ปลุกหน้าที่พลเมือง สอดส่องภาครัฐปิดกั้นเว็บให้โปร่งใส เปิดเผย ตรวจสอบได้

2010.11.19 23:35

ดร.พิรงรอง ฉะกรอบความคิดในการกำกับดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตในบ้านเรา ทั้งเก่า-ล้าสมัย ย้ำต้องทำความเข้าใจ สื่ออินเทอร์เน็ตไม่ใช่ นสพ. จึงมีการกระจาย มีความเป็นพลวัตรสูง ไม่สามารถจะปิดได้

เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายพลเมืองเน็ต ร่วมกับภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานสัมมนาสาธารณะ “การเมืองเรื่องอินเทอร์เน็ตและภาระของตัวกลาง” ณ ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่า คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอรายงานเรื่อง “การปิดกั้นและกลั่นกรองเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตภายหลังการรัฐประหารปี 2549”

ผศ.ดร.พิรงรอง กล่าวถึงกรอบความคิดในการกำกับดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยว่า ยังคงเป็นกรอบเก่า ซึ่งต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สื่ออินเทอร์เน็ตไม่ใช่สื่อหนังสือพิมพ์ จึงมีการกระจายศูนย์ และมีความเป็นพลวัตรสูง ทำให้ไม่สามารถจะปิดได้ และถึงแม้จะปิดก็เปิดใหม่ได้ตลอดเวลา

“ระบอบของการกำกับดูแลทางอินเทอร์เน็ต แสดงให้เห็นถึงบทบาทของการเมืองว่า เป็นการเมืองเรื่องเสื้อสี เป็นการเมืองที่ซับซ้อน และมีตัวแปรมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมาย (Law) การตลาด (Market) การออกแบบ (Architecture) และค่านิยม (Norms) ซึ่งทั้งหมดนี้มีส่วนในการกำกับเนื้อหา และการนำเสนอของอินเทอร์เน็ต”

จากนั้นมีการวิจารณ์และอภิปรายรายงาน โดยนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานชมรมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า คนไทยยังมีวุฒิภาวะในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองน้อย สมาคมต่างๆ ที่ดูแล รับผิดชอบเกี่ยวกับสื่อ หรืออินเทอร์เน็ต จะต้องจริงจังในการดำเนินการกับรัฐบาลเกี่ยวกับการบล็อกเว็บไซต์ที่ไร้ประสิทธิภาพให้มากกว่านี้ เพื่อให้มีความโปร่งใส และถูกต้องมากยิ่งขึ้น

“ในการกำกับเนื้อหา และการนำเสนอของอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะเรื่องการหมิ่นประมาท ที่มีการกล่าวถึงมาก และยังคลุมเครือพอสมควรนั้น ไม่ควรให้เป็นการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ไม่กี่คน แต่ควรเป็นเรื่องของภาคประชาสังคมที่จะต้องร่วมเสนอ ตัดสิน หากมีการละเมิดจริง ก็ต้องดำเนินไปตามข้อกฎหมาย แต่หากไม่ละเมิดก็ต้องเปิดโอกาสให้ได้ใช้พื้นที่ โดยเฉพาะความเห็นทางการเมือง”

ขณะที่นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวถึงการดำเนินการของรัฐบาลในการกำกับดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตว่า จะต้องเปิดเผยต่อสาธารณะชนว่าเคยปิดกั้นเว็บไซต์ ใดไปบ้าง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และที่สำคัญ ปัญหาการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งควรมีความชัดเจนถึงเหตุผล และคุณสมบัติในการคัดเลือกเจ้าหน้าที่มากกว่านี้

ด้านอาจารย์สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การก่อตั้งอินเทอร์เน็ตมีที่มาจากการเมือง ดังนั้นจึงมีความเกี่ยวพันกับการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว แต่เสียงประชาชน หรือการแสดงความคิดเห็นจากภาคประชาชนผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต ดังที่กล่าวกันอยู่นี้ เกิดจากความอึดอัดที่สื่อกระแสหลักโดนครอบงำ รัฐใช้อำนาจในการปิดกั้น และแทรกแซง พร้อมๆ กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้สื่ออินเทอร์เน็ต ที่เรียกว่าสื่อใหม่ต่างๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสามารถสื่อสารได้เร็ว และมีจุดแข็งพอสมควร

ทั้งนี้ ในเวทีอภิปราย ในหัวข้อ “อินเทอร์เน็ตกับภาระของตัวกลาง บทเรียนไทยและสากล” จากหลากหลายกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการใช้อินเทอร์เน็ต และได้รับผลกระทบจากความไม่ชัดเจนของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ผลการอภิปรายพอสรุปได้ว่า ตัวกลาง อันหมายถึง เจ้าของพื้นที่ หรือผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตได้รับผลกระทบที่หลากหลายจากการบังคับใช้กฎหมาย และผลกระทบจากการเมือง ซึ่งนับว่าผิดเจตนารมณ์ที่แท้จริงของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ตั้งขึ้นเพื่อจัดการกับอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต และความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจมากกว่า ปัญหาการเมือง การหมิ่นประมาท หรือการหมิ่นเบื้องสูงก็ตาม และเมื่อภาคการเมืองเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ หรือการกำกับดูแลทางอินเทอร์เน็ตอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การมีส่วนร่วมกันของพลเมืองทุกคน ที่จะช่วยสอดส่องการทำงานของภาครัฐเกี่ยวกับการปิดกั้นเว็บไซต์ ให้มีกระบวนการที่โปร่งใส เปิดเผย และสามมารถตรวจสอบได้นับเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย

Tags: , , , , , ,
%d bloggers like this: