2013.11.01 15:00
สรุปความจากบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มในรายงานประจำปีเครือข่ายพลเมืองเน็ต ปี 2555
สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons: CC) คือ สัญญาอนุญาติที่เอื้อให้เจ้าของผลงานที่มีลิขสิทธิ์เปิดโอกาสให้ผู้อื่นนำผลงานของตน เช่น ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียง ข้อมูล เป็นต้น ไปใช้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ผู้นำไปใช้ต้องทำตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ทุกครั้ง
แม้ว่าสัญญาครีเอทีฟคอมมอนส์สำหรับประเทศไทยได้เปิดตัวไปตั้งแต่ปี 2552 และมีการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องนี้ในไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่พบว่าสัญญาครีเอทีฟคอมมอนส์ยังไม่ได้รับความสนใจและผลักดันให้เป็นประเด็นสาธารณะสักเท่าไร อีกทั้งพบกรณีที่มีผู้นำผลงานไปใช้โดยขัดต่อสัญญาอนุญาตหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบกรณีไหนที่มีการฟ้องร้องในชั้นศาล โดยส่วนมากมักจบลงด้วยการขอโทษมากกว่า
เครือข่ายพลเมืองเน็ต สัมภาษณ์ พิสิต ศรีประสาททอง หนึ่งในอาสาสมัครผู้บุกเบิกครีเอทีฟคอมมอนส์ในไทย และซึ่งเคยเป็นหนึ่งในทีมที่ทำการถอด (port) สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์จากต้นฉบับเป็นฉบับสำหรับประเทศไทย ได้แสดงความเห็นไว้น่าสนใจเกี่ยวกับ ความเคลื่อนไหวด้านครีเอทีฟคอมมอนส์ในไทยไว้ดังนี้
Q: ส่วนใหญ่ผลงานที่เลือกใช้สัญญาอนุญาตจะเป็นประเภทไหน ผลิตโดยใคร
พิสิต: ผู้เลือกใช้สัญญาอนญาตส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับการสร้างสรรค์ผลงานดิจิทัล เพราะธรรมชาติของสื่อดิจิทัลจะเอื้อต่อการทำซ้ำ ดัดแปลง ต่อยอด อีกทั้งยังแพร่กระจายได้เร็วกว่าสื่อกายภาพ ผู้เลือกใช้สัญญาอนุญาตจึงมองว่าการเปิดให้ผู้อื่นนำงานของตนไปต่อยอดน่าจะมีประโยชน์กว่า เนื่องจากตนก็เคยได้ประโยชน์จากการต่อยอดงานสร้างสรรค์อื่น ๆ เช่นกัน
ตัวอย่างเว็บไซต์หรือเจ้าของผลงานที่ใช้สัญญาอนุญาตที่รู้จักอยู่ก็ เช่น วิกิพีเดียไทย Blognone) FAIL.in.th หลายบล็อกใน Exteen เช่น phuphu.exteen.com และเว็บไซต์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
Q: คนไทยนิยมใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์มากขึ้นหรือไม่ นับตั้งแต่มีการเผยแพร่
พิสิต: สำหรับเนื้อหาที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตในช่วงสองถึงสามปีนี้ไม่ได้ขยายตัวมากนัก แต่ยังไม่พบกรณีที่เลือกใช้สัญญาอนุญาตแล้วเปลี่ยนกลับมาเป็นบังคับใช้ลิขสิทธิ์เต็มที่ สำหรับเนื้อหาที่เผยแพร่ทางสื่ออื่น เข้าใจว่ายังมีผู้ใช้ไม่แพร่หลายเท่าบนอินเทอร์เน็ต
Q: ที่ผ่านมาพบกรณีการละเมิดสัญญาอนุญาตบ้างหรือไม่ และเรื่องราวต่างๆ จบลงอย่างไร
พิสิต: นอกจากกรณีเว็บ FAIL ก็มีเว็บบล็อกนันที่มีผู้คัดลอกเนื้อหาไปลงในสื่อออนไลน์ของตนโดยไม่ให้เครดิตเป็นระยะๆ เท่าที่ทราบ ยังไม่มีกรณีการละเมิดสัญญาอนุญาตที่นำไปสู่การฟ้องร้องคดี มักจบลงด้วยการตักเตือนและขอโทษ
Q: ตอนนี้การรับรู้เรื่องครีเอทีฟคอมมอนส์ ในกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยกว้างขวางมากน้อยแค่ไหน
พิสิต: ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยคงจะเคยเห็นสัญลักษณ์และเรื่องราวเกี่ยวกับครีเอทีฟคอมมอนส์บ้าง แต่ส่วนใหญ่น่าจะยังไม่เข้าใจหรือเห็นประโยชน์ของโครงการมากนัก อุปสรรคส่วนหนึ่งน่าจะเป็นการ ประชาสัมพันธ์ที่ยังไม่ค่อยต่อเนื่อง เพราะกลุ่มคนที่บุกเบิกเรื่องครีเอทีฟคอมมอนส์ในไทย ถ้าไม่ใช่นักวิชาชีพกฎหมายก็เป็นอาสาสมัครซึ่งไม่มีเวลาหรือกำลังที่จะทำงานเชิงรุกได้มากนัก
Tags: copyright, Creative Commons, intellectual property, Netizen Report, new media, Phisit Siprasatthong, Thailand