2015.01.10 05:53
โดย อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล (@bact)
จะว่าไป ชื่อนั้นไม่ได้เป็นเพียงคำขาน แต่มันโยงใยเข้าไปถึงอัตลักษณ์ตัวตนของมนุษย์กันเลยทีเดียว โดยเฉพาะถ้าเกิดเชื่อว่า เราเข้าใจโลกของเราด้วยภาษา การขานคำก็คือการสร้างโลกนั่นเอง
ดราม่าระดับโลกที่เรียกว่า “Nymwars” ปะทุขึ้น เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2554 จากการที่กูเกิลประกาศนโยบายการบังคับให้ใช้ “ชื่อจริง” ในบริการของกูเกิล พร้อมกับการเปิดบริการใหม่ กูเกิลพลัส (Google+) ในเวลาไม่นานนัก มีผู้ใช้จำนวนมากถูกระงับบัญชีเนื่องจากทำผิดนโยบายนี้ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ระเบิดขึ้นทันที จากทั่วสารทิศ อะไรคือชื่อ “จริง”? แล้วการห้ามใช้ชื่อ “ปลอม” สร้างปัญหาอะไร?
ดานาห์ บอยด์ (danah boyd) นักวิจัยสังคมออนไลน์ โพสต์บล็อกที่ใช้หัวเรื่องว่า “Real Names” Policies Are an Abuse of Power โต้ว่าชื่ออะไรมันก็ “จริง” ทั้งนั้นแหละ ในบริบทหนึ่ง ๆ และมันมีเหตุผลที่ชอบธรรมในการใช้ “ชื่อปลอม” (pseudonym)
ในโพสต์ยังเล่าถึงถึงประวัติการใช้ “ชื่อจริง” ของเฟซบุ๊ก เนื่องจากเป็นมักถูกอ้าง (อย่างผิด ๆ) เสมอว่าเป็นตัวอย่างของการใช้นโยบายชื่อจริงที่ประสบความสำเร็จ
ความเข้าใจผิดดังกล่าวคือ ในช่วงแรกที่เฟซบุ๊กจำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงนักศึกษามหาลัยชั้นนำ มันเป็นเรื่องเข้าใจได้ที่จะใช้ “ชื่อจริง” ที่ผู้คนในมหาลัยใช้เรียกคนคนหนึ่ง นั่นคือชื่อดังกล่าวเป็นชื่อที่ “จริง” ในบริบทของชุมชนมหาลัยช่วงนั้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นชื่อตามกฎหมายก็ได้ เช่นเรียก Bill (ชื่อเล่น) แทน Williams (ชื่อตามกฎหมาย) โดยชื่อ Bill นั้นไม่ได้จริงน้อยไปกว่า Williams (เผลอ ๆ จะจริงมากกว่าด้วยซ้ำสำหรับเพื่อน ๆ ของเขา) หรือสำหรับ เลดี้ กาก้า เฟซบุ๊กก็ไม่ได้บังคับให้เธอใช้ชื่อตามกฎหมาย (ซึ่งสำหรับแฟน ๆ ชื่อตามกฎหมายของเธอนั้นไม่ได้สำคัญหรือจริงเท่าชื่อ เลดี้ กาก้า เลย)
นั่นคือ ในบริบทหรือแวดวง (ถ้าจะใช้ภาษาของกูเกิลพลัสก็ต้องบอกว่า “Circles”) ที่ต่างกัน เราสามารถมีชื่อที่ต่างไปได้ และชื่อแต่ละชื่อมันก็ “จริง” ได้เท่า ๆ กันบอยด์ย้ำว่า คนเรามีสิทธิเลือกได้ว่าจะใช้ชื่ออะไร ในวงสังคมที่เราเลือก ไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์อะไรก็ตาม โดยเฉพาะถ้าคำนึงถึงผู้ที่อาจถูกคุกคามหรือตกอยู่ในอันตรายหากใช้ชื่อตาม กฎหมาย คนเหล่านี้มีความชอบธรรมเต็มที่จะใช้ชื่อปลอม และบริการต่าง ๆ จะต้องคำนึงถึงจุดนี้ ความปลอดภัยของชีวิตคนเป็นเรื่องสำคัญสุด
เพื่อเป็นการรับประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐบัญญัติสื่อทางไกล “Telemediengesetz” ของเยอรมนี กำหนดไว้ว่าบริการออนไลน์จะต้องสามารถเข้าถึงได้โดยนิรนามหรือโดยไม่ต้องระบุชื่อ (anonymous)
ชื่อที่เลือกเอง ชีวิตที่เลือกเอง
อีกประเด็นสำคัญที่คนถกเถียงกันคือ สิทธิในการจะอธิบายว่าตัวเองเป็นใคร หรือประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมนั่นเอง
มิสเตอร์ บีน, ฮิเดะ, เฟรดดี เมอร์คูรี, เลดี้ กาก้า, ศรีบูรพา, หรือ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ล้วนไม่ได้เป็นชื่อตอนเกิด ไม่ได้เป็นชื่อตามกฎหมาย แต่เป็นชื่อที่คนเหล่านี้เลือกที่จะใช้ บ้างก็ตั้งเอง (autonym) บ้างก็คนอื่นตั้งให้ พวกเขามีชีวิตส่วนหนึ่งในบทบาทที่ผูกกับชื่อเหล่านี้ และบางคนก็ตายไปในบทบาทนั้นด้วย ป้ายหลุมศพของฮิเดะ ร็อกเกอร์ชื่อดังชาวญี่ปุ่นที่มีแฟนๆ อยู่พอสมควรในเมืองไทย สลักชื่อ “hide” คำเดียว และไม่มีชื่อตามกฎหมายของเขา
อลิซ คูเปอร์ ร็อกเกอร์รุ่นใหญ่ บอกว่า เลดี้ กาก้า ก็เหมือนกับเขา คือเธอแต่งเพลงให้ เลดี้ กาก้า ร้องและแสดงบนเวที พอลงจากเวทีเธอก็เป็นคนอีกคนหนึ่ง คูเปอร์บอกว่าเขาก็เป็นแบบนั้น เขาไม่ได้แต่งเพลงให้กับ วินเซนต์ ดามอน เฟอร์เนียร์ (ชื่อเกิด) เขาแต่งเพลงให้ อลิซ คูเปอร์
กระทั่งการสะกดชื่อก็มีความหมาย ฮิเดะใช้ชื่อ HIDE (สะกดตัวพิมพ์ใหญ่หมด) สำหรับผลงานกับวง X Japan และใช้ hide (ตัวพิมพ์เล็กหมด) สำหรับผลงานเดี่ยว บอยด์เป็นอีกคนที่สะกดชื่อตัวเองด้วยตัวพิมพ์เล็กทั้งหมด เธอต่อสู้อยู่หลายปี เพื่อให้ทางการยอมรับชื่อและวิธีสะกดที่เธอเลือกเอง ในที่สุดเธอก็ได้มีชื่อ danah boyd ในเอกสารราชการ เธอคิดว่านี่เป็นการต่อสู้ทางการเมืองด้วย
เรื่องชื่อเป็นเรื่องสำคัญสำหรับอินเทอร์เน็ตเสียกระทั่ง W3C องค์กรที่ดูแลมาตรฐานเว็บ ตีพิมพ์ข้อแนะนำ Personal names around the world เพื่อการออกแบบ-จัดการชื่อคนในเว็บไซต์หรือแบบฟอร์ม ประเด็นหลักของเอกสารนี้ก็คือ ต้องคำนึงถึงภาษาและวัฒนธรรมที่หลากหลาย และให้ทางเลือกกับเจ้าของชื่อ ว่าสะดวกจะให้เราเรียกเขาแบบไหน
ความตั้งใจดี แต่มาตรการที่เหวี่ยงแห อาจนำไปสู่ความเสียหายที่ไม่ได้คาดคิด ?
เหตุผลหนึ่งที่กูเกิลอ้างว่า การใช้ชื่อจริงนั้นมีผลดีก็คือ มันจะช่วยป้องกันการแอบอ้างชื่อหรือการหลอกหลวงได้
วิธีคิดในแบบกูเกิลก็คือ ถ้าบังคับให้ทุกคนใช้ชื่อจริงได้ ก็จะป้องกันการแอบอ้างการใช้ชื่อได้ คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ กูเกิลจะบังคับใช้นโยบายนี้ได้ครอบคุลมแค่ไหน แล้วประโยชน์ที่ได้รับมันคุ้มกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้คนอื่น ๆ ไหม ? (เช่น ความปลอดภัย และสิทธิทางวัฒนธรรม ดังที่เราได้พูดถึง)
วิธีคิดแบบนี้เรียกได้ว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” ซึ่งฟังดูดี แต่เราต้องคำนึงด้วยว่า ทุก ๆ การ “กัน” นั้น มีราคาที่ต้องจ่าย และการ “กัน” เองก็ได้สร้างปัญหาให้ต้องแก้เพิ่มอีกด้วย
ใช่ว่าปัญหาการแอบอ้างจะมีวิธีแก้วิธีเดียว ถ้าเรามองดูทวิตเตอร์ จะเห็นว่าทวิตเตอร์ไม่ได้บังคับให้เราใช้ชื่อจริง แต่สำหรับบุคคลสาธารณะหรือคนดังในแวดวงต่าง ๆ ที่มีความเป็นไปได้สูงว่าจะถูกแอบอ้าง ทวิตเตอร์ก็มีบริการรับรองตัวตนว่าเป็นคนดังกล่าวจริง ๆ (โดยจะใช้ชื่ออะไรก็ได้) หรือที่เรียกว่า “verified account” (บัญชีทวิตเตอร์ของอดีตนายกอภิสิทธิ์เป็นบัญชีหนึ่งที่ได้รับการรับรอง)
วิธีคิดในแบบทวิตเตอร์ก็คือ เราไม่จำเป็นต้องบังคับให้คนทุกคนทำเรื่องที่เขาไม่สมัครใจหรือจะเป็นภาระ กับเขา เพื่อแก้ปัญหาที่มีอาจจะเกิดกับคนจำนวนไม่มาก อย่างไรก็ตาม เราก็จำเป็นที่จะต้องรักษาสิทธิของคนจำนวนน้อยนั้นด้วย โดยมีมาตราการมารองรับ
พูดง่าย ๆ ก็คือ “ไม่เหวี่ยงแห ทำให้น้อยที่สุด เฉพาะเท่าที่จำเป็น”
ไม่มีคำตอบสูตรสำเร็จสำหรับทุกปัญหา แต่ดูเหมือนว่า สังคมอินเทอร์เน็ตต้อนรับวิธีแบบทวิตเตอร์มากกว่าแบบกูเกิล
ไม่กี่เดือนหลังจาก nymwars ดังกล่าว กูเกิลได้เปลี่ยนนโยบาย ยอมให้ใช้ชื่อปลอมและการระบุตัวตนแบบอื่นๆ ได้ และในปี 2557 หลังจากถูกกดดันจากชุมชนเกย์และเลสเบียน เฟซบุ๊กก็ได้เปลี่ยนนโยบายเรื่องชื่อเช่นกัน โดยอนุญาตให้ใช้ชื่อ “ตามที่เพื่อนใช้เรียกคุณในชีวิตจริง” ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นชื่อตามกฎหมาย
(ปรับปรุงเล็กน้อยจากบทความที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปาจารยสาร ปีที่ 35 ฉบับที่ 3 ตุลาคม-พฤศจิกายน 2554; ภาพประกอบจาก The Future Agency)
Tags: anonymity, Facebook, Google Plus, identity, nymwars, privacy, pseudonymity