Thai Netizen Network

Digital Weekly: 4-15 ต.ค. 2558 สรุปข่าวนโยบายดิจิทัลรอบสัปดาห์ (ครึ่ง)

สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์:  ผู้ก่อตั้งเพจ “องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน” เตรียมฟ้องเฟซบุ๊ก ยูทูบ ฐานปล่อยให้มีการหมิ่นประมาทตน/ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเห็นด้วยซิงเกิลเกตเวย์ สั่ง ปอท.ตรวจสอบคนโจมตีเว็บ เตรียมดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์/ บก.ปอศ.จับซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย 9 เดือนจับดำเนินคดี 166 คดี/ เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ยื่นหนังสือต่อ รมว.สาธารณสุข เหตุศิลปินโพสต์ภาพถ่ายคู่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้านรองผบ.ตร.บอกผิดมาตรา 26/ รมว.ไอซีที แนะทางรอดกสท-ทีโอที สั่งบริหารทรัพยากรร่วมลดซ้ำซ้อน/ เครือข่ายพลเมืองเน็ตชี้ TPP กระทบความเป็นส่วนตัว สร้างภาระให้ตัวกลาง/ รมว.ไอซีทีเร่งโครงการนำร่องเศรษฐกิจดิจิทัลให้เป็นรูปธรรมใน 3 เดือน ฯลฯ

เครือข่ายพลเมืองเน็ตชี้ความตกลง TPP กระทบความเป็นส่วนตัว สร้างภาระให้ตัวกลาง (เครดิตภาพ Electronic Frontier Foundation - EFF)

เครือข่ายพลเมืองเน็ตชี้ในงานแถลงข่าว “ประเทศไทยควรเข้าเป็นสมาชิก ‘ทีพีพี’ หรือไม่?” ความตกลง TPP กระทบความเป็นส่วนตัว สร้างภาระให้ตัวกลาง (13 ต.ค.58) [เครดิตภาพ Electronic Frontier Foundation – EFF]

6 ตุลาคม 2558

บก.ปอศ.จับซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย 9 เดือนจับดำเนินคดี 166 คดี 

พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ ปลาทอง รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เผย บก.ปอศ.เดินหน้าปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ภายใต้ชื่อ “Crackdown 2.0” โดยเน้นไปยังองค์กรธุรกิจที่ต้องสงสัยว่าใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย จำนวนคดีเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ดำเนินคดีโดย บก.ปอศ.ในปี 2557 มี 207 คดี และตั้งแต่ ม.ค.-ก.ย. 2558 มี 166 คดี มูลค่า 358 ล้านบาท องค์กรธุรกิจที่โดนดำเนินคดีส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต การก่อสร้างและออกแบบ ซอฟต์แวร์ที่พบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์มากที่สุด ได้แก่ Microsoft, Autodesk, ThaiSoftware, TEKLA ทั้งนี้ บก.ปอศ.ได้ใช้สื่อดิจิทัลเป็นช่องทางในการสื่อสารและแจ้งเบาะแสร่วมด้วย อาทิ เว็บไซต์ www.stop.in.th, ecdpolice.com และเฟซบุ๊กเพจ “ecdpoliceth”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

7 ตุลาคม 2558

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเห็นด้วยซิงเกิลเกตเวย์ สั่ง ปอท.ตรวจสอบคนโจมตีเว็บ เตรียมดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเผยว่า ได้สั่งให้ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตรวจสอบกลุ่มคนที่ออกมาโจมตีเว็บไซต์หน่วยงานราชการเนื่องจากไม่พอใจแนวคิดซิงเกิลเกตเวย์แล้ว โดยหากพบการกระทำความผิดจะให้ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ส่วนจะมีความผิดตามกฎหมายด้านความมั่นคงหรือไม่ต้องดูที่เจตนาประกอบ อนึ่ง ก่อนหน้านี้ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เคยกล่าวถึงการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ดำเนินคดีกับผู้ถล่มเว็บไซต์ดังกล่าวมาแล้ว

พล.ต.อ.จักรทิพย์มองด้วยว่า ซิงเกิลเกตเวย์เป็นเรื่องดี เพราะการสื่อสารปัจจุบันควบคุมได้ยาก

ที่มา: สำนักข่าวไทย

สุภิญญา กรรมการ กสทช.มอง จุดประสงค์ซิงเกิลเกตเวย์ ต่อลมหายใจ กสท.และทีโอที

สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แสดงความเห็นต่อกรณีซิงเกิลเกตเวย์ในเวที “Thailand’s Single Digital Gateway” ที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยว่า จุดประสงค์หนึ่งของการทำซิงเกิลเกตเวย์คือการพยายามต่ออนาคตให้กับรัฐวิสาหกิจอย่าง กสท โทรคมนาคม และทีโอที พร้อมกล่าวว่า โครงการดังกล่าวไม่น่าจะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจาก กสทช. 17 ราย ใบอนุญาตมีอายุ 15-20 ปี หากจะมีการทำซิงเกิลเกตเวย์ อาจหมายถึง ที่ผู้ประกอบการทั้งหมดต้องหยุดให้บริการ หรือไม่เช่นนั้น ผู้ประกอบการทั้งหมดต้องมาอยู่ใต้เกตเวย์หนึ่งของรัฐซึ่งเป็นภาระต่อเอกชน

ที่มา: เครือข่ายพลเมืองเน็ต, ประชาไท

8 ตุลาคม 2558

ประยุทธ์ระบุ คนจดบันทึกประชุมเรื่องซิงเกิลเกตเวย์จับใจความไม่ครบถ้วน ตนเพียงสั่งให้ศึกษาเท่านั้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกระแสต่อต้านซิงเกิลเกตเวย์ โดยกล่าวถึงเอกสารบันทึกการประชุมที่ระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดตั้งซิงเกิลเกตเวย์เพื่อควบคุมเนื้อหาอินเทอร์เน็ตนั้น การบันทึกการประชุมดังกล่าวจับใจความมาไม่ครบถ้วน ที่จริงแล้วในที่ประชุมพูดคุยกันเพื่อให้หาทางศึกษาป้องกันภัยที่มาจากอินเทอร์เน็ตเท่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ระบุด้วยว่า ตนจะไปเล่นงานคนบันทึกการประชุมเพราะทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน

ที่มา: มติชนออนไลน์

9 ตุลาคม 2558

เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ยื่นหนังสือต่อ รมว.สาธารณสุข เหตุศิลปินโพสต์ภาพถ่ายคู่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้านรองผบ.ตร.บอกผิดมาตรา 26 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ยื่นหนังสือต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องให้ตรวจสอบเอาผิดกรณีศิลปิน ดารา พร้อมใจกันโพสต์ภาพผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยนพ.ปิยะสกลได้สั่งให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย ด้านนพ.กิตติศักดิ์ กลับดี เลขานุการรมว.สธ. เผยว่า เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบกำลังรวบรวมหลักฐานจากเว็บไซต์และอินสตาแกรมของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และศิลปิน และจะส่งหลักฐานให้ตำรวจออกหนังสือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงว่าการกระทำเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551

ต่อมา พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติระบุว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวในมาตรา 26 มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนประชาชนทั่วไป หากมีการโพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้จะจงใจ หรือไม่มีเจตนา หรือไม่ทราบกฎหมาย ก็ถือว่ามีความผิดตามมาตรานี้เช่นเดียวกัน และหากมีการใส่ข้อความเพื่อโฆษณา จะถือว่ามีความผิดฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาตรา 32 ด้วย

ต่อมาได้มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและผู้ที่เกี่ยวข้องออกมาให้ความเห็น ทั้งเหมือนและแตกต่างกัน อาทิ ยรรยง เดชภิรัตนมงคล อัยการผู้เชี่ยวชาญออกมาระบุว่าการกระทำความผิดตามมาตรา 32 จะต้องมีเจตนาเพื่อการค้า หากไม่มีเจตนาเพื่อการค้าย่อมไม่มีความผิด อย่างไรก็ตาม นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ระบุแบบเดียวกันว่า การโพสเพื่อโฆษณาหรือมีข้อความเชิญชวนให้ดื่มก็จะมีความผิด ยกเว้นไม่มีเจตนา

ที่มา: ข่าวสด, กรุงเทพธุรกิจ, Blognone

รมว.ไอซีที เร่งโครงการนำร่องเศรษฐกิจดิจิทัล ให้เห็นเป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือนนี้

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีเผยหลังประชุมผู้บริหารหน่วยงานภายใต้สังกัดเพื่อจัดทำโครงการนำร่องผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลว่า กระทรวงยังเดินหน้าพิจารณาโครงการนำร่องเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลใน 6 กลุ่ม ซึ่งจะเร่งทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือน ได้แก่ การส่งเสริมการสร้างโอกาสในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลประกอบธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นำดิจิทัลมาสร้างโอกาสและความเท่าเทียมทางสังคม ให้ภาครัฐให้บริการประชาชนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนาทุนมนุษย์ พัฒนาความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน และดำเนินโครงการสมาร์ทซิตี้ โดยจะนำร่องที่ภูเก็ตและเชียงใหม่ อุตตมตั้งเป้าว่าภายในสิ้นเดือนจะสามารถสรุปรายละเอียดโครงการกว่า 15 โครงการทั้งหมดได้

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

12 ตุลาคม 2558

รมว.ไอซีที แนะทางรอดกสท-ทีโอที สั่งบริหารทรัพยากรร่วมลดซ้ำซ้อน

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที เผยถึงแนวทางที่จะทำให้ทีโอทีและกสท โทรคมนาคมอยู่รอดว่า ได้สั่งการให้ทั้ง 2 บริษัทนำทรัพยากรที่มีอยู่โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมมาบริหารร่วมกัน อาทิ โครงการพัฒนาเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้น้ำ และโครงการท่อร้อยสายที่จะนำเอาสายโทรคมนาคมลงดิน เพื่อให้ลดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่ซับซ้อนกัน และให้ทั้ง 2 องค์กรกลายเป็นองค์กรให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศที่ให้เอกชนเข้ามาร่วมเช่าใช้ อุตตมเผยด้วยว่า สถานการณ์ของทีโอทีค่อนข้างน่าห่วง โดยจากผลประกอบการพบว่าปี 2558 มีแนวโน้มขาดทุนกว่า 1,000 ล้านบาท

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

13 ตุลาคม 2558

ผู้ก่อตั้งเพจ “องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน” เตรียมฟ้องเฟซบุ๊ก ยูทูบ ฐานปล่อยให้มีการหมิ่นประมาทตน

ประชาไทรายงานว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจที่ชื่อ ‘เหรียญทอง แน่นหนา’ และ ‘องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน’ เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกของ พล.ต. นพ. เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรเก็บขยะแผ่นดินถึง พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอสนับสนุนคำปรึกษาด้านกฎหมายกรณีที่ตนเป็นผู้เสียหายจากผู้กระทำความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในจดหมายระบุว่า พล.ต. นพ. เหรียญทองต้องการฟ้องผู้ประกอบการเฟซบุ๊ก ยูทูบ ฯลฯ ร่วมด้วย ในฐานะผู้ร่วมกระทำการโดยปล่อยปละละเลยให้มีการเผยแพร่การหมิ่นประมาทตน

เฟซบุ๊กเพจ “เหรียญทอง แน่นหนา” (ภาพบันทึกหน้าจอจากเว็บไซต์ประชาไท)

ก่อนหน้านี้ เพจ ‘เหรียญทอง แน่นหนา’ ได้โพสต์ระดมชาวเน็ตกดรายงานผู้เล่นเฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้โพสต์หมิ่นสถาบัน แต่เพจ ‘เหรียญทอง แน่นหนา’ ระบุว่าผู้เล่นเฟซบุ๊กรายนี้สนับสนุนการหมิ่นสถาบันอย่างต่อเนื่องด้วยการ “กดไลค์อย่างเป็นนิจ”

ที่มา: ประชาไท

เครือข่ายพลเมืองเน็ตชี้ TPP กระทบความเป็นส่วนตัว การเข้าถึงความรู้ สร้างภาระให้ตัวกลาง

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เครือข่ายพลเมืองเน็ตกล่าวถึงผลกระทบที่ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership) หรือ TPP จะมีต่อประเด็นลิขสิทธิ์ หากประเทศเข้าร่วมความตกลงนี้ ในงานแถลงข่าว “ประเทศไทยควรเข้าเป็นสมาชิก ‘ทีพีพี’ หรือไม่?” โดยกล่าวว่า TPP จะส่งผลกระทบต่อการใช้งานโดยชอบธรรม ทำให้การเข้าถึงความรู้ยากขึ้น ทำให้ตัวกลางหรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องรับผิดไปด้วย พร้อมยังเปรียบเทียบพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2558 กับ TPP ว่าหากไทยเข้าร่วมความตกลงนี้ ผู้บริโภคชาวไทยก็จะถูกลดความคุ้มครองความเป็นส่วนตัวลง จากบทที่ว่าด้วยมาตรการบริหารสิทธิใน TPP อ่านข้อคิดเห็นของอาทิตย์

ด้านนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจศึกษาข้อดีข้อเสียของการเป็นสมาชิก TPP และให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในสัปดาห์หน้าเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก่อนกำหนดท่าทีของรัฐบาลต่อไป

ที่มา: เครือข่ายพลเมืองเน็ต, ข่าวทำเนียบรัฐบาล

กทค.เลื่อนประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์มาเป็นหลังประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ 1 วัน

ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.) มีมติให้จัดการประมูล 4 จีคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ในวันที่ 12 พ.ย. 58 เพียงหนึ่งวันหลังการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ (11 พ.ย. 58) (อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค สนับสนุนให้ประมูลคลื่นย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ในวันที่ 15 ธ.ค.58 ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไว้แล้ว โดยนพ.ประวิทย์ให้เหตุผลว่า ที่ควรทิ้งระยะเวลาจัดประมูลคลื่นทั้ง 2 ย่านให้ห่างกัน เพราะหากจัดประมูลในช่วงเวลาใกล้กันอาจเสี่ยงต่อการฮั๊วราคา) ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.เผยด้วยว่า สำนักงาน กทค. ได้จ้างบริษัท สหการประมูล จำกัดมูลค่า 16 ล้านบาทเพื่อจัดประมูล

ส่วนความคืบหน้าการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์นั้นอยู่ระหว่างทำหนังสือให้ 4 บริษัทที่ผ่านการตรวจสอบเอกสารคือ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล, บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด, บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่นจำกัด มารับทราบรายละเอียดและทดลองระบบประมูลในวันที่ 5 พ.ย. 58

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

สพธอ.เผยแผนงานปี 2559 พัฒนามาตรฐานกลางธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

สุรางคณา วายุภาพ ผอ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) เผยแผนงานปี 2559 ขององค์กรว่า สพธอ. จะต่อยอดการพัฒนามาตรฐานเพื่อสนับสนุนการใช้บริการชำระเงินออนไลน์เวอร์ชั่น 3 คาดว่าธนาคารจะใช้มาตรฐานนี้ภายใน 2 ปี รวมทั้งจัดทำมาตรฐานกลางรหัสสินค้าและข้อความอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการซื้อขายสินค้าเพิ่มเติมโดยร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผลักดันการใช้มาตรฐานใบกำกับภาษอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ร่วมกับกรมสรรพากร และการให้บริการลงทะเบียนรหัสสถานที่เพื่อการค้าและการขนส่ง เพื่อสนับสนุนกรมศุลกากรในเรื่องของการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านระบบ National Single Window

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

14 ตุลาคม 2558

กสทช. ตั้งคณะกรรมการธรรมาภิบาลคุมเข้มประมูลคลื่น 1800 และ 900 เมกะเฮิร์ตซ์

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตั้งคณะกรรมการธรรมาภิบาลการประมูลคลื่นเพื่อให้เข้ามาตรวจสอบการประมูลคลื่น 1800 และ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ (ในวันที่ 11 พ.ย. และ 12 พ.ย. 58 ตามลำดับ) ให้โปร่งใส โดยมีประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นประธาน ส่วนกรรมการจะมีผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้แทนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย ผู้แทนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เป็นกรรมการ และมีรองเลขาธิการ กสทช. สายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร เป็นเลขานุการ หากพบการกระทำที่เข้าข่ายพฤติกรรมการสมยอมในการเสนอราคาประมูลให้คณะกรรมการรายงานต่อเลขาธิการ กสทช. เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

15 ตุลาคม 2558

สวทช.หนุนใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ภาพจากกล้อง CCTV สร้างเมืองปลอดภัย ช่วยหาตัวคนร้าย-ป้องกันการก่อเหตุ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับกลุ่มซีซีทีวี คอนซอร์เทียม (CCTV Consortium – กลุ่มที่รวมตัวกันโดยภาครัฐ วิชาการและเอกชน เพื่อร่วมหารือแนวทางการพัฒนาและใช้ CCTV) จัดสัมมนาเพื่อสนับสนุนนโยบายการสร้างเมืองให้เป็น“สมาร์ต ซิตี้” โดยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีวิเคราะห์ภาพจากกล้อง CCTV (CCTV Analytic) เพื่อสร้างสังคมที่มั่นคงปลอดภัย ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. เผยด้วยว่า จากเหตุการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์เมื่อสองเดือนที่ผ่านมาทำให้สังคมเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยี CCTV ทั้งในการสืบหาตัวคนร้ายและป้องกันการก่อเหตุ

ที่มา: เดลินิวส์

Exit mobile version