ผู้ได้รับผลกระทบจาก พรบ. คอมฯ

ผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

* [ชายอายุราว 37 ปี – กรณี “พระยาพิชัย”](#phrayapichai)
* [ผู้หญิงอายุราว 30 ปี – กรณี “ท่อนจัน”](#tonchan)
* [ศิริพร สุวรรณพิทักษ์ – กรณี 212cafe.com](#siripon)
* [สุวิชา ท่าค้อ](#suwicha)
* [ผู้หญิงอายุราว 25 ปี – กรณี “Buffalo Boy”](#buffaloboy)
* [จีรนุช เปรมชัยพร – กรณีหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท](#chiranuch)

#”พระยาพิชัย”

วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตซึ่งใช้นามแฝงว่า “พระยาพิชัย” อาชีพ ผู้ดูแลเว็บ เป็นชายอายุประมาณ 37 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าจับกุมตัว ด้วยความผิดตามมาตรา 14 (1) และ (2) ของ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ถูกฝากขังเป็นระยะเวลากว่าสองสัปดาห์ จากนั้นได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2550 ด้วยการใช้ตำแหน่งข้าราชการของญาติมาประกัน ตามวงเงินประกัน 100,000 บาท
[กลับไปด้านบน](#index)


#”ท่อนจัน”

บล็อกเกอร์หญิงวัย 30 ปี อาชีพอิสระ ใช้นามแฝงว่า “ท่อนจัน” ถูกบุกจับกุมตัวในวันเดียวกันกับ “พระยาพิชัย” และถูกฝากขัง จากนั้นได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2550 ด้วยวงเงิน 1 แสนบาท

ทั้งสองถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษคลองเปรม โดยที่สังคมไม่ได้รับรู้และไม่ได้รับการประกันตัวจนกระทั่งมีกระแสข่าวจากสื่อมวลชนถึงกรณีดังกล่าว จึงทำให้เกิดกระแสเคลื่อนไหวจากองค์กรสื่อและสิทธิมนุษยชนในประเทศและต่างประเทศ จากนั้นทั้งสองได้รับการประกันตัวด้วยวงเงินคนละหนึ่งแสนบาท โดยศาลอาญามีคำสั่งให้ทั้งสองมารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งต่อมาทั้งสองคดีนี้ ไม่ปรากฏว่าทางอัยการได้สั่งฟ้อง อย่างไรก็ตามคดีดังกล่าวมีอายุความ 10 ปี
[กลับไปด้านบน](#index)


#ศิริพร สุวรรณพิทักษ์

22 พฤษภาคม 2551 เวลาประมาณ 17.00 น. เจ้าหน้าที่ได้ยื่นหมายจับพรพสกในข้อหา “เป็นผู้ให้บริการจงใจ สนับสนุน หรือยินยอมให้มีการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้, จงใจสนับสนุน หรือยินยอมให้มีการเผยแพร่หรือ ส่งต่อข้อมูลที่มีลักษณะลามกในระบบ คอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน และเพื่อประสงค์แห่งการค้า หรือแสดงอวดแก่ประชาชน ทำให้แพร่หลายโดยประการใดๆ ซึ่งภาพลามก” ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ต้นเหตุมาจากกรณีที่ผู้ใช้บริการเว็บไซต์คนหนึ่งนำเอาวิดีโอคลิปร่วมรักกับอดีตแฟนไปเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ 212cafe.com
[กลับไปด้านบน](#index)


#สุวิชา ท่าค้อ

สุวิชา วิศวกรวัย 34 ปี ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 ที่จังหวัดนครพนม ด้วยข้อหาเผยแพร่ข้อมูลรูปภาพ ซึ่งเป็นการกระทำดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์และองค์รัชทายาท อัยการขอให้ลงโทษตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83,91 และ 112 และพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14 และ 16

ศาลได้ตัดสินว่าคุณสุวิชามีความผิดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1), 83,91 และ 112 และพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(2) และ 16(1) เนื่องจากเป็นความผิดหลายบท ให้ลงโทษตามมาตราที่มีโทษสูงสุด และความที่จำเลยกระทำความผิด 2 กระทง ให้ตัดสินให้ลงโทษ กระทงละ 10 ปี รวม 20 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษให้กระทงละ 5 ปี คงเหลือโทษจำคุก 10 ปี ไม่รอลงอาญา และให้ริบของกลาง
[กลับไปด้านบน](#index)


#”Buffalo Boy”

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นผู้หญิง อายุประมาณ 25 ปี ซึ่งถูกกล่าวว่าเป็นเจ้าของนามแฝง “Buffalo Boy” ถูกจับกุมในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2552 สืบเนื่องจากข้อความที่ถูกโพสต์ในเว็บบอร์ดประชาไท หลังจากถูกฝากขังได้สักระยะ จึงได้มีการขอประกันตัวออกไปด้วยวงเงิน 2 ล้านบาท ปัจจุบันไม่มีใครทราบรายละเอียดของผู้ถูกดำเนินคดีรายนี้
[กลับไปด้านบน](#index)


#จีรนุช เปรมชัยพร

วันที่ 6 มีนาคม 2552 เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าแสดงตนพร้อมหมายค้นและหมายจับ จีรนุช เปรมชัยพร ผู้ดูแลเว็บไซต์ประชาไท ด้วยข้อหา “เป็นผู้ให้บริการจงใจสนับสนุน หรือยินยอมให้มีการกระทำผิด นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ซึ่งอาจเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยที่จะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงประเทศ และเผยแพร่ หรือส่งต่อ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) (3) (5) และ15”

จีรนุชได้รับการประกันตัวออกไปในวันเดียวกันด้วยหลักประกันประมาณ 70,000 บาท ทั้งนี้ได้ใช้ตำแหน่งข้าราชการมหาวิทยาลัยของรองศาสตราจารย์ ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหลักทรัพย์ในการประกันตัว

คดีของจีรนุชถือเป็นรายเดียว ที่ได้รับการประกันตัวในวันที่ถูกจับกุมในขณะที่รายอื่นโดนฝากขังเป็นระยะ เวลาประมาณหลายอาทิตย์หรือไม่ได้รับการประกันตัวอย่างกรณีของสุวิชา

ในทุกกรณีทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการ ยึด และตรวจสอบเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องไว้เป็นหลักฐาน ในกรณีของจีรนุช ตำรวจได้มีการ โคลน (Clone) หรือคัดลอกข้อมูลจากหน่วยความจำทั้งหมดในคอมพิวเตอร์ออกมาแล้วคืนเครื่องคอมพิวเตอร์
[กลับไปด้านบน](#index)

%d bloggers like this: