2010.09.17 08:02
ถ้ามีคนเอ่ยคำว่า “สื่อพลเมือง” ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 21 จะเริ่มต้นได้ไม่นาน คนส่วนใหญ่คงส่ายหน้าด้วยความงุนงงในความหมาย เพราะแม้ว่าในช่วงนั้นคนธรรมดาจะสามารถเข้าถึงเครื่องมือสื่อสารตัวต่อตัวเช่นโทรศัพท์มือถือได้อย่างง่ายดายก็ตาม เครื่องมือที่สื่อสารกับคนจำนวนมากพร้อมกันได้ก็ยังเป็นสิ่งที่มีแต่ “มืออาชีพ” เท่านั้นที่มีทุนพอที่จะเข้าถึง
“สื่อมวลชน” ในอดีตจึงมีแต่มืออาชีพที่ได้รับการฝึกฝนเฉพาะด้าน มี “องค์กรสื่อ” ที่ทำ “ธุรกิจสื่อ” รองรับอย่างชัดเจน
แต่มาถึงวันนี้ วันที่คนไทยกว่า 3 ล้านคนมีบัญชีผู้ใช้เฟซบุค (Facebook.com) การ “สื่อสารสองทาง” (mass-to-mass) ระหว่างผู้คนกันเองด้วยต้นทุนที่ต่ำและด้วยความสะดวกสบายโดยปราศจากการคัดกรองระหว่างทางจากสื่อมวลชนนั้น ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป
เหตุการณ์ความรุนแรงช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ได้ตอกย้ำความสำคัญของสื่อพลเมือง โดยเฉพาะในบรรยากาศที่รัฐใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ผู้ใช้เน็ตที่สื่อสารกันผ่านเว็บไซต์โซเชียลมีเดียเช่นเฟซบุคและทวิตเตอร์ (Twitter.com) มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการนำเสนอข่าวสารที่รวดเร็ว ทันเหตุการณ์ และหลากหลายกว่าสื่อกระแสหลักเช่นโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์
หัวข้อสนทนาในเว็บบอร์ดกลายเป็นเนื้อหาปกติในข่าวหนังสือพิมพ์และข่าวโทรทัศน์ นักข่าวรายงานความเคลื่อนไหวในทวิตเตอร์ของนักการเมือง ยังไม่นับถึงผลกระทบต่อโลกจริงมากมายของสื่อพลเมืองในเน็ต เช่น การเปิดโปงกลโกงของเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 โดยนักวิทยาศาสตร์ในห้องหว้ากอของเว็บไซต์พันทิป (Pantip.com) ซึ่งนำไปสู่การตรวจสอบอย่างเป็นทางการและคำสั่งระงับการสั่งซื้อ ตลอดจนกระแสข้อมูลทุกด้านที่ไหลบ่าอย่างไม่หยุดยั้งก่อนและหลังการชุมนุมทางการเมือง
แต่พลังของสื่อพลเมืองก็เหมือนกับพลังทุกชนิด ตรงที่มีทั้งด้านบวกและด้านลบ
เครือข่ายพลเมืองเน็ตจัดทำ “คู่มือสื่อพลเมือง” เล่มนี้ด้วยความหวังว่าจะเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดสื่อพลเมืองรุ่นใหม่ และจุดประกายให้พลังของสื่อพลเมืองในไทยเป็นไปในด้านบวกมากกว่าด้านลบ
ติดต่อขอรับฉบับพิมพ์ได้ที่ contact (at) thainetizen.org (พิมพ์จำนวนจำกัด 1,000 เล่ม)