Digital Weekly: 17-23 มี.ค. 59 สรุปข่าวนโยบายดิจิทัลรอบสัปดาห์

2016.03.24 18:04

สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: แจสทิ้งใบอนุญาต 900 เมกะเฮิรตช์/ พิพากษาจำคุก 1 ปีรอลงอาญา นักอนุรักษ์ต้านนำขี้เถ้าถ่านหินทำปะการังเทียม ฐานโพสต์หมิ่นประมาท-ผิด พ.ร.บ.คอม/ สมาคมผู้สร้างภาพยนตร์อเมริกาเร่งรัฐบาลไทยปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์-พ.ร.บ.คอม ให้เจ้าของลิขสิทธิ์ยื่นศาลปิดเว็บได้ทันที/ แกร็บไบก์ไม่สนคำสั่งหยุดบริการของกรมขนส่ง ประกาศลดค่าบริการ 50 %/ กสทช.ทำความเห็นถึงมีประธานกรธ. หวั่นร่างรัฐธรรมนูญขัดเจตนารมณ์ปฏิรูปสื่อ/ ครม. อนุมัติแผนพัฒนาสถาบันการเงิน ระยะ 3 ส่งเสริมบริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ

แจสทิ้งใบอนุญาต 900 เมกะเฮิรตช์-กทค.แถลงแนวทางจัดการ (21 มี.ค. 2559)

แจสทิ้งใบอนุญาต 900 เมกะเฮิรตช์-กทค.แถลงแนวทางจัดการ (21 มี.ค. 2559) [ภาพประกอบดัดแปลงจากโลโก้ที่ออกแบบโดย Muneer A.Safiah และ parkjisun ภายใต้อนุสัญญาครีเอทีฟคอมมอนส์]

17 มีนาคม 2559

พิพากษาจำคุก 1 ปีรอลงอาญา นักอนุรักษ์ต้านนำขี้เถ้าถ่านหินทำปะการังเทียม ฐานโพสต์หมิ่นประมาท-ผิด พ.ร.บ.คอม

เฟซบุ๊กเพจโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) รายงานว่า ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชมีคำพิพากษาจำคุก 1 ปี ปรับ 40,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา แก่กำพล จิตตะนัง ผู้ประสานงานศูนย์จัดการภัยพิบัติพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมวัย 41 ปี ซึ่งถูกผศ.พยอม รัตนมณี นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ฟ้องดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทและความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 หลังโพสต์ข้อความแสดงความเห็นคัดค้านการนำขี้เถ้าถ่านหินมาเป็นส่วนผสมของปะการังเทียมทิ้งทะเล ทั้งนี้ ข้อความที่กำพลถูกกล่าวหาในคดีมี 2 ข้อความ ข้อความที่หนึ่งมีใจความทำนองว่า ผศ.พยอมได้รับผลประโยชน์จำนวน 2,800 ล้านบาท ในการวิจัยว่าการนำขี้เถ้าถ่านหินมาทำเป็นปะการังเทียมถมทะเลเป็นการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ส่วนข้อความที่สองมีใจความทำนองว่า ผศ.พยอมกำลังแปรรูปขี้เถ้าถ่านหินเป็นปะการังเทียมและนำมาทิ้งที่ทะเลภาคใต้ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อท้องทะเล

ที่มา: เฟซบุ๊กเพจโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

แกร็บไบก์ไม่สนคำสั่งหยุดบริการของกรมขนส่งฯ ประกาศลดค่าบริการ 50 เปอร์เซ็นต์

แกร็บไบก์ (Grab Bike) ผู้ให้บริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชัน ประกาศลดราคาบริการลง 50 เปอร์เซ็น แม้กรมการขนส่งทางบกได้มีคำสั่งให้หยุดให้บริการไปแล้วก็ตาม เนื่องจากขัดต่อข้อกฎหมายหลายข้อ ซึ่งรวมถึงการที่ไม่ได้วิ่งตามเส้นทางที่ได้รับอนุญาต ในการนี้ กรมการขนส่งทางบกเตรียมประสานงานกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เพื่อตรวจสอบและเตรียมเปรียบเทียบปรับขั้นสูงสุด

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

18 มีนาคม 2559

กสทช.ทำความเห็นถึงมีประธานกรธ. หวั่นร่างรัฐธรรมนูญขัดเจตนารมณ์ปฏิรูปสื่อ

สุภิญญา กลางณรงค์ และประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำหนังสือส่งถึงมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการรวบรวมความเห็นที่ได้จากการจัดประชุม NBTC Public Forum ครั้งที่ 1/2559 หนังสือดังกล่าวพูดถึงประเด็นเช่น ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 และมาตรา 35 ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 56 เกี่ยวกับทรัพยากรคลื่นความถี่ สิทธิในวงโคจรดาวเทียมและองค์กรกำกับดูแล ในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ รวมถึงมาตรา 57 เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค อ่านรายละเอียดข้อเสนอแนะ

ที่มา: ประชาไท

20 มีนาคม 2559

สมาคมผู้สร้างภาพยนตร์อเมริกาเร่งรัฐบาลไทยปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์-พ.ร.บ.คอม ให้เจ้าของลิขสิทธิ์ยื่นศาลปิดเว็บได้ทันที

อุมาศิริ ทาร่อน รองผู้อำนวยการทั่วไปสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์ (ประเทศไทย) ในเครือสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริการะบุ สมาคมฯ ต้องการให้รัฐบาลไทยเร่งปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้ชัดเจน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ให้เร็วขึ้น เช่น การแก้ไขมาตรา 32 (3) ให้เจ้าของสิทธิ์สามารถยื่นร้องขอให้ศาลสั่งปิดเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ได้ทันที เนื่องจากในทางปฏิบัติ หากเจ้าของลิขสิทธิ์อยู่ในต่างประเทศอาจไม่สามารถมาดำเนินคดีภายใน 30 วันตามที่กฎหมายปัจจุบันกำหนดได้ ขณะเดียวกันก็ต้องการให้บล็อกเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ได้อย่างถาวร และให้มีการจับกุมผู้กระทำความผิดให้เห็นอย่างชัดเจน อุมาศิริระบุด้วยว่า การละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยรุนแรงขึ้นเนื่องสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก, ไลน์, ยูทูบ ทำให้การเข้าถึงหนังละเมิดลิขสิทธิ์ทำได้ง่าย

ที่มา: Bangkok Post, มติชนออนไลน์

21 มีนาคม 2559

แจสทิ้งใบอนุญาต 900 เมกะเฮิรตช์-กทค.แถลงแนวทางจัดการ

แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ์จากการประมูล 4 จีรอบที่ผ่านมา ไม่มาชำระเงินค่าประมูลงวดแรก (8,040 ล้านบาท) ภายในเวลาที่กำหนด ทำให้ใบอนุญาตคลื่นดังกล่าวของแจสเป็นโมฆะที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบความเสียหาย ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากอัยการสูงสุด สำนักงานกฤษฏีกา กระทรวงการคลัง คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (กลต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อพิจารณากรณีดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้พิจารณาเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซชุดที่ 1 ใหม่ในสิ้นเดือน มิ.ย.2559 โดยจะมีการแก้ไขร่างประมูลใหม่ รวมถึงราคาตั้งต้นการประมูล และปรับเปลี่ยนเงื่อนไขวางเงินหลักประกันจากเดิมเพื่อไม่ให้เกิดกรณีเดียวกันขึ้นอีก อ่านความเห็นของสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ต่อการจัดประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ใหม่  และความเห็นอื่นๆ

ด้านแจสให้เหตุผลว่า การที่บริษัทไม่สามารถวางเงินค้ำประกันได้ เพราะบริษัทที่สนใจร่วมลงทุนจากจีนติดขั้นตอนการขออนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งใช้ระยะเวลานานกว่ากรอบ 90 วันที่กำหนดไว้ของ กสทช. จนทำให้ไม่สามารถวางหนังสือค้ำประกันได้ทันเวลา

ที่มา: เดลินิวส์

เอสเอ็มอีแบงก์เปิด co-working space ให้ผู้ประกอบการสตาร์ตอัป-เอสเอ็มอี ใช้ฟรี

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดสถานที่ทำงานร่วมกันหรือ Co-Working Space ให้ผู้ประกอบการสตาร์ตอัปและเอ็สเอ็มอีใช้งานโดยไม่มีค่าใช้จ่าย อยู่ในทำเลติดรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีอารีย์ สถานที่ดังกล่าวมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก อาทิ โต๊ะทำงาน ห้องประชุม และไวไฟ เปิดให้บริการจันทร์ถึงศุกร์

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

22 มีนาคม 2559

ครม. อนุมัติแผนพัฒนาสถาบันการเงิน ระยะ 3 ส่งเสริมบริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 3 ตามที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันนำเสนอ โดยแผนพัฒนาฯ ระยะที่ 3 (2559–2563) มีกรอบนโยบายหลัก 4 ด้าน หนึ่งในนั้นคือการส่งเสริมการใช้บริการทางการเงินและการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้วิธีการ อาทิ ทบทวนกลไกราคาเพื่อกระตุ้นการใช้บริการทางการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์, ธนาคารแห่งประเทศไทยจะสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) ของภาครัฐ, สนับสนุนให้พัฒนากระบวนการทำงานภายในให้เป็นอัตโนมัติ, ส่งเสริมการใช้โครงสร้างพื้นฐานกลางร่วมกัน และมีระบบติดตามการทุจริตทางการเงิน (fraud monitoring system) เพื่อป้องกันความเสี่ยงทางไซเบอร์ (cyber risk) รวมทั้งจะมีการพัฒนาเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินให้เหมาะสมตามมาตรฐานสากลเพื่อรักษาเสถียรภาพโดยรวมของระบบ ดูรายละเอียดเพิ่มเติม 

ที่มา: ข่าวประชาสัมพันธ์ธนาคารแห่งประเทศไทย

กระทรวงไอซีทีเตรียมจัดผู้ให้คำปรึกษาธุรกิจประจำศูนย์พัฒนาดิจิทัลชุมชน 600 ศูนย์

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ระบุว่า กระทรวงไอซีทีจะนำระบบ “mentor” หรือผู้ให้คำปรึกษาในการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการสตาร์ตอัป เพื่อมาประจำที่ศูนย์ไอซีทีชุมชน (ซึ่งจะยกระดับเป็นศูนย์พัฒนาดิจิทัลชุมชน) 600 ศูนย์ในปีแรกนี้ โดยกระทรวงฯ ได้ประสานกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่จัดส่งผู้ให้คำปรึกษามาประจำในศูนย์แล้ว โดยจะใช้ระบบอาสาสมัครเหมือนต้นแบบในประเทศเกาหลีใต้ สำหรับงบประมาณที่จะใช้จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาศูนย์ดิจิทัลชุมชน จำนวน 717 ล้านบาท

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

หลังเหตุระเบิดบรัสเซลส์ ค่ายมือถือไทยให้บริการโทรและส่งเอสเอ็มเอสระหว่างไทย-เบลเยียมฟรี

จากเหตุการณ์ระเบิดที่สนามบินและสถานีรถไฟในกรุงบรัสเซลส์ประเทศเบลเยียมจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายรายเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2559  ผู้ให้บริการมือถือของไทยทั้ง 3 ราย ได้แก่ เอไอเอส, ทรูมูฟ และดีแทค ได้เปิดบริการให้คนไทยในเบลเยียมโทรหาสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ได้ฟรี พร้อมให้บริการโทรและบริการเอสเอ็มเอสภายในเบลเยียม หรือระหว่างประเทศไทย-เบลเยียมฟรี ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.จนถึงวันที่ 23 มี.ค. (ทรูมูฟ), ถึงวันที่ 24 มี.ค. (ดีแทค) และถึงวันที่ 25 มี.ค. (เอไอเอส)

ที่มา: Blognone

23 มีนาคม 2559

“เสี่ยตัน อิชิตัน” แจ้งความพ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14 กับเพจเฟซบุ๊กปลอมหลอกเงินประชาชน

ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการบริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และอัจฉรา จิตรค้ำคูณ ชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ ผู้เสียหายที่โดนเพจอิชิตันปลอมหลอกเอาเงิน เข้าแจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อเอาผิดต่อผู้สร้างเพจเฟซบุ๊กอิชิตันปลอม ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 มาตรา 14 (“นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”) โดยได้นำข้อมูลจากเพจปลอมจำนวน 21 เพจ และไลน์ปลอมอีก 2 บัญชีมามอบเป็นหลักฐาน ตันกล่าวด้วยว่า ขณะนี้สำนักงานเฟซบุ๊กที่ประเทศสิงคโปร์ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้วพร้อมยินดีให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ บก.ปอท.ในการติดตามตัวผู้กระทำผิด

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, มติชนออนไลน์

‘สมคิด’ หารือซีอีโอเทคโนโลยีเกาหลี ดึงลงทุนเพิ่มในไทย

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเปิดเผยว่า ประเทศไทยได้ชักชวนให้บริษัทเอกชนเกาหลี อาทิ ซัมซุงและแดวู เข้ามาขยายการลงทุนในไทย โดยจะให้แรงจูงใจในหลายด้าน อาทิ สิทธิพิเศษทางด้านภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยต้องการความร่วมมือจากเกาหลีเพราะเป็นประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยี โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ต้องการนำเทคโนโลยีจากเกาหลีมาพัฒนาการค้าและการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สมคิดระบุด้วยว่า บริษัทเกาหลียินดีให้ความร่วมมือพัฒนาเมืองอัจฉริยะของไทย

ที่มา: เดลินิวส์

เปิดตัวแอปเรียกรถพยาบาลสำหรับผู้ป่วยหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน

กลุ่มวิจัยโรคหลอดเลือดสมองภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทีมสุขภาพโรงพยาบาลศรีนครินทร์ร่วมกันพัฒนาและเปิดตัว “แอปสโตรคฟาสต์แทรค” (App Stroke Fast Track) แอปสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน แอปดังกล่าวมีฟังก์ชันเรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน โดยผู้ใช้ต้องลงทะเบียนแจ้งชื่อ นามสกุล ที่อยู่ โรคประจำตัว แพ้ยา และเบอร์โทร รวมถึงชื่อญาติและเบอร์ติดต่อได้ในภาวะฉุกเฉิน เพื่อเป็นข้อมูลแสดงไปยังศูนย์ข้อมูลของสภาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) หรือ 1669 ทั้งนี้ สพฉ.เพิ่งเปิดตัวแอปเรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน “EMS 1669” ไปแล้วก่อนหน้านี้

ที่มา: ประชาไท

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , ,
%d bloggers like this: