2013.08.21 10:46
ธิติมา อุรพีพัฒนพงศ์
สิงหาคม 2556
แม้การถกเถียงเรื่องความเป็นส่วนตัว (privacy) ในพื้นที่ออนไลน์จะเริ่มเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมบ้างแล้ว โดยเฉพาะการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อโจมตีกันจากความขัดแย้งทางการเมือง หรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม แต่ที่ผ่านมาการทำความเข้าใจความเป็นส่วนตัวออนไลน์ในสังคมไทยมักจำกัดอยู่ในมิติของกฎหมายเท่านั้นซึ่งประเทศไทยยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ปัญหาจากการจัดเก็บและเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลจึงปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่องในระยะที่ผ่านมา แดเนียล โซลอฟ (Daniel Solove) นักวิชาการด้านกฎหมายเสนอให้เราหากรอบคิดที่หลากหลายขึ้นเพื่อหาทางคุ้มครองความเป็นส่วนตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีอยู่ได้ โดยเริ่มจากปัญหาการละเมิดความเป็นส่วนตัวที่เกิดขึ้นจากการรวบรวมและใช้ข้อมูลส่วนตัวของผู้คนในปัจจุบันนี้ เพราะปัญหาที่เกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว แตกต่างกันตามบริบทของสังคม (Solove 2002:1152)
ด้วยเหตุที่อินเทอร์เน็ตเข้าไปมีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนในหลายมิติ ส่งผลให้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดความเป็นส่วนตัวมีลักษณะแตกต่างกันออกไปด้วย สำหรับในสังคมไทยปัจจุบัน เบื้องต้นเราอาจจะแบ่งการพิจารณาออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ ประเภทแรก คือ ความเป็นส่วนตัวที่เกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภค เช่น สิทธิในความเป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลของผู้ให้บริการออนไลน์ของสถาบันการเงิน ห้างร้าน หรือบริษัทประกันชีวิต การส่งต่อหรือซื้อขายข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าไปยังบุคคลที่สาม ประเภทที่สองคือ ความเป็นส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตัวอย่างเช่น การเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อโจมตีบุคคลที่มีความคิดเห็นต่างกันทางการเมือง หรือใช้วิธีการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลทางอินเทอร์เน็ตเพื่อกลั่นแกล้งกัน ทั้งนี้นอกจากความหลากหลายของปัญหาแล้ว ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นยังสะท้อนให้เห็นว่าข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัวเกี่ยวพันกับสิทธิด้านอื่นๆ ของปัจเจกบุคคลด้วย
ในการทำความเข้าใจสิทธิความเป็นส่วนตัวออนไลน์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเพื่อนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ต งานวิจัยนี้จึงเริ่มต้นค้นหาคำตอบว่าการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวออนไลน์ที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทยมีลักษณะอย่างไร เช่น รูปแบบ ผลกระทบและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสลับซับซ้อนของการทำความเข้าใจความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ งานวิจัยนี้เริ่มจากการสำรวจสถานการณ์การละเมิดความเป็นส่วนตัวออนไลน์ในสังคมไทยตั้งแต่พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา ด้วยการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวที่ปรากฏตามเว็บไซต์ต่างๆ ระหว่างมกราคมถึงมิถุนายน พ.ศ. 2556 จำนวน 6 กรณีตัวอย่าง แล้วพิจารณาจำแนกตามรูปแบบของปัญหาออกเป็น 3 แบบได้แก่ การละเมิดความเป็นส่วนตัวของธุรกิจเอกชน การละเมิดความเป็นส่วนตัวจากหน่วยงานรัฐ และการละเมิดความเป็นส่วนตัวระหว่างผู้ใช้บริการออนไลน์ด้วยกันเอง
เกี่ยวกับโครงการวิจัย
งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Thai Online Services’ Privacy Policy and Security Measures: Evaluation and Public Understanding” ซึ่งจะสำรวจนโยบายความเป็นส่วนตัว มาตรการรักษาความปลอดภัย และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของบริการออนไลน์ในประเทศไทย และนำเสนอข้อค้นพบในรูปแบบเข้าใจง่าย เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกใช้บริการ
โครงการวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดโครงการวิจัยระดับนานาชาติ “Surveillance and Freedom: global understandings and rights development (SAFEGUARD)” ซึ่งมีโครงการวิจัย 19 โครงการใน 16 ประเทศ และทำงานร่วมกับองค์กร Privacy International สหราชอาณาจักร
Tags: privacy, Privacy International, Thailand