2016.03.09 17:34
เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 59 มีการเปิดตัวรายงาน World Development Report 2016: Digital Dividends (รายงานการพัฒนาโลกปี 2559: การแบ่งสรรผลประโยชน์จากดิจิทัล) ต่อด้วยการเสวนา “ประเทศไทย: หนทางสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล” จัดโดยธนาคารโลก (World Bank), ช่อง Now26 และมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง ณ สตูดิโอ Now26 สยามสแควร์
เปิดรายงานการพัฒนาโลกปี 2559
ในช่วงแรก Deepak Mishra นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลกและผู้อำนวยการร่วมโครงการจัดทำรายงานดังกล่าวได้ออกมานำเสนอรายงาน โดย Mishra ระบุว่า
รายงานแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 3 ภาคส่วนได้แก่ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และภาครัฐบาล ซึ่งการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลต้องมุ่งไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (สำหรับภาคธุรกิจ) การขยายการจ้างงาน (สำหรับประชาชน) และการส่งมอบบริการจากภาครัฐที่ดีและการสร้างความรับผิดของรัฐบาลต่อประชาชน (สำหรับภาครัฐบาล)
Mishra กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตไม่ใช่ยาวิเศษ ที่เมื่อเราทำให้ทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แล้ว ปัญหาทุกอย่างจะถูกขจัดให้หมดไป หรือเราจะสามารถบรรลุการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลดังที่ระบุข้างต้นได้
โดยจากรายงานพบว่า ที่จริงแล้ว ที่ผ่านมา การเข้ามาของอินเทอร์เน็ตไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพของแรงงานสูงขึ้น ไม่ได้ทำให้รายได้ของประชากรมีความเท่าเทียมกันขึ้น หรือช่วยให้การเลือกตั้งโปร่งใสมากขึ้น ทั้งนี้เพราะการพัฒนาประเทศให้ไปสู่เป้าหมายดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ปัจจัยร่วมที่ไม่ใช่ดิจิทัลหรือ “ปัจจัยร่วมแอนะล็อก” (analog complements) ประกอบ
ปัจจัยร่วมที่ไม่ใช่ดิจิทัลที่ว่าได้แก่ การกำกับดูแลที่จะส่งเสริมการแข่งขันในตลาด (สำหรับภาคธุรกิจ) การพัฒนาทักษะของคนเพื่อให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล (สำหรับประชาชน) และองค์ประกอบด้านสถาบันที่จะส่งเสริมให้รัฐบาลมีความรับผิดต่อประชาชน (สำหรับภาครัฐ)
โดยหากปราศจากปัจจัยร่วมดังกล่าว ในภาคธุรกิจ เทคโนโลยีดิจิทัลก็มีแนวโน้มทำให้ตลาดมีลักษณะการผูกขาดมากขึ้น, ในภาคประชาชน การขาดการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลจะทำให้ความไม่เท่าเทียมขยายตัวกว้างมากขึ้น เนื่องจากแรงงานที่มีทักษะต่ำจะถูกแทนที่โดยการทำงานของเครื่องจักร, และในภาครัฐบาล การขาดกลไกด้านสถาบันที่เหมาะสม แทนที่จะส่งเสริมความรับผิดของรัฐบาลของประชาชน เทคโนโลยีดิจิทัลจะกลับทำให้รัฐบาลสามารถเข้ามาควบคุมประชาชนได้มากขึ้น แทนที่จะทำให้ภาคประชาชนมีพลังและมีส่วนร่วม
ธนาคารโลกได้ให้ข้อเสนอแนะด้านนโยบายไว้ในรายงานด้วย โดยข้อเสนอแนะดังกล่าว แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือในระดับภาคส่วน ระดับประเทศ และระดับโลก
ในระดับภาคส่วน ควรจะต้องส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทำให้ราคาอินเทอร์เน็ตอยู่ในระดับที่ประชาชนสามารถจ่ายเงินซื้อได้ รวมทั้งทำให้อินเทอร์เน็ตเปิดกว้างและปลอดภัย ซึ่งการจะบรรลุจุดประสงค์ดังกล่าวได้นั้น Mishra กล่าวว่า เราต้องผลักดันทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน
ในด้านอุปทาน นโยบายควรเน้นไปในทางส่งเสริมการแข่งขัน สร้างความร่วมมือระหว่างภาคประชาชนและภาคธุรกิจ และต้องมีการกำกับตลาดโทรคมนาคมและการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพ
ในขณะที่ด้านอุปสงค์ จำเป็นต้องมีนโยบายที่สนับสนุนความเป็นส่วนตัวและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และลดระดับการปิดกั้นและกลั่นกรองเนื้อหาที่ไหลเวียนอยู่ในอินเทอร์เน็ต
ส่วนข้อเสนอแนะในระดับประเทศนั้น รายงานแบ่งประเทศต่างๆ ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประเทศอุบัติใหม่ กลุ่มประเทศที่อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่าน และกลุ่มประเทศที่อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลง โดยแต่ละกลุ่มประเทศมีวิถีการพัฒนาในด้านการกำกับดูแล การพัฒนาทักษะแรงงาน และการสร้างองค์ประกอบด้านสถาบันที่ต่างกันไป
สำหรับการข้อเสนอแนะในระดับโลกนั้น รายงานเสนอว่าโลกควรจะมีความเห็นที่ตรงกันในเรื่องที่มีการข้ามพรมแดน โดยในการการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตนั้น ปัจจุบันหลายประเทศเห็นว่าควรใช้โมเดลการกำกับดูแลอย่างมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย (multistakeholder governance model) และควรขจัดอุปสรรคการเข้ามาสู่ตลาดดิจิทัลในระดับโลก
เทคโนโลยีเปลี่ยน ถึงเวลาต้องปรับปรุงกฎหมายล้าสมัย
ถัดมา ในวงเสวนา “ประเทศไทย: หนทางสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล” ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวเช่นเดียวกับ Mishra ว่า เทคโนโลยีดิจิทัลคือโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องใช้ปัจจัยร่วมอื่นๆ ด้วย เพื่อที่ประเทศได้ใช้ประโยชน์จากดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ ฉะนั้น กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแลตลาดโทรคมนาคมจึงเป็นเพียงแค่ “บันได” เพื่อไปสู่การพัฒนาเท่านั้น
ประวิทย์กล่าวว่า ปัญหาปัจจุบันที่ กสทช.ประสบในการกำกับดูแลตลาดโทรคมนาคมมีหลายประเด็นด้วยกัน ในประเด็นข้อจำกัดด้านกฎหมาย ประวิทย์เห็นว่า เนื่องจากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต้องใช้เงินลงทุนสูง กฎหมายอาจจำเป็นต้องปรับกฎเกณฑ์เรื่องสัดส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของต่างชาติ เพื่อให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนและแข่งขันได้มากขึ้น อันจะนำไปสู่การเพิ่มการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม
อีกหนึ่งปัญหาข้อจำกัดของกฎหมายคือกฎหมายเรื่องการใช้คลื่นกันชน (white space) ซึ่งกฎหมายอาจต้องปรับให้เข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เนื่องจากปัจจุบัน เทคโนโลยีพัฒนาขึ้น การกวนกันของคลื่นความถี่จึงน้อยลง ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิการใช้คลื่นจึงอาจต้องถูกปรับเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้กรรมสิทธิการใช้คลื่นแต่เพียงผู้เดียว (exclusive right) ที่อาจไม่เหมาะสมอีกต่อไป หรือในอีก 5 ปีข้างหน้า คลื่นบางคลื่นอาจไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการออกใบอนุญาตอีกต่อไปแล้ว
ส่วนปัญหาในทางปฏิบัติ มีอาทิ การประมูลคลื่นความถี่จำเป็นต้องมีแผนกลยุทธ์ถึงทิศทางในอนาคต (roadmap) เพื่อที่ในการประมูลแต่ละครั้งเอกชนผู้เข้าประมวลจะได้สามารถคาดการณ์ราคาคลื่นที่เหมาะสมได้ ซึ่งที่ผ่านมา การประมูลคลื่นความถี่ของไทยทั้ง 3 ครั้ง จัดทำโดยไม่มีการวางแผนกลยุทธ์เลย
อีกปัญหาหนึ่งคือ การขาดการประสานงานการระหว่างต่างหน่วยงาน ทำให้การกำกับดูแลเรื่องที่ข้ามภาคธุรกิจ เช่น การกำกับดูแลการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ เป็นไปได้อย่างลำบาก
สร้างการมีส่วนร่วม ต้องผลักดันทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ด้านยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) และผู้ประสานงานเว็บไซต์ประชามติ พูดถึงประเด็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมความรับผิดของรัฐบาลผ่านการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนว่า
ความรับรู้ของคนที่มองว่าเมื่อมีพื้นที่ออนไลน์ให้คนมาแสดงความคิดเห็นแล้ว การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนจะเกิดได้เลยนั้น เป็นภาพที่ออกจะ “โลกสวย” ไปเสียหน่อย
โดยจากประสบการณ์การทำเว็บไซต์ประชามติ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ให้ประชาชนมาแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ตนพบว่ายังไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเพียงช่องทางหนึ่งเท่านั้น การจะสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนต้องอาศัยการทำงานขับเคลื่อนแบบนอกพื้นที่ออนไลน์ด้วย แคมเปญออนไลน์บางเรื่องจำเป็นต้องมีกิจกรรมที่ทำบนพื้นที่ออฟไลน์ประกอบกันไป
Mishra กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมามีตัวอย่างมากมายที่แสดงให้เห็นว่า นักกิจกรรมที่ทำงานโดยไม่ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลมักจะล้มเหลวในการผลักดันเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เขาระบุว่า ทั้งนักกิจกรรมและรัฐบาลต้องร่วมมือกันเพื่อจะผลักดันเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้ประสบความสำเร็จ
ส่วนประวิทย์เสริมว่า ในการสร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชน นอกจากนักกิจกรรมแล้ว สื่อมวลชนก็มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยหากสื่อเห็นว่าเรื่องใดที่ส่งผลกระทบต่อสังคม สื่อควรต้องนำเอาประเด็นนั้นมาขยายความต่อ
อินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้างและปลอดภัย
นอกจากจะมาเล่าถึงบทบาทของไมโครซอฟท์ในการสร้างทักษะด้านดิจิทัลให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ผ่านโครงการต่างๆ ของบริษัท เช่น โครงการสอนเขียนโค้ดแล้ว เดซาเร็ก เทโส ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ยังได้พูดถึงบทบาทของไมโครซอฟท์ในการสร้างอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัย โดยกล่าวถึงเรื่องการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ว่า ในเรื่องนี้ บริษัทยึดหลักการการรักษาความเป็นส่วนตัวให้กับลูกค้า ซึ่งการส่งมอบข้อมูลของลูกค้าให้กับรัฐบาลนั้น แม้ว่าบริษัทจะเคารพกฎหมายของแต่ละประเทศ แต่กฎหมายในประเทศดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานที่เป็นสากลและการร้องขอข้อมูลจำเป็นต้องใช้หมายศาลด้วย
ขณะที่ยิ่งชีพกล่าวแสดงความกังวลว่า การที่ผู้ให้บริการหรือรัฐบาลสามารถสอดส่องการใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้ได้จะส่งผลต่อความมั่นใจในการใช้งานของผู้ใช้ ภาคธุรกิจก็จะรู้สึกไม่มั่นใจในการพึ่งพาอินเทอร์เน็ตในการทำธุรกิจ เหล่านี้จะกระทบต่อการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต
Mishra กล่าวเสริมในประเด็นการส่งเสริมให้มีอินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้าง โดยกล่าวถึงต้นทุนของการปิดกั้นการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารในอินเทอร์เน็ต หรือที่เขาเรียกว่า “ราคาของการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต” ว่า
การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารบนอินเทอร์เน็ตมีต้นทุนหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนทางตรง ซึ่งก็คือค่าการจัดการและทรัพยากรที่ใช้ดำเนินการ, มันยังทำให้ความเร็วอินเทอร์เน็ตลดลง, การปิดกั้นข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตเป็นการขัดขวางการเข้าถึงความรู้ของคน รวมอีกทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ และสังคมถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงความคิดดีๆ เหล่านี้ล้วนตรงข้ามกับการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น