สรุปเวทีวิพากษ์ผลกระทบจากกฎหมายและการเมืองต่อสิทธิมนุษยชนพลเมืองเน็ต (3) [จอน อึ๊งภากรณ์]

2009.07.08 01:56

เวทีวิพากษ์ผลกระทบจากกฎหมายและการเมืองต่อสิทธิมนุษยชนพลเมืองเน็ต
วันที่ 29 เมษายน 2552
ณ ห้องประชุมสถาบันวิจัยสังคม ชั้น 4 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร

วิทยากร จอน อึ๊งภากรณ์

ผู้อำนวยการ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

ในประวัติศาสตร์ ไม่เคยมีกฎหมายไหนที่ห้ามการแพร่กระจายของความคิด หรือการแสดงความคิดเห็นได้อย่างยาวนาน แม้จะมีเรื่องของการปราบปรามและกดขี่คนที่มีความคิดที่ต่างจากบรรทัดฐานของสังคม (norm) มายาวนาน เช่น การกดขี่ทางศาสนา แต่ก็พบว่า การปราบปรามการกดขี่ไม่เคยสามารถหยุดยั้งการแพร่กระจายของความคิดได้ ข้อนี้น่าจะเป็นบทเรียนที่ผู้นำประเทศน่าจะสรุปได้ แต่ก็ไม่เคยสรุปได้

ถ้าเรามองความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างแต่ละฝ่ายในขณะนี้ จริง ๆ แล้ว ผู้นำของแต่ละฝ่ายฝ่ายก็คือผู้กดขี่ประชาชน

ตัวอย่างเช่น พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเกิดขึ้นมาในสมัยรัฐบาลทักษิณ ผมก็เป็นเสียงส่วนน้อยในวุฒิสภาที่คัดค้านถึงที่สุดแต่ไม่สำเร็จ คัดค้านถึงขนาดที่เราไปร้องเรียน เราสู้ในสภาไม่ได้ จึงไปร้องเรียนถึงผู้ตรวจการแผ่นดินในรัฐสภาให้ช่วยส่งเรื่องไปที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ไม่ยอมส่งเรื่องไป ถามที่ไรท่านก็บอกว่ากำลังให้ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายศึกษาเรื่องเหล่านี้อยู่ ทักษิณคิดว่า พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินจะแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ได้ แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไร ต่อมานายกฯ อภิสิทธิ์ก็เอากฎหมายฉบับนี้มาใช้กับเสื้อแดง

ฉะนั้น เมื่อประชาชนถูกเอามาใช้สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มันก็เป็นปัญหาอยู่เหมือนกัน บางทีประชาชนต้องเป็นตัวของตัวเอง เพราะว่าอะไร… ผมเดาว่าตอนนี้กำลังเกิดเหตุการณ์ประนีประนอมกันอยู่ แต่เป็นการประนีประนอมเบื้องบน แล้วผลเสียจะตกอยู่ที่ใคร ก็คือประชาชน ก็จะต้องคิดอีกว่า ประชาชนจะมีส่วนร่วมในเรื่องนั้นแค่ไหน การประนีประนอมนั้นจะนำไปสู่การมีสิทธิเสรีภาพ และความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นหรือเปล่า นี่เป็นเรื่องแรกที่อยากจะตั้งข้อสังเกตุ

ข้อสังเกตุข้อที่สอง คุณสุภิญญาพูดไปแล้ว คือ การจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยรัฐบาล คือ เรามีกฎอัยการศึกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพมาก เป็นกฎหมายที่ยกอำนาจให้ฝ่ายทหารควบคุมประชาชน ขณะเดียวกันก็ตัดเสรีภาพของประชาชนที่มีตามกฎหมายทั่วไป

จากนั้น รัฐบาลทักษิณก็มีการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ที่ทำได้สำเร็จก็คือการออกพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับถัดมาคือ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เอามาปราบการก่อการร้าย จริงๆ คุณอภิสิทธิ์จะเอาไปใช้แบนเสื้อแดงก็ได้ แต่เขาคงไม่กล้าหรอก

ถัดมา หลังรัฐบาลทักษิณ ก็คือรัฐบาลที่มาจาก คมช. อันนี้ก็น่าแปลกที่เขาเข้ามาก็มาตั้งสภานิติบัญญัติแต่ไม่มีสภาถ่วงดุล และก็มีกลุ่มเอ็นจีโอไปเข้าร่วม และไปช่วยเขาออกพ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551

ผมก็มีเพื่อนคนหนึ่งที่อยู่ในสภาแห่งนี้ แต่ขอไม่เอ่ยนาม ได้โทรไปถามว่า ทำไมถึงปล่อยให้กฎหมายคอมพิวเตอร์ผ่านออกมา ท่านก็บอกว่า “ไม่ค่อยมีเวลาไปประชุมเท่าไร” แล้วก็ถามว่า “ผมจะต้องทำอะไร” ผมก็บอกไปว่า ก็แปรญัตติสิ เขาก็ถามกลับมาว่า “แปรญัตติเขาทำกันอย่างไร”

นี่เป็นความจริงที่เขาถูกใช้เป็นเครื่องมือในการออกกฎหมาย ตั้งแต่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ถึงพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แต่ถ้าพูดถึงการใช้กฎหมายในประเทศไทย เราไม่มีความเสมอภาคในการใช้กฎหมายแบบนิติรัฐ

ผมไปสัมมนากับสมาคมนักข่าวต่างประเทศ เขาพูดถึงประวัติศาสตร์ทั่วไปว่า ระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นหลังประชาธิปไตยแบบนิติรัฐ Rule of law ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ว่า ประชาชนต้องปฎิบัติตามกฎของรัฐอย่างรู้จักหรือยอมรับผิดเมื่อทำผิดกฎหมาย แต่ในทางกฎหมาย ต้องเอามาปฎิบัติอย่างเท่าเทียมด้วย ไม่ใช่เอามาเลือกปฎิบัติ

ในสังคมไทย มีการใช้กฎหมายแบบเลือกปฎิบัติมาตลอด โดยผู้มีอำนาจก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ในสมัยทักษิณมีกฎหมายหนึ่งที่ตกไปคือร่างพ.ร.บ.ทางหลวง คือกฎหมายนี้มีบทแทรกเข้าไป เรียกว่าสอดไส้อยู่หนึ่งมาตราเดียว บอกว่า ห้ามการชุมนุมในเขตทางหลวง ไม่ว่าจะเป็นถนน ทางเท้า ทางหลวงก็คือทุกถนนของประเทศไทย แม้กระทั่งหน้ารัฐสภาก็ไม่ได้

ผมก็ถามพรรคไทยรักไทยว่า แล้วจะให้ไปชุมนุมที่ไหน เขาก็บอกว่าไปชุมนุมตามสวนสาธารณะต่างๆ ได้ นอกเขตทางหลวง ตอนนั้นได้ความร่วมมือจากคุณสาทิตย์ วงค์หนองเตย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และสมาชิกวุฒิสภาก็มาเซ็นต์ค้านแล้วเราส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ก็ตีความได้ว่ามาตรานี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ คำสั่งนี้ก็ตกไปโดยปริยาย นี่คือวิธีคิดแบบตื้นๆ ว่าออกกฎหมายนี้ในการแก้ปัญหาการชุมนุมได้

ที่จริง ตอนที่ทำเรื่องค้าน พ.ร.บ. นี้ ผมได้ไปพบกับเครือข่ายสมัชชาคนจนและเอากฎหมายนี้ไปอวดเขาว่า นี่น่ะ ผมค้านกฎหมายนี้ แล้วก็ภูมิใจมาก แต่สมัชชาคนจนก็บอกว่า “อาจารย์..จะทำหรือไม่ทำกฎหมายนี้หรืออย่างไร เราก็ชุมนุมอยู่นี่แหล่ะ เราไม่แคร์หรอก จะออกเป็นกฎหมายหรือไม่ออกเป็นกฎหมาย ความจริงก็เป็นแบบนี้ล่ะ”

จริงๆ โทษในกฎหมายอื่นแรงกว่าด้วยซ้ำไป กฎหมายจราจร กฎหมายอะไรๆ ก็มีโทษเต็มไปหมด คือเราชอบออกกฎหมายหลายชั้น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก็เช่นเดียวกัน ตัวมันไม่เป็นปัญหา คือถ้าเอามาใช่ในการปราบปรามอาชญากรรม ผมก็เห็นด้วยว่าใช้ได้ แต่ที่เป็นปัญหาคือที่สอดไส้ ซึ่งมาจำกัดสิทธิและเสรีภาพด้วยสิ มาตราที่ผมคิดว่าเป็นปัญหา คือมาตราที่ 14,15,16 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

จริงๆ ควรจะบอกว่า คนที่โพสต์ข้อความที่มีความผิดทางอินเทอร์เน็ต ก็ต้องมีความรับผิดชอบไม่ต่างจากคนที่ไปพูดในเวทีสาธารณะ หรือเขียนบทความในหนังสือพิมพ์ เช่น ถ้าหมิ่นประมาท ก็ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายหมิ่นประมาท

กฎหมายหมิ่นประมาทนี้ เราก็ต้องทบทวนเช่นกัน กฎหมายหมิ่นประมาทบ้านเราเป็นคดีอาญา แต่ในต่างประเทศเป็นกฎหมายแพ่ง การหมิ่นประมาทใครก็ควรจะไปฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจาก คนที่หมิ่น ไม่จำเป็นต้องถึงกับเข้าคุก

ความเห็นของผมในเรื่องการปิดเว็บไซต์ จริงๆ ต้องบอกว่าประเทศไทยไม่มีประสิทธิภาพในการปิดเว็บไซต์เท่าไรนัก หากคุณอยากจะดูเว็บโป๊ที่เป็นคนไทย ดูได้ทั่วหมดโดยไม่ได้ถูกแบน คุณอยากจะอ่านแถลงการณ์อาจารย์ใจ คุณก็ค้นหาจาก google ก็เจออยู่โดยที่ไม่ถูกแบน คุณก็ดูได้อยู่ ผมว่าเว็บการเมืองที่ถูกปิดจริงๆ มีน้อยมาก ข้อมูลของ FACT ที่บอกว่าปิดเป็นหมื่นๆ ผมไม่ค่อยเชื่อ มันเป็นข้อมูลจากไอซีที ผมสงสัยว่ากระทรวงไอซีทีพูดเกินความจริงหรือเปล่า เกินความเป็นจริงที่ตัวเองปิด อาจเพราะว่าไอซีทีต้องทำอะไรให้ดูเหมือนว่ามีประสิทธิภาพ ซึ่งไอซีทีได้ประโยชน์ที่โฆษณาเกินความจริง คือเขาต้องทำให้เห็นจริง

แต่ปัญหาที่กำลังเกิดคือ ประชาชนกำลังโดนลูกหลงทั้งสองฝ่าย ทำไมคุณจีรนุช (เปรมชัยพร – ผอ.เว็๋บไซต์ประชาไท) ถูกจับ คุณจิตรา (คชเดช – อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์) ถูกให้ออกจากงาน คุณสุวิชา (ท่าค้อ – ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) ถูกจับ

กระสุนมันสาดไปโดนประชาชนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง นี่คือข้อสังเกตของผม มันคือสัญลักษณ์บรรยากาศการเมืองที่ไม่เป็นปกติ และสงครามนั้นมีจริง ๆ

ขณะนี้ หัวข้อใหญ่ก็เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่อ่อนไหวในสังคมไทย แล้วไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาก็ตาม ก็จะบอกว่า เรากำลังปิดกั้นการหมิ่นสถาบันอย่างมีประสิทธิภาพ แต่จริง ๆ เขาก็ทำไม่ได้ เหมือนการที่ไปตั้งเรื่องจับไขหวัดนก ไข้หวัดหมู ก็ไปตั้งเครื่องทำเป็นว่าจับตรวจได้ เช่นที่ สนามบิน

ปัญหาคือ เราอยู่ในสงคราม จริงๆ แต่การปิดกั้นการแลกเปลี่ยนโต้เถียงโดยใช้กฎหมายหมิ่นฯ และ กฎหมายอื่นๆ มาปิดกั้น มันไม่สำเร็จหรอก ตามที่ผมมอง วิธีการที่จะทำให้ประเทศสงบได้ และก็เป็นวิธีที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์ยั่งยืนด้วยก็คือ ทุกฝ่ายต้องยอมให้สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมืองจริงๆ ไม่มีใครเอามาใช้เป็นเครื่องมือ และสถานภาพของสถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ในลักษณะที่ไม่สามารถมีข้อสงสัยได้ในเรื่องการเมือง เป็นการ normalise หรือทำให้สถานการณ์ปกติ

แล้วเราจะต้องแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 ผมไม่ได้คิดว่าจะต้องยกเลิก เพราะสถาบันก็จำเป็นต้องมีสิ่งที่เป็นการปกป้อง ป้องกัน ในเรื่องการกล่าวร้าย กล่าวเท็จ แต่ว่าก็ต้องเป็นกลไกการดำเนินการที่ปกติ จะต้องไม่มีลูกหลงมาสู่การปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้ นี่เป็นสิ่งที่เราต้องแก้ไข

ผมคิดว่าในสังคมที่มีเสรีภาพจริง ๆ เราจะต้องลอกชั้นที่มีการปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพออก ความเห็นผมอาจจะไม่ตรงกับองค์กรสิทธิบางส่วน อย่างเรื่อง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ บางส่วนอาจเห็นว่า มีเนื้อหาที่ต้องแก้แต่ไม่จำเป็นต้องยกเลิก แต่ความคิดเห็นผมคือ สังคมประชาธิปไตยที่สงบสุขจริงๆ ไม่จำเป็นต้องมีสิ่งนี้เลย ยิ่งไม่มียิ่งเป็นผลดี แล้วรัฐบาลต้องยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อแก้ไขปัญหาภาคใต้ เพราะมันจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า การเข้ามาคุยกัน

ความจริงลึก ๆ นะ คนเกลียดรัฐบาลอภิสิทธ์เยอะ แต่ลึกๆ ผมอาจจะมีความเชื่อว่า เรามีความหวังอยู่ระดับหนึ่งในรัฐบาลอภิสิทธิ์ คนในรัฐบาลนี้มีหลายพวกซึ่งมีความเชื่อมั่นมากกว่ารัฐบาลที่ผ่านมา แต่ก็ต้องระวัง อย่างที่บอก ที่คนข้างบนไปแก้ก็ต้องระวังคนข้างล่าง เช่น การแก้รัฐธรรมนูญที่แก้โดยไม่ให้ภาคประชาชนมีส่วนสำคัญ อันนี้เป็นเรื่องที่เลวร้าย

อีกกรณีหนึ่งที่อยากจะพูดวันนี้ ที่คุณสนธิโจมตี ผมอยากจะเคลียร์เกี่ยวกับประชาไท ที่คุณจีรนุชถูกจับ ที่มีคำพูดว่า สมมุติคุณมีบ้านหลังหนึ่ง แล้วคุณก็ปล่อยให้โจรอยู่ในบ้านมาทำความผิด คุณก็ต้องรับผิดไปด้วยต่อโจรที่อยู่ในบ้าน แต่ผมคิดว่า การทำอย่างนี้กับเว็บไซต์ พูดอย่างนี้มันไม่ได้

เว็บไซต์มันเหมือนกับศูนย์การค้า ถ้าคุณบอกว่า ศูนย์การค้าพารากอน ถ้ามีใครถือยาเสพติดเข้าไป ต้องเอาเจ้าของเข้าคุกพร้อมคนที่ถือยาเสพติด… มันยุติธรรมไหม แต่คุณสนธิก็อวดต่อนะว่าในผู้จัดการ ไม่มีใครเขียนข้อความหมิ่นได้เลย ก็แหงล่ะ แม้แต่ข้อความที่จะเขียนด่าว่าคุณสนธิ ก็ไม่สามารถลอดเข้าไปอยู่ในเว็บผู้จัดการได้ ก็แน่นอนเขามีเงินจ้างคนหลายคนที่จะเข้าไปจัดการ ตรวจทุกคำพูดที่เข้าไปอยู่ในนั้น ซึ่งประชาไทไม่ได้เหมือนแบบผู้จัดการ

ฉะนั้นผมคิดว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ความเข้าใจผิดอยู่ตรงนี้ ผู้ที่ออก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ส่วนใหญ่ก็ไม่เข้าใจลักษณะเว็บสักเท่าไร คือไปให้เจ้าของเว็บไซต์ต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่โพสต์ในเว็บ และไม่เข้าใจว่า เว็บเป็นสื่อภาคประชาชนที่มีพลัง และเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงเรื่องสิทธิและเสรีภาพการแสดงออก

ถ้าถามว่า ทำไมต้องมีการแก้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก็ต้องบอกว่า มันต้องแก้ เพราะว่าสิ่งที่พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ทำเป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก ไม่ใช่เพียงจำกัดเสรีภาพของหนังสือพิมพ์หรือวิทยุ โทรทัศน์ซึ่งเป็นของปัจเจก แต่มันมาจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย ประชาธิปไตยโลกกำลังเกิดขึ้นเพราะพื้นฐานอินเทอร์เน็ตล่ะ

Tags: , ,