2015.02.19 14:13
นักวิชาการระบุ ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย แก้ปัญหาสื่อลามกไม่ตรงจุด เนื้อหาไม่สอดคล้องเจตนารมณ์ ส่วนนิยาม “การกระทำวิปริตทางเพศ” คือการควบคุม “ศีลธรรมทางเพศ” โดยรัฐ
เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 มีการสัมมนาหัวข้อ “วิเคราะห์ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย พ.ศ. …” ณ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ซึ่งมีผู้ร่วมสัมมนาได้แก่ กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี, ณัฐรัชต์ สาเมาะ นักวิจัยศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข สวัสดิการและสังคม คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และคณาธิป ทองรวีวงศ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น
โดยการสัมมนาเวทีย่อยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ “เวทีว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ตและการเตรียมตัวขององค์กรประชาสังคมในประเทศไทย” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิเอเชีย, สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น, โครงการจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนสังคมปลอดพนันภายใต้มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ, มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และองค์กรเครือข่าย
ปัญหาบางประการของ ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุฯ
กฤษฎากล่าวถึงร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตรายว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองเด็กจากสิ่งกระตุ้นที่ไม่เหมาะสม แต่เนื้อหาในกฎหมายกลับไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ดังกล่าว
โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายได้แก่
ร่างมาตรา 3 ว่าด้วยนิยาม “สิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย” ที่มีการกำหนดขอบเขตเกินเลยไปถึงพฤติกรรมทางเพศซึ่งเป็นเรื่องของรสนิยมทางเพศของผู้ใหญ่ ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดความรุนแรง การกำหนดขอบเขตดังกล่าวเสมือนว่ารัฐกำลังใช้วิจารณาญาณแทนผู้ใหญ่ในสังคมให้มีพฤติกรรมทางเพศตามที่รัฐต้องการ
ร่างมาตรา 5 ที่กำหนดให้รัฐมนตรีจำนวนมากถึง 5 กระทรวงเป็นผู้รักษาการตามพ.ร.บ. ซึ่งกฤษฎากล่าวว่า การที่กฎหมายเดียวกันมีรัฐมนตรีรักษาการมากเกินไปจะทำให้เกิดการทำงานทับซ้อนกัน และในบางครั้งก็อาจจะเกิดการเกี่ยงงานกันทำได้
ร่างมาตรา 6 ที่กำหนดจำนวนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย (ป.ป.อ.) ให้มี 18 คน ซึ่งเป็นเลขคู่ ทำให้หากมีการลงมติแล้วจำนวนเสียงที่ออกมามีเท่ากัน ต้องให้ประธานเป็นคนตัดสิน ซึ่งก็แปลว่าประธานจะมีสองเสียง ซึ่งตนมองว่าควรจะออกแบบคณะกรรมการให้มีจำนวนเป็นเลขคี่มากกว่า
ร่างมาตรา 16 ที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ “เข้าถึง” ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้ต้องสงสัยได้โดยต้องขอหมายศาลนั้น การเข้าถึงทางคอมพิวเตอร์ต้องคำนึงว่าต่างกับการค้นทางกายภาพ โดยการค้นทางกายภาพสามารถเจาะจงพื้นที่ที่จะค้นได้ แต่สำหรับคอมพิวเตอร์ เมื่อสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งได้แล้ว ก็สามารถเห็นข้อมูลทุกอย่าง รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ภายในคอมพิวเตอร์ได้ด้วย จุดนี้จึงเป็นจุดที่ควรคำนึงถึงด้วย
ร่างมาตรา 22 ที่ระบุให้ตัวกลางต้องกำจัดเนื้อหาที่เข้าข่ายสื่อลามกนั้น “ในทันที” มีปัญหาว่า คำว่าในทันทีนั้นคือเมื่อไหร่ ซึ่งโดยหลักกฎหมายอาญาแล้ว กฎหมายจะต้องเขียนไว้ให้ชัดเจนจนไม่อาจตีความตามอัตวิสัยได้
กฤษฎากล่าวด้วยว่า กฎหมายควรถูกจัดเป็นกลไกหนึ่งในการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด ซึ่งการจัดการกับปัญหาสื่อลามกเด็กอาจใช้วิธีออกเป็นมาตรการก็ได้ ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่หากไม่จำเป็น เพราะจะทำให้เกิดปัญหาตามมาอย่างที่กล่าว
กฤษฎาทิ้งท้ายว่า ไม่มีใครคัดค้านมาตรการคุ้มครองเด็กจากสิ่งยั่วยุและตนก็เห็นด้วยกับหลักการของร่างกฎหมายนี้ เพียงแต่การออกแบบกฎหมายรวมทั้งเนื้อหาในกฎหมายยังมีปัญหา
ดู สไลด์ประกอบการบรรยายของ กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์
แนวคิดการควบคุมสื่อลามกเด็ก
ทางด้านจอมพลกล่าวว่า โดยสากลเป็นที่ยอมรับกันว่าสื่อลามกเด็กเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย หลายประเทศมีกฎหมายเกี่ยวกับสื่อลามกเด็ก ขณะที่แนวคิดในการควบคุมสื่อลามกสำหรับสื่อลามกผู้ใหญ่ตั้งอยู่บนแนวคิดเรื่องศีลธรรมทางเพศ แนวคิดในการควบคุมสื่อลามกเด็กจะตั้งอยู่บนแนวคิดเรื่องการคุ้มครองเด็ก
โดยเหตุผลในการควบคุมสื่อลามกเด็กของรัฐนั้น เพราะรัฐมองว่าสื่อลามกเด็กเป็นถือเป็นการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทั้งร่างกายและใจ และหากสื่อลามกเด็กนั้นอยู่ในอินเทอร์เน็ตก็ยากที่จะตามลบ ส่งผลให้เด็กมีบาดแผลทางจิตใจไปจนโต นอกจากนี้ สื่อลามกเด็กยังจะไปกระตุ้นความต้องการสื่อลามกเด็กในตลาดด้วย
จอมพลกล่าวว่า ตามกฎหมายระหว่างประเทศ มีกฎหมายว่าด้วยสื่อลามกเด็กได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยอาชญากรรมไซเบอร์ (Convention on Cybercrime) ของคณะมนตรียุโรป (Council of Europe) ข้อ 9 ที่ห้ามเกี่ยวกับผลิต เผยแพร่ ครอบครองสื่อลามกเด็ก และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ของสหประชาชาติ ข้อ 34 (ค) ที่ห้ามแสวงหาประโยชน์จากเด็กในการแสดงสื่อลามก หรือเกี่ยวข้องกับสื่อลามก
ขณะที่กฎหมายของไทยนั้นยังไม่มีบทบัญญัติห้ามการผลิต เผยแพร่ และครอบครองสื่อลามกเด็กโดยตรง มีเพียงกฎหมายอาญาบางมาตราและพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กมาตรา 26(9) ที่อาจนำมาปรับใช้เอาผิดในเรื่องนี้ได้
แต่ขณะนี้ ได้มีร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับสื่อลามกเด็ก 2 ฉบับด้วยกัน ได้แก่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย ในมาตรา 18 ที่กล่าวโทษแก่ผู้ที่ทำ ผลิต หรือครอบครองสิ่งยั่วยุดังกล่าว แต่หากการกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อแจกจ่ายหรือเผยแพร่ ร่างกฎหมายก็ไม่ได้เขียนเอาผิดไว้
นอกจากนี้ ยังมีร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล ที่มีการกำหนดความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกเด็กไว้ในมาตรา 16/1 ซึ่งการกระทำผิดที่ระบุอยู่ในร่างกฎหมาย มีดังต่อไปนี้:
(1) จัดทำรูปภาพลามกอนาจารของบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี เพื่อวัตถุประสงค์ในการแจกจ่ายผ่านระบบคอมพิวเตอร์
(2) นำเสนอหรือจัดให้มีรูปภาพลามกอนาจารของบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปีผ่านระบบคอมพิวเตอร์
(3) แจกจ่ายหรือโอนถ่ายรูปภาพลามกอนาจารของบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปีผ่านระบบคอมพิวเตอร์
(4) จัดหามาให้ซึ่งรูปภาพลามกอนาจารของบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปีผ่านระบบคอมพิวเตอร์เพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น
(5) ครอบครองรูปภาพลามกอนาจารของบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปีในระบบคอมพิวเตอร์ หรือบนสื่อที่ใช้จัดเก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ เพื่อวัตถุประสงค์แห่งการค้าหรือเพื่อหากำไร
กฎหมายระบุให้ผู้กระทำการข้างต้นมีความผิด โดยที่ไม่มีการกำหนดเว้นโทษให้ ซึ่งต่างกับกฎหมายว่าด้วยสื่อลามกเด็กของประเทศอังกฤษ รวมถึงร่างพ.ร.บ.สิ่งยั่วยุฯ ที่จะมีบทกำหนดเว้นโทษให้สำหรับผู้ที่ครอบครองสื่อลามกโดยชอบด้วยกฎหมาย ในกรณีเช่น เจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านที่ต้องเกี่ยวข้องกับเด็กและสิทธิเด็ก เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตว่า มีความขัดแย้งกันระหว่างกฎหมายแพ่งและร่างกฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากการที่กฎหมายแพ่งระบุให้เด็กที่อายุ 17 ปี สามารถแต่งงานกันและบรรลุนิติภาวะ แต่ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับนี้กลับถือว่าเด็กในกรณีดังกล่าวยังเป็นผู้ที่ไม่บรรลุนิติภาวะ
หมายเหตุผู้รายงาน: เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2558 น.ส.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กับคณะ จำนวน 50 คน ได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อกำหนดให้ผู้ใดที่มีวัตถุหรือสื่อลามกอนาจารของเด็กอายุเกิน 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ไว้ในความครอบครอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ใดมีวัตถุหรือสื่อลามกอนาจารของเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไว้ในความครอบครอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีการผลิต มีไว้ นำเข้า ส่งออกพาไปหรือทำให้แพร่หลายของสื่อลามกอนาจารของเด็ก อายุไม่เกิน 18 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการค้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ — เท่ากับว่าขณะนี้ มีร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ที่พยายามกำหนดความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกเด็กเหมือนๆ กัน
“ศีลธรรมทางเพศ” ทำเรื่องของรสนิยมให้กลายเป็น “ความวิปริต”
จอมพลกล่าวว่า ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายที่ควบคุมสื่อลามกผู้ใหญ่อยู่ 2 ฉบับด้วยกัน ได้แก่ มาตรา 287 ของกฎหมายอาญาที่ห้ามการผลิต มีไว้ แจกจ่าย แสดงอวดสื่อลามกเพื่อประสงค์ทางการค้า และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(4) ที่ห้ามนำข้อมูลลามกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ โดยศาลฏีกาเคยให้เหตุผลของการต้องควบคุมสื่อลามกไว้ว่า เพื่อรักษาศีลธรรมอันดีงามและเพื่อป้องกันการกระทำผิดทางเพศ โดยเฉพาะการข่มขืน
ทั้งนี้ จอมพลแย้งสมมติฐานดังกล่าวของศาลในการควบคุมสื่อลามกว่า คำว่าศีลธรรมอันดีงามเป็นสิ่งที่เป็นอัตวิสัยและไม่อาจหามาตรวัดได้ จึงเหมาะสมหรือไม่ที่จะใช้เหตุผลนี้ในการควบคุมสื่อประเภทดังกล่าว นอกจากนี้ ยังไม่มีหลักฐานหรืองานวิจัยยืนยันว่า ผู้ชมสื่อลามกทุกคนจะต้องเป็นอาชญากรข่มขืน
ส่วนนิยาม “การกระทำวิปริตทางเพศ” ตามร่างมาตรา 3 ในร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุฯ ที่ระบุให้การกระทำดังต่อไปนี้ เป็นการกระทำวิปริตทางเพศ:
(1) ระหว่างบุพการีกับผู้สืบสันดาน พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือพี่น้องร่วมแต่บิดาหรือมารดาเดียวกัน
(2) โดยใช้ความรุนแรงถึงขนาดที่น่าจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย หรือโดยใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรือชีวิต
(3) โดยการบังคับขู่เข็ญหรือข่มขืนใจ
(4) ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และรวมถึงการร่วมประเวณีหมู่ด้วย
(5) โดยการชำเราสัตว์หรือชำเราศพ
จอมพลกล่าวว่า การให้นิยามดังกล่าวคือการที่รัฐพยายามผลักดันให้สังคมมี “ศีลธรรมทางเพศ” เช่น การมีเพศสัมพันธ์ต้องทำกันสองคน หากมีทำกิจกรรมดังกล่าว 3 คนขึ้นไปจะถือว่าเป็นการกระทำที่วิปริต ทั้งที่จริงแล้ว พฤติกรรมทางเพศบางอย่าง หากไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง อาจเรียกได้ว่าเป็นรสนิยมทางเพศอย่างหนึ่ง
“เท่ากับว่ารัฐเข้ามายุ่มย่ามในกิจกรรมทางเพศของผู้ใหญ่อย่างเราๆ เท่ากับว่าเป็นการที่รัฐเข้ามาล่วงละเมิดในสิทธิและอำนาจการตัดสินใจว่าแต่ละบุคคลว่าจะมีศีลธรรม (moral autonomy) ในเรื่องทางเพศมากน้อยแค่ไหน”
จอมพลยังได้ตั้งข้อสังเกตต่อร่างกฎหมายด้วยว่า การกระทำที่ร่างกฎหมายนี้ถือว่า “วิปริตทางเพศ” บางประเภท หากทำจริงๆ กลับไม่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าการกระทำดังกล่าวได้รับการบันทึกก็จะกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย (ถ้ามีเจตนาแจกจ่าย แสดงอวด หรือเผยแพร่)
นอกจากนี้ ในกรณีของการใช้ความรุนแรงหรืออุปกรณ์ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย การบังคับใช้กฎหมายนี้อาจจะกระทบต่อกลุ่มผู้ที่ชอบ BDSM หากพวกเขาอยากบันทึกกิจกรรมทางเพศตัวเองและเผยแพร่แบ่งกันดูในกลุ่มที่ชื่นชอบกิจกรรมประเภทนี้ ซึ่งกรณีดังกล่าวจะต้องให้ศาลเป็นผู้ตีความ
(BSDM หมายถึงกลุ่มรสนิยมทางเพศ ซึ่งกินความหมายถึงหลายกลุ่มวัฒนธรรมย่อย เช่น การมีกิจกรรมทางเพศร่วมกับการพันธนาการและการเล่นบทลงโทษ การให้บทบาทนำกับเพศให้เพศหนึ่ง การเป็นผู้กระทำความรุนแรงหรือเรียกร้องความรุนแรง การแต่งกายข้ามเพศ การสักและเจาะร่างกาย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปด้วยความสมัครใจของผู้ร่วมกิจกรรม)
จอมพลกล่าวสรุปว่า ตนเห็นว่าควรมีกฎหมายที่ควบคุมสื่อลามกเด็กและสื่อลามกที่มีพฤติกรรมอันตรายต่อร่างกาย แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ออกแบบมาอย่างละเอียดอ่อนเพียงพอ ทั้งยังจะไปละเมิดสิทธิทางเพศของผู้ใหญ่ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ให้มี “ศีลธรรมทางเพศ” ตามที่รัฐต้องการด้วย
ดู สไลด์ประกอบการบรรยายของ จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน
ซ้ำซ้อนกับการจัดเรตในพ.ร.บ.ภาพยนตร์
ทางด้านคณาธิปตั้งข้อสังเกตต่อร่างพ.ร.บ.นี้ว่า ตามร่างพ.ร.บ.นี้ การคุ้มครองเด็กเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ร่างกฎหมายยังครอบคลุมไปถึงสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตรายอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีการคุ้มครองเด็กด้วย
นอกจากนี้ กฎหมายนี้อาจซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นที่มีอยู่แล้วในการควบคุมสื่อ เช่น พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงหลักการเดิมจากการเซ็นเซอร์ (censor) มาเป็นการจัดระดับเนื้อหา (rating) ซึ่งอาจนำมาใช้ในการควบคุมสื่อที่ส่งผลกระทบต่อเด็กได้อยู่แล้ว
เปรียบเทียบร่างพ.ร.บ.สิ่งยั่วยุของไทย กับร่างกม.ป้องกันการกลั่นแกล้งรังแกทางอินเทอร์เน็ตของสหรัฐ
คณาธิปตั้งคำถามต่อว่า ร่างกฎหมายนี้จะสามารถเป็นกฎหมายป้องกันการกลั่นแกล้งรังแกทางอินเทอร์เน็ต (cyberbullying) ของไทยได้หรือไม่
ทั้งนี้คณาธิปให้นิยามการกลั่นแกล้งรังแกทางอินเทอร์เน็ตว่า “การกระทำโดยการส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ลักษณะต่างๆ เช่น ข้อความ ภาพ ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงทางอินเทอร์เน็ต โดยมิได้ขู่ว่าจะทำร้ายต่อร่างกายหรือทรัพย์สิน แต่มุ่งส่งผลกระทบทางจิตใจต่อผู้ถูกกระทำ” จะเห็นได้ว่า พฤติกรรมดังกล่าวมุ่งเน้นผลกระทบทางจิตใจหรือทางอารมณ์ ซึ่งจากกรณีตัวอย่างในต่างประเทศ มีเด็กหลายคนฆ่าตัวตายจากการถูกกลั่นแกล้งรังแกดังกล่าว
ในสหรัฐอเมริกา มีคดี United States v. Drew (2009) ซึ่งเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งรังแก ฆ่าตัวตายจากคำพูดที่ทำร้ายจิตใจ หลังจากคดีนี้ มีการเสนอร่างกฎหมายว่าด้วย “การป้องกันการกลั่นแกล้งรังแกทางอินเทอร์เน็ต” (Megan Meier Cyberbullying Prevention Act) ในปี ค.ศ. 2009 ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่กำหนดองค์ประกอบความผิดของการกลั่นแกล้งรังแกทางอินเทอร์เน็ตเป็นการเฉพาะ (จนถึงปัจจุบันร่างฉบับนี้ยังไม่ประกาศใช้)
อย่างไรก็ตาม คณาธิปเห็นว่าร่างพ.ร.บ.สิ่งยั่วยุของไทย แตกต่างจากร่างกฎหมายการป้องกันการกลั่นแกล้งรังแกทางอินเทอร์เน็ตของสหรัฐ เนื่องจากร่างพ.ร.บ.สิ่งยั่วยุมิได้มุ่งเน้นที่พฤติกรรมการกระทำกลั่นแกล้ง แต่มุ่งควบคุมสื่อที่มีเนื้อหาทำให้เด็กฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ การกลั่นแกล้งรังแกตามร่างกฎหมายสหรัฐฯอาจเป็นความผิดได้แม้ว่าไม่มีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้น กล่าวคือครอบคลุมผลกระทบทางจิตใจและทางกายภาพทื่สืบเนื่องจากการถูกกลั่นแกล้งรังแกด้วย เช่น การไม่สามารถเข้าชั้นเรียนได้ หรืออาการหดหู่ซึมเศร้า
คณาธิปกล่าวว่า หากพิจารณาเทียบเคียงกับกรณีในสหรัฐอเมริกาซึ่งรัฐสภาได้ออกกฎหมายลายลักษณ์อักษรหลายฉบับที่มีหลักคุ้มครองเด็กโดยจำกัดการเข้าถึงสื่อที่กฎหมายเห็นว่าไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก เช่น Child Online Protection Act (COPA) แต่กฎหมายดังกล่าวหลายฉบับได้ถูกศาลตัดสินว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญเนื่องจากกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เช่น คดี American Civil Liberties Union et al. V. Alberto R. Gonzales (2007) โดยศาลเห็นว่ากฎหมาย COPA กว้างเกินไป (overinclusive) กล่าวคือ เกินไปกว่าความจำเป็นของผลประโยชน์ในการคุ้มครองเด็ก เนื่องจากครอบคลุมถึงคำพูดทางอินเทอร์เน็ตมากเกินไป (inordinate amount of internet speech) นอกจากนี้ยังไม่คำนึงถึงความแตกต่างของผู้เยาว์ในช่วงอายุต่างๆ รวมทั้งจำเลยไม่สามารถพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า ไม่มีทางเลือกอื่นที่จำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นที่น้อยกว่ามาตรการตามกฎหมาย COPA
จากบทเรียนของสหรัฐอเมริกาดังกล่าวเมื่อย้อนมาพิจารณาร่างกฎหมายนี้ของไทย คณาธิปเห็นว่ามีลักษณะจำกัดสิทธิรับสื่อที่กว้างเกินไป ทั้งที่อาจมีวิธีอื่นหรือทางเลือกอื่นในการคุ้มครองเด็กหรือสิ่งอันตรายที่กฎหมายมุ่งประสงค์คุ้มครอง เช่น อาจใช้ระบบการจัดระดับเนื้อหา (rating) ตามกฎหมายเดิมได้อยู่แล้ว
ดู สรุปความคิดเห็นของคณาธิป ทองรวีวงศ์