2009.03.28 00:20
แถลงการณ์เครือข่ายพลเมืองเน็ต ร่วมกับคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และเครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (FACT) ลงวันที่ 8 มีนาคม 2552
สืบเนื่องจากกรณีพนักงานสอบสวนกองปราบปรามได้เข้าจับกุมนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท (http://www.prachatai.com) เมื่อเวลาประมาณ 14.30 น. ของวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2552 และได้มีการสืบปากคำพร้อมทำสำเนาข้อมูลในฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์ส่วนตัวของ นางสาวจีรนุช และแจ้งข้อกล่าวหาว่าได้ทำการสนับสนุนผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหา เป็นผู้ให้บริการจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำผิด นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ซึ่งอาจเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยที่จะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงประเทศ และเผยแพร่ หรือส่งต่อ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) (3) (5) และ15
เครือข่ายพลเมืองเน็ต คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.) เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (FACT) เห็นว่าแม้รัฐอ้างว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นไปภายใต้อำนาจตามที่กฏหมาย บัญญัติ ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเข้าข่ายการใช้อำนาจทางกฏหมายในการข่มขู่ คุกคาม สิทธิเสรีภาพสื่อออนไลน์ ทั้งนี้เว็บไซต์ข่าวประชาไทถือเป็นหนังสือพิมพ์ออนไลน์ที่ทำงานบนกรอบของ จรรยาบรรณสื่อออนไลน์ซึ่งเป็นสื่อใหม่ที่เปิดพื้นที่ให้กับประชาชนผู้อ่าน แสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ทางผู้แลเว็บมีมาตรฐานที่เข้มงวดตามพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ อยู่แล้วในการที่จะต้องเก็บข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ และการลบข้อความที่มีความละเอียดอ่อน และที่ผ่านมาก็ได้ประสานงานและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐเสมอมาในการ ลบข้อความดังกล่าว แต่โดยธรรมชาติของสื่ออินเทอร์เน็ตนั้นมีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา ดังนั้นรัฐจำเป็นต้องใช้ความยืดหยุ่นในการกำกับดูแลสื่อออนไลน์ที่มีธรรมชาติ ทางเทคโนโลยีแตกต่างจากสื่อทั่วไป อีกทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐควรยึดแนวทางการเจรจาประณีประนอมและใช้มาตรการที่ ละมุนละม่อมไม่ใช่การปราบปราม
ทั้งนี้ข้อกล่าวหาว่าสื่อประชาไทสนับสนุนให้มีการนำเสนอเนื้อหาที่ขัดต่อความมั่นคงของชาตินั้นเป็นข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอย ไม่มีการให้คำนิยามที่ชัดเจนว่าจะนำไปสู่การขัดต่อความมันคงของชาติอย่างไร อีกทั้งเนื้อหาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าละเมิดมาตรา 14 พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ นั้น ก็มิได้ปรากฏในเว็บข่าวประชาไทแล้วตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2551
ในทางตรงข้าม การใช้มาตรการที่อุกอาจเช่นการเข้าจับกุมในช่วงบ่ายวันศุกร์ที่สร้าง เงื่อนไขความยากลำบากในการขอประกันตัวของผู้ถูกกล่าวหา สะท้อนเจตนาที่จะสร้างแรงกดดันให้เกิดความตึงเครียดและก่อให้เกิดบรรยากาศ แห่งความกลัว ความหวาดระแวงในสังคมมากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งในที่สุดแล้ว แนวทางของรัฐดังกล่าวจะไม่นำไปสู่การปกป้องสิ่งที่เรียกว่าความมั่นคงของชาติแต่อย่างใด
ดังนั้น ทั้ง 3 องค์กรดังกล่าว ซึ่งได้ร่วมกันยื่นหนังสือเสนอข้อเรียกร้องและคัดค้านการใช้นโยบายประกาศ สงครามกับสื่ออินเทอร์เน็ต (War Room) ให้กับนายกรัฐมนตรีโดยตรงเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2552 ซึ่งในครั้งนั้นนายกรัฐมนตรีได้รับปากที่จะใช้แนวทางการเจรจาร่วมกันโดยมี รูปธรรมในการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อให้ตัวแทนพลเมืองผู้ใช้อินเทอร์เน็ตได้พูด คุยเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงตำรวจที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน เพื่อแสวงหาแนวทางการปฏิบัติที่ควรจะเป็นร่วมกัน บนพื้นฐานของความเคารพในสิทธิเสรีภาพสื่อและพลเมืองตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล
จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ทาง 3 องค์กรมีข้อเรียกร้องต่อรัฐดังต่อไปนี้
- ขอให้รัฐยุตินโยบายการคุกคามสื่อออนไลน์ และ ไม่ใช้แนวทางการประกาศสงครามกับสื่ออินเทอร์เน็ต แต่เน้นการเจรจาและแสวงหาความร่วมมือบนพื้นฐานความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพและ เข้าใจธรรมชาติที่เป็นจริงของสื่อใหม่เช่นอินเทอร์เน็ต
- ขอให้รัฐบาลจัดเวทีและสร้างกลไกสำหรับการแลกเปลี่ยนให้ตัวแทนผู้ใช้สื่ออินเทอร์ เน็ตและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจและกระทรวงไอซี ทีฯ เพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกันในการกำกับดูแลสื่อและชุมชนออนไลน์
- ขอให้รัฐยุติการผลิตซ้ำ ตอกย้ำทัศนคติเชิงลบ อันนำไปสู่ความบาดหมาง ตึงเครียดและสร้างรอยร้าวลึกขึ้นในสังคม โดยเฉพาะวิธีใส่ร้ายสื่อออนไลน์เช่นประชาไทว่าเป็น “เว็บหมิ่นฯหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ” “เป็นขบวนการทำลายล้าง” “มีคนหนุนหลัง” เป็นต้น เนื่องเพราะการใส่ร้ายดังกล่าวไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงแต่อย่างใด อีกทั้งสะท้อนถึงวุฒิภาวะในการบริหารประเทศของรัฐบาลประชาธิปไตย ซึ่งขัดต่อแนวทางการสร้างความเชื่อมั่นทั้งต่อพลเมืองไทยและประชาคมโลก
ทั้ง 3 องค์กรดังกล่าวข้างต้นมีความปรารถนาดีต่อรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐในการที่จะ ประสานความร่วมมือเรื่องสื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์บนการสร้างสมดุลย์ ระหว่างการกำกับดูแลกับสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งรัฐมีหน้าที่โดยตรงที่ต้องธำรงพันธกิจอันสำคัญนี้
สุดท้ายนี้ เราขอให้สื่อมวลชนทุกแขนง รวมถึงสาธารณชน ร่วมกันแสดงจุดยืนเรียกร้องรัฐให้ใช้หลักรัฐศาสตร์ในการเจรจามากกว่าใช้ กฏหมายปราบปรามเพื่อแสวงหาทางออกที่สร้างสรรค์ทดแทนการแก้ปัญหาด้วยการข่ม ขู่คุกคามอย่างที่ผ่านมา
ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีของพลเมือง
เครือข่ายพลเมืองเน็ต
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส)
เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (FACT)
วันที่ 8 มีนาคม 2552
วันสตรีสากล