ทีดีอาร์ไอ: เกณฑ์การประมูล “จะคำนึงถึงตัวเงินเพียงอย่างเดียวไม่ได้” เป็นความเข้าใจผิด

2015.03.23 13:17

ทีดีอาร์ไอชี้ เข้าใจเสียใหม่ การประมูล “โดยใช้เงินเป็นตัววัด” ไม่ได้ทำให้ผู้ใช้จ่ายแพงขึ้นและไม่ได้สวนทางกับประโยชน์สาธารณะ นักกฎหมายเอกชนชี้การตั้งหน่วยงานใหม่จำนวนมากเป็นภาระงบประมาณ ทั้งยังเขียนกฎหมายขัดวินัยการคลัง นักวิชาการกฎหมายระบุ ชุดร่างกฎหมายดิจิทัลขัดหลักรัฐธรรมนูญ 7 ข้อ ตัวแทนผู้บริโภคห่วงผลประโยชน์ทับซ้อน

การสัมมนา “กฎหมาย Digital Economy:ส่งเสริมหรือสวนทางการปฏิรูป”  (19 มี.ค.58)

การสัมมนา “กฎหมาย Digital Economy:ส่งเสริมหรือสวนทางการปฏิรูป” (19 มี.ค.58)

วันที่ 19 มี.ค.58 สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้จัดสัมมนาหัวข้อ “กฎหมาย Digital Economy: ส่งเสริมหรือสวนทางการปฏิรูป”  โดยมีวิทยากรร่วมเสวนาได้แก่ สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), ผศ.ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและอนุกรรมาธิการปฏิรูปการพิจารณากฎหมายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, ธีรพล สุวรรณประทีป จากสำนักงานกฎหมายเบเคอร์แอนด์แม็คเค็นซี่ (Baker & Mckenzie), สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและผู้ร่างชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล, วสันต์ ภัยหลีกลี้ รองประธานกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สปช. ดำเนินการเสวนาโดย สารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สปช.

เข้าใจเสียใหม่ ประมูลคลื่นไม่ได้ทำให้ผู้บริโภคจ่ายแพงขึ้น

สมเกียรติ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยกล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้จะมีอุปกรณ์อัจฉริยะ (smart device) เกิดขึ้นจำนวนมาก หัวใจสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลจึงหนีไม่พ้นคลื่นความถี่ ที่จะต้องถูกจัดสรรอย่างเหมาะสมเพื่อรองรับอุปกรณ์เหล่านี้ ในทางกลับกัน หากการจัดสรรคลื่นความถี่ไม่เหมาะสม การปฏิรูปเศรษฐกิจดิจิทัลก็จะไม่เกิดขึ้น

โดยร่างกสทช.ฉบับปรับปรุงล่าสุดที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเปิดเผยออกมา รวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่ในขณะนี้ ล้วนตั้งอยู่บนฐานความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ทั้งสิ้น

สมเกียรติกล่าวว่า ความเข้าใจผิดดังกล่าวได้แก่ ความเข้าใจที่ว่า 1) การประมูลจะส่งผลให้ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการใช้บริการเพิ่มขึ้น 2) การประมูลโดยดูที่จำนวนเงินอย่างเดียว ไม่สอดคล้องกับประโยชน์สาธารณะ โดยจะเห็นได้จากข้อความในร่างมาตรา 8 ของร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับล่าสุดของกฤษฎีกา ที่ระบุว่า “หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ โดยจะคำนึงถึงจำนวนเงินที่เสนอให้แต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้” 3) การประมูลขัดขวางการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม และการให้บริการอย่างทั่วถึง มีมาตรฐาน และมีคุณภาพ

ทำไมการประมูลจึงไม่ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายแพงขึ้น

สมเกียรติกล่าวว่า เหตุที่การประมูลไม่ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าบริการราคาแพงขึ้น เป็นเพราะอัตราค่าบริการที่ผู้ประกอบการเก็บกับผู้บริโภคนั้นขึ้นอยู่กับหลักอุปสงค์และอุปทานในตลาด ไม่ได้ขึ้นอยู่กับค่าประมูลคลื่นที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายแต่อย่างใด

“สมมติท่านเป็นผู้ประกอบการเหมืองแร่และเข้าไปประมูลสัมปทานเหมืองทองคำ ถ้าท่านไปประมูลมาได้ถูก ได้แพง หรือได้ฟรี ท่านจะขายทองคำที่ขุดขึ้นมาในราคาเท่าไหร่ คำตอบก็ตรงไปตรงมา ท่านก็ขายในราคาตลาดโลก ซึ่งเกิดจากอุปสงค์และอุปทาน”

สมเกียรติได้ยกตัวอย่างสนับสนุนทฤษฎีดังกล่าวว่า ในการประมูลคลื่นความถี่ 3G ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการประมูลคลื่นได้ในราคาที่ถูกกว่าที่ควรจะเป็น แต่กลับเก็บค่าบริการจากผู้บริโภคในราคาแพงเกินจริง ขณะที่ในการประมูลทีวีดิจิทัล ค่าประมูลที่ได้มีมูลค่าสูงจากที่ประเมินไว้มาก ทว่าค่าโฆษณา (ค่าบริการ) ที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเก็บจากบริษัทโฆษณากลับมีราคาถูก ขณะที่ฟรีทีวีซึ่งได้ค่าประมูลต่ำกว่าสามารถเก็บค่าโฆษณาได้สูงกว่าทีวีดิจิทัล ซึ่งเป็นไปตามหลักอุปสงค์อุปทานของทีวีดิจิทัลและฟรีทีวี

สมเกียรติกล่าวต่อว่า ในเมื่อการประมูลไม่ได้ทำให้ค่าบริการแพงขึ้น การเขียนบทบัญญัติทั้งในร่างรัฐธรรมนูญและในร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับล่าสุด ที่ไม่ให้คำนึงถึงแต่เรื่องเงินแต่เพียงอย่างเดียวนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผลทางวิชาการรองรับ

ทั้งนี้ จากที่คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลฯ ได้อนุมัติให้กสทช.เดินหน้าจัดการ “ประมูล” คลื่น 4G เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมานั้น สมเกียรติกล่าวในกรณีนี้ว่า คำว่า “ประมูล” ที่คณะกรรมการฯ ใช้ยังคลุมเครือ ว่าจะเป็นจัดสรรโดยวิธีใดกันแน่เมื่อดูจากร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับล่าสุด

อนึ่ง เมื่อยึดจากตัวบทร่างกฎหมาย ร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับล่าสุดไม่ได้ระบุชัดเจนว่าการจัดสรรคลื่นโทรคมนาคมจะให้ใช้วิธีการใด แต่ในสรุปสาระสำคัญของร่างกฎหมายที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกามีระบุไว้ว่า การจัดสรรคลื่นโทรคมนาคมเชิงพาณิชย์ ให้ทำโดยวิธีการประมูล “แต่หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ โดยจะคำนึงถึงจำนวนเงินที่เสนอให้แต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้” (สรุปสาระสำคัญฯ ข้อ 4)

ส่วนข้อที่ว่าการประมูลจะไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์สาธารณะนั้น แท้จริงแล้ว กสทช.สามารถกำหนดในเงื่อนไขการประมูลได้ว่าต้องการให้บริการโทรคมนาคมหรือโทรทัศน์เชิงพาณิชย์มีลักษณะอย่างไร เช่น กำหนดความเร็วขั้นต่ำ 4G และกำหนดให้ผู้ชนะประมูลต้องทำตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัดเพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์สาธารณะและเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค

สอดคล้องกับ นพ.ประวิทย์ กรรมการกสทช.ที่ระบุว่า ร่างพ.ร.บ.กสทช.ไม่เข้าใจสาระสำคัญที่แท้จริงของการประมูล เนื่องจากเงินประมูลที่สูงเป็นตัวสะท้อนว่าผู้ชนะจะมีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรคลื่นให้ได้ประโยชน์สูงสุด “กสทช.ไม่ได้อยากได้เงินสูง เพียงแต่เงินสูงเป็นตัวสะท้อนว่าผู้ประกอบการรายนั้นจะเอาทรัพยากรไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง ก็เลยให้เงินสูง” นพ.ประวิทย์กล่าว

ร่วมทุนกับเอกชนได้ แต่เอกชนฟ้องไม่ได้

ธีรพล จากสำนักงานกฎหมายเอกชน เบเคอร์แอนด์แม็คเค็นซี่ และ นพ.ประวิทย์กล่าวว่า การให้สำนักงานใหม่ที่จะตั้งขึ้นสามารถร่วมทุนกับเอกชนได้ แต่ทรัพย์สินของสำนักงานไม่อยู่ภายใต้การบังคับคดีนั้น จะทำให้เกิดปัญหาตามมา

ผศ.ปิยะบุตรกล่าวในประเด็นเดียวกันนี้ว่า การเขียนกฎหมายในลักษณะข้างต้น และการให้สำนักงานเหล่านี้ไม่ต้องนำรายได้ส่งเป็นเงินแผ่นดิน ทั้งๆ ที่เงินส่วนนี้เป็นเงินแผ่นดินนั้น ยังผิดหลักหลักวินัยการเงินการคลังอย่างร้ายแรง ทั้งที่หลักการดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญที่ถูกระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญด้วย

ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากฎหมายสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ที่ให้ความเห็นไว้ในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการของคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558 ว่า การเขียนกฎหมายข้างต้นจะทำให้เมื่อมีปัญหาเอกชนจะไม่สามารถฟ้องหน่วยงานเหล่านี้ได้ ซึ่งจะส่งผลให้ไม่มีเอกชนรายใดอยากร่วมทุนด้วย

สำนักงานกฎหมายเอกชนระบุ ร่างกฎหมายมั่นคงไซเบอร์ฯ ทำเอกชนเสียความมั่นใจ

ธีรพลได้ให้ความเห็นต่อร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลต่อว่า การใช้เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้นเหมาะสมแล้ว และการที่จะมีการวางแผนแม่บทเพื่อให้เห็นภาพรวมของการพัฒนาประเทศเป็นสิ่งที่ดี แต่ตนยังเห็นข้อที่น่าวิพากษ์วิจารณ์ของร่างกฎหมายชุดนี้ โดยเห็นว่า

  • การมีร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับบริบทปัจจุบันซึ่งเป็นยุคของ Big Data และ Internet of Things ทว่าคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามที่ปรากฎในร่างกฎหมายกลับไม่มีตัวแทนจากฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภคหรือตัวแทนด้านสิทธิมนุษยชนเลย
  • ร่างกฎหมายดังกล่าวยังควรต้องมีการแยกระหว่างผู้ควบคุมข้อมูล (data controller) กับผู้ประมวลผลข้อมูล (data processor) ออกจากกันด้วย มิฉะนั้นจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจคลาวด์ (cloud) เนื่องจากผู้ประกอบการเหล่านี้เป็นเพียงบุคคลที่สาม ไม่ใช่เจ้าของกิจการที่เป็นผู้ควบคุมข้อมูลโดยตรง
  • ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฯ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐอย่างกว้างขวางทั้งในการเข้าถึงข้อมูลและการสั่งการเอกชนให้สามารถทำอะไรก็ได้ ทำให้ผู้ประกอบการที่มีข้อมูลทางธุรกิจหรือมีความลับทางการค้าเกิดความไม่มั่นใจ
  • ตามกฎหมายแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะมีอำนาจได้ต้องมีเหตุก่อน อาทิ เหตุว่าผู้ต้องสงสัยจะทำเรื่องที่มิชอบ (เว้นแต่ในกรณีเรื่องการกระทำผิดซึ่งหน้า) แต่เนื้อหาในางพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฯ ระบุให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้เลย โดยไม่ต้องมีเหตุ
  • ตามร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฯ ข้อมูลที่เจ้าหน้าที่สามารถตรวจค้นได้ยังเป็นข้อมูลอะไรก็ได้ จะเป็นข้อมูลที่ไม่เกี่ยวกับเหตุก็ได้ด้วย ทั้งที่จริงควรมีการจำกัดขอบเขตการเข้าถึงข้อมูลไว้ เช่น หากต้องการหากข้อมูลที่เกี่ยวกับการโจมตีทางไซเบอร์ ก็ควรกำหนดว่าให้เข้าถึงข้อมูลส่วนที่เกี่ยวกับกับการโจมตีนี้เท่านั้น
  • ร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลชุดนี้ยังจะก่อให้เกิดภาระกับงบประมาณของประเทศ เนื่องจากร่างกฎหมายชุดนี้หลายฉบับกำหนดให้ต้องมีการตั้งสำนักงานขึ้นมาจำนวนมาก อันจะนำไปสู่การใช้งบประมาณที่มากขึ้นไปด้วย
  • ร่างกฎหมายชุดนี้ยังขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ภาคธุรกิจ

ผิดหลักรัฐธรรมนูญ 7 ข้อ

ผศ.ปิยะบุตรกล่าวว่า ร่างกฎหมายชุดนี้มีปัญหาไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 7 ข้อด้วยกัน ได้แก่ เรื่อง 1.หลักธรรมาภิบาล 2.หลักวินัยการเงินการคลัง 3.หลักความเท่าเทียมกันและการไม่เลือกปฏิบัติ 4.หลักการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม 5.หลักสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน 6.หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน 7.หลักการปฏิรูปสื่อ

1.หลักธรรมาภิบาล

  • ในร่างกฎหมายทุกฉบับที่จะมีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ ระบุให้หน่วยงานดังกล่าว ไม่เป็นส่วนราชการว่าด้วยกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่นๆ ซึ่งแปลได้ว่า ตัดอำนาจตรวจสอบของผู้ตรวจเงินแผ่นดินออกไป เหลือเพียงแต่ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้สอบบัญชี ทำให้หน่วยงานดังกล่าวมีความเป็นหน่วยงานรัฐน้อยลง แต่จะมีความคล้ายเอกชนมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันร่างกฎหมายทุกฉบับก็ให้หน่วยงานเหล่านี้ใช้อำนาจรัฐอย่างเต็มที่

“ถ้าหน่วยงานรัฐใช้อำนาจรัฐแต่ไม่ต้องถูกตรวจสอบก็อาจไม่ถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาลนัก ธรรมาภิบาลแปลว่า ถ้าใช้อำนาจก็ต้องมีความรับผิดชอบ” ผศ.ปิยะบุตรกล่าว

สารี ผู้ดำเนินรายการกล่าวเสริมว่า การเขียนกฎหมายเช่นนี้เป็นสาเหตุของปัญหา “ลูกครึ่ง”

“เวลาใช้อำนาจ บอกว่าตัวเองเป็นรัฐ แต่เวลาจะเข้าไปตรวจสอบ จะบอกว่าตัวเองเป็นเอกชน เราจะทำอย่างไรดีกับปัญหาลูกครึ่งนี้”

  • เรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการดิจิทัลฯ แม้ว่าจะมีการจัดตัวแทนจากทีโอทีและกสท.ออกจากคณะกรรมการชุดใหญ่แล้ว แต่ในคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง คุณสมบัติของคณะกรรมการยังไม่ได้มีบทบัญญัติที่ห้ามตัวแทนจากทีโอทีและกสท.เอาไว้

2.หลักวินัยการเงินการคลัง

  • ปัญหาอยู่ที่ ร่างกฎหมายระบุให้หน่วยงานที่จะจัดตั้งขึ้นสามารถร่วมทุนกับเอกชนได้โดยไม่ต้องผ่านกฎหมายที่ว่าด้วยการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556) อีกทั้งรายได้ยังไม่ต้องนำส่งเป็นเงินแผ่นทั้งๆ ที่เงินส่วนนี้เป็นเงินแผ่นดิน

3.หลักความเท่าเทียมกันและการไม่เลือกปฏิบัติ

  • ร่างกฎหมายทุกฉบับให้อำนาจเจ้าหน้าที่แต่กลับยกเว้นการรับผิดของเจ้าหน้าที่ไว้ หากเจ้าหน้าที่ “ทำงานไปโดยสุจริต” ซึ่งจะเป็นการผลักภาระในการพิสูจน์ความสุจริตไปให้ผู้อื่น อีกทั้งความสุจริตของเจ้าหน้าที่เป็นสิ่งที่ยากแก่การพิสูจน์ได้
  • เรื่องเงินชดเชยการคืนคลื่นความถี่ ไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์การเวนคืนคลื่นหรือหลักเกณฑ์การกำหนดค่าชดเชย

4.หลักการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม

  • ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างผู้กำหนดนโยบายและผู้กำกับดูแลออกจากกัน โดยจากร่างมาตรา 5 ของพ.ร.บ.กสทช.ฉบับล่าสุด กำหนดให้คณะกรรมการดิจิทัลฯ มีอำนาจในการชี้ขาดในการตัดสินลงโทษหากมีผู้ฟ้องว่ากสทช.ไม่ทำตามนโยบายที่คณะกรรมการดิจิทัลฯ ได้ให้ไว้ การที่คณะกรรมการดิจิทัลฯ มีสิทธิชี้ขาดเช่นนี้จะทำลายความเป็นอิสระของกสทช.

5.สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

  • ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฯ รวมทั้งร่างกฎหมายฉบับอื่นๆ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่อย่างไร้ขอบเขต และไม่มีกลไกปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
  • ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ยังขาดหลักการขอความยินยอมในขั้นตอนเก็บข้อมูล (อย่างไรก็ตาม ล่าสุด คณะกรรมการกฤษฎีกาจะออกมาระบุว่าในร่างกฎหมายฉบับใหม่ได้มีการแก้ไขเรื่องนี้แล้ว)

6.หลักการมีส่วนร่วม

  • ร่างกฎหมายชุดดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน โดยเฉพาะร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฯ นั้น รัฐไม่สามารถทำเรื่องนี้ได้โดยลำพัง แต่ต้องทำงานร่วมกับเอกชนด้วย
  • การร่างกฎหมายยังไม่มีการประเมินผลกระทบของกฎระเบียบ (Regulatory Impact Assessment – RIA) ก่อนด้วย

7.หลักการปฎิรูปสื่อ

  • แนวทางการปฏิรูปสื่อนั้น เพื่อต้องการเพิ่มการเข้าถึงคลื่นความถี่ของเอกชนและประชาชน แต่ร่างกฎหมายกสทช.ออกมาในทางกลับกัน โดยจะเน้นให้รัฐเป็นฝ่ายถือครองคลื่นมากขึ้น

ห่วงผลประโยชน์ทับซ้อน

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า ชุดร่างกฎหมายนี้มีประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งระบุด้วยว่าใจความสำคัญของการออกร่างกฎหมายชุดนี้ไม่ใช่เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัล แต่เป็นเรื่องของการก่อตั้งหน่วยงานใหม่ เห็นได้จากการที่กฎหมาย 3 ฉบับแรก (ปัจจุบันรวมเป็นร่างกฎหมายฉบับเดียวในชื่อ “ร่างพ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ….”) ที่เน้นเรื่องการตั้งหน่วยงานั้นถูกเร่งรัดออกมาก่อน นอกจากนี้ ผู้อำนวยการของหน่วยงานดังกล่าวยังไม่มีวาระดำรงตำแหน่งได้ด้วย ซึ่งกรรณิการ์ตั้งข้อสังเกตว่า การเขียนกฎหมายเช่นนี้มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่

ส่วนการจัดสรรคลื่นความถี่ในร่างพ.ร.บ.กสทช.ที่ระบุให้การจัดสรรคลื่นต้องคำนึงถึงบริการสาธารณะและเพื่อประชาชนนั้น หมายความวา การจัดสรรคลื่นก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย ไม่ใช่การพยายามคงคลื่นอยู่ในมือหน่วยงานราชการโดยที่อ้างว่าเพื่อบริการสาธารณะ เพราะมีหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานที่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกับประชาชน

สพธอ.เห็นด้วย วิธีการประมูล 4G ต้องชัดเจน

สุรางคณา ผอ.สพธอ.และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมร่างชุดกฎหมายนี้กล่าวว่า เห็นด้วยว่ากลไกการประมูล 4G ต้องมีความชัดเจน และเห็นด้วยว่าควรต้องมีการเพิ่มตัวแทนจากผู้บริโภคเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการดิจิทัลฯ

ส่วนร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฯ จะต้องมีการแก้ไขอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายไม่ได้ตั้งใจจะให้อำนาจเจ้าหน้าที่อย่างไม่มีขอบเขต เพราะจะต้องมีการกำหนดแนวปฏิบัติในการทำงานอยู่แล้ว

ส่วนคำถามที่ว่าหน่วยงานที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่จะไม่อยู่ภายใต้บังคับคดีนั้น ที่จริงแล้วหน่วยงานเหล่านี้มีกฎหมายอื่นๆ ที่ไม่ใช่กฎหมายหลักคอยกำกับอยู่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บทความที่เกี่ยวข้อง

Tags: , , , , , , , ,
%d bloggers like this: