ข้อเสนอต่อรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายการกำกับดูแลสื่ออินเทอร์เน็ตและวิทยุชุมชน

2009.03.28 00:26

วันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2552 เวลา 9.00 น.เครือข่ายพลเมืองเน็ต คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย นำโดยนายกานต์ ยืนยง นายไกลก้อง ไวทยากร นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นายสุเทพ วิไลเลิศ นายสุนิตย์ เชรษฐา นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เข้ายื่นหนังสือต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีซึ่งได้มารับหนังสือและเจรจาเป็นเวลา 5 นาทีโดยรับเรื่องและข้อเสนอคัดค้านการจัดตั้งวอร์รูม หรือการประกาศสงครามกับสื่ออินเทอร์เน็ตและวิทยุชุมชน หลังจากที่ได้เข้าพบ พบว่ารัฐบาลไม่ได้มีแนวทางการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งอาจจะต้องตั้งคณะทำงานร่วมต่อไป ในหนังสือยื่นต่อนายกฯมีรายละเอียดดังนี้:

เรียน นายกรัฐมนตรี

สำเนาถึง รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่งคง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้านสื่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง เทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงวัฒนธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ คณะอนุกรรมาธิการกำกับติดตามการป้องกันและปราบปรามเว็บไซต์และการกระทำหมิ่น พระบรมเดชานุภาพ คณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร

เรื่อง ข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบายการกำกับดูแลสื่ออินเทอร์เน็ตและวิทยุชุมชน

สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่จะให้มีการปิดกั้นปราบปรามสื่ออินเทอร์เน็ต และวิทยุชุมชน ด้วยข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงของชาติจนมีการแสดงท่าทีที่จะนำ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาใช้ในการควบคุมและปราบปรามวิทยุชุมชนนั้น องค์กรที่มีรายชื่อดังนี้คือ เครือข่ายพลเมืองเน็ต คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส) และเครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (FACT) มีความเห็นว่าวิธีการและนโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง ทั้งยังไม่ได้ช่วยรักษาความมั่นคงของชาติและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ อย่างมีประสิทธิภาพแต่อย่างใด

การกำกับดูแลสื่อใหม่เช่นอินเทอร์เน็ตและวิทยุชุมชนมีความละเอียดอ่อน ต้องมีมาตรการที่ชัดเจน สอดคล้องกับความเป็นจริงและสามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดผลโดยแท้จริง ในขณะที่ต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของพลเมือง โดยพลเมือง และเพื่อพลเมืองเป็นสำคัญ ซึ่งหลักการสิทธิเสรีภาพเป็นหลักพื้นฐานและมีกติกาอันเป็นที่ยอมรับโดยสากล จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐไทยจักต้องธำรงมาตรฐานอันสอดคล้องกับกติกาสากล เพื่อธำรงความเป็นประชาธิปไตย และ ความเสมอภาคเท่าเทียมกันในสังคม

องค์กรข้างต้นมีจุดยืนร่วมกันว่า แนวทางที่รัฐบาลประกาศจะจัดตั้งวอร์รูม (War room) หรือการประกาศสงครามกับสื่ออินเทอร์เน็ตและวิทยุชุมชนนั้น จะไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาความมั่นคงของชาติหรือช่วยปกป้องสถาบันพระมหา กษัตริย์แต่อย่างใด ในทางกลับกันจะยิ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น และละเมิดพันธะที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ในนโยบายว่าด้วยสื่อและการรับรู้ข้อมูล ข่าวสารในข้อ 8 ซึ่งมีหลักการสำคัญที่เกี่ยวข้องดังนี้

8.3.1 ส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้รับรู้ และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะจากทางราชการ และสื่อสาธารณะอื่นได้อย่างกว้างขวาง เป็นธรรม และรวดเร็ว รวมทั้งให้กลไกภาครัฐเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกมิติตามบทบัญญัติ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

8.3.4 จัดให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพสื่อเพื่อให้สื่อมีเสรี ปราศจากการแทรกแซง และมีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสื่อมวลชนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายพลเมืองเน็ต คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส) และ เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (FACT) จึงขอเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้

  1. ขอให้รัฐบาลหยุดการจัดตั้งวอร์รูมดังกล่าว และเข้าร่วมกับภาคประชาสังคมเพื่อวางหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงและกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อสนับสนุนการกำกับดูแลกันเองของทั้งวิทยุชุมชนและกลุ่มประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
  2. ขอให้รัฐบาลทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวกับ สื่อ ได้ดำเนินการโดยโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลการดำเนินการ การใช้งบประมาณต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและมีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อมูล การดำเนินการเพื่อปิดกั้นเนื้อหาในเว็บไซต์ต่างๆ ทั้งที่มีและไม่มีคำสั่งศาล ให้มีการเปิดเผยข้อมูลรวมทั้งชี้แจงกระบวนการในการดำเนินงานให้ประชาชน ผู้ให้บริการเว็บไซต์ และผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตได้รับรู้และเข้าใจในหลักปฏิบัติดังกล่าว เพื่อที่จะปฏิบัติตามโดยมั่นใจว่าจะได้รับความคุ้มครองจากการปฏิบัติงานตาม กระบวนการยุติธรรมโดยเคร่งครัด
  3. การปรับแก้กฎหมายที่กระทบกับสื่อ ต้องเปิดให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง เป็นระยะเวลาที่เพียงพอ ทั้งการแก้ไข พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และกฎหรือระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทและการหมิ่นพระบรมเดชานุ ภาพ เพื่อให้รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ
  4. ขอให้รัฐส่งเสริม ปกป้อง สิทธิพลเมือง ทั้งในและนอกอินเทอร์เน็ต และ เสรีภาพของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทั้งสื่อออนไลน์และวิทยุชุมชน อีกทั้งปรับปรุงกติกาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่ง สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตามมาตรา 45, 46, 47 รวมทั้งปฏิญญาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (Universal Declaration of Human Rights) และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ในมาตรา 19 (Article 19) ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัตติ (Accession) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

เครือข่ายพลเมืองเน็ต
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส)
เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (FACT)

Tags: ,