื่อพิจารณาหาแนวทางตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี ได้แก่ คณะกรรมการดูเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ และคณะกรรมการรวบรวมฐานข้อมูลอาชีพและรายได้ อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกมาระบุว่านโยบายบัตรประชาชนแบบระบุอาชีพและรายได้ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
ที่มา: สำนักข่าวไทย, ประชาไท, มติชนออนไลน์
16 ธันวาคม 2558
เฟซบุ๊กปรับวิธีรายงานปัญหาชื่อปลอม-อธิบายเหตุผลที่เลือกใช้ชื่อง่ายขึ้น ป้องกันการรายงานกลั่นแกล้ง
เฟซบุ๊กปรับปรุงระบบที่เกี่ยวกับการเลือกใช้ชื่อ หลังจากที่เคยออกมายอมรับว่านโยบายการใช้ชื่อจริงของบริษัทมีปัญหา การปรับปรุงระบบดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.หน้าจอรายงานปัญหาชื่อปลอม จากเดิมให้ใส่ข้อมูลแค่ว่าบัญชีดังกล่าวใช้ชื่อปลอม ส่งผลให้รายงานแกล้งกันได้ง่าย ระบบใหม่บังคับให้ผู้แจ้งปัญหาต้องใส่ข้อมูลละเอียดกว่าเดิม โดยแยกหมวดหมู่ของปัญหาที่พบและต้องอธิบายปัญหาอย่างละเอียด 2.หน้าจออธิบายเหตุผลในการเลือกใช้ชื่อ ในกรณีที่เฟซบุ๊กประเมินว่าบัญชีนั้นมีปัญหาเรื่องชื่อ และต้องยืนยันชื่อที่ใช้ ระบบใหม่ปรับวิธีการอธิบายเหตุผลและความจำเป็นของผู้ใช้ว่าทำไมเลือกใช้ชื่อดังกล่าว เช่น อธิบายว่าถูกกลั่นแกล้ง เปลี่ยนชื่อเพราะเปลี่ยนเพศ หรือเป็นชื่อตามชาติพันธุ์ เครื่องมือทั้งสองส่วนจะเปิดใช้เฉพาะผู้ใช้ในสหรัฐก่อน แล้วจะขยายไปยังประเทศอื่นๆ ในภายหลัง
ที่มา: Blognone
17 ธันวาคม 2558
เครือข่ายพลเมืองเน็ตออกแถลงการณ์ ย้ำคลิกไลก์ไม่ผิด-ม.14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่ใช่เรื่องหมิ่นประมาท
เครือข่ายพลเมืองเน็ตออกแถลงการณ์ ‘รัฐบาลต้องสนับสนุนการตรวจสอบของประชาชน’ ระบุการกดไลค์ไม่ผิดกฎหมายและเรียกร้องให้ระงับการดำเนินคดีหมิ่นประมาทออนไลน์โดยใช้มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อการแสดงความเห็นทุกกรณี แถลงการณ์ของเครือข่ายพลเมืองเน็ตครั้งนี้สืบเนื่องจากการจับกุมผู้ต้องหาหลายรายโดยใช้อำนาจตาม ม.44 จากการแชร์ผังทุจริตโครงการราชภักดิ์ และเชื่อมโยงไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมไปถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 หลังเจ้าหน้าที่พบว่าผู้ต้องหาไปคลิกไลก์ข้อความหมิ่นสถาบันและเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง อ่านแถลงการณ์
ที่มา: ประชาไท, เครือข่ายพลเมืองเน็ต
‘ศูนย์ทนายสิทธิ’ จัดทำคำแนะนำหากถูกคุมตัวจากการโพสต์-แชร์ข้อความในโซเชียลมีเดีย
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจัดทำคำแนะนำกรณีถูกจับกุมจากการโพสต์หรือแชร์ข้อความลงในโซเชียลมีเดีย หลังจากที่มีการควบคุมตัวและดำเนินคดีจากการใช้โซเลียลมีเดียมีเพิ่มขึ้นหลังรัฐประหารปี 2557 ทั้งข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 คำแนะนำรวมไปถึงเมื่อถูกคุมตัวไว้ที่ค่ายทหาร การปฎิบัติตัวเมื่อเจ้าหน้าที่จะขอคัดลอกข้อมูลจากอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ถอดรหัสผ่าน หรือขอเข้าระบบ การมีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การกับพนักงานสอบสวน อ่านคำแนะนำของศูนย์ทนายสิทธิฯ
ที่มา: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ประชาไท
ดีแทค ระบุอยากให้คงความเป็นอิสระขององค์กรกำกับดูแล-จัดสรรคลื่นควรแข่งกันที่ราคา
พิชิต แก้วมาคูณ ผู้อำนวยการสายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เผย ต้องการให้คงหลักการความเป็นอิสระขององค์กรกำกับดูแล (กสทช.) ที่เป็นอิสระและคงหลักการเรื่องคลื่นความถี่เหมือนที่เคยมีในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ระหว่างการอภิปรายหัวข้อ “อุปสรรคในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต” ในการสัมมนาประจำปีของมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง พิชิตให้ความเห็นด้วยว่า การประมูลคลื่นควรให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันที่ราคา ซึ่งการที่ร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับปัจจุบันที่กำหนดให้การจัดสรรคลื่นความถี่โดยการประมูลซึ่งต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะด้วยนั้นจะทำให้เกิดปัญหาตามมา เพราะไม่มีหลักเกณฑ์ว่าการคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะจะเป็นเช่นไร
ที่มา: ประชาไท
19 ธันวาคม 2558
แจส โมบาย-ทรูมูฟ ชนะประมูล 4G คลื่น 900
ผลประมูลใบอนุญาต 4 จี คลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ได้ผู้ชนะประมูล 2 รายได้แก่ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด ชนะการการประมูลคลื่น 895-905 เมกะเฮิร์ตซ์คู่กับ 940-950 เมกะเฮิร์ตซ์ และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ชนะการประมูลในชุดที่ 2 คลื่น 905-915 เมกะเฮิร์ตซ์ คู่กับคลื่น 950-960 เมกะเฮิร์ตซ์ รวมมูลค่าเงินที่ได้จากประมูลทั้งสิ้น 151,952 ล้านบาท
ทั้งนี้ การประมูลมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 19 ธ.ค. รวมระยะเวลากว่า 4 วัน มีผู้เข้าร่วมประมูลจำนวน 4 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด 2.บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด 3.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค และ 4.บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด
ถัดมาวันที่ 21 ธ.ค. พิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการของบริษัทแถลงแนวทางของบริษัทว่า บริษัทวางแผนจะลงทุน 2 หมื่นล้านภายใน 3 ปี มีบริษัทต่างชาติร่วมลงทุน โดยจะเช่าโครงข่ายของรัฐวิสาหกิจบางส่วนและมีการลงทุนสร้างในระยะยาวเองผ่านทางกองทุนรวมของบริษัท เป้าหมายของบริษัทคือเป็นเบอร์สองของตลาดอินเทอร์เน็ต ที่มีบริการทั้งบรอดแบนด์แบบมีสายและไร้สาย กำหนดเปิดบริการไม่เกินไตรมาส 2 ของปี 2559
ที่มา: เดลินิวส์, ประชาชาติธุรกิจ, Blognone
21 ธันวาคม 2558
เตือน แชร์ข้อมูลสุขภาพผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาติอาจผิด พ.ร.บ.สุขภาพฯ- รร.แพทย์มหิดลเพิ่มเรื่องใช้สื่อออนไลน์ลงหลักสูตร
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ระบุ การแชร์ข้อมูลสุขภาพของผูู้อื่นไม่ว่าจะด้วยเจตนาใด ล้วนมีความผิดตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 7 มีโทษจำคุกหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเจ้าของข้อมูล โดยเฉพาะเมื่อเจ้าของข้อมูลไม่รับทราบ นพ.อำพล ระบุด้วยว่า โรงเรียนแพทย์ของมหิดลกำลังบรรจุเรื่องการใช้สื่อออนไลน์ 17 ข้อเข้าไปในหลักสูตรเกี่ยวกับวิชาชีพ
ที่มา: ประชาไท