2015.01.10 04:17
“หากปราศจากกฎหมายและมาตรฐานทางกฎหมายที่เหมาะสมซึ่งจะมาการันตีความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย และความเป็นนิรนามของการสื่อสารแล้วล่ะก็ กลุ่มคนอาทิ นักข่าว นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และผู้เปิดโปงความไม่ชอบมาพากล ก็ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าการสื่อสารของตนจะไม่ตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบจากรัฐ” — แฟรงก์ ลา รู
“…กลุ่มคนที่ซึ่งมีโอกาสถูกข่มเหงกลั่นแกล้ง ทั้งกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน กลุ่มคนชายขอบที่มีความเชื่อทางการเมืองและศาสนาต่างจากคนส่วนใหญ่ การสื่อสารแบบนิรนามมักจะเป็นหนทางเดียวด้วยซ้ำ ที่ทำให้การสื่อสารในที่สาธารณะเป็นไปได้” — เบน แวกเนอร์
ตามที่กสทช. มีแผนออกนโยบายให้ประชาชนลงทะเบียนแสดงตนในการใช้อินเทอร์เน็ตไร้สาย (WiFi) และโทรศัพท์มือถือ และมาตรา 26 ตามร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ระบุให้เก็บข้อมูลผู้ใช้บริการ “เพื่อให้สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการ” ได้ โดยต้องเก็บไว้จนกว่าผู้ใช้บริการจะเลิกใช้อย่างน้อย 90 วัน ทำให้มีทั้งเสียงสนับสนุน-มองว่ามีประโยชน์ในการปราบปรามอาชญากรรมสามารถตามตัวคนร้ายได้ง่ายขึ้น และเสียงคัดค้านหรือแสดงความเป็นห่วง-มองว่าจะทำให้มีการละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้น หรือทำให้คนกลัวถูกเปิดเผยตัวตนจนไม่กล้าแสดงความคิดเห็นที่อาจทำให้ตัวเองตกอยู่ในอันตราย
เครือข่ายพลเมืองเน็ตชวนอ่านข้อถกเถียงที่เกี่ยวข้อง ในเรื่อง “การแสดงความเห็นโดยนิรนาม” โดยสรุปบางส่วนมาจากเอกสาร “สิทธิในการโพสต์เนื้อหาโดยไม่ระบุตัวตนบนอินเทอร์เน็ตควรได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย” (The Right to Anonymous Posting on the Internet Should Be Protected by Law) เพื่อสำรวจข้อสนับสนุนและข้อโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว (ดูการอ้างอิงและรายชื่อเอกสารอ่านเพิ่มเติมได้ที่เอกสารต้นฉบับ) เอกสารประกอบการประชุม Global Youth Forum ในปี 2013 นี้เขียนโดย เบน แวกเนอร์ (@benwagne_r) ซึ่งต่อมาเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์เพื่ออินเทอร์เน็ตและสิทธิมนุษยชน แห่งมหาวิทยาลัยยุโรปไวอาดิรา ในประเทศเยอรมนี
สิทธิในการโพสต์เนื้อหาโดยไม่ระบุตัวตนบนอินเทอร์เน็ตควรได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย
ทำไมใครๆ จึงควรจะยอมรับให้การโพสต์เนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตโดยเปิดเผยตัวตนเป็นเรื่องปกติ? ทำไมใครๆ ถึงมีสิทธิที่จะสื่อสารโดยที่ชื่อจริงของตนไม่ถูกเปิดเผย? การทำแบบที่ว่าจะไม่ชักนำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ดีหรือ? มีข้อถกเถียงมากมายว่าการสื่อสารแบบไม่เปิดเผยตัวตนควรจะเป็นหลักปฏิบัติที่ยอมรับได้หรือไม่ สิ่งที่ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในประเด็นพื้นฐานสำคัญเมื่อพิจารณาในเรื่องการเมืองและจริยธรรมของการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต คือ คุณเป็นฝ่ายสนับสนุนหรือต่อต้านการสื่อสารแบบไม่ระบุตัวตน?
ทั้งนี้ การสื่อสารโดยไม่ระบุตัวตนไม่ได้เป็นประดิษฐกรรมที่เกิดจากอินเทอร์เน็ต มันมีมานานก่อนจะมีคอมพิวเตอร์ และเป็นรูปแบบของแสดงออกที่สำคัญมาอย่างน้อยหลายร้อยปี นักเขียนในสหราชอาณาจักรได้ใช้วิธีนี้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 และในบางประเทศอาชีพหลายอาชีพเช่น หมอ นักข่าว และพระ ได้รับการปกป้องตามกฎหมายในการไม่ต้องเปิดเผยตัวตนสำหรับการสื่อสารในหน้าที่ โรเบิร์ต เจ. กริฟฟินกล่าวว่า
“หนึ่งในหน้าที่สำคัญของการไม่ระบุตัวตนในหลายศตวรรษที่ผ่านมาคือการปกป้อง(ตัวบุคคล) การอนุญาตให้ไม่ต้องเปิดเผยตัวตน […] คือการที่สังคมยอมรับว่าบุคคลมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นโดยไม่ต้องกลัวการถูกทำร้าย”
กลุ่มคนโดยเฉพาะผู้ที่มีโอกาสถูกข่มเหงรังแก ทั้งกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน กลุ่มคนชายขอบที่มีความเชื่อทางการเมืองและศาสนาต่างจากคนส่วนใหญ่ การสื่อสารแบบนิรนามมักจะเป็นหนทางเดียวด้วยซ้ำ ที่ทำให้การสื่อสารในที่สาธารณะเป็นไปได้ กลุ่มที่ให้การสนับสนุนคนเหล่านี้มักจะออกมาสนับสนุนการเป็นนิรนามอย่างเข้มแข็งและมักจะมองว่านี่คือสิทธิขั้นพื้นฐาน ดังที่ แฟรงก์ ลา รู ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิในเสรีภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก กล่าวว่า
“หากปราศจากกฎหมายและมาตรฐานทางกฎหมายที่เหมาะสมซึ่งจะมารับประกันความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย และความเป็นนิรนามของการสื่อสารแล้วล่ะก็ กลุ่มคนอาทิ นักข่าว นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และผู้เปิดโปงความไม่ชอบมาพากล ก็ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าการสื่อสารของตนจะไม่ตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบจากรัฐ”
อย่างไรก็ตาม ในหลายกรณี การโพสต์เนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตโดยไม่เปิดเผยตัวตนก็อาจนำไปสู่ความเสียหายได้เช่นกัน ยกตัวอย่างกรณีที่เด็กชายออทิสติกคนหนึ่งซึ่งถูกรังแกที่เมืองตูริน ได้มีการถ่ายวิดีโอดังกล่าวไว้และโพสต์ลงบนอินเทอร์เน็ต นี่นำมาสู่คำถามที่ว่า ใครกันที่มีสิทธิจะทำเช่นนั้นโดยไม่เปิดเผยตัวตน? หรือในกรณีคลิปวิดีโอที่สอนทำระเบิดล่ะ? ใครก็ได้ควรจะสามารถโพสต์ข้อมูลที่ว่าลงบนอินเทอร์เน็ตอย่างนั้นหรือ?
หากผู้คนใช้ชื่อจริงของตน อินเทอร์เน็ตจะไม่ดีกว่านี้หรือ? มีการอภิปรายหลายครั้งที่ถกเถียงกันว่า การให้ผู้คนใช้ชื่อจริงในโลกออนไลน์เป็นความคิดที่ดีหรือไม่ หลายคนบอกว่ามันจะทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นที่ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ เพราะการใช้ชื่อจริงจะนำไปสู่การสนทนาที่ “สุภาพและมีมารยาท” ขึ้น เพราะผู้คนจะไม่สามารถหลบซ่อนอยู่เบื้องหลังความเป็นนิรนามได้ ผู้สนับสนุนแนวคิดนี้ที่เรารู้จักกันดีก็คือเฟซบุ๊ก ซึ่งมักจะบอกว่าเครือข่ายสังคมของตนนั้นดีกว่า อันเป็นผลมาจากนโยบายที่ให้ผู้ใช้ใช้ชื่อจริง ไม่ว่าเรื่องนี้จะจริงหรือไม่ยังเป็นสิ่งที่ต้องแสวงหาคำตอบกันต่อไป และตอนนี้ก็มีการศึกษาเชิงประจักษ์น้อยมากที่จะมาพิสูจน์ในเรื่องนี้
ในเรื่องการให้ผู้คนใช้ชื่อจริงบนอินเทอร์เน็ต ก่อนหน้านี้ได้มีบทเรียนสำคัญจากเกาหลีใต้ โดยกฎหมายในเกาหลีใต้บังคับให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่สมัครใช้การเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ต้องใช้ชื่อจริงและใช้รหัสประกันสังคมเพื่อยืนยันตัวตน การกระทำเช่นว่านำมาซึ่งปัญหาเมื่อระบบของ Cyworld ผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์รายใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ถูกเจาะ ส่งผลให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 35 ล้านคน หรือเทียบเท่ากับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตร้อยละ 85 ในเกาหลีใต้ถูกขโมยข้อมูลส่วนตัว ทั้งชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน หมายเลขประกันสังคม หมายเลขโทรศัพท์ ที่อยู่อีเมล รวมทั้งรูปถ่ายส่วนตัว
หลังการโจมตีออนไลน์ดังกล่าว หน่วยงานกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตของเกาหลีใต้ได้นำนโยบายนี้กลับมาพิจารณาอีกครั้ง และในที่สุด ศาลสูงสุดก็ได้ประกาศว่านโยบายดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ นโยบายให้ใช้ชื่อจริงอาจฟังดูน่าดึงดูดในตอนแรก แต่มันก็มากับปัญหาที่ยากจะมองข้าม
อินเทอร์เน็ตแบบไหนที่เราต้องการ?
ถึงที่สุดแล้ว คำถามมากมายในประเด็นนี้ก็กลับมาสู่คำถามที่ว่า อินเทอร์เน็ตแบบไหนกันที่เราต้องการ?
การรับประกันสิทธิในการโพสต์เนื้อหาโดยไม่เปิดเผยตัวตนมีแนวโน้มที่จะทำให้คนชายขอบและกลุ่มคนที่ต้องการการปกป้องเป็นพิเศษสามารถพูดและแสดงความคิดเห็นของตนได้ แต่ในยุคสังคมดิจิทัลสมัยใหม่ ซึ่งทุกคนสามารถเป็นผู้เปิดโปงความไม่ชอบมาพากล เป็นผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชน หรือกระทั่งเป็นนักข่าวได้นั้น ไม่มีวิธีที่จะมาตัดสินว่าใครควรจะมีสิทธิที่จะไม่ต้องเปิดเผยตัวตนและใครไม่ควรได้รับสิทธิดังกล่าว มีก็แต่เพียงการปกป้องสิทธิการโพสต์ข้อความอย่างเป็นนิรนามของประชาชนทุกคน และหวังว่าพวกเขาจะใช้สิทธิดังกล่าวอย่างมีวิจารณญาณเท่านั้น ที่เราจะอนุญาตให้อินเทอร์เน็ตเติมเต็มศักยภาพของมันอย่างแท้จริง
แต่นี่ก็หมายความเราอาจจะต้องทนกับเหตุการณ์ละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวอย่างเช่นกรณีข้างต้นด้วย ผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์อาจมีวิธีตอบโต้ได้ยากขึ้นเมื่อผู้โจมตีใช้ชื่อปลอม ทว่า ขณะที่ชื่อเสียงของผู้คนและความเป็นส่วนตัวอาจถูกทำลาย แต่นี่ควรจะเป็นเหตุผลที่จะมาสร้างความชอบธรรมให้กับวิธีการนี้หรือ อีกอย่าง เราควรจะไว้ใจบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ อย่างเฟซบุ๊กให้เก็บข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงไปยังตัวตนจริงของเราอย่างนั้นหรือ
สุดท้ายนี้ เราควรตระหนักไว้ด้วยว่า ขณะที่คำว่าการสื่อสารอย่าง “นิรนาม” ได้กลายเป็นคำที่ได้รับความนิยมในโลกอินเทอร์เน็ต ที่จริงแล้ว ตอนนี้เราไม่ได้มีความเป็นนิรนามบนอินเทอร์เน็ตอย่างแท้จริง การโพสต์เนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่เป็นแบบ “กึ่งนิรนาม” ต่างหาก เนื่องจากข้อมูลจำนวนมหาศาล (ซึ่งรวมถึงที่อยู่ไอพี) ของเราจะถูกเก็บไว้ไม่ว่าเราจะทำอะไร มันอาจจะดูสมเหตุสมผลกว่าถ้าจะถามว่า ในปัจจุบันนี้ การโพสต์เนื้อหาลงบนอินเทอร์เน็ตแบบที่เป็นอยู่มีความเป็นนิรนามแค่ไหนกัน
—-
คำถามต่างๆ เหล่านี้ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป แต่มันสำคัญที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเราจะร่วมกันถามคำถามเหล่านี้ ถามคำถามของเราเอง และร่วมกันหาคำตอบ โดยไม่ปล่อยให้รัฐ หรือเอกชน หรือใครคนใดคนหนึ่งตอบคำถามเหล่านี้แทนพวกเรา
เพราะอินเทอร์เน็ตเป็นของพวกเราทุกคน
อ่านเพิ่มเติม
- เพศที่สามต้านหนัก หลังเฟซบุ๊กประกาศใช้ “Real Name Policy” – เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์
- Facebook’s position on real names not negotiable for dissidents – The Register
- Facebook to Ease Policies on Using Real Names for Accounts – The New York Times Bits
- South Korea: Internet “Real Name” Law Violates the Constitution – Global Voices Advocacy
- Philippines: Online debate over SIM registration – Global Voices Online
- สงครามชื่อ โดย จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล
- สงครามคำขาน: ชื่ออะไรมันก็ “จริง” ทั้งนั้นแหละ โดย อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล
- The Right to Anonymous Posting on the Internet Should Be Protected by Law โดย Ben Wagner
- “Real Names” Policies Are an Abuse of Power โดย danah boyd
- The Right to Anonymity is a Matter of Privacy โดย Jillian York
- EFF – Issues – Anonymity – รวมประเด็นเรื่องความเป็นนิรนาม
- ทำไมต้องกลัวถูกดักฟัง แม้คุณจะไม่มีอะไรต้องซ่อน? สรุปจาก Daniel Solove
- ย้อนไทม์ LINE ความพยายามสอดแนมการสื่อสารของรัฐไทย
- ถกหนัก กฎหมายดักฟัง นักกฎหมายเตือนต้องเจาะจง ชั่งน้ำหนักสาธารณะ VS บุคคล