2015.10.16 12:53
สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: ผู้ก่อตั้งเพจ “องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน” เตรียมฟ้องเฟซบุ๊ก ยูทูบ ฐานปล่อยให้มีการหมิ่นประมาทตน/ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเห็นด้วยซิงเกิลเกตเวย์ สั่ง ปอท.ตรวจสอบคนโจมตีเว็บ เตรียมดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์/ บก.ปอศ.จับซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย 9 เดือนจับดำเนินคดี 166 คดี/ เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ยื่นหนังสือต่อ รมว.สาธารณสุข เหตุศิลปินโพสต์ภาพถ่ายคู่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้านรองผบ.ตร.บอกผิดมาตรา 26/ รมว.ไอซีที แนะทางรอดกสท-ทีโอที สั่งบริหารทรัพยากรร่วมลดซ้ำซ้อน/ เครือข่ายพลเมืองเน็ตชี้ TPP กระทบความเป็นส่วนตัว สร้างภาระให้ตัวกลาง/ รมว.ไอซีทีเร่งโครงการนำร่องเศรษฐกิจดิจิทัลให้เป็นรูปธรรมใน 3 เดือน ฯลฯ
6 ตุลาคม 2558
บก.ปอศ.จับซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย 9 เดือนจับดำเนินคดี 166 คดี
พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ ปลาทอง รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เผย บก.ปอศ.เดินหน้าปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ภายใต้ชื่อ “Crackdown 2.0” โดยเน้นไปยังองค์กรธุรกิจที่ต้องสงสัยว่าใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย จำนวนคดีเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ดำเนินคดีโดย บก.ปอศ.ในปี 2557 มี 207 คดี และตั้งแต่ ม.ค.-ก.ย. 2558 มี 166 คดี มูลค่า 358 ล้านบาท องค์กรธุรกิจที่โดนดำเนินคดีส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต การก่อสร้างและออกแบบ ซอฟต์แวร์ที่พบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์มากที่สุด ได้แก่ Microsoft, Autodesk, ThaiSoftware, TEKLA ทั้งนี้ บก.ปอศ.ได้ใช้สื่อดิจิทัลเป็นช่องทางในการสื่อสารและแจ้งเบาะแสร่วมด้วย อาทิ เว็บไซต์ www.stop.in.th, ecdpolice.com และเฟซบุ๊กเพจ “ecdpoliceth”
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
7 ตุลาคม 2558
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเห็นด้วยซิงเกิลเกตเวย์ สั่ง ปอท.ตรวจสอบคนโจมตีเว็บ เตรียมดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเผยว่า ได้สั่งให้ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตรวจสอบกลุ่มคนที่ออกมาโจมตีเว็บไซต์หน่วยงานราชการเนื่องจากไม่พอใจแนวคิดซิงเกิลเกตเวย์แล้ว โดยหากพบการกระทำความผิดจะให้ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ส่วนจะมีความผิดตามกฎหมายด้านความมั่นคงหรือไม่ต้องดูที่เจตนาประกอบ อนึ่ง ก่อนหน้านี้ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เคยกล่าวถึงการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ดำเนินคดีกับผู้ถล่มเว็บไซต์ดังกล่าวมาแล้ว
พล.ต.อ.จักรทิพย์มองด้วยว่า ซิงเกิลเกตเวย์เป็นเรื่องดี เพราะการสื่อสารปัจจุบันควบคุมได้ยาก
ที่มา: สำนักข่าวไทย
สุภิญญา กรรมการ กสทช.มอง จุดประสงค์ซิงเกิลเกตเวย์ ต่อลมหายใจ กสท.และทีโอที
สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แสดงความเห็นต่อกรณีซิงเกิลเกตเวย์ในเวที “Thailand’s Single Digital Gateway” ที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยว่า จุดประสงค์หนึ่งของการทำซิงเกิลเกตเวย์คือการพยายามต่ออนาคตให้กับรัฐวิสาหกิจอย่าง กสท โทรคมนาคม และทีโอที พร้อมกล่าวว่า โครงการดังกล่าวไม่น่าจะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจาก กสทช. 17 ราย ใบอนุญาตมีอายุ 15-20 ปี หากจะมีการทำซิงเกิลเกตเวย์ อาจหมายถึง ที่ผู้ประกอบการทั้งหมดต้องหยุดให้บริการ หรือไม่เช่นนั้น ผู้ประกอบการทั้งหมดต้องมาอยู่ใต้เกตเวย์หนึ่งของรัฐซึ่งเป็นภาระต่อเอกชน
ที่มา: เครือข่ายพลเมืองเน็ต, ประชาไท
8 ตุลาคม 2558
ประยุทธ์ระบุ คนจดบันทึกประชุมเรื่องซิงเกิลเกตเวย์จับใจความไม่ครบถ้วน ตนเพียงสั่งให้ศึกษาเท่านั้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกระแสต่อต้านซิงเกิลเกตเวย์ โดยกล่าวถึงเอกสารบันทึกการประชุมที่ระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดตั้งซิงเกิลเกตเวย์เพื่อควบคุมเนื้อหาอินเทอร์เน็ตนั้น การบันทึกการประชุมดังกล่าวจับใจความมาไม่ครบถ้วน ที่จริงแล้วในที่ประชุมพูดคุยกันเพื่อให้หาทางศึกษาป้องกันภัยที่มาจากอินเทอร์เน็ตเท่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ระบุด้วยว่า ตนจะไปเล่นงานคนบันทึกการประชุมเพราะทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน
ที่มา: มติชนออนไลน์
9 ตุลาคม 2558
เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ยื่นหนังสือต่อ รมว.สาธารณสุข เหตุศิลปินโพสต์ภาพถ่ายคู่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้านรองผบ.ตร.บอกผิดมาตรา 26 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ยื่นหนังสือต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องให้ตรวจสอบเอาผิดกรณีศิลปิน ดารา พร้อมใจกันโพสต์ภาพผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยนพ.ปิยะสกลได้สั่งให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย ด้านนพ.กิตติศักดิ์ กลับดี เลขานุการรมว.สธ. เผยว่า เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบกำลังรวบรวมหลักฐานจากเว็บไซต์และอินสตาแกรมของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และศิลปิน และจะส่งหลักฐานให้ตำรวจออกหนังสือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงว่าการกระทำเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551
ต่อมา พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติระบุว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวในมาตรา 26 มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนประชาชนทั่วไป หากมีการโพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้จะจงใจ หรือไม่มีเจตนา หรือไม่ทราบกฎหมาย ก็ถือว่ามีความผิดตามมาตรานี้เช่นเดียวกัน และหากมีการใส่ข้อความเพื่อโฆษณา จะถือว่ามีความผิดฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาตรา 32 ด้วย
ต่อมาได้มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและผู้ที่เกี่ยวข้องออกมาให้ความเห็น ทั้งเหมือนและแตกต่างกัน อาทิ ยรรยง เดชภิรัตนมงคล อัยการผู้เชี่ยวชาญออกมาระบุว่าการกระทำความผิดตามมาตรา 32 จะต้องมีเจตนาเพื่อการค้า หากไม่มีเจตนาเพื่อการค้าย่อมไม่มีความผิด อย่างไรก็ตาม นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ระบุแบบเดียวกันว่า การโพสเพื่อโฆษณาหรือมีข้อความเชิญชวนให้ดื่มก็จะมีความผิด ยกเว้นไม่มีเจตนา
ที่มา: ข่าวสด, กรุงเทพธุรกิจ, Blognone
รมว.ไอซีที เร่งโครงการนำร่องเศรษฐกิจดิจิทัล ให้เห็นเป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือนนี้
อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีเผยหลังประชุมผู้บริหารหน่วยงานภายใต้สังกัดเพื่อจัดทำโครงการนำร่องผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลว่า กระทรวงยังเดินหน้าพิจารณาโครงการนำร่องเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลใน 6 กลุ่ม ซึ่งจะเร่งทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือน ได้แก่ การส่งเสริมการสร้างโอกาสในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลประกอบธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นำดิจิทัลมาสร้างโอกาสและความเท่าเทียมทางสังคม ให้ภาครัฐให้บริการประชาชนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนาทุนมนุษย์ พัฒนาความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน และดำเนินโครงการสมาร์ทซิตี้ โดยจะนำร่องที่ภูเก็ตและเชียงใหม่ อุตตมตั้งเป้าว่าภายในสิ้นเดือนจะสามารถสรุปรายละเอียดโครงการกว่า 15 โครงการทั้งหมดได้
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
12 ตุลาคม 2558
รมว.ไอซีที แนะทางรอดกสท-ทีโอที สั่งบริหารทรัพยากรร่วมลดซ้ำซ้อน
อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที เผยถึงแนวทางที่จะทำให้ทีโอทีและกสท โทรคมนาคมอยู่รอดว่า ได้สั่งการให้ทั้ง 2 บริษัทนำทรัพยากรที่มีอยู่โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมมาบริหารร่วมกัน อาทิ โครงการพัฒนาเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้น้ำ และโครงการท่อร้อยสายที่จะนำเอาสายโทรคมนาคมลงดิน เพื่อให้ลดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่ซับซ้อนกัน และให้ทั้ง 2 องค์กรกลายเป็นองค์กรให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศที่ให้เอกชนเข้ามาร่วมเช่าใช้ อุตตมเผยด้วยว่า สถานการณ์ของทีโอทีค่อนข้างน่าห่วง โดยจากผลประกอบการพบว่าปี 2558 มีแนวโน้มขาดทุนกว่า 1,000 ล้านบาท
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
13 ตุลาคม 2558
ผู้ก่อตั้งเพจ “องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน” เตรียมฟ้องเฟซบุ๊ก ยูทูบ ฐานปล่อยให้มีการหมิ่นประมาทตน
ประชาไทรายงานว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจที่ชื่อ ‘เหรียญทอง แน่นหนา’ และ ‘องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน’ เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกของ พล.ต. นพ. เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรเก็บขยะแผ่นดินถึง พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอสนับสนุนคำปรึกษาด้านกฎหมายกรณีที่ตนเป็นผู้เสียหายจากผู้กระทำความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในจดหมายระบุว่า พล.ต. นพ. เหรียญทองต้องการฟ้องผู้ประกอบการเฟซบุ๊ก ยูทูบ ฯลฯ ร่วมด้วย ในฐานะผู้ร่วมกระทำการโดยปล่อยปละละเลยให้มีการเผยแพร่การหมิ่นประมาทตน
ก่อนหน้านี้ เพจ ‘เหรียญทอง แน่นหนา’ ได้โพสต์ระดมชาวเน็ตกดรายงานผู้เล่นเฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้โพสต์หมิ่นสถาบัน แต่เพจ ‘เหรียญทอง แน่นหนา’ ระบุว่าผู้เล่นเฟซบุ๊กรายนี้สนับสนุนการหมิ่นสถาบันอย่างต่อเนื่องด้วยการ “กดไลค์อย่างเป็นนิจ”
ที่มา: ประชาไท
เครือข่ายพลเมืองเน็ตชี้ TPP กระทบความเป็นส่วนตัว การเข้าถึงความรู้ สร้างภาระให้ตัวกลาง
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เครือข่ายพลเมืองเน็ตกล่าวถึงผลกระทบที่ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership) หรือ TPP จะมีต่อประเด็นลิขสิทธิ์ หากประเทศเข้าร่วมความตกลงนี้ ในงานแถลงข่าว “ประเทศไทยควรเข้าเป็นสมาชิก ‘ทีพีพี’ หรือไม่?” โดยกล่าวว่า TPP จะส่งผลกระทบต่อการใช้งานโดยชอบธรรม ทำให้การเข้าถึงความรู้ยากขึ้น ทำให้ตัวกลางหรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องรับผิดไปด้วย พร้อมยังเปรียบเทียบพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2558 กับ TPP ว่าหากไทยเข้าร่วมความตกลงนี้ ผู้บริโภคชาวไทยก็จะถูกลดความคุ้มครองความเป็นส่วนตัวลง จากบทที่ว่าด้วยมาตรการบริหารสิทธิใน TPP อ่านข้อคิดเห็นของอาทิตย์
ด้านนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจศึกษาข้อดีข้อเสียของการเป็นสมาชิก TPP และให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในสัปดาห์หน้าเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก่อนกำหนดท่าทีของรัฐบาลต่อไป
ที่มา: เครือข่ายพลเมืองเน็ต, ข่าวทำเนียบรัฐบาล
กทค.เลื่อนประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์มาเป็นหลังประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ 1 วัน
ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.) มีมติให้จัดการประมูล 4 จีคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ในวันที่ 12 พ.ย. 58 เพียงหนึ่งวันหลังการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ (11 พ.ย. 58) (อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค สนับสนุนให้ประมูลคลื่นย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ในวันที่ 15 ธ.ค.58 ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไว้แล้ว โดยนพ.ประวิทย์ให้เหตุผลว่า ที่ควรทิ้งระยะเวลาจัดประมูลคลื่นทั้ง 2 ย่านให้ห่างกัน เพราะหากจัดประมูลในช่วงเวลาใกล้กันอาจเสี่ยงต่อการฮั๊วราคา) ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.เผยด้วยว่า สำนักงาน กทค. ได้จ้างบริษัท สหการประมูล จำกัดมูลค่า 16 ล้านบาทเพื่อจัดประมูล
ส่วนความคืบหน้าการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์นั้นอยู่ระหว่างทำหนังสือให้ 4 บริษัทที่ผ่านการตรวจสอบเอกสารคือ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล, บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด, บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่นจำกัด มารับทราบรายละเอียดและทดลองระบบประมูลในวันที่ 5 พ.ย. 58
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
สพธอ.เผยแผนงานปี 2559 พัฒนามาตรฐานกลางธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์
สุรางคณา วายุภาพ ผอ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) เผยแผนงานปี 2559 ขององค์กรว่า สพธอ. จะต่อยอดการพัฒนามาตรฐานเพื่อสนับสนุนการใช้บริการชำระเงินออนไลน์เวอร์ชั่น 3 คาดว่าธนาคารจะใช้มาตรฐานนี้ภายใน 2 ปี รวมทั้งจัดทำมาตรฐานกลางรหัสสินค้าและข้อความอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการซื้อขายสินค้าเพิ่มเติมโดยร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผลักดันการใช้มาตรฐานใบกำกับภาษอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ร่วมกับกรมสรรพากร และการให้บริการลงทะเบียนรหัสสถานที่เพื่อการค้าและการขนส่ง เพื่อสนับสนุนกรมศุลกากรในเรื่องของการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านระบบ National Single Window
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
14 ตุลาคม 2558
กสทช. ตั้งคณะกรรมการธรรมาภิบาลคุมเข้มประมูลคลื่น 1800 และ 900 เมกะเฮิร์ตซ์
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตั้งคณะกรรมการธรรมาภิบาลการประมูลคลื่นเพื่อให้เข้ามาตรวจสอบการประมูลคลื่น 1800 และ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ (ในวันที่ 11 พ.ย. และ 12 พ.ย. 58 ตามลำดับ) ให้โปร่งใส โดยมีประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นประธาน ส่วนกรรมการจะมีผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้แทนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย ผู้แทนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เป็นกรรมการ และมีรองเลขาธิการ กสทช. สายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร เป็นเลขานุการ หากพบการกระทำที่เข้าข่ายพฤติกรรมการสมยอมในการเสนอราคาประมูลให้คณะกรรมการรายงานต่อเลขาธิการ กสทช. เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายต่อไป
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
15 ตุลาคม 2558
สวทช.หนุนใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ภาพจากกล้อง CCTV สร้างเมืองปลอดภัย ช่วยหาตัวคนร้าย-ป้องกันการก่อเหตุ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับกลุ่มซีซีทีวี คอนซอร์เทียม (CCTV Consortium – กลุ่มที่รวมตัวกันโดยภาครัฐ วิชาการและเอกชน เพื่อร่วมหารือแนวทางการพัฒนาและใช้ CCTV) จัดสัมมนาเพื่อสนับสนุนนโยบายการสร้างเมืองให้เป็น“สมาร์ต ซิตี้” โดยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีวิเคราะห์ภาพจากกล้อง CCTV (CCTV Analytic) เพื่อสร้างสังคมที่มั่นคงปลอดภัย ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. เผยด้วยว่า จากเหตุการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์เมื่อสองเดือนที่ผ่านมาทำให้สังคมเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยี CCTV ทั้งในการสืบหาตัวคนร้ายและป้องกันการก่อเหตุ
ที่มา: เดลินิวส์
Tags: CAT Telecom, Computer-related Crime Act, copyright, Digital Weekly, e-commerce, e-payment, Electronic Transactions Development Agency, Facebook, Foreign Correspondent’s Club of Thailand, hard infrastructure, intellectual property, intermediary liability, ITU, Ministry of Information and Communication Technology, Ministry of Justice, morality, National Broadcasting and Telecommunications Commission, single gateway, social media, spectrum, telecom, TOT, TPP, Trans-Pacific Partnership, YouTube, กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ, การกระทรวงสาธารณสุข, คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่