2015.12.02 20:10
สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ทุจริตอุทยานราชภักดิ์ โดน ม.116 และ พ.ร.บ.คอมฯ/ นายกฯ เตรียมนำงบประมูล 4 จีเข้างบกลาง/ Privacy International เผย ไมโครซอฟท์มีบทบาทในการละเมิดเสรีภาพการแสดงออกในไทยในคดี พ.ร.บ.คอมฯ/ ธนาคารกรุงไทยระบบล่มทั้งอินเทอร์เน็ตและเอทีเอ็ม/ ไลน์ตั้งทีมวิจัยและพัฒนาแอปและบริการในไทย/ ไอทียูประกาศลำดับการพัฒนาด้าน ICT ไทยลำดับ 74 ดีขึ้นเพราะการประมูล 3 จี ฯลฯ
26 พฤศจิกายน 2558
นายกฯ เตรียมนำงบประมูล 4G เข้างบกลาง
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเผย จะนำเงินที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ 4 จีไปไว้ในงบประมาณของรัฐบาล (งบกลาง) โดยยังไม่ได้พิจารณาว่าจะนำไปใช้ในโครงการใด แต่ยืนยันจะใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์ที่สุด ซึ่งเบื้องต้นอาจนำงบประมาณส่วนนี้ไปช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย หรือลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ถนน รถไฟ และรถไฟฟ้า
ที่มา: Voice TV
สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำฯ เปิดตัวเครื่องมือจัดการปัญหาน้ำท่วม ใช้การเชื่อมโยงฐานข้อมูล
สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดตัวเครื่องมือในการจัดการปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง (Flood & Drought Management Tools) ที่พัฒนาร่วมกับสมาคมน้ำนานาชาติ (International Water Association-IWA) ประเทศเดนมาร์ก และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) โดยระบบใช้การเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน และสามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลภูมิอากาศของโลกกับฐานข้อมูลน้ำของประเทศไทยได้ โดยจะนำร่องทดสอบการใช้งานในพื้นที่ลุ่มน้ำ 3 แห่งคือ ลุ่มน้ำโวลต้า ทะเลสาบวิคตอเรีย และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประเทศไทย
ที่มา: เดลินิวส์
27 พฤศจิกายน 2558
โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ทุจริตอุทยานราชภักดิ์ โดน ม.116 และ พ.ร.บ.คอมฯ
เจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบและตำรวจนอกเครื่องแบบราว 20 นาย ไปที่บ้านของนางแจ่ม (นามสมมติ) จากเหตุที่เธอโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการทุจริตการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 24 พ.ย. เมื่อไม่พบตัว เจ้าหน้าที่ได้ยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของที่ทำงานไป หลังถูกสอบสวนเจ้าหน้าที่ได้ยึดโทรศัพท์สมาร์ทโฟนและรหัสเข้าโซเชียลมีเดียของเธอไปด้วย ก่อนจะแจ้งข้อกล่าวหาว่าเธอได้ “กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นที่ไม่ใช่การกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ใช่แสดงความเห็นโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (2) และนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 มาตรา14 (1), (2) และ(3) นางแจ่มได้ให้การยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความจริงแต่ไม่ได้มีเจตนาจะให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ตำรวจสน.พระโขนงนำตัวนางแจ่มไปฝากขังที่ศาลทหาร ศาลให้ประกันตัวด้วยเงินสด 100,000 บาท
ที่มา: บล็อกศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ไลน์ตั้งทีมวิจัยและพัฒนาแอปและบริการในไทยแล้ว
บริษัท ไลน์ ตั้งทีมวิจัยและพัฒนาบริการและแอปพลิเคชันมือถือในประเทศไทย โดยทีมนี้เป็นทีมแรกของไลน์ที่ตั้งอยู่นอกประเทศญี่ปุ่น ทีมดังกล่าวมีหน้าที่พัฒนาแอปมือถือและบริการต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการท้องถิ่น โดยไลน์มีแผนออกแอปมือถือตัวใหม่ในต้นปี 2559 อนึ่ง ไลน์มีผู้ใช้ในประเทศไทย 33 ล้านคน ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีผู้ใช้ไลน์สูงสุดอันดับ 2 รองจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่บริษัทแม่ของไลน์ตั้งอยู่
ที่มา: Bangkok Post
ดีแทคเตรียมเครือข่ายมือถือรับเส้นทางปั่น Bike for Dad
ประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เผย บริษัทเตรียมความพร้อมของสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อสนับสนุนกิจกรรม “ปั่นเพื่อพ่อ” (Bike for Dad) ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 11 ธ.ค.นี้ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยได้เตรียมส่งรถโมบายล์เพิ่มขยายช่องสัญญาณติดตั้งอุปกรณ์เสริมเครือข่าย เตรียมพร้อมการบริหารจัดการโครงข่ายรองรับพื้นที่การใช้งานที่หนาแน่น และเพิ่มขยายช่องสัญญาณ
ที่มา: เดลินิวส์
เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวคดีพิพาท “ดีแทค-กสท” ดีแทคนำเสาและอุปกรณ์ให้ผู้ประกอบการ 3 จีอื่นร่วมใช้งานได้แล้ว
ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เผยว่า ศาลปกครองสูงสุดได้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลาง ที่เคยห้ามไม่ให้ดีแทคนำเสาและอุปกรณ์โทรคมนาคมโครงสร้างพื้นฐานไปให้ผู้ประกอบการ 2100 เมกะเฮิร์ตซ์รายอื่นร่วมใช้งาน หลัง กสท โทรคมนาคม ได้ยื่นคำร้องไว้ เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด และมีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ด้านดีแทคเผย การเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวนี้จะทำให้ดีแทคสามารถขยายโครงข่ายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
30 พฤศจิกายน 2558
Privacy International เผย ไมโครซอฟท์มีบทบาทในการละเมิดเสรีภาพการแสดงออกในไทยในคดี พ.ร.บ.คอมฯ
องค์กรไพรเวซีอินเทอร์เนชันเนล (Privacy International) เผยรายงานเชิงสืบสวนซึ่งพบว่า ไมโครซอฟท์มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทยเมื่อปี 2557 กรณีดังกล่าวเป็นคดีที่โบรกเกอร์คนหนึ่งถูกฟ้องด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 ฐานเป็นผู้ปล่อยข่าวพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เขาถูกกล่าวหาว่าการกระทำดังกล่าวทำให้หุ้นตก จากการตรวจสอบ ไพรเวซีฯ พบว่าไมโครซอฟเข้ามามีบทบาทในคดีนี้จากการส่งมอบหมายเลขไอพี ซึ่งต่อมากลายเป็นเอกสารสำคัญที่ถูกใช้เป็นหลักฐานเอาผิดจำเลย ไพรเวซีฯ ระบุว่า ไมโครซอฟท์ให้ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนของผู้ใช้กับรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งที่รู้ว่าอยู่แล้วว่าการสอบสวนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรืออาชญากรรมร้ายแรง แต่เป็นเพียง “ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง” ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นเท่านั้น
อ่าน สรุปรายงานภาษาไทย
อ่าน รายงานต้นฉบับภาษาอังกฤษ
ที่มา: Privacy International, เครือข่ายพลเมืองเน็ต
กระทรวงไอซีทีเผยผลประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมฯ ครั้งที่ 15
อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยผลประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (ASEAN Telecommunications and IT Ministers Meeting – TELMIN) ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 26-27 พ.ย.ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นการให้ความสำคัญเทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของอาเซียน 2020 (ASEAN ICT Masterplan 2020 : AIM 2020) ไทยยังได้ผลักดันด้านความร่วมมือในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ และให้มีการนำกรอบการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน (Intra-ASEAN Secure Transaction Framework) ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการมาใช้ ส่วนในการหารือทวิภาคีระหว่างคู่เจรจา 4 ประเทศ สรุปได้ดังนี้
- เวียดนาม หารือเรื่องความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (ครอบคลุมการระงับข้อพิพาททางออนไลน์ และ Intra-ASEAN Secure Transactions Framework) และแลกเปลี่ยนการดำเนินการด้าน Smart City
- ญี่ปุ่น หารือเรื่องร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (เช่น การจัดอบรมหลักสูตรการฝึกปฏิบัติการด้านไซเบอร์)
- เกาหลีใต้ หารือเรื่องนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย, ชวนรัฐบาลเกาหลีร่วมลงทุนในโครงการเร่งด่วน, แลกเปลี่ยนความร่วมมือในการพัฒนา Smart City, ความร่วมมือด้านศูนย์ข้อมูล, การวิจัยร่วม และการจัดทำบันทึกความเข้าใจด้านไอซีทีระหว่างไทยกับเกาหลี
- สิงคโปร์ หารือเรื่องความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้าน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์, การพัฒนา Smart City, นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย, ชวนภาคเอกชนของสิงคโปร์ร่วมลงทุนในโครงการเร่งด่วนของรัฐบาลไทย จัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านไอซีทีระหว่างกระทรวงไอซีทีของไทยกับสำนักงานพัฒนาสารสนเทศและการสื่อสารแห่งสิงคโปร์ (Infocomm Development Authority – IDA)
ที่มา: ข่าวประชาสัมพันธ์กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)
ธนาคารกรุงไทยระบบล่มทั้งอินเทอร์เน็ตและเอทีเอ็ม
ธนาคารกรุงไทยรายงานว่า บริการเอทีเอ็มและธนาคารออนไลน์ (KTB netbank) มีปัญหาเพราะผู้ใช้เข้าใช้งานจำนวนมากจนทำให้ระบบล่ม ด้านผู้ใช้จำนวนมากรายงานว่ามีระบบมีปัญหาตั้งแต่สิบโมง ธนาคารระบุว่าระบบกลับมาใช้งานได้เป็นปกติเมื่อช่วงบ่ายสี่โมงครึ่ง ปัญหาร้ายแรงที่สุดคือลูกค้าบางส่วนกดเงินออกจากบัญชีแล้วแต่กลับถูกหักเงินออกจากบัญชีโดยไม่ได้รับเงิน ล่าสุดทางธนาคารออกมาระบุว่ากรณีเช่นนี้ทางธนาคารจะรับผิดชอบทั้งหมด
ที่มา: Blognone
1 ธันวาคม 2558
ครม.เห็นชอบแผนผลักดัน IPv6 ระยะที่ 2 (ปี 2559-2561)
คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบและเห็นชอบแผนปฏิบัติการเพื่อผลักดัน ส่งเสริม เร่งรัด และติดตามผลการดำเนินงาน IPv6 ในประเทศไทย ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2559-2561) ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เสนอ และมอบหมายให้กระทรวงไอซีทีเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลและบริหารจัดการ รวมทั้งรับผิดชอบการขอหมายเลข IPv6 จาก Asia Pacific Network Information Centre (APNIC) ให้กับหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในการดำเนินการเรื่องนี้ กระทรวงไอซีทีต้องรับความเห็นของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สำนักงาน ก.พ., สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาด้วย
ที่มา: สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 1 ธันวาคม 2558
ไทยขอรับเป็นเจ้าภาพจัดงาน ITU Telecom World 2016
คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ประเทศไทยเสนอรับเป็นเจ้าภาพจัดงานนิทรรศการด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมและการสื่อสารระดับโลกปี 2559 (ITU Telecom World 2016) ตามที่กระทรวงไอซีทีเสนอ โดยมีกระทรวงไอซีทีและคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดูแล งานดังกล่าวจะจัดแสดงผลงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานรัฐบาลและผู้ประกอบการจากหลายประเทศ มีงานประชุมเชิงวิชาการและกิจกรรมการสร้างเครือข่าย เงื่อนไขที่ประเทศเจ้าภาพจะต้องดำเนินการ มีอาทิ เรื่องเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน การยกเว้นการจัดเก็บภาษีอากรและศุลกากร พิธีการและการรักษาความปลอดภัย โรงแรมที่พัก การจัดการด้านขนส่ง งานเลี้ยงรับรอง การจัดประชุม ศูนย์ข่าวประชาสัมพันธ์ ห้องสำนักงานสำหรับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) เป็นต้น
ที่มา: สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 1 ธันวาคม 2558
ไอทียูประกาศลำดับการพัฒนาด้าน ICT ไทยลำดับ 74 ดีขึ้นเพราะการประมูล 3 จี
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผย สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้ประกาศผลรายงานตัวชี้วัดการพัฒนาด้านไอซีทีของแต่ละประเทศทั่วโลกปี 2557 (ICT Development Index 2015) ประเทศไทยขยับมาอยู่ในอันดับที่ 74 ของโลก จากลำดับที่ 81 ในปี 2556 อันเป็นผลจากการที่มีการเปิดให้บริการ 3 จีบนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ในปี 2556 ฐากรระบุด้วยว่า การเปิดประมูลคลื่นความถี่ 4 จีทั้งในย่านความถี่ 1800 และ 900 เมกะเฮิร์ตซ์จะทำให้มั่นใจว่าในปี 2558 ลำดับการพัฒนาด้านไอซีทีของไทยเลื่อนอันดับสูงขึ้นกว่านี้
ที่มา: เดลินิวส์
เร่งขยายโครงข่ายบรอดแบนด์-ไวไฟฟรี สู่ชุมชน 10,000 แห่งทั่วประเทศ
ทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เผยความคืบหน้าโครงการบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชนที่จะให้บริการบรอดแบนด์และไวไฟฟรี ซึ่งเป็นโครงการในระยะเร่งด่วนว่า โครงการขณะนี้อยู่ระหว่างการนำบรอดแบนด์สู่ชุมชน 10,000 แห่งทั่วประเทศ และจะครอบคลุมศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีของชุมชน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยตำบล และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศ โดยจะขยายสู่ชุมชนและหมู่บ้านทั่วประเทศภายในระยะเวลา 2 ปี
ที่มา: ข่าวประชาสัมพันธ์กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)
Tags: 3G, 4G, APNIC, Article 116, ASEAN, ASEAN ICT Masterplan, ASEAN TELMIN, big data, CAT Telecom, Computer-related Crime, digital forensics, Digital Weekly, DTAC, Facebook, hard infrastructure, innovation, instant messaging, IP address, IPv6, ITU, ITU Telecom World, jurisdiction, Line, Microsoft, military, Ministry of Information and Communication Technology, National Broadcasting and Telecommunications Commission, online banking, personal data, police, politics, privacy, Privacy International, smart city, social media, telecom