2011.09.23 15:51
โดย วสันต์ ลิ่วลมไพศาล ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Blognone
ความเปลี่ยนแปลงของการสื่อสารที่เราเห็นว่าอินเทอร์เน็ตเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกจนน่าตกใจนั้น ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคของอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ช่วงปีคริสตศักราช 1440 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของยุคโรงพิมพ์ (printing press) ก็นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โรงพิมพ์และสิ่งพิมพ์นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทั้งด้านเทคโนโลยี, สังคม, ศาสนา, และเศรษฐกิจ ความเปลี่ยนแปลงนี้นำยุโรปออกจากยุคมืด ระดับความรู้หนังสือของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด นำมิติใหม่ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มขึ้นสู่ประชากรยุโรป
พร้อมๆ กับคุณประโยชน์ของเสรีภาพในการสื่อสารที่เพิ่มขึ้น โทษของการสื่อสารทั้งในแง่ของรัฐที่กลัวคำวิจารณ์ หรือข้อเขียนที่ดูหมิ่นตัวบุคคลจนเกินเลยเสรีภาพก็เกิดขึ้นได้เสมอๆ กลไกการหาตัวผู้รับผิดชอบจึงพัฒนาขึ้นมาไล่ๆ กัน อย่างที่ทุกวันนี้เวลาที่เราอ่านหนังสือเราอาจจะสังเกตว่าหนังสือต้องมีชื่อและสถานที่พิมพ์ พร้อมกับคนรับผิดชอบในการตรวจสอบข้อความนั้นๆ ไว้ก่อนเสมอ และเมื่อเกิดเหตุที่ข้อความใดๆ ในหนังสือมีปัญหาทางกฎหมาย ผู้รับผิดชอบนั้นๆ ก็อาจจะถูกดำเนินคดีหรือต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เพื่อหาตัวผู้ประพันธ์มารับผิดต่อไป
ถ้าเรามองย้อนกลับไปเพียงไม่กี่ปี เราจะเห็นว่าอินเทอร์เน็ตกำลังก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นอีกครั้ง การสื่อสารที่มากขึ้นกำลังก่อให้เกิดการวิจารณ์ต่อเรื่องต่างๆ ในวงกว้าง การพูดคุยการตรวจสอบกำลังเกิดขึ้นทั่วไป
แต่ไม่มีสิ่งใดมีแต่ด้านดีเพียงด้านเดียว อินเทอร์เน็ตเองก็สร้างปัญหาจากเนื้อหาและข้อความขึ้นจำนวนมาก ข้อมูลให้ร้ายต่อกัน หรือการนำข้อมูลส่วนตัวมาเปิดเผยในที่สาธารณะสร้างความเสียหายต่อตัวบุคคลเกิดขึ้นเรื่อยๆ ในอินเทอร์เน็ตทั่วโลก แม้แต่ในไทยเองที่ผู้ใช้ยังไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ
เรื่องเหล่านี้มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อเรามีบริการใหม่ๆ ที่ใช้งานสะดวกขึ้นเช่น เครือข่ายสังคมออนไลน์ (social network) ที่ทุกอย่างเผยแพร่ไปเร็วกว่าเมื่อครั้งที่เราใช้เว็บบอร์ดหรืออีเมลเป็นหลักในอินเทอร์เน็ต
อินเทอร์เน็ตจึงไม่ควรเป็นดินแดนไร้กฎหมาย ไร้การควบคุมที่ทุกคนจะทำอย่างไรก็ได้ตามใจชอบ เราทุกคนเองควรได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายเพื่อไม่ให้ใครสามารถเข้ามาใส่ร้าย หรือนำเรื่องส่วนตัวมาเปิดเผย
คำถามสำคัญที่เราควรคิดกันก็ึคือ ภายใต้ความควบคุมเหล่านั้น เราต้องการทำให้เกิดอะไรขึ้นกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย? เราต้องการอินเทอร์เน็ตที่มีเพียงข้อมูลที่คัดกรองแล้วว่าดีงาม เราต้องการการจำกัดการแบบทันทีเช่นที่ทุกวันนี้เราใช้บริการ Twitter, WhatsApp, หรือ Facebook กันหรือไม่
สิ่งที่เราควรตระหนักคืออินเทอร์เน็ตไม่ใช่สิ่งพิมพ์ และผู้ให้บริการ หรือตัวกลาง (เช่น เว็บมาสเตอร์ Internet service provider: ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต) ก็ไม่ใช่ผู้พิมพ์ แม้สุดท้ายแล้วเราต้องการให้มีการควบคุมอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ความคุ้มครองกันและกันของประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต แต่การหาทางออกง่ายๆ โดยการหาใครสักคนมาเป็นผู้รับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นบนอินเตอร์เน็ต เพียงเพราะว่า เป็นการยากที่ผู้รักษากฎหมายจะไปหาตัวผู้กระทำผิดตัวจริงมาลงโทษได้นั้นไม่ใช่เรื่องที่ดีทั้งต่อผู้เสียหายและต่อสังคมโดยรวม
ธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตนับแต่วันที่่มันถูกออกแบบมาคือการสื่อสารระหว่างกัน (point-to-point) โดยไม่มีศูนย์กลาง (decentralized) ทุกวันนี้เราใช้ความสามารถเช่นนี้โดยเราไม่รู้ตัวเสมอๆ เช่น Skype นั้นสามารถต่อสายโทรศัพท์ระหว่างคนสองคนได้โดยที่ไม่มีข้อมูลเสียงที่เราคุยกับปลายทางถูกส่งไปยังบริษัท Skype เองเลย แต่ Skype มีเพียงหน้าที่นัดแนะให้ปลายทางทั้งสองมาเชื่อมต่อกันเท่านั้น
ส่วนบริการที่มีศูนย์กลางเช่น Facebook, Twitter, หรือ Gmail นั้นก็มักเป็นบริการที่สามารถขยายตัวตามผู้ใช้ได้อย่างแทบไม่มีขีดจำกัด ระบบที่ใหญ่ รองรับผู้ใช้จำนวนมหาศาลไม่ได้หมายถึงจะต้องมีพนักงานจำนวนมากแต่อย่างใด บริการเช่น Facebook นั้นมีพนักงานทำงานอยู่ประมาณ 2,000 คนเท่านั้น เมื่อเทียบกับผู้ใช้บริการประมาณ 750 ล้านคน และมีจำนวนข้อความถูกส่งเข้าไปยังเซิร์ฟเวอร์วันละ 60 ล้านข้อความ
ด้วยธรรมชาติเช่นนี้ของอินเทอร์เน็ต การคาดหวังให้ผู้ให้บริการใดๆ รับรู้ข้อมูลทุกอย่างในตัวข้อความหรือในตัวบุคคลที่เป็นผู้ส่งข้อความระหว่างกันจึงเป็นไปไม่ได้ ยกเว้นว่าเราจะปฏิเสธบริการเช่นนี้ทั้งหมด แล้วมองอินเทอร์เน็ตให้กลายเป็นช่องทางการอ่านบทความของเว็บนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์โดยไม่สามารถให้ความเห็นใดๆ ในเว็บโดยตรงได้ แต่ต้องส่งอีเมลไปยังบรรณาธิการเพื่อคัดเลือกอีเมลมาตอบกันต่อไป
การเรียกร้องให้กฎหมายไม่คาดหวังให้ผู้ให้บริการต้องรับรู้ถึงข้อความทุกข้อความ ไม่ได้หมายความว่า ผู้ให้บริการต่างๆ จะไม่ต้องรับผิดชอบ จนอินเทอร์เน็ตกลายเป็นพื้นที่ไร้กฎหมาย แต่กฎหมายที่ดีและเข้าใจธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตไม่ควรเรียกร้องจากผู้ให้บริการจนกระทั่งไม่สามารถให้บริการได้โดยไม่เสี่ยงต่อการถูกเอาผิด และจะทำให้ผู้ที่ไม่ใช่ผู้กระทำผิดตัวจริงเดือดร้อนไปด้วย
พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่ใช้อยู่ในทุกวันนี้ ถูกเขียนขึ้นโดยมีข้อสันนิษฐานที่ค่อนข้างแปลกแยกจากธรรมชาติของการสื่อสารระหว่างกันในอินเทอร์เน็ต ดูเหมือนมันถูกเขียนขึ้นโดยความพยายามควบคุมอินเทอร์เน็ตอย่างสุดขั้ว และเขียนเพื่อหาใครสักคนมารับผิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้จนได้ เช่น การเขียนความผิดให้กว้างขวางที่สุด อย่างการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) มีโทษสูงสุดคือ จำคุกห้าปี
เป็นประเด็นถกเถียงว่า มาตรา 14 (1) ซึ่งมีการเขียนมูลความผิดอย่างกว้างขวางเช่นนี้ มีเจตนารมณ์ดั้งเดิมคือ เพื่อเล่นงานการปลอมตัวในอินเทอร์เน็ต (phishing) เท่านั้นหรือไม่
เมื่อมีการใช้คำที่ครอบคลุมการกระทำกว้างขวางเช่นนี้แล้ว ก็ทำให้เกิดการฟ้องร้องจำนวนมาก และซ้ำซ้อนกับฐานความผิดที่มีอยู่แล้วในกฎหมายฉบับอื่น เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาท
หากจะตีความมาตรา 14 (1) อย่างตรงตัวแล้ว การเล่น April Fools (วันเมษาหน้าโง่) ในวันที่ 1 เมษายนของทุกปี นั้นอาจจะทำให้เว็บไซต์ระดับโลกอย่าง Google และ BBC, และอีกหลายสำนักข่าวต่างประเทศ ผิดกฎหมายไทย จนมีความผิดต้องโทษจำคุกสูงสุด 5 ปีตามมาตรา 14 (1) นี้กันไปหมด
แนวทางเช่นนี้ตามมาถึงมาตรา 15 ที่พูดถึงผู้ให้บริการที่ “จงใจสนับสนุนหรือยินยอม” ให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 โดยไม่ระบุว่าการกระทำเช่นไรจึงจะเป็นการ “จงใจ” ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตตามบ้านอาจจะถูกลูกค้าส่งข้อมูลอันเป็นการกระทำความผิดต่อผู้อื่นเป็นเวลานาน ก็อาจจะเป็นความจงใจได้หากเราปล่อยให้มีการตีความกันเอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเป็นผู้เสียหายเสียเอง
ผู้ให้บริการนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงผู้ให้บริการเว็บเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต, ผู้ให้บริการเซิร์ฟเวอร์, ตลอดจนผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูล หากแต่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปัจจุบันกลับไม่มีแนวทางชัดเจนว่าผู้ให้บริการแต่ละประเภทจะต้องทำอย่างไรจึงจะแสดงตัวว่า ไม่ได้จงใจสนับสนุนข้อมูลเหล่านี้ แต่เป็นเพียงการให้บริการตามปรกติวิสัย
การปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับธรรมชาติของอินเทอร์เน็ต ไม่ได้หมายถึงการยกเลิกการควบคุมทั้งหมด ไม่ได้หมายถึงอินเทอร์เน็ตที่จะไม่มีใครต้องรับผิดชอบอะไร หากแต่คือ การมีกฎระเบียบ ที่ทำให้ทุกคนรู้ถึงภาระรับผิดชอบของตัวเอง มีขอบเขตความรับผิดชอบที่ชัดเจน และตระหนักถึงความผิดหากไม่ทำตามความรับผิดชอบเหล่านั้น
ผมเชื่อว่า เราสามารถสนับสนุนให้มีกติกาที่ชัดเจนสำหรับผู้ให้บริการแต่ละประเภท โดยการออกกฎหมายลูก เพื่อจะได้มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนสำหรับผู้ให้บริการแต่ละประเภทต่อไป
ยกตัวอย่างเช่นกระบวนการขอลบเนื้อหาออกจากเว็บ ที่ทุกวันนี้กลับไม่มีกระบวนการใดๆ บอกได้ หากเรามีกฏที่ลงรายละเอียดแยกตามประเภทผู้ให้บริการ เราอาจจะมีกฎที่ผู้ให้บริการเว็บจะต้องลบเนื้อหาที่พาดพิงต่อบุคคลในทางร้าย เมื่อได้รับคำร้องขอจากผู้เสียหาย โดยจะต้องปิดการเข้าถึงในเวลาที่กำหนด ผู้ให้บริการอาจจะต้องส่งต่อข้อมูลติดต่อ (เช่นอีเมล) ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อมีการดำเนินคดี ฯลฯ รวมไปถึงเราอาจจะกำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมีบริการค้นหาเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ถูกขโมยแล้วนำไปเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการ หรือโทรศัพท์ที่ถูกขโมยแล้วได้รับการแจ้งหมายเลขประจำเครื่องเอาไว้ กติกาเช่นนี้สามารถช่วยลดความยุ่งยากในการดำเนินคดี และช่วยลดอาชญากรรมได้ แต่กลับไม่มีการระบุไว้ในหน้าที่ของผู้ให้บริการแต่อย่างใดในทุกวันนี้
ผู้ออกกฎหมายไม่ควรคิดแต่ว่า กฎหมายที่ออกไปนั้นช่วยทำให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้ง่ายหรือไม่ แต่ยังควรมองในแง่การคุ้มครองผู้เกี่ยวข้อง ผู้ให้บริการ ต้องมีช่องทางให้ผู้รับบริการอย่างสะดวกเมื่อผู้รับบริการต้องการ ตัวอย่างเช่น การกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องแสดงจุดติดต่อ เช่น อีเมล หรือหมายเลขโทรศัพท์อย่างเป็นมาตรฐาน ผู้ให้บริการเซิร์ฟเวอร์อาจจะต้องมีศูนย์แจ้งว่าหมายเลขไอพีใดควรติดต่อผู้ดูแลได้ผ่านทางช่องทางใด หากถูกโจมตีจากหมายเลขไอพีใดๆ ผู้เสียหายควรมีช่องทางติดต่อกับผู้ให้บริการหมายเลขไอพีนั้นๆ เพื่อแจ้งการโจมตีและขอให้ปิดบริการได้
เมื่อเราถูกละเมิดเล็กๆ น้อยๆ แทนที่เราจะต้องไปขึ้นดำเนินคดีซึ่งบางครั้งไม่คุ้มค่ากับผู้เสียหายเอง หากผู้รับบริการสามารถติดต่อผู้ให้บริการได้อย่างรวดเร็ว ด้วยกฎเกณฑ์ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการต้องตอบสนองต่อเรื่องร้องเรียนต่างๆ อย่างรวดเร็ว และสามารถแก้ไขต่อการละเมิดนั้นได้อาจจะเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่ายมากกว่า
หากเป็นการละเมิดตัวบุคคลอาจจะต้องปิดการเข้าถึงข้อมูลภายในเวลาที่กำหนดหลังได้รับแจ้งแม้จะยังไม่มีการแจ้งความ หากเป็นกรณีที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นความผิดหรือไม่ เราอาจจะตั้งกฎให้ผู้ให้บริการต้องปิดการเข้าถึงเป็นช่วงเวลาหนึ่งก่อนที่ผู้เสียหายจะไปดำเนินคดีและอาศัยอำนาจเจ้าหน้าที่เพื่อขอให้ปิดการเข้าถึง หรือคงข้อมูลบันทึกการเข้าถึง (log) ของผู้ใช้นั้นๆ เอาไว้แม้การดำเนินการจะใช้เวลานาน จนคำสั่งอาจมาถึงเมื่อเลยเวลาที่กฎหมายกำหนดไปแล้ว
ผมมีความเชื่อว่าเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งนำไปสู่การตรวจสอบ, การถกเถียง, และการวิจารณ์นั้น สามารถอยู่ร่วมกับการรับผิดชอบ และการคุ้มครองสิทธิของทุกคนในสังคมที่อยู่ร่วมกันได้ เราสามารถสร้างกฎที่ไม่ทำให้เกิดความกลัวอย่างไม่จำเป็น แต่แก้ปัญหาและคุ้มครองเสรีภาพของประชาชน โดยยังเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยและวิจารณ์อันเป็นส่วนสำคัญต่อสังคมประชาธิปไตยได้หากเราออกแบบกฎอย่างดีพอ
—-
วสันต์ ลิ่วลมไพศาล หรือ “lewcpe” เป็นผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Blognone ซึ่งนำเสนอสรุปข่าวด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก เว็บไซต์ดังกล่าวเปิดให้ผู้อ่านทุกคนสามารถร่วมเป็นผู้เขียนข่าวได้ด้วย วสันต์จบการศึกษาด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เครือข่ายไร้สายแบบเมซ และเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี (ข้อมูลจากฐานข้อมูลวิจัยไทยและ Blognone)
ภาพประกอบโดย ko contreras สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า
Tags: Computer-related Crime Act, intermediary liability, internet governance, Wason Liwlompaisan