2015.12.22 22:00
แถลงการณ์สถานการณ์ด้านสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว
แถลงต่อการประชุมปรึกษาหารือระดับชาติเพื่อจัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยรอบที่ 2 (22 ธันวาคม 2558) จัดโดยกระทรวงยุติธรรม
แถลงการณ์นี้รายงานสถานการณ์ด้านสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว ซึ่งครอบคลุมประเด็นกฎหมาย โครงสร้างองค์กรอิสระ และข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทย ข้อมูลในคำแถลงนี้นำมาจากรายงานที่จัดทำโดย เครือข่ายพลเมืองเน็ต ไพรเวซีอินเทอร์เนชันแนล และมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
ข้อเสนอแนะ
26. จัดให้มีการอบรมถึงการปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องให้กับผู้บังคับใช้กฎหมาย เช่น เจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจค้น เจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ และจะต้องมีระบบการตรวจสอบภายในที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันการใช้อำนาจในทางมิชอบ การละเมิดโดยเจ้าหน้าที่จะต้องได้รับการจัดการอย่างเคร่งครัด การออกนโยบายมาตรการ หรือข้อปฏิบัติใดๆ โดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ที่อาจกระทบกับสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของประชาชน จะต้องผ่านการปรึกษาหารือร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
27. ทบทวนและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการดักฟัง ดักรับ และจัดเก็บข้อมูลให้มีความสม่ำเสมอกัน ยกเลิกข้อกฎหมายที่ซ้ำซ้อน (สำหรับการเข้าถึงข้อมูลในคดีที่เป็นความผิดอาญา ให้อ้างอิงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ ไม่ต้องกำหนดซ้ำอีก) และปรับปรุงข้อกฎหมายให้ได้มาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยพิจารณาตามหลักการระหว่างประเทศว่าด้วยการใช้หลักสิทธิมนุษยชนกับการสอดแนมการสื่อสาร (International Principles on the Application of Human Rights to Communications Surveillance) และรายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่าด้วย “สิทธิความเป็นส่วนตัวในยุคดิจิทัล” (The Right to Privacy in the Digital Age) (A/HRC/27/37)
28. ทำให้แน่ใจได้ว่า การดักฟังดักรับข้อมูลทุกอย่าง จะถูกใช้ก็ต่อเมื่อมีการอนุญาตจากฝ่ายตุลาการ และทำตามหลักความชอบด้วยกฎหมาย ความชอบธรรม ความได้สัดส่วน และความจำเป็น ไม่ว่าผู้ถูกสอดแนมนั้นจะมีสัญชาติใดหรืออยู่ที่แห่งใด
29. เร่งออกข้อปฏิบัติว่าด้วยการปฏิบัติกับข้อมูลส่วนบุคคลในหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เช่น รหัสพันธุกรรม หลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ ข้อมูลการสื่อสาร
30. แก้ไขร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลต้องเป็นองค์กรกำกับที่เป็นอิสระ (Independent Regulatory Agency) ที่ไม่ขึ้นกับฝ่ายการเมือง ฝ่ายราชการ และฝ่ายความมั่นคง เนื่องจากหน้าที่ส่วนหนึ่งของคณะกรรมการดังกล่าวจะต้องตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ และให้กรรมการทั้งหมดทำงานเต็มเวลาให้กับคณะกรรมการ เพื่อทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน
31. ส่งเสริมการศึกษาด้านการอ่านออกเขียนได้ด้านสื่อและสารสนเทศ (Media and Information Literacy) ที่เน้นทักษะด้านการตรวจสอบข้อมูล การปกป้องความเป็นส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเอง และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของตัวเอง
32. เชิญ ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว มาเยือนประเทศไทย ภายในปี 2561
33. เชิญ ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐานในขณะต่อต้านการก่อการร้าย มาเยือนประเทศไทย ภายในปี 2562
34. เชิญ ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและปกป้องสิทธิที่จะมีเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออก มาเยือนประเทศไทย ภายในปี 2562
ดาวน์โหลดแถลงการณ์ฉบับเต็ม: PDF | OpenText Document
เอกสารที่เกี่ยวข้อง
- สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวในประเทศไทย (The Right to Privacy in Thailand) — รายงานผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย – รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน การประชุมครั้งที่ 25