2016.03.11 18:12
แปลจาก Health Privacy Online: Patients at Risk เขียนโดย Tim Libert นักศึกษาปริญญาเอก คณะการสื่อสาร มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย
การหาข้อมูลโดยปราศจากการคุ้มครอง
โครงการ Pew Internet and American Life ระบุว่า ประชากรผู้ใหญ่กว่าร้อยละ 70 ของสหรัฐอเมริกาค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพทางออนไลน์[1] ข้อมูลดังกล่าวมาจากหลายแหล่ง ตั้งแต่หน่วยงานรัฐบาล จนถึงองค์กรไม่แสวงกำไร เว็บไซต์เพื่อการค้า หนังสือพิมพ์ เว็บบอร์ดแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และอีกมาก เช่นเดียวกับเว็บไซต์อื่นๆ เว็บไซต์เหล่านี้พึ่งพาบุคคลที่สามในการส่งโฆษณาถึงผู้ใช้ ด้วยเหตุนี้ เว็บไซต์ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลทางสุขภาพจึงมอบโอกาสให้ผู้โฆษณาสามารถติดตามผู้ใช้ และเรียนรู้ความสนใจของพวกเขา
ในขณะที่ผู้ใช้หลายคนสันนิษฐานเอาว่า การค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของพวกเขานั้นถูกคุ้มครองทางกฎหมาย แต่กฎระเบียบซึ่งดูแลกิจกรรมเหล่านี้หากมีอยู่ก็มีน้อยมาก ผู้ประกอบการเว็บไซต์และหน่วยงานที่สามอื่นๆ สามารถรวบรวมข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับข้อห่วงกังวลทางสุขภาพและสถานะทางสุขภาพของผู้ใช้ ได้จากพฤติกรรมการค้นหาข้อมูล ซึ่งมันอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัวด้านสุขภาพในยุค “มวลมหาข้อมูล” (Big Data) จึงจำเป็นจะต้องถูกนำมาทบทวนใหม่อีกครั้ง
หลักฐานถึงการรั่วไหลของข้อมูล
เพื่อสำรวจความเสี่ยงต่อความเป็นส่วนตัวออนไลน์เรื่องสุขภาพ ผู้เขียนได้วิเคราะห์เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพกว่า 80,000 เว็บไซต์ และพบว่าเว็บไซต์กว่าร้อยละ 90 ได้ปล่อยให้ข้อมูลของผู้ใช้รั่วไหลไปถึงบุคคลภายนอก[2] จำนวนข้อมูลที่ถูกปล่อยให้รั่วไหลนั้นแตกต่างกันไป แต่เกือบทุกครั้งจะมีที่อยู่หน้าเว็บที่กำลังเข้าชมอยู่ ซึ่งที่อยู่ดังกล่าวสามารถเปิดเผยข้อมูลอื่นๆ ได้อีกมาก ตัวอย่างเช่น เมื่อรู้ว่าผู้ใช้เข้าชมหน้าเว็บที่ http://www.cdc.gov/cancer/breast/ ผู้โฆษณาก็สามารถอนุมานได้ว่าผู้ใช้มีความห่วงกังวลเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม การรั่วไหลของข้อมูลในลักษณะนี้เป็นปัญหาในวงกว้าง การศึกษาของผู้เขียนแสดงให้เห็นว่า ร้อยละ 70 ของเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ มีที่อยู่หน้าเว็บซึ่งประกอบด้วยข้อมูลที่เจาะจงเกี่ยวกับอาการ การรักษา และโรค
ปัญหาที่พบได้ทั่วไปในระดับเดียวกันทั้งในเว็บไซต์เชิงพาณิชย์และที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์
โดยทั่วไปแล้วผู้ที่เป็นฝ่ายเก็บข้อมูล คือนักโฆษณาออนไลน์ ซึ่งในบริบทของสหรัฐอเมริกาแล้ว นักโฆษณาไม่อยู่ภายใต้กฎหมายความเป็นส่วนตัวด้านสุขภาพ อย่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการควบคุมและการส่งผ่านข้อมูลทางด้านการประกันสุขภาพ (Health Insurance Portability and Accountability Act: HIPAA) นักโฆษณาเหล่านี้สามารถติดตามผู้ใช้งานบนเว็บไซต์เชิงพาณิชย์ เช่น WebMD.com และเว็บไซต์ของรัฐบาลและเว็บไซต์ไม่แสวงกำไร เช่น ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ (CDC.gov) และเมโยคลินิก (mayoclinic.org) ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เว็บไซต์เชิงพาณิชย์จะอนุญาตให้ผู้โฆษณาเฝ้าดูผู้ใช้งาน เนื่องจากการดำเนินการของเว็บไซต์เชิงพาณิชย์นั้นอาศัยรายได้จากโฆษณา แต่น่าแปลกใจที่หน่วยงานรัฐบาลและหน่วยงานไม่แสวงกำไรซึ่งอาศัยเงินภาษีและเงินบริจาคจะทำเช่นนั้นด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เว็บไซต์ที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ใช้บริการจากหน่วยงานภายนอกเพื่อวิเคราะห์การจราจรในเว็บไซต์ของตนและเพื่อช่วยในการแชร์ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ บริการเหล่านี้เป็นของผู้โฆษณาออนไลน์ซึ่งเปิดให้ใช้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพื่อที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น ตัวอย่างหนึ่งก็คือ ผู้ใช้งานซึ่งเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ อาจถูกเก็บข้อมูลการท่องเว็บของเขาส่งให้กับกูเกิล เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ (ข้อมูลเมื่อเดือนเมษายน 2557)
ความเสี่ยงของการระบุตัวผู้ใช้
ในขณะที่นักโฆษณาไม่สามารถรู้ถึงชื่อของผู้ใช้ในระหว่างการเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์แต่ละครั้ง แต่ผลรวมสะสมของพฤติกรรมการท่องเว็บสามารถวาดภาพของผู้ใช้ขึ้นมาได้ว่าพวกเขาเป็นใคร ซึ่งจะนำไปสู่ความเสี่ยงสองประการ คือ การระบุตัวผู้ใช้ และ การเลือกปฏิบัติเชิงพาณิชย์
ในกรณีแรก นักโฆษณาซึ่งรู้ว่าผู้ใช้งานคนหนึ่งมีอาการป่วยอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิดหรือทำให้ข้อมูลนี้รั่วไหลได้ บางครั้งบุคคลที่สามที่สามารถสังเกตได้ถึงการเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์สุขภาพของผู้ใช้ อาจจะทราบชื่อจริงของผู้ใช้ได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น เฟซบุ๊กสามารถเชื่อมโยงประวัติการเข้าเว็บไซต์สุขภาพกับตัวบุคคลหนึ่งๆ ได้อย่างง่ายดาย ถึงแม้ว่าผู้ใช้จะเชื่อถือเฟซบุ๊ก แต่ข้อมูลดังกล่าวก็อาจถูกอาชญากรขโมยและรั่วไหลได้ ดังปรากฏให้เห็นในพาดหัวข่าวอาชญากรรมไซเบอร์อยู่เป็นประจำ
นอกจากนี้ การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเว็บไซต์สุขภาพยังถูกทำโดย “นายหน้าข้อมูล” (data broker) อีกด้วย นายหน้าข้อมูลจะเป็นตัวแทนผู้ขายข้อมูลที่สามารถใช้ระบุตัวบุคคลได้ (personally identifiable information: PII) ให้แก่ลูกค้า การพิจารณาของวุฒิสภาสหรัฐฯ เมื่อไม่นานนี้ เปิดเผยว่า บริษัทนายหน้าข้อมูล MedBase200 ได้ขายรายชื่อบุคคลภายใต้หมวดหมู่ “ผู้ทุกข์ทรมานจากการข่มขืน” “เหยื่อความรุนแรงในครอบครัว” และ “ผู้ป่วยเอชไอวี/เอดส์”[3] ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า MedBase200 ได้ข้อมูลเหล่านี้มาจากไหน แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถซื้อและนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในทางที่ผิด
ความเสี่ยงของการเลือกปฏิบัติเชิงพาณิชย์
ความเสี่ยงที่สองคือ ถึงแม้จะไม่มีการเปิดเผยชื่อเลย แต่ผู้ที่มีความสนใจเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยก็อาจจะเสียเปรียบในเชิงพาณิชย์ได้ ผู้โฆษณาออนไลน์ใช้ข้อมูลการท่องเว็บโดยรวมเพื่อใส่ผู้ใช้ลงไปใน “ไซโลข้อมูล” (data silo) แต่ละอัน และแปะป้ายกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นที่พึงประสงค์ว่าเป็น “เป้าหมาย” และกลุ่มผู้ใช้ที่โชคดีน้อยหน่อยว่าเป็น “ขยะ”[4] ด้วยตัวเลขที่ว่า กว่าร้อยละ 60 ของกรณีล้มละลายนั้นเกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล[5] จึงมีความเป็นไปได้ว่า ผู้ที่สนใจอาการทางสุขภาพที่เฉพาะเจาะจงอย่างหนึ่งอาจถูกจัดประเภทให้เป็นขยะ และถูกปฏิเสธไม่ให้ได้รับส่วนลดหรืออัตราดอกเบี้ยพิเศษที่จะถูกมอบให้เฉพาะกับกลุ่มที่เป็นเป้าหมาย
หากพฤติกรรมการค้นหาข้อมูลสุขภาพบังเอิญไปพ้องกับผลลัพธ์ที่พึงประสงค์เชิงพาณิชย์อย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้โฆษณาออนไลน์อาจทำให้ผู้ใช้ที่มีอาการทางสุขภาพบางอย่างได้รับการปฏิบัติที่ด้อยลง แม้ว่าจะไม่มีความตั้งใจเช่นนั้นก็ตาม การป้องกันผลลัพธ์ที่มาจากความไม่ตั้งใจนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เนื่องจากผู้โฆษณาอาจประสบความยุ่งยากในการจัดการแยกแยะระหว่างข้อมูลที่อ่อนไหว (sensitive information) และข้อมูลที่ไม่อ่อนไหว
กันไว้ดีกว่าแก้
ในขณะที่ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลท่องเว็บเกี่ยวกับสุขภาพไปในทางที่ผิด แต่ก็เช่นเดียวกันกับการแพทย์ ความพยายามเพียงเล็กน้อยเพื่อป้องกันย่อมดีกว่าการต้องไปรักษาแพงๆ ในภายหลัง
มีสามยุทธศาสตร์ที่สามารถลดความเสี่ยงต่อผู้ใช้ซึ่งค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพออนไลน์ได้ทันที คือ
หนึ่ง เว็บไซต์ของรัฐบาลและหน่วยงานไม่แสวงกำไร ที่ใช้เครื่องมือวัดผลหน้าเว็บและการแบ่งปันในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งปล่อยให้ข้อมูลของผู้ใช้รั่วไหลไปถึงผู้โฆษณา ควรตรวจสอบเครื่องมือเหล่านั้นและใช้บริการแบบเดียวกันที่ปกป้องความเป็นส่วนตัวแทน
สอง ในขณะที่ผู้โฆษณาได้เขียนแนวทางของอุตสาหกรรมนี้เพื่อกำกับกันเอง คณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหพันธรัฐของสหรัฐอเมริกา (Federal Trade Commission: FTC) ได้กล่าวว่า ความพยายามดังกล่าว “ล้มเหลวในการให้ความคุ้มครองที่เพียงพอและมีความหมาย”[6] เพราะฉะนั้นจึงมีโอกาสที่จะเขียนนโยบายและกฎหมายที่จะคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ใช้ได้ดียิ่งขึ้น
สาม วิศวกรซอฟต์แวร์ซึ่งทำงานให้กับนักโฆษณา อาจริเริ่มและสร้างสรรค์ระบบคัดกรองอันชาญฉลาดให้วิเคราะห์ข้อมูลที่เข้ามาในระบบ เพื่อประกันว่าข้อมูลที่มีความอ่อนไหวทางการแพทย์จะไม่ถูกจัดเก็บหรือถูกนำไปใช้
ยุทธศาสตร์ทั้งสามนี้มีเป้าหมายที่เป็นไปได้จริง และจะสามารถคุ้มครองกลุ่มสมาชิกที่อ่อนแอที่สุดในสังคมของเรา
อ้างอิง
- Susannah Fox และ Maeve Duggan. Health Online 2013. Washington, DC: Pew Internet and American Life Project, 2013 http://www.pewinternet.org/2013/01/15/health-online-2013/
- Tim Libert. “Privacy Implications of Health Information Seeking on the Web”, Communications of the Association for Computing Machinery, 58 (2015): 68-77
- U.S. Congress, Senate, Committee and Commerce, Science, and Transportation. A Review of the Data Broker Industry: Collection, Use, and Sale of Consumer Data for Marketing Purposes, 2014 http://www.commerce.senate.gov/public/?a=Files.Serve&File_id=od2b3642-6221-4888-a631-o8f2f255b577
- Joseph Turow. The Daily You: How the New Advertising Industry is Defining Your Identity and Your Worth. New Haven: Yale University Press, 2012
- David U. Himmelstein, Deborah Thorne, Elizabeth Warren, และ Steffie Woolhandler, “Medical Bankruptcy in the United States, 2007: Results of a National Study”, The American Journal of Medicine 112 (2009): 741-746
- คณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหพันธรัฐ. Protecting Consumer Privacy in An Era of Rapid Change. A Proposed Framework for Business and Policymakers, Preliminary Staff Report, 2010 http://www.ftc.gov/sites/default/files/documents/reports/federal-trade-commission-bureau-consumer-protection-preliminary-ftc-staff-report-protecting-consumer/101201privacyreport.pdf
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “ข้อมูลและการเลือกปฏิบัติ: รวมความเรียง” (Data and Discrimination: Collected Essays) จัดทำโดย สถาบันโอเพนเทคโนโลยี มูลนิธินิวอเมริกา (New America Foundation) (เผยแพร่ตุลาคม 2557) และแปลเป็นภาษาไทยโดย วิริยาณ์ พรสุริยะ ด้วยการสนับสนุนของมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง (กุมภาพันธ์ 2559)
ติดตามบทความชุดนี้ได้ทางแท็ก Data and Discrimination บนเว็บไซต์ thainetizen.org
Tags: big data, Data and Discrimination, data protection, Federal Trade Commission, health information, Health Insurance Portability and Accountability Act, health privacy, online advertisement, online privacy, patient rights, personally identifiable information, privacy, Tim Libert