2016.03.17 19:09
สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: อดีต รมว.กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ถูกฝากขัง พ.ร.บ.คอม เหตุโพสต์วิจารณ์รองนายก/ ปรับทัศนคติ ส.ส.เพื่อไทย โพสต์ระบุ ราคาข้าวตกต่ำ/ สราวุธ ผู้ดูแลเพจ “เปิดประเด็น” ถูกปล่อยตัวจากค่ายทหารแล้ว/ ประธานกรธ. เผยจะดำเนินการกับเพจ “หยุดดัดจริตประเทศไทย” สร้างข้อมูลบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ/ กระทรวงมหาดไทยตั้งงบปี 60 ซื้อเครื่องอ่านสมาร์ตการ์ดทั่วประเทศ/ กรมขนส่งทางบกสั่ง GrabBike ยุติบริการ/ ธุรกิจโทรคมนาคมร้องรัฐบาลเดินหน้าแรงจูงใจทางภาษีวางโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำ ฯลฯ
3 มีนาคม 2559
อดีตรมว.กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ถูกฝากขัง พ.ร.บ.คอม เหตุโพสต์วิจารณ์รองนายก
วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทยและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถูกทหารเชิญตัวจากบ้านพักเพื่อเข้า มทบ.11 เพื่อสอบถามและปรับทัศนคติ หลังโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่ากล่าวถึงยิ่งลักษณ์ ชินวัตรโดยใช้คำพูดไม่เหมาะสม ก่อนที่ปล่อยตัวพร้อมแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 ในกลางดึกคืนวันเดียวกัน ล่าสุด วันที่ 3 มี.ค.59 วัฒนาผู้ต้องหามาขังที่ศาลอาญากรุงเทพให้ในข้อหา ‘นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” โดยขออนุญาตฝากขังมีกำหนด 12 วัน
8 มีนาคม 2559
ศาลยกฟ้องไมตรี ผู้สื่อข่าวพลเมืองชาวลาหู่ คดีพ.ร.บ.คอม ชี้เผยแพร่ข้อมูลโดยเข้าใจว่าเป็นความจริง ไม่ถือเป็นความผิด
ศาลจังหวัดเชียงใหม่ยกฟ้องไมตรี จำเริญสุขสกุล ผู้สื่อข่าวพลเมืองชาวลาหู่ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความในข้อหาตามมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กมีเนื้อหาว่าได้มีเจ้าหน้าที่ทหารไปตบหน้าชาวบ้านหลายคนขณะนั่งผิงไฟอยู่ที่บ้านและนำคลิปวีดีโอเหตุการณ์ทหารโต้เถียงกับประชาชนในวันถัดมามาเผยแพร่ ศาลระบุเหตุผลของการยกฟ้องว่า 1. โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใด ที่ระบุว่าจำเลยเป็นผู้เผยแพร่คลิปและข้อความที่โจทย์แจ้งว่าเป็นข้อความเท็จได้ 2. การนำเข้าข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 จะเป็นความผิดเมื่อผู้นั้นทราบว่าเป็นข้อมูลปลอมหรือเท็จ การที่จำเลยเผยแพร่ข้อมูลโดยเข้าใจว่าเป็นความจริง จึงไม่ถือว่าเป็นความผิด อนึ่ง ศาลไม่ได้วินิจฉัยประเด็นที่จำเลยยื่นคำแถลงต่อศาลเรื่องเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ที่ไม่ได้ต้องการใช้กับข้อหาความผิดฐานหมิ่นประมาท
ที่มา: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
มีชัย ประธานกรธ. เผยจะดำเนินการกับเพจ “หยุดดัดจริตประเทศไทย” สร้างข้อมูลบิดเบือนร่างรธน.
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุถึงเพจเฟซบุ๊ก “หยุดดัดจริตประเทศไทย” ว่า สร้างข้อมูลบิดเบือนข้อเท็จจริงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญและเป็นการกระทำของพรรคการเมืองบางพรรค มีชัยกล่าวด้วยว่า จะนำกรณีดังกล่าวเข้าหารือกับที่ประชุมกรธ. ว่าควรให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการอย่างไรกับกลุ่มที่พยายามบิดเบือนให้สังคมเข้าใจผิด อย่างไรก็ตาม จะไม่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและไม่ถึงขั้นต้องใช้กฎหมายควบคุม
ทั้งนี้ ต่อมาวันที่ 9 มี.ค. 2559 มีข่าวว่า ผู้ดูแลเพจ “หยุดดัดจริตประเทศไทย” ถูกทหารจับตัว ก่อนที่ต่อมาเพจดังกล่าวจะออกมาแจ้งว่าแอดมินเพจไม่ได้ถูกจับแต่อย่างใด แต่ผู้ที่ถูกจับคือ สราวุธ บำรุงกิตติคุณ อดีตทีมงาน โดยสราวุธมีเฟซบุ๊กเพจของตัวเองที่ชื่อ “เปิดประเด็น” (อ่านข่าวสรุปข่าวของสราวุธ ด้านล่าง)
ที่มา: ประชาไท (1), (2)
ศาลทหารให้ประกัน ‘ฐนกร’ ถูกกล่าวหาโพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง หลังถูกคุมขัง 3 เดือน
ศาลทหารให้ประกันตัวฐนกร ศิริไพบูลย์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116, และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 จากการโพสต์ภาพและข้อความที่ถูกตีความว่าเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง, กดไลก์เพจที่โพสต์ข้อความหมิ่น, แชร์ผังทุจริตราชภักดิ์ โดยมีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ทั้งนี้ ฐนกรถูกจับกุมเมื่อ 8 ธ.ค.2558 และถูกคุมขังระหว่างสอบสวนเรื่อยมาจนปัจจุบันเป็นเวลา 3 เดือน
ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยรายละเอียดคำฟ้องของอัยการว่า การกระทำความผิดของฐนกรแบ่งเป็น 3 การกระทำ ดังนี้
1. จำเลยกดถูกใจแฟนเพจ “ยืนหยัด ปรัชญา” ที่โพสต์ข้อความและรูปภาพเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชนุภาพ จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และเป็นการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จอันเป็นความผิดเกี่ยวความมั่นคงในราชอาณาจักร
2. จำเลยได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กของจำเลย เกี่ยวกับสุนัขทรงเลี้ยง ข้อความดังกล่าวเป็นไปในลักษณะประชดประชัน อันเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเป็นการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวความมั่นคงในราชอาณาจักร
3. จำเลยได้ใช้เฟซบุ๊กของจำเลย โพสต์ภาพบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ โดยมีข้อความประกอบภาพสรุปความได้ว่าบุคคลตามภาพมีความเกี่ยวข้องกับการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ เป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือของบุคคลเหล่านั้นต่อประชาชนทั่วไป อันเป็นความเท็จ เพราะความจริงไม่ปรากฎหลักฐานการทุจริตแต่อย่างใด ทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบในราชอาณาจักร จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ และเป็นการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร
ที่มา: ประชาไท, ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน, Prachatai English
11 มีนาคม 2559
แอป “ไลน์” ล่มทั่วโลกเกือบ 3 ชั่วโมง
ประมาณ 15.45 น. ผู้ใช้แอปพลิเคชัน ‘ไลน์ ‘ (Line) จำนวนมากไม่สามารถส่งข้อความได้ โดยบริษัทไลน์ ประเทศญี่ปุ่น ได้ทวีตอย่างเป็นทางการยอมรับว่าระบบมีปัญหา ทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ ด้านไลน์ประเทศไทยระบุ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความขัดข้องที่เกิดขึ้นทั่วโลก และเมื่อเวลาประมาณ 18.30 น. ไลน์ประเทศไทย ได้แจ้งว่า ระบบการส่งข้อความของไลน์สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติแล้ว
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, เดลินิวส์
กระทรวงมหาดไทยตั้งงบปี 60 ซื้อเครื่องอ่านสมาร์ตการ์ดทั่วประเทศ-สรอ.เปิดระบบอำนวยความสะดวกจัดตั้งธุรกิจ-หนุนหน่วยงานรัฐบางส่วนใช้ศูนย์ข้อมูลเอกชนที่ผ่านมาตรฐาน
ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) เผย ในปี 2559 นี้จะทำให้สมาร์ตการ์ดบนบัตรบัตรประชาชนมีการใช้งานจริงๆ และจะทยอยยกเลิกการใช้สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านในการติดต่อราชการ หนึ่งในสิ่งที่ต้องทำคือเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานรัฐ ซึ่งต้องแก้ไขกฎหมายให้แต่ละหน่วยงานแชร์ข้อมูลระหว่างกันได้ นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ตั้งงบประมาณในปี 2560 ขอจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องอ่านบัตรประชาชนแบบสมาร์ตการ์ดราว 2 แสนเครื่อง กระจายให้ 40 หน่วยงานทั่วประเทศ และภายใน 3 ปี จะสามารถใช้บัตรสมาร์ตการ์ดใบเดียวทำธุรกรรมได้เกือบทั้งหมด นอกจากนี้:
- ภายใน มิ.ย. 2559 สรอ.จะเปิดระบบอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนการค้า ขอตั้งบริษัท ตั้งโรงงาน และการขออนุญาตอื่น ๆ เกี่ยวข้องทั้งภาษี แรงงานและสาธารณูปโภค โดยแบบฟอร์มคำขอจะอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
- สรอ.เตรียมจัดตั้งศูนย์ข้อมูลภาครัฐเพื่อสำรองข้อมูลของภาครัฐที่ต้องการระบบรักษาความปลอดภัยในระดับสูง (ปัจจุบันมีร้อยละ 60 ของข้อมูลทั้งหมดในระบบ) ส่วนข้อมูลที่เหลือจะผลักดันให้หน่วยงานรัฐเช่าใช้บริการศูนย์ข้อมูลและคลาวด์จากเอกชนที่ผ่านมาตรฐานกลาง ในการนี้ สรอ.จึงเตรียมขอมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีห้ามไม่ให้หน่วยงานที่ไม่ใช่หน่วยงานด้านความมั่นคงและมีข้อมูลที่ต้องการความปลอดภัยสูงสร้างศูนย์ข้อมูลของตนเอง
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
14 มีนาคม 2559
ธุรกิจโทรคมนาคมร้องรัฐบาลเดินหน้าแรงจูงใจทางภาษีวางโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำ
กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมเรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้ามาตรการสนับสนุนทางภาษีให้แก่บริษัทที่ต้องการลงทุนวางโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำ หลังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้ส่งหนังสือไปยังคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า บีโอไอไม่จำเป็นต้องสนับสนุนทางภาษีดังกล่าวให้เอกชน เนื่องจากการลงทุนที่ว่าต้องใช้บุคลากรต่างชาติ สวนทางกับการส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงานภายในประเทศ ประสงค์ เรืองศิริกูลชัย กรรมการบริหารสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ระบุว่า หากไม่มีแรงจูงใจทางภาษีให้กับเอกชน กสท โทรคมนาคมก็จะเป็นผู้ผูกขาดตลาดเคเบิลใต้น้ำในประเทศต่อไป ทั้งนี้ ปัจจุบัน กสท โทรคมนาคม เป็นเจ้าของสายเคเบิลใต้น้ำ 6 สาย ขณะที่อีก 2 สายอยู่ในความครอบครองของทีโอที
ที่มา: Bangkok Post, กรุงเทพธุรกิจ
ปรับทัศนคติส.ส.เพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กระบุ ราคาข้าวตกต่ำ
สมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี เขต 10 พรรคเพื่อไทย ถูกเชิญตัวมาปรับทัศนคติที่มณฑลทหารบกที่ 22 จ.อุบลราชธานี หลังโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “ราคาข้าวเปลือกตกต่ำ อยากได้จำนำข้าวเหมือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์” หลังการพูดคุยสมคิดยินยอมลบข้อความดังกล่าวออกจากเฟซบุ๊ก และได้ทำหนังสือสัญญาจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง
ที่มา: เดลินิวส์
เว็บพันทิปเปิดตัวระบบแท็กกระทู้อัตโนมัติ ใช้ระบบวิเคราะห์ Big Data และ Machine Learning
เว็บไซต์พันทิปเปิดตัวระบบแท็กกระทู้อัตโนมัติ เพื่อช่วยให้เจ้าของกระทู้เลือกแท็กอย่างแม่นยำขึ้นและลดภาระการดูแลกระทู้ของทีมงานลง โดยที่ผ่านมา พันทิปพบปัญหาจากการให้เจ้าของกระทู้เป็นฝ่ายเลือกแท็กให้กระทู้เอง ได้แก่ เจ้าของกระทู้ใส่แท็กไม่เป็น หรือบางครั้งใช้วิธี “สแปมแท็ก” ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวจะวิเคราะห์คำในกระทู้ตั้งแต่ตอนโพสต์ ระบบจะอ่านข้อความแล้วคัดเลือกแท็กที่น่าจะเกี่ยวข้องมานำเสนอให้ 15 แท็ก (1 กระทู้ในพันทิปสามารถใส่ได้ 5 แท็ก) ระบบดังกล่าวใช้เทคนิค Big Data และระบบการเรียนรู้ด้วยเครื่องจักร (Machine Learning) ซึ่งจะแยกแยะข้อมูลจากกระทู้เก่าที่คัดแยกแท็กโดยทีมงาน เพื่อหาแบบจำลองการแยกแยะข้อมูล
ที่มา: Blognone
15 มีนาคม 2559
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินฯ เปิดตัวแอปเรียกรถพยาบาล ระบุพิกัดผู้ป่วยได้
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เปิดตัวแอปพลิเคชั่น “EMS 1669” แอปเรียกรถพยาบาลเมื่อเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน แอปดังกล่าวคล้ายกับการแจ้งเหตุเจ็บป่วยผ่านสายด่วน 1669 ทว่าสามารถระบุพิกัดตำแหน่งที่อยู่ของผู้ป่วยได้ แอปมีให้กรอกข้อมูลส่วนตัว (ชื่อ-สกุล เบอร์โทรศัพท์ โรคประจำตัว ยาที่แพ้) เพื่อให้การช่วยเหลือรวดเร็วยิ่งขึ้น ผู้แจ้งเหตุสามารถแนบไฟล์ภาพ แจ้งเหตุเพิ่มเติมผ่านการสนทนากับศูนย์สั่งการ ในแอปยังมีรายชื่อโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้กับจุดเกิดเหตุ และคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ดาวน์โหลดได้ทั้งบนระบบ iOS และแอนดรอยด์
ที่มา: ประชาไท
ไลน์เริ่มเก็บเงินบริการ “ไลน์@” มุ่งกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย
บริษัท ไลน์ ประเทศไทย เปิดตัวบริการ “ไลน์@” สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (เอสเอ็มอี) ในการทำธุรกิจผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยผู้ใช้สามารถส่งข้อความคุยกับลูกค้าแบบส่วนตัว ส่งข้อมูล ข่าวสาร โปรโมชั่น และคูปองให้กับลูกค้าที่ติดตาม ฯลฯ อนึ่ง ไลน์แอดได้เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่เดือน ก.พ. 2558 โดยให้ทดลองใช้ฟรี และจะเริ่มคิดค่าใช้บริการวันที่ 1 เม.ย. 2559 (ค่าใช้จ่ายรายเดือน 998 บาท, 1,998 บาท และ 6,888 บาท) อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการบริษัทระบุว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนไลน์แอดแล้วจำนวน 429,520 บัญชี
ที่มา: เดลินิวส์
16 มีนาคม 2559
กรมขนส่งทางบก สั่ง GrabBike ยุติบริการ ระบุผิดกฎหมายหลายข้อ
กรมการขนส่งทางบกสั่งยุติการให้บริการ GrabBike (บริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชั่น) โดยให้เหตุผลว่า ไม่ได้ใช้รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย, ผู้ขับขี่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ, ไม่มีข้อมูลผู้ขับขี่ในศูนย์ข้อมูลผู้ขับขี่รถสาธารณะ, ไม่ได้วิ่งอยู่ในเส้นทางหรือท้องที่ที่ได้รับอนุญาต, ไม่ได้เป็นกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ได้รับการจัดระเบียบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อครั้งที่ผ่านมา
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ Grab เพิ่งประกาศนโยบายการทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ซึ่งจะคุ้มครองทั้งผู้โดยสารและผู้ขับขี่พาหนะ GrabCar และ GrabBike โดยไม่คิดเงินเพิ่มจากผู้โดยสารและไม่หักเงินจากผู้ขับขี่ พร้อมเตรียมเปิดคอร์สฝึกอบรมผู้ขับขี่ในประเทศไทย
สราวุธ ผู้ดูแลเพจ “เปิดประเด็น” ถูกปล่อยตัวจากค่ายทหารแล้ว
สราวุธ บำรุงกิตติคุณ ผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊ก “เปิดประเด็น” ถูกปล่อยตัวจากค่ายวิภาวดีรังสิต มณฑลทหารบกที่ 45 จังหวัดสุราษฎร์ธานีแล้ว หลังถูกเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 30 นายคุมไปจากที่พักตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. 2559 โดยปกปิดสถานที่ควบคุมตัว และไม่ให้สิทธิผู้ถูกควบคุมตัวในการติดต่อญาติ โดยเจ้าหน้าที่ทหารได้คืนคอมพิวเตอร์พกพาและโทรศัพท์มือถือที่ยึดไป และยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาว่านายสราวุธกระทำความผิดข้อหาใด สราวุธให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยถึงสาเหตุการถูกควบคุมตัวว่า มีผู้ไม่หวังดีแจ้งความว่าตนเป็นพวกหมิ่นสถาบันและรับจ้างทำเพจการเมือง ส่วนข้อตกลงก่อนปล่อยตัวคือต้องยุติการทำเพจ สราวุธกล่าวด้วยว่า เจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่พบว่าเขาเกี่ยวข้องกับการหมิ่นสถาบันและเห็นว่าตนเป็นคนสนใจการเมืองทั่วไปไม่ได้สังกัดฝ่ายใด ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการใช้อำนาจในการควบคุมตัวบุคคลตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558
สรอ.เตรียมชง ครม.ห้ามภาครัฐซื้อซอฟต์แวร์เอง
ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) เผย สรอ.มีแนวคิดที่จะให้บริการซอฟต์แวร์ (Software as a service – SaaS) กับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้มีซอฟต์แวร์ราคาถูกใช้ในองค์กรและลดการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งสรอ.ได้เริ่มเจรจาเรื่องการจัดซื้อโปรแกรม Microsoft Office 365 กับบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัดแล้ว และเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้สั่งหน่วยงานภาครัฐห้ามจัดซื้อจัดจ้างซอฟต์แวร์เอง เพื่อให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นผู้ดำเนินการให้
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์
ภาคประชาชนพบกับตัวแทนสถานทูต หารือกลไก “Universal Periodic Review” รอบ 2
หลายองค์กรภาคประชาสังคมของไทยเข้าพบกับตัวแทนสถานทูตต่างๆ ประจำประเทศไทย เพื่อหารือถึงกระบวนการการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review -UPR) รอบที่ 2 ของไทย ทั้งนี้ กระบวนการการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนจะเกิดขึ้นในวันที่ 10 พ.ค.นี้ ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ธนิษฐ์ นีละโยธิน หนึ่งในตัวแทนภาคประชาสังคมระบุในงานเสวนารอบสื่อมวลชนหนึ่งวันก่อนหน้านี้ว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 116, และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 ควรถูกนำมาใช้ด้วยความระมัดระวัง ภายใต้หลักการเคารพสิทธิมนุษยชน
อนึ่ง กระบวนการการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน เป็นกลไกภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกทั้ง 192 ประเทศต้องเสนอรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของตนเองทุก 4 ปี รายงานฉบับนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ รายงานจากภาครัฐ รายงานจากหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติที่ทำงานในประเทศนั้นๆ และรายงานจากภาคประชาชน
ที่มา: Bangkok Post, ประชาไท
ดีแทคเปิดบริการโทรคุยด้วยเสียงผ่านไวไฟใช้ได้ทั่วโลก
ดีแทคเปิดบริการ WiFi Calling (หรือ VoWiFi) เป็นรายแรกในไทย โดยสมาร์ตโฟนที่รองรับจะสามารถโทรเข้าออกผ่านสัญญาณไวไฟแทนสัญญาณ cellular ได้ ซึ่งมีข้อดีคือสามารถโทรได้แม้อยู่ในจุดอับสัญญาณ cellular และสามารถโทรผ่าน Wi-Fi โดยไม่ต้องผ่านโรมมิ่งเมื่ออยู่ต่างประเทศ ค่าบริการจะคิดหักจากแพ็กเกจเดิมเหมือนการโทรศัพท์ปกติ ปัจจุบันสมาร์ทโฟนที่รองรับบริการดังกล่าวมีจำนวน 2 รุ่น
ที่มา: Blognone (อ้าง อีเมลประชาสัมพันธ์ดีแทค)
Tags: Article 116, big data, Board of Investment, CAT Telecom, civil society, Computer-related Crime Act, copyright, court, data, defamation, Digital Thailand, Digital Weekly, DTAC, electronic government, Electronic Government Agency, Facebook, freedom of expression, Grab, hard infrastructure, human rights, identity card, internet cable, Line, location tracking, machine learning, Microsoft, Ministry of Information and Communication Technology, National Data Center, Pantip, personal data, privacy, Rajabhakti Park, safety, smart card, smartphone, social media, tagging, telecom, TOT, transportation, United Nations, Universal Periodic Review, VoWiFi, webboard, WiFi Calling, กรมการขนส่งทางบก, กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.), กระทรวงมหาดไทย, ฐนกร ศิริไพบูลย์, มีชัย ฤชุพันธุ์, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, สมคิด เชื้อคง, สราวุธ บำรุงกิตติคุณ, เพจ หยุดดัดจริตประเทศไทย, เพจ เปิดประเด็น, ไมตรี จำเริญสุขสกุล