2011.10.04 18:25
สืบเนื่องจากเมื่อเวลาประมาณ 10:23-10:44 น. ของวันที่ 2 ตุลาคม 2554 บัญชีทวิตเตอร์ @PouYingluck ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถูกเข้าถึงโดยบุคคลอื่น และได้เผยแพร่ข้อความจำนวน 8 ข้อความอย่างต่อเนื่อง มีเนื้อหาวิพากษ์นโยบายสาธารณะ
เครือข่ายพลเมืองเน็ต มีความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้
- กรณีที่เกิดขึ้น มีความชัดเจนว่าเป็นอาชญากรรมคอมพิวเตอร์โดยแท้ คือเป็นความผิดที่กระทำต่อตัวระบบหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยมีการเข้าถึงระบบโดยมิชอบ (มาตรา 5) และการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรหัสผ่านไปจากเดิม (มาตรา 9)
- รัฐต้องมีความระมัดระวังในการสืบหาตัวผู้กระทำผิด เนื่องจากหมายเลขไอพีอินเทอร์เน็ตหรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้อย่างแม่นยำ อาจเกิดการจับผิดตัวและละเมิดสิทธิผู้บริสุทธิ์ได้
- กรณีที่เกิดขึ้น ผู้กระทำได้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์นโยบายสาธารณะและการทำงานของพรรคเพื่อไทยจำนวนเจ็ดข้อความ และแสดงออกอย่างชัดเจนในข้อความสุดท้ายที่ว่า “แม้กระทั่ง twitter ตนเองยังปกป้องไว้ไม่ได้ แล้วประเทศนี้จะปกป้องได้อย่างไร? ฝากให้พี่น้องคิดดูนะครับ” ว่าเป็นการกระทำโดยบุคคลอื่นที่ไม่ใช่นางสาวยิ่งลักษณ์ จึงไม่ควรเป็นความผิดตามมาตรา 14 เพราะไม่เข้าข่ายทั้ง “ข้อมูลคอมพิวเตอร์เท็จ” เพราะเป็นความคิดเห็น และ “ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม” เพราะแสดงตัวทั้งทางตรงและทางอ้อมว่าไม่ใช่เจ้าของบัญชี ทั้งนี้การกระทำทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาประมาณ 20 นาที
- สังคมควรตระหนักถึงปัญหาของพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกผ่านในสมัยรัฐบาลคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) โดยเฉพาะมาตรา 14 (นำเนื้อหาเข้าสู่ระบบ), 15 (ภาระความรับผิดของผู้ให้บริการ), และ 20 (การปิดกั้นการเข้าถึง) ที่ว่าด้วยการเผยแพร่เนื้อหา ซึ่งตลอดสี่ปีที่ผ่านมา พบปัญหาการละเมิดสิทธิเสรีภาพที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายมาตราดังกล่าวจำนวนมาก
- ปัญหาหลักของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ส่วนหนึ่งมาจากถ้อยคำในตัวกฎหมายที่คลุมเครือ เช่นคำว่า “ตื่นตระหนก” (มาตรา 14 (2)) และการบังคับใช้ที่เจ้าหน้าที่อนุญาตให้ตีความกฎหมายได้กว้างขวาง เช่นกรณีการตีความคำว่า “ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม” (มาตรา 14 (1)) อีกทั้งความผิดเกือบทั้งหมดเป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ ทำให้กลายเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความยากลำบากให้กับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับนักกิจกรรมทางสังคม นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้ป่วย และสมาชิกสหภาพแรงงาน
- กรณีที่เกิดขึ้นควรเป็นบทเรียนให้ทั้งผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการ และนักพัฒนาระบบ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการปกป้องสิทธิของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งหนึ่งในนั้นคือนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิเองในกรณีนี้ ทุกฝ่ายควรตระหนักว่าความปลอดภัยในอินเทอร์เน็ตไม่ใช่ภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น และกรณีดังกล่าวต้องไม่ถูกใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมในการออกมาตรการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
เพื่อเสรีภาพออนไลน์
เครือข่ายพลเมืองเน็ต
4 ตุลาคม 2554
ดาวน์โหลด PDF | OpenDocument
Tags: Computer-related Crime Act, internet security, Twitter, Yingluck Shinawatra