บทวิพากษ์ถึงการไต่สวนเลเวอสันกับกระแสปฏิรูปสื่อของสหราชอาณาจักร

2017.02.18 15:02

จริยธรรมสื่อมวลชน บทเรียนปฏิรูปจากสหราชอาณาจักร

อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา
ธันวาคม 2558 / ปรับปรุง กุมภาพันธ์ 2560

สื่อเสรีเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมประชาธิปไตย แต่มันก็มีต้นทุน กล่าวคือ สังคมจำเป็นต้องอยู่ร่วมกันด้วยความอดทน เพราะเสรีภาพในการแสดงออกไม่ได้นำมาเพียงแค่ภาพฝันถึงการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีอารยะ ในอีกทางหนึ่ง มันก็เปิดโอกาสให้พื้นที่แก่การแสดงออกที่อาจนำไปสู่การยั่วยุ เกลียดชัง และบางครั้ง ละเมิดสิทธิด้านอื่นๆ

รูเพิร์ต เมอร์ด็อก (Rupert Murdoch) เจ้าของกิจการสื่อทั่วโลก รวมถึงเจ้าของเครือบริษัทนิวส์คอร์เปอเรชั่น (News Corporation) ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในกรณีที่เขาถือครองสื่อยอดนิยมจำนวนมากในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ สื่อในเครือของเขามีชื่อเสียงในแง่การเผยแพร่ข่าวซุบซิบดาราและไฮโซ เนื้อหาโดยมากเป็นเรื่องฉาวทางเพศ ไม่ใช่เพียงเนื้อหาที่นำเสนอ แต่ที่มาของเนื้อหาแต่ละชิ้นของสื่อในเครือนิวส์คอร์ปอเรชั่นได้กลายเป็นตัวจุดชนวนคำถามถึงการความจำเป็นต้องปฏิรูปสื่อในสหราชอาณาจักร จากกรณีที่หนังสือพิมพ์นิวส์ออฟเดอะเวิลด์ (News of the World – NoW) สืบข่าวด้วยการดักฟังโทรศัพท์ ซึ่งต่อมาการกระทำอันละเมิดนี้ถูกเปิดโปงโดยหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน (The Guardian) จนเป็นที่รู้จักในชื่อ “เรื่องอื้อฉาวแฮ็กเกต” (Hackgate Scandal)

แม้สื่อในเครือของเมอร์ด็อกจะได้รับความนิยม แต่ก็มาพร้อมกับภาพลักษณ์เชิงลบ เพราะถูกมองเป็น “ข่าวแท็บลอยด์” ที่ดูไม่มีจริตด้านคุณภาพเท่ากับหนังสือพิมพ์บรอดชีต นอกจากหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์จะถูกก่นด่าแล้ว องค์กรกำกับกันเองของสื่อสิ่งพิมพ์อย่างคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนสื่อ หรือ PCC (Press Complaints Commission) ก็แสดงบทบาทเป็นที่ประจักษ์ชัดถึงความไร้ประสิทธิภาพ เป็นเพียงเสือกระดาษที่ไร้เขี้ยวเล็บ เมื่อเกิดประเด็นฉาวกรณีดักฟังโทรศัพท์ จึงเกิดกระแสวิพากษ์จำต้องถึงเวลาต้องปฏิรูปสื่อ เหตุการณ์นี้ถือเป็นหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์สื่อของสหราชอาณาจักรที่มีต่อจุดยืนด้านเสรีภาพสื่อ ที่แฝงมิติของความขัดแย้งระหว่างหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ ที่เน้นเนื้อหาชาวบ้าน เข้าถึงคนส่วนใหญ่ ไม่เป็นวิชาการ เน้นประเด็นที่สังคมสนใจ กับหนังสือพิมพ์บรอดชีตที่บุคลิกเนื้อหาจริงจัง เข้าถึงคนมีการศึกษา แต่มีส่วนแบ่งตลาดน้อยกว่า [1]

กรณีนักข่าวดักฟังโทรศัพท์ถูกเปิดโปงโดย นิก เดวิส (Nick Davies) นักข่าวเดอะการ์เดียน และ มาร์ก ลูอิส (Mark Lewis) นักกฎหมาย [2] โดยการ์เดียนเผยว่า นิวส์ออฟเดอะเวิลด์เจาะเข้าไปในกล่องฝากข้อความเสียงทางโทรศัพท์ของ มิลลี่ ดาวเลอร์ (Milly Dowler) เด็กผู้หญิงที่เป็นเหยื่อของการลักพาตัวและฆาตกรรม นิวส์ออฟเดอะเวิลด์ไม่เพียงแต่แอบฟังข้อความเท่านั้น แต่ยังลบบางข้อความออกจากกล่องข้อความ พฤติการณ์ของสื่อส่วนนี้เป็นเหตุให้พ่อแม่ของเหยื่อเข้าใจผิดว่าลูกสาวยังมีชีวิต เพราะพบว่ากล่องข้อความมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งน่าจะแปลว่าลูกสาวของพวกเขายังมีชีวิตอยู่ ข้อมูลปรากฏขึ้นในภายหลังว่า เกลน มัลแคร์ (Glenn Mulcaire) นักสืบเอกชนที่ทำงานให้นิวส์ออฟเดอะเวิลด์ เป็นคนที่แฮ็กโทรศัพท์แล้วเข้าไปลบบางข้อความจากกล่องข้อความที่เต็มแล้ว เพื่อให้ระบบสามารถรับข้อความเสียงได้เพิ่มเติม กรณีนี้ นิวส์ออฟเดอะเวิลด์อ้างว่า นักสืบเอกชนได้กระทำการดังกล่าวโดยปราศจากการรับรู้จากตัวหนังสือพิมพ์ [3]

หลังจากการเปิดโปงของเดอะการ์เดียน นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของสื่อ และเป็นเหตุให้นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการไต่สวน พ.ศ. 2548 (Inquiries Act 2005) ประกาศต่อรัฐสภาให้มีการไต่สวนกรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2554 และแต่งตั้งให้ เซอร์ ไบรอัน เฮนรี เลเวอสัน ผู้พิพากษาแห่งศาลยุติธรรมอังกฤษและเวลส์ เป็นประธานในการไต่สวน (เป็นเหตุให้สาธารณะเรียกชื่อการไต่สวนนี้ว่า “Leveson Inquiry” หรือการไต่สวนเลเวอสัน) ลอร์ดเลเวอสันระบุว่าการไต่สวนจะพิจารณาถึงขอบเขตทางวัฒนธรรม การปฏิบัติงาน และจริยธรรมของสื่อ ภายใต้บริบทความสัมพันธ์ที่สื่อมีต่อสาธารณะ ตำรวจ และนักการเมือง องค์คณะที่ร่วมพิจารณายังประกอบด้วยผู้ประเมินอิสระที่ได้รับการแต่งตั้งจากวิชาชีพต่างๆ ได้แก่ สื่อ การกระจายเสียง การกำกับกิจการ ตำรวจ และตัวแทนภาคการเมือง ทั้งนี้ หลักฐานต่างๆ ในการไต่สวนไม่ถูกครอบคลุมภายใต้กฎหมายข้อมูลข่าวสาร [4] ภายหลังจากข้อกล่าวหา รูเพิร์ต เมอร์ด็อก ตัดสินใจปิดตัวหนังสือพิมพ์เดอะนิวส์ออฟเดอะเวิลด์ ปิดฉากหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ยอดนิยมที่มีอายุเก่าแก่ถึง 168 ปี [5]

หน้าแรกหนังสือพิมพ์ News Of The World ฉบับสุดท้าย

หน้าแรกหนังสือพิมพ์ News Of The World ฉบับสุดท้าย / ภาพโดย Sarah Marshall

การดำเนินการไต่สวนเลเวอสัน : ปฏิรูปสื่อ เพื่อคุ้มครองหรือควบคุม?

การใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการไต่สวน พ.ศ. 2548 ไม่ค่อยพบเห็นบ่อยนัก [6] กฎหมายนี้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้มีการไต่สวนในประเด็นที่สาธารณะให้ความสำคัญ [7] สำหรับการไต่สวนเลเวอสันแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกว่าด้วยวัฒนธรรม การดำเนินงาน จริยธรรมของสื่อ และสัมพันธภาพของสื่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและนักการเมือง การไต่สวนในส่วนที่สองเน้นที่การประพฤติในทางที่ผิดในบรรดาองค์กรสื่อและการคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวกับการดักฟังโทรศัพท์ ทั้งนี้ การไต่สวนส่วนที่สองถูกพักเอาไว้ก่อนเพื่อรอให้คดีอาญาที่เกี่ยวข้องพิจารณาเป็นที่สิ้นสุดเสียก่อน

มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีการไต่สวนเลเวอสัน ด้านหนึ่งเห็นว่า นิวส์ออฟเดอะเวิลด์เป็นหนังสือพิมพ์ภายใต้อุดมการณ์แบบประชาธิปไตย มันย่อมควรต้องถูกวิจารณ์จากการเสนอข่าวฉาวที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ทั้งหมดทั้งปวงมันก็ทำหน้าที่ให้ข้อมูล ให้ความบันเทิง ทั้งยั่วยุและปลอบประโลมคนทั่วไปที่ไม่ได้โชคดีและได้รับโอกาสดังที่เหล่าผู้มีชื่อเสียงและชนชั้นนำในทางการเมืองและเศรษฐกิจได้รับ งานเขียนที่นำเสนอออกมาก็มีรูปแบบเฉพาะตัวที่ยากจะพบในหนังสือพิมพ์บรอดชีตอื่นๆ ในท้องตลาด [8]

ด้าน เดวิด ลีก์ (David Leigh) นักข่าวสืบสวนสอบสวนของการ์เดียนเห็นว่า งานของสื่อเป็นงานที่มีโอกาสสูงอย่างมากที่จะกระทำผิด หนังสือพิมพ์เองรู้ตัวดีว่ากำลังจะทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย นั่นจึงเป็นสาเหตุที่มีการว่าจ้างนักสืบเอกชนจากภายนอก [9] ตัวเขาเองก็ยอมรับว่าเขาเคยดักฟังโทรศัพท์ของผู้บริหารบริษัทแห่งหนึ่งในคราวที่สืบสวนเรื่องการคอรัปชั่นในธุรกิจค้าอาวุธ ซึ่งปรากฏว่า ในครั้งนั้นสำนักงานอัยการมีมติว่าจะไม่ดำเนินคดีการดักฟังกรณีนี้ [10] คำวินิจฉัยลักษณะนี้ทำให้เห็นสองมาตรฐานของเจ้าหน้าที่ในการเอาคุณค่าทางศีลธรรมมาตัดสินใจดำเนินคดีกับสื่อ นอกจากกรณีการดักฟังของ เดวิด ลีก์ แล้ว ยังมีกรณีอื่น เช่นที่เดอะซันเดย์ไทม์ (The Sunday Times) ปลอมตัวและซ่อนกล้องเข้าไปถ่ายคลิปสืบสวนสอบสวนกรณีการให้สินบนผ่านเงินบริจาคที่อาจเกี่ยวข้องกับการเสนอชื่อเข้ารับตำแหน่งขุนนาง (Life Peerage) ซึ่งเป็นข่าวฉาวของการเมืองบริเตนในปี 2549-2550 และรู้จักกันในชื่อกรณี “Cash for Honours” [11]

อย่างไรก็ดี การแฮ็กในงานสื่อบางกรณีก็ถูกดำเนินคดีทางอาญา คลิฟ กูดแมน (Clive Goodman) อดีตผู้สื่อข่าวนิวส์ออฟเดอะเวิลด์ถูกจำคุกเป็นเวลา 4 เดือนตามกฎหมายอาญา เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2550 หลังรับสารภาพว่าแอบดักฟังโทรศัพท์ของเจ้าชายวิลเลี่ยมและสมาชิกราชวงศ์คนอื่นๆ [12] ถือได้ว่า คลิฟ กูดแมน เป็นผู้สื่อข่าวในสหราชอาณาจักรคนแรกในรอบ 44 ปี ที่ถูกศาลสั่งจำคุก

ด้าน เกลน มัลแคร์ นักสืบเอกชนที่ทำงานให้กูดแมนก็รับสารภาพในการกระทำผิด 5 กรรมจากการดักฟัง ซึ่งเป็นความผิดภายใต้พระราชบัญญัติการกำกับอำนาจในการสืบสวนสอบสวน (Regulation of Investigatory Powers Act (RIPA) 2000) [13]

จากกระแสสังคมที่เป็นเดือดเป็นร้อนกรณีนิวส์ออฟเดอะเวิลด์แฮ็กโทรศัพท์และเข้าไปลบข้อความของเด็กหญิงที่หายตัวไป ลำพังแค่คดีทางอาญาดูจะไม่เพียงพอต่อการจัดการสื่อแท็บลอยด์ การไต่สวนของเลเวอสันตั้งขึ้นเพื่อขยายอำนาจตุลาการภิวัฒน์ไปถึงการสื่อสารและข้อมูลข่าวสาร โดยมีการแฮ็กโทรศัพท์ของมิลลี่ ดาวเลอร์เป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานของสื่อ การไต่สวนในคดีนี้ ยังมีคนดังและบุคคลสาธารณะที่นับได้ว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากสื่อ อย่าง นักเขียนชื่อดัง เจ เค โรวลิ่ง (J.K. Rowling) นักแสดง ฮิวจ์ แกรนท์ (Hugh Grant) ฯลฯ ที่ต่างมาปรากฏตัวในฐานะพยานให้การในคดีในการไต่สวนนี้ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า เรื่องสิทธิส่วนตัวและการคุ้มครองข้อมูล ไม่ใช่ประเด็นหลักของการไต่สวน แต่สิ่งที่เป็นประเด็นคือการมุ่งจัดการสื่อมวลชน

การไต่สวนครั้งนี้ ก้าวล่วงประเด็นสิทธิส่วนบุคคลจากกรณีการดักฟังโทรศัพท์ ขยายประเด็นไปถึงเรื่องสัมพันธภาพระหว่างหนังสือพิมพ์กับตำรวจและนักการเมือง นัยยะที่แฝงอยู่ในกระบวนการนี้ชี้ให้เห็นว่า รัฐสามารถใช้อำนาจทางอ้อมในการควบคุมสื่อ จากข้ออ้างที่รัฐพยายามดำเนินการไต่สวนคดีเพื่อคุ้มครองประชาชนจากสื่อไร้จริยธรรม รัฐบาลบริเตนใช้โอกาสนี้ในการโน้มน้าวเพื่อจะครอบงำสื่อผ่านวาทกรรมว่าด้วยการปฏิรูปสื่อและข้อเสนอเกี่ยวกับการกำกับกิจการสื่อ จนอาจกล่าวได้ว่า ความหวาดกลัวจนเกิดเหตุที่มีต่อการทำงานของสื่อไร้จริยธรรม ท้ายที่สุดจะส่งผลระยะยาวต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในการทำงานของสื่อมวลชน

เว็บไซต์การไต่สวนเลเวอสัน levesoninquiry.org.uk

เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของการไต่สวนเลเวอสัน / levesoninquiry.org.uk

รายงานข้อเสนอ จากการไต่สวนเลเวอสัน : กลไกกำกับกันเอง ที่สนับสนุนโดยกฎหมาย

การไต่สวนในส่วนแรกพิจารณาเสร็จสิ้นและเผยแพร่รายงานข้อเสนอต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2555 ข้อค้นพบและข้อเสนอแนะของลอร์ดเลเวอสันครอบคลุม 3 ประเด็นหลัก คือ สัมพันธภาพระหว่างสื่อมวลชนกับตำรวจ สัมพันธภาพระหว่างสื่อมวลชนกับนักการเมือง และสัมพันธภาพระหว่างสื่อมวลชนกับสาธารณะ การไต่สวนไม่พบข้อเท็จจริงใดที่ชี้ชัดว่าสื่อละเมิดหลักวิชาชีพใดในสัมพันธภาพที่มีต่อตำรวจ แต่ลอร์ดเลเวอสันมีความรู้สึกว่า สื่อและตำรวจมีความสนิทสนมกันมากเกินไป เขายังเห็นว่า นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐได้พัฒนาสัมพันธภาพจนมากเกินไปกับสื่อ ซึ่งความสนิทสนมนี้ไม่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ เขามีข้อเสนอว่าควรจะมีการเปิดเผยข้อมูลว่าด้วยการติดต่อระหว่างนักการเมืองกับสื่อ ลอร์ดเลเวอสันยังเห็นว่า สื่อมักแสดงออกว่า ดำเนินงานภายใต้ประมวลจริยธรรมของตน (Code of Conduct) แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้มีอยู่ ในความเห็นของลอร์ดเลเวอสัน สื่อมักกระทำการใดๆ โดยอุกอาจ (outrageous) ในรายงานนี้ จึงมีข้อเสนอสำคัญให้มีกลไกกำกับกันเองของสื่อมวลชน [14]

ลอร์ดเลเวอสันได้เสนอแนวคิดการตั้งองค์กรกำกับกิจการที่เป็นอิสระสำหรับสื่อมวลชน โดยองค์กรนี้ต้องมีบทบาทเชิงรุกเพื่อผลักดันมาตรฐานจริยธรรมสื่อและมีอำนาจในการสืบสวนกรณีที่สงสัยว่าจะละเมิดจริยธรรม รูปแบบองค์กรกำกับกิจการจึงควรได้รับการรับรองโดยกฎหมาย ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องคุ้มครองเสรีภาพสื่อ ภายใต้กลไกกำกับกิจการนี้ยังควรรวมถึงช่องทางรับเรื่องร้องเรียนให้ผู้ที่พิจารณาว่าตนเป็นเหยื่อจากการทำงานของสื่อมาร้องทุกข์ได้แทนที่จะไปฟ้องร้องต่อศาล อย่างไรก็ดี ในข้อเสนอของเลเวอสันเห็นว่า องค์กรอิสระดังกล่าวควรจัดการและริเริ่มโดยสื่อมวลชนเอง นอกจากนี้ เลเวอสันยังเสนอให้มีสายด่วนสำหรับคนแจ้งเบาะแส (whistle blowing) เพื่อเปิดโอกาสให้นักข่าวที่รู้สึกว่าต้องทำงานภายใต้ความกดดันให้ต้องทำข่าวในเชิงละเมิดจริยธรรมสามารถแจ้งเบาะแสได้ รายงานของเลเวอสันกล่าวว่าองค์กรกำกับกิจการควรเป็นอิสระจากอิทธิพลทั้งภาคอุตสาหกรรมและรัฐบาล โครงสร้างการดำเนินงานควรบริหารโดยคณะกรรมการที่เป็นอิสระซึ่งผ่านกระบวนการแต่ตั้งที่เปิดเผย โปร่งใด และเป็นอิสระ [15]

ลอร์ดเลเวอสันเสนอให้สื่อจัดตั้งองค์กรกำกับกิจการกันเองที่เป็นอิสระ โดยได้รับการสนับสนุนจากกฎหมาย (independent self-regulation of media, endorsed by a legislative system) จนนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อและนักวิชาการว่า ข้อเสนอนี้เท่ากับเป็นการเสนอรูปแบบองค์กรกำกับกิจการตามกฎหมาย (statutory regulation) ซึ่งลอร์ดเลเวอสันได้อธิบายปฏิเสธเอาไว้ในรายงานว่า ข้อเสนอของเขาคือการเสนอให้มีองค์กรกำกับกิจการที่เป็นอิสระและดำเนินงานโดยสื่อมวลชน ส่วนกลไกกฎหมายมีไว้เพื่อให้แน่ใจได้ว่า องค์กรกำกับกิจการนี้จะเป็นอิสระ มีประสิทธิภาพ และให้สื่อสิ่งพิมพ์ได้รับประโยชน์จากการเป็นสมาชิก [16]

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ามันจะเป็นองค์กรกำกับกิจการตามกฎหมายหรือไม่ ตามข้อเสนอนี้ องค์กรที่จะเกิดขึ้นจำเป็นต้องได้รับการผลักดันจากการออกกฎหมาย และขั้นตอนการออกกฎหมายของรัฐสภาต้องผ่านการผลักดันจากภาคการเมือง การแก้ไขใดๆ จึงไม่ได้เกิดขึ้นจากสื่อสิ่งพิมพ์

ข้อเสนอนี้ได้รับการขานรับจากสองนักการเมืองใหญ่ เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษ์นิยม และ นิก เครก รองนายกรัฐมนตรีจากพรรคเสรีประชาธิปไตย โดยคาเมรอนเห็นว่าแม้จะมีความอันตรายที่กลไกนี้ต้องมาจากการออกกฎหมายในสภาซึ่งอาจเป็นการเปิดช่องทางแทรกแซงจากนักการเมือง แต่ในตอนนี้ก็จำเป็นต้องให้สื่อผลักดันกลไกใดๆ ออกมาแก้ไขสภาพเดิมของสื่อ ส่วนนิก เครก ก็ให้ความเห็นในทางเดียวกันว่า แม้เขาจะอยากเห็นกลไกกำกับกิจการอิสระเกิดขึ้นมาโดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย แต่ก็ไม่เห็นหนทางที่ทางออกดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ เขาจึงเห็นด้วยกับลอร์ดเลเวอสันโดยเห็นว่า การแก้ไขกฎหมายเป็นหนทางเดียวที่จะรับรองระบบการกำกับกันเองให้เกิดขึ้น [17] ความเห็นดังกล่าวเกิดขึ้นบนฐานทัศนคติที่ว่า สื่อมักกระทำการขัดหลักจริยธรรมและจำเป็นต้องปฏิรูป

ด้านองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานรณรงค์เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ต่างไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของลอร์ดเลเวอสัน นักเคลื่อนไหวเห็นว่า ทางออกที่ดีที่สุดคือการกำกับกันเอง ระบบใดๆ ที่ต้องการการผลักดันจากกฎหมายล้วนไม่น่าไว้วางใจ

อินเด็กซ์ออนเซ็นเซอร์ชิป (Index on Censorship) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่สนับสนุนและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก กังวลต่อข้อเสนอของการไต่สวนเลเวอสันว่า กฎหมายอาจคุกคามเสรีภาพสื่อและมีผลในการควบคุมสื่อ แถลงการณ์ขององค์กรระบุว่า ความสัมพันธ์แบบพวกพ้อง (cronyism) ระหว่างสื่อกับตำรวจและนักการเมืองที่ปรากฏในการไต่สวนเลเวอสัน ไม่ใช่เหตุที่จะใช้อ้างเพื่อก่อตั้งสิ่งที่เป็น “ความสัมพันธ์แบบพวกพ้องด้านกลับ” (reverse cronyism) อันจะนำไปสู่ความเสี่ยงให้สื่อแบกรับความกดดันอันเกิดจากรัฐบาลและนักการเมือง อินเด็กซ์ออนเซ็นเซอร์ชิปเห็นว่ากลไกกฎหมายเท่าที่มีอยู่เดิมและการกำกับกิจการที่เข้มแข็ง สามารถก่อตั้งโครงสร้างสำหรับเสรีภาพสื่อที่แท้จริงโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งกฎหมายเฉพาะหรือการรับรองจากรัฐสภา ในทางตรงกันข้าม แนวทางที่ต้องผ่านการรับรองโดยกฎหมายจะกลับกลายมาทำลายเสรีภาพสื่อแทน [18]

องค์กรผู้สื่อข่าวสื่อไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) เตือนว่าหากสหราชอาณาจักรเลือกใช้ระบบนี้ ก็จำเป็นต้องเพิ่มระดับการจับตาเพื่อป้องกันการละเมิดที่จะนำไปสู่ภาวะรัฐครองสื่อ หากจะเดินหน้าไปสู่รูปแบบองค์กรกำกับกิจการเช่นนี้ ก็จำเป็นต้องกระทำในสภาวะที่เป็นอิสระและเป็นพหุนิยม คริสตอฟ เดอลัวร์ (Christophe Deloire) เลขาธิการขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนกล่าวว่า ในมุมมองนานาชาติที่มีต่อสื่อของสหราชอาณาจักร รัฐบาลสหราชอาณาจักรไม่เพียงรับผิดชอบต่อประชาชนของตัวเอง แต่ยังรับผิดชอบต่อประชาชนทั่วโลก ความเคลื่อนไหวใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสื่อโดยรัฐจะทำลายเสรีภาพสื่อในสหราชอาณาจักรและส่งสัญญาณที่ผิดๆ ไปถึงรัฐบาลเผด็จการทั้งหลาย [19]

แน่นอนว่า การกำกับกันเองเป็นแนวคิดหนึ่งของการกำกับกิจการที่เป็นอิสระ แต่จากประสบการณ์ของคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนสื่อ (PCC) ได้ทำลายความน่าเชื่อถือที่มีต่อสื่อ อย่างไรก็ดี องค์กรอาร์ติเคิล 19 (Article 19) ซึ่งทำงานปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกเห็นว่า ข้อเท็จจริงเกียวกับความล้มเหลวของการกำกับกันเองไม่ได้หมายความว่า การกำกับกันเองมันไม่ทำงาน ตัว PCC ล้มเหลวในการทำหน้าที่ แต่ตัวระบบของการกำกับกันเอง ยังคงสร้างความมั่นใจใจความรับผิดชอบและคุ้มครองสิทธิของบุคคลได้ อาร์ติเคิล 19 กังวลว่า ประสบการณ์หลายที่ทั่วโลกจากการใช้องค์กรกำกับกิจการที่สนับสนุนโดยกฎหมาย (statutory regulation) ปรากฏพบบ่อยครั้งที่การละเมิดและควบคุมสื่อเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย ข้อมูลนี้ทำให้อาร์ติเคิล 19 มีจุดยืนว่า กลไกการกำกับกันเองเป็นทางออกที่ควรเลือกที่สุด [20]

ไม่มีใครปฏิเสธถึงความไร้น้ำยาและไร้ประสิทธิภาพขอ PCC ความล้มเหลวนี้ก็ถูกใช้เป็นข้ออ้างที่ปรากฎในการไต่สวนของลอร์ดเลเวอสันและรัฐบาลสหราชอาณาจักร เพื่อนำมาข่มขู่ให้สื่อต้องปฏิรูปและลดทอนทางเลือกไปในคราวเดียวกัน ข้อเสนอว่าด้วยการกำกับกิจการที่เป็นอิสระผ่านการรับรองและสนับสนุนโดยกฎหมาย จึงเป็นมายาคติใหม่ถึงโลกที่ดีกว่าเดิม

ปัญหาของตัว PCC คือ องค์กรสื่อสิ่งพิมพ์ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมในองค์กรกำกับกิจการนี้ก็ได้ ลอร์ดเลเวอสันจึงมีข้อเสนอแนะว่า ในองค์กรกำกับกิจการที่เป็นอิสระ มีระบบสมาชิกแบบสมัครใจ และให้มีแรงจูงใจสำหรับหนังสือพิมพ์ต่างๆ ที่เข้าร่วม โดยหากถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาท ก็มีช่องทางไกล่เกลี่ยที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายและความเสียหายที่จะเกิดจากค่าใช้จ่ายในการสู้คดีได้ [21]

ดูเหมือนว่าข้อเสนอดังกล่าวจะแก้ปัญหาที่สื่อสิ่งพิมพ์ไม่ยอมเข้าร่วมในกลไกกำกับภายใต้ PCC แต่พิจารณาในอีกทางหนึ่งจะเห็นได้ว่า ข้อเสนอของเลเวอสันตอกย้ำถึงปัญหาประการใหญ่ต่อเสรีภาพสื่อในสหราชอาณาจักร ที่ต้องเผชิญค่าใช้จ่ายมหาศาลในคดีหมิ่นประมาท ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แรงจูงใจลักษณะนี้ก็ควรจะนำมาใช้กับ PCC ในปัจจุบันได้เลย

อีกข้อโต้แย้งที่มีต่อข้อเสนอเกี่ยวกับการกำกับกิจการแบบใหม่ คือ ในปัจจุบัน ก็มีข้อหาทางอาญาที่ครอบคลุมถึงการทำงานของสื่ออยู่แล้ว เช่น กฎหมายอาญาปี 1977 (Criminal Law Act 1977) กฎหมายคุ้มครองข้อมูล ปี 1998 (Data Protection Act 1998) และกฎหมายว่าด้วยการกำกับอำนาจในการสืบสวนสอบสวน ปี 2000 (Regulation of Investigatory Powers Act 2000)

เว็บไซต์ของ IMPRESS องค์กรกำกับดูแลกันเองของสื่อ ที่ได้รับรองโดย Royal Charter

เว็บไซต์ของ IMPRESS องค์กรกำกับดูแลกันเองของสื่อที่รับรองโดย Press Recognition Panel (PRP) จนถึงขณะนี้ IMPRESS เป็นองค์กรกำกับดูแลสื่อเพียงองค์กรเดียวที่ทำตามข้อแนะนำของลอร์ดเลเวอสัน ปัจจุบันมีสมาชิก 25 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสื่อเฉพาะทางและไม่มีหนังสือพิมพ์ระดับชาติเลย / impress.press

ระดับความสำคัญของ “ประโยชน์สาธารณะ” (Public Interest) ในศาลของสหราชอาณาจักร

แต่ไหนแต่ไรมา ระบบกฎหมายของสหราชอาณาจักรไม่ค่อยเอื้อต่อเสรีภาพสื่อเท่าไรนัก เห็นได้ชัดในเรื่องภาระการพิสูจน์ และการใช้ดุลพินิจตัดสินประเด็นประโยชน์สาธารณะ หากเทียบกันแล้ว ในคดีหมิ่นประมาทของระบบศาลอเมริกัน ผู้สื่อข่าวสามารถยกประเด็นเรื่องประโยชน์สาธารณะเป็นข้อต่อสู้ในศาลได้ โดยที่ภาระการพิสูจน์เป็นของฝ่ายโจทก์ ความหมายของคำว่าประโยชน์สาธารณะนั้น เชื่อมโยงกับบุคคลสาธารณะที่ข้องเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะ เรื่องสิทธิส่วนบุคคลไม่สามารถยกขึ้นอ้างหากกรณีนั้นๆ เป็นเรื่องเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ ส่วนระบบศาลในสหราชอาณาจักรนั้น ภาระการพิสูจน์เป็นของฝ่ายจำเลย [22] และผู้พิพากษาเป็นผู้วินิจฉัยว่าอะไรคือประโยชน์สาธารณะและอะไรคือความคาดหวังที่สมเหตุสมผลต่อสิทธิส่วนบุคคล [23]

ในกรณีให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการใช้ดุลพินิจตัดสินประเด็นประโยชน์สาธารณะนั้น โชคไม่ดีนักสำหรับสื่อในสหราชอาณาจักร เพราะจากแนวปฏิบัติที่สำนักงานอัยการ (Crown Prosecution Service – CPS) มีเกี่ยวกับดุลพินิจว่าด้วยประเด็นประโยชน์สาธารณะนั้น คดีของสื่อหลายคดีไม่สามารถใช้เรื่องประโยชน์สาธารณะเป็นข้อต่อสู้จำเลยได้ คดีเหล่านั้นรวมถึงกรณีที่นักข่าวการ์เดียนเผยแพร่ข้อมูลลับจากการไต่สวนกรณีดักฟังโทรศัพท์ และข้อหาที่สื่อถูกดำเนินคดีจากการติดสินบนเจ้าหน้าที่ เหล่านี้เป็นอำนาจของสำนักงานอัยการที่จะตัดสินใจว่าเรื่องใดเป็นประโยชน์สาธารณะหรือไม่ [24]

สำหรับการไต่สวนเลเวอสัน นอกเหนือไปจากข้อเสนอให้มีการปฏิรูประบบการกำกับกิจการสื่อ ลอร์ดเลเวอสันยังมีข้อเสนอให้แก้ไขกฎหมายจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับสื่อ ประเด็นหนึ่งคือ กฎหมายการคุ้มครองข้อมูล ซึ่งลอร์ดเลเวอสันเสนอให้ลดทอนสิทธิพิเศษของสื่อในการเข้าถึงข้อมูลในส่วนที่กระทบกับข้อมูลส่วนบุคคล ลอร์ดเลเวอสันเห็นว่าข้อยกเว้นที่มีให้สื่อควรตีกรอบให้แคบลงโดยยอมให้เฉพาะกับเรื่องที่เป็นประเด็นสาธารณะ ดังนั้น สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ต้องสามารถอธิบายได้ว่าการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลนั้นๆ มีความจำเป็นอย่างไร ลอร์ดเลเวอสันยังแนะนำให้คณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร (Information Commissioner’s Office – ICO) เผยแพร่แนวปฏิบัติและข้อเสนอแนะถึงพฤติการณ์ที่ดี ว่าด้วยหลักการที่เหมาะสม และมาตรฐานในการทำงานของสื่อในการประมวลข้อมูลส่วนบุคคล (Out-Law, 2012) ภายหลังข้อเสนอของลอร์ดเลเวอสัน คณะกรรมการข้อมูลส่วนบุคคลก็ได้ออกแนวปฏิบัติดังกล่าวออกมาแล้ว [25]

ในด้านหนึ่ง ข้อเสนอแนะที่ย้ำว่าสื่อควรกำกับกันเองโดยคณะกรรมการที่เป็นอิสระ โปร่งใส เป็นคำที่พูดกันมากในสังคม ทว่าในอีกด้านหนึ่งก็มีความพยายามออกกลไกมาจำกัดอำนาจของสื่อโดยใช้น้ำหนักเรื่องประโยชน์สาธารณะมาชั่งน้ำหนักกับเสรีภาพ แม้ข้อเสนอว่าด้วยประโยชน์สาธารณะจะฟังดูมีเหตุผล แต่ก็หนีไม่พ้นว่าอำนาจในการพิจารณาว่าอะไรเข้าข่ายประเด็นสาธารณะนั้น ก็เป็นอำนาจของฝ่ายรัฐเท่านั้น ทิโมธี ครุก (Timothy Crook) นักวิชาการด้านสื่อและกฎหมายเห็นว่า การที่อำนาจในการใช้ดุลพินิจว่าเรื่องใดเป็นประเด็นสาธารณะเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ กฎหมาย ตุลาการ นั่นเท่ากับว่าสังคมบริเตนเข้าใกล้สภาพของรัฐที่สื่อไร้เสรีภาพเข้าไปทุกที [26]

เว็บไซต์ของ Independent Press Standards Organisation (IPSO) ipso.co.uk องค์กรกำกับกันเองของสื่อ ที่มาแทนที่ Press Complaints Commission (PCC)

เว็บไซต์ของ Independent Press Standards Organisation (IPSO) องค์กรกำกับกันเองของสื่อที่มาแทนที่ Press Complaints Commission (PCC) ซึ่งปิดตัวไปเมื่อ 8 กันยายน 2014 แม้จะไม่ได้รับการรับรองโดยกฎหมาย (และไม่มีแผนที่จะยื่นขอการรับรอง) แต่ IPSO ก็เป็นองค์กรกำกับดูแลกันเองที่มีสมาชิกเป็นสื่อรายใหญ่จำนวนมาก / ipso.co.uk

อ้างอิง

  1. ดูใน Crook, T. (2012). The Leveson Inquiry and the Chilling Effect: Journalism Inquisition, Moral Panic and Diminishing Returns in Freedom of Expression. In R. L. Keeble & J. Mair (Eds.), The phone hacking scandal: journalism on trial (pp. 75–90). Abramis. Retrieved from http://eprints.lincoln.ac.uk/5825 และ Preston, P. (2012, July 15). Britain isn’t as broadsheet as Leveson would like. Retrieved January 4, 2015, from http://www.theguardian.com/media/2012/jul/15/britain-is-not-as-broadsheet-as-leveson-would-like
  2. Crook, T. (2014). Topic 5: Media Ethics debates: bribes, phone-hacking and cronies. In Media Law & Ethic Course Outline. learn.gold.ac.uk/Media & Communications.
  3. Davies, N. (2009a, July 8). Murdoch papers paid out £1m to gag phone-hacking victims. Retrieved January 3, 2015, from http://www.theguardian.com/media/2009/jul/08/murdoch-papers-phone-hacking
  4. Leveson Inquiry. (2011). Leveson Inquiry: Culture, Practice and Ethics of the Press FAQs. Retrieved from http://webarchive.nationalarchives.gov.uk/20140122145147/http:/www.levesoninquiry.org.uk/faqs/
  5. BBC. (2011, July 7). NoW to close amid hacking scandal. Retrieved January 5, 2015, from http://www.bbc.co.uk/news/uk-14070733
  6. Ireton, E. (2014, March 20). The Inquiries Act 2005 – fit for purpose? Retrieved February 1, 2015, from http://www.localgovernmentlawyer.co.uk/index.php?option=com_content&view=article&id=17808:the-inquiries-act-2005-fit-for-purpose&catid=56:litigation-articles
  7. Section 1 Inquiries Act 2005. (2005). legislation.gov.uk. Retrieved from http://www.legislation.gov.uk/ukpga/2005/12/section/1
  8. Crook, T. (2012). The Leveson Inquiry and the Chilling Effect: Journalism Inquisition, Moral Panic and Diminishing Returns in Freedom of Expression. In R. L. Keeble & J. Mair (Eds.), The phone hacking scandal: journalism on trial (pp. 75–90). Abramis. Retrieved from http://eprints.lincoln.ac.uk/5825
  9. Keeble, R. (2009). Ethics for journalists (Second). Routledge. pp.154.
  10. PA. (2012, June 14). Guardian hacking journalist David Leigh won’t be charged. Retrieved January 6, 2015, from http://www.independent.co.uk/news/uk/crime/guardian-hacking-journalist-david-leigh-wont-be-charged-7851045.html
  11. Keeble, R. (2009). Ethics for journalists (Second). Routledge. pp. 153.
  12. Tryhorn, C. (2007, January 26). Clive Goodman sentenced to four months. Retrieved January 3, 2015, from http://www.theguardian.com/media/2007/jan/26/newsoftheworld.pressandpublishing1
  13. Keeble, R. (2009). Ethics for journalists (Second). Routledge. pp. 153.
  14. Leveson, L. J. (2012, November 29). An inquiry into the culture, practices and ethics of the press: executive summary. Retrieved December 26, 2014, from https://www.gov.uk/government/publications/an-inquiry-into-the-culture-practices-and-ethics-of-the-press-executive-summary
  15. Ibid, pp.14-15.
  16. Ibid, pp.17.
  17. BBC. (2012a, November 29). Leveson: David Cameron and Nick Clegg at odds over plans. BBC. Retrieved from http://www.bbc.co.uk/news/uk-politics-20539239
  18. Hughes, K. (2012, November 29). Index: Leveson goes too far – Index on Censorship. Retrieved January 4, 2015, from http://www.indexoncensorship.org/2012/11/index-leveson-inquiry-press-freedom/
  19. Reporters Without Borders. (2012, December 1). Independence and pluralism must remain central to media regulation. Retrieved January 3, 2015, from http://en.rsf.org/united-kingdom-independence-and-pluralism-must-01-12-2012,43742.html
  20. Article 19. (2012, November 29). UK: Legislation to provide a statutory basis for self-regulation does not mean state control. Retrieved January 4, 2015, from http://www.article19.org/resources.php/resource/3545/en/uk:-legislation-to-provide-a-statutory-basis-for-self-regulation-does-not-mean-state-control
  21. Leveson, L. J. (2012, November 29). An inquiry into the culture, practices and ethics of the press: executive summary. Retrieved December 26, 2014, from https://www.gov.uk/government/publications/an-inquiry-into-the-culture-practices-and-ethics-of-the-press-executive-summary
  22. Crook, T. (2012). The Leveson Inquiry and the Chilling Effect: Journalism Inquisition, Moral Panic and Diminishing Returns in Freedom of Expression. In R. L. Keeble & J. Mair (Eds.), The phone hacking scandal: journalism on trial (pp. 81–83). Abramis. Retrieved from http://eprints.lincoln.ac.uk/5825
  23. Crook, T. (2009). Comparative Media Law and Ethics. Routledge. pp.274-294
  24. Ponsford, D. (2012, June 12). Starmer weighs public interest in Dowler hacking. Retrieved December 29, 2014, from http://www.pressgazette.co.uk/node/49465
  25. ดูใน https://ico.org.uk/media/for-organisations/documents/1552/data-protection-and-journalism-media-guidance.pdf และ Gough, T., & Wilson, E. (2013, January 16). Data protection in 2013: what’s new this year. Retrieved January 6, 2015, from http://www.theguardian.com/media-network/media-network-blog/2013/jan/16/data-protection-2013-predictions-leveson
  26. Crook, T. (2012). The Leveson Inquiry and the Chilling Effect: Journalism Inquisition, Moral Panic and Diminishing Returns in Freedom of Expression. In R. L. Keeble & J. Mair (Eds.), The phone hacking scandal: journalism on trial (pp. 84). Abramis. Retrieved from http://eprints.lincoln.ac.uk/5825

ภาพหนังสือพิมพ์ News of the World ฉบับสุดท้าย ในภาพประกอบภาพแรก โดย Howard Lake สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบบแสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน

Tags: , , , , , ,
%d bloggers like this: