สิทธิที่จะประท้วงออนไลน์ & Zero Rating ในประเทศกำลังพัฒนา: รายงานเวที IGF 2015

2015.11.26 13:58

เครือข่ายพลเมืองเน็ตสรุปเนื้อหาเวิร์กช็อป “สิทธิที่จะประท้วงออนไลน์” และเวิร์กช็อป “Zero-rating และนโยบายความเป็นกลางทางเครือข่ายในประเทศกำลังพัฒนา” ในเวทีระดับโลกว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ต (Internet Governence Forum – IGF) ปี 2015 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10-13 พ.ย. 58 ที่ผ่านมา ณ เมืองโจเอา เปซัว ประเทศบราซิล มาฝากกัน

Gabrielle Guillemin เจ้าหน้าที่กฎหมายอาวุโสองค์กร Article 19 ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่าด้วยสิทธิที่จะประท้วงออนไลน์

Gabrielle Guillemin เจ้าหน้าที่กฎหมายอาวุโสองค์กร Article 19 ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่าด้วยสิทธิที่จะประท้วงออนไลน์

สิทธิที่จะประท้วงออนไลน์

ในงานมีเวิร์กช็อปสิทธิที่จะประท้วงออนไลน์ (The Right to Protest Online) เมื่อวันที่ 10 พ.ย. โดย Gabrielle Guillemin เจ้าหน้าที่กฎหมายอาวุโสองค์กร Article 19 ซึ่งทำงานสนับสนุนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกระบุว่า สิทธิในการประท้วงสัมพันธ์กับสิทธิมนุษยชนอื่นๆ อาทิ สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม สิทธิในความปลอดภัย สิทธิในความเป็นส่วนตัว

ทุกวันนี้ผู้คนใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการประท้วง เช่น ในการจัดตั้งการประท้วง หรือใช้ในการรายงานการประท้วง ยูทูบถูกใช้ในการรายงานการประท้วงแบบเรียลไทม์ กูเกิลแมปถูกใช้ในการแบ่งปันว่าตอนนี้เหตุการณ์ประท้วงเกิดขึ้นที่ไหน

นอกจากการใช้อินเทอร์เน็ตเป็น “เครื่องมือ” แล้ว ทุกวันนี้คนยังใช้อินเทอร์เน็ตเป็น “พื้นที่” ในการประท้วงด้วย เช่นใช้ในการทำ virtual sit-in, site-defacement redirection และการทำ DDoS

เธอกล่าวว่าทุกวันนี้ มีคำถามที่เป็นที่ถกเถียงกันว่า การประท้วงคืออาชญากรรมหรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้ ความได้สัดส่วน (proportionality) ควรเป็นเรื่องที่ถูกนำมาคำนึงถึง อีกทั้งต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะ ระดับของความเสียหายที่เกิดจากการประท้วง และประเภทของผู้ถูกโจมตี

เธอกล่าวกับเครือข่ายพลเมืองเน็ตเพิ่มเติมด้วยว่า สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกไม่ใช่สิทธิสัมบูรณ์ (absolute rights) มันสามารถถูกจำกัดได้ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข เช่น การจำกัดเสรีภาพนั้นต้องเป็นไปตามกฎหมาย และกฎหมายต้องเขียนอย่างชัดเจนเพื่อที่คนจะได้รู้ว่าขอบเขต เหตุผลในการจำกัดเสรีภาพนั้นต้องมีความชอบธรรมด้วย

ด้านตัวแทนจากสภายุโรป (Council of Europe) ระบุว่า การปิดกั้นและกลั่นกรองเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตแล้ว การจับกุมปัจเจกก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการขัดขวางการประท้วงออนไลน์ นอกจากนี้ กระแสที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบันคือการใช้การสอดแนมมวลชน (mass surveillance) ซึ่งถูกนำมาใช้ในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการประท้วง

ด้านตัวแทนจากกูเกิลกล่าวในเวทีว่า สิทธิที่จะประท้วงเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างหนึ่ง และกูเกิลอนุญาตให้ผู้ใช้ใช้แพลตฟอร์มของตน เช่น ยูทูบ เป็นเครื่องมือในการประท้วง ส่วนในการกลั่นกรองเนื้อหาบนยูทูบนั้น กูเกิลมีแนวปฏิบัติ (community guideline) ที่ไม่อนุญาตให้มีเนื้อหาที่มีความรุนแรงบนแพลตฟอร์มของตน และจะนำเนื้อหาที่ขัดกับแนวปฏิบัติออก แต่จะยังคงเนื้อหาการประท้วงที่ไม่ขัดกับแนวปฏิบัติเอาไว้เพราะเชื่อว่าเนื้อหาเหล่านั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

กูเกิลระบุด้วยว่า กฎหมายจำเป็นที่จะต้องปกป้องตัวกลางโดยมีข้อยกเว้นความรับผิด (safe harbor)

หลังกูเกิลพูดจบ ได้มีผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นว่า แพลตฟอร์มออนไลน์ที่คนใช้ในการประท้วง ทั้งทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ยูทูบ ฯลฯ ล้วนเป็นบริการที่ทำเพื่อการค้า และบริษัทเหล่านี้สามารถจะเปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้ให้กับรัฐบาลเมื่อไหร่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของบริษัทในขณะนั้น

นอกจากนี้ยังมีผู้เข้าร่วมยกคำถามมาถามว่า เราจะแยกการประท้วงอย่างสันติออกจากการประท้วงที่รุนแรงหรือการก่อการร้ายได้อย่างไร มีผู้ให้ความเห็นต่อจากคำถามนี้ด้วยว่า เมื่อพูดถึงคำว่าการก่อการร้าย ทุกวันนี้รัฐบาลในละตินอเมริกามักใช้คำว่าการก่อการร้ายในความหมายที่กว้างเพื่อจะใช้จำกัดสิทธิในการประท้วง

อ่านข้อเสนอว่าด้วยสิทธิในการประท้วงออนไลน์ขององค์กร Article 19 ได้ที่ http://right-to-protest.org/

Zero rating ในประเทศกำลังพัฒนา

เฟซบุ๊กอ้างสถิติ 50% ของผู้ใช้ Free Basic ขยายไปใช้บริการอื่นๆ บนอินเทอร์เน็ต

วันที่ 11 พ.ย.58 มีเวิร์กช็อป “zero rating และนโยบายความเป็นกลางทางเครือข่ายในประเทศกำลังพัฒนา” (Zero Rating and neutrality policies in developing countries)

เวิร์กช็อปคุยกันถึงเรื่อง zero rating หรือการที่ผู้ให้บริการเลือกปฏิบัติที่จะไม่คิดค่าบริการการใช้งานข้อมูลสำหรับการใช้งานบางบริการ ซึ่งปัจจุบันมีข้อถกเถียงว่า แม้ช่วยขยายโอกาสการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แต่ก็ขัดกับหลักการความเป็นกลางทางเครือข่าย (net neutrality) เพราะทำให้ผู้ให้บริการเว็บไซต์หรือข้อมูลเหล่านี้ได้เปรียบผู้ให้บริการอื่นๆ [1]

ตัวแทนจากเฟซบุ๊ก Bruno Magrani กล่าวถึงบริการ Free Basic ซึ่งเป็นบริการ zero rating แบบหนึ่งที่ริเริ่มโดยเฟซบุ๊ก โดยกล่าวขึ้นต้นว่า จากข้อมูลของเฟซบุ๊ก พบว่าเหตุผลที่คนจำนวนหนึ่งในประเทศบราซิลเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตมาจาก 4 สาเหตุด้วยกัน ได้แก่ การขาดความสนใจ (ร้อยละ 43) ขาดทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 41) ไม่มีความจำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ต (ร้อยละ 24) และอินเทอร์เน็ตมีราคาแพงเกินไป (ร้อยละ 14)

บริการ Free Basic ของเฟซบุ๊กต้องการแก้ปัญหาของสาเหตุแรก นั่นคือการขาดความสนใจในการใช้อินเทอร์เน็ต โดยแสดงให้คนเห็นว่าอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างไร เขากล่าวว่า โครงการนี้ต้องการสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนขยายไปใช้บริการอื่นๆ ที่มีอยู่บนอินเทอร์เน็ต และโครงการนี้จะไม่ประสบความสำเร็จถ้าคนหยุดอยู่แค่การใช้บริการ Free Basic เท่านั้น

เขาระบุว่า เฟซบุ๊กมีสถิติว่า ที่ผ่านมา ร้อยละ 50 ของผู้ที่ใช้บริการ Free Basic ได้ขยายไปใช้บริการอินเทอร์เน็ตที่อยู่นอกเหนือจาก Free Basic ภายใน 30 วัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเขายกสถิตินี้ขึ้น ก็มีผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปหลายคนตั้งคำถามถึงที่มาของตัวเลขสถิติดังกล่าว

เฟซบุ๊กกล่าวด้วยว่า ในการถกเถียงถึงข้อดีข้อเสียของ zero rating เรายังต้องการข้อมูลและสถิติมากกว่านี้ และเฟซบุ๊กยินดีหากจะมีคนนำนำข้อมูลและสถิติมาคุยกัน

ด้าน Anja Kovacs หนึ่งในผู้ร่วมอภิปรายกล่าวถึง zero rating ว่า เคยมีผลสำรวจที่ระบุว่า ในอินเดีย ผู้คนยินดีที่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยไม่จำกัดบริการภายในระยะเวลาอันจำกัด มากกว่าจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแบบไม่จำกัดเวลาแต่มีทางเลือกให้ใช้บริการเพียงไม่กี่บริการ เธอยังมองด้วยว่า Zero Rating จะลดแรงจูงใจของบริษัทโทรคมนาคมและรัฐบาลในการลงทุนเพื่อสร้างการเข้าถึงอย่างทั่วถึง

ด้านตัวแทนจากมูลนิธิวิกิมีเดีย (Wikimedia Foundation) Jorge Vargas กล่าวถึงบริการ Wikipedia Zero ของมูลนิธิว่า ภารกิจของโครงการดังกล่าวคือทำให้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงความรู้ได้ โดยร่วมมือกับผู้ให้บริการมือถือ 72 รายทั่วโลก วิกิมีเดียยังไม่ได้ต้องการให้คนเพียงแต่อ่านบทความที่เป็นความรู้เท่านั้น แต่อยากให้ในที่สุดทุกคนคนร่วมสร้างสรรค์เนื้อหากลับมาด้วย

ปัจจุบัน Wikipedia Zero ให้บริการแล้วใน 63 ประเทศ

Vargas ระบุว่า บริการ zero rating ของวิกิมีเดียดำเนินการอย่างโปร่งใส และการถกเถียงในประเด็น Zero Rating ไม่ควรหยุดอยู่ที่ว่า มันดีหรือไม่ดีเท่านั้น แต่เราควรมาคุยกันว่า เราจะสามารถทำ Zero Rating ได้อย่างรับผิดชอบอย่างไร

สำหรับวิกิมีเดียเอง วิกิมีเดียดำเนินโครงการ Wikipedia Zero โดยมีกรอบการทำงานที่อิงอยู่กับหลักการความเป็นกลางทางเครือข่าย (net neutrality) และการที่วิกิมีเดียเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร วิกิมีเดียจึงต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้าง (open internet) เพื่อที่จะอยู่รอด

นอกจากนี้ วิกิมีเดียยังไม่ได้ร่วมมือกับบริษัทใด รวมถึงเฟซบุ๊กด้วย แต่เปิดให้แพลตฟอร์มต่างๆ สามารถนำ Wikipedia Zero ไปใช้ได้

ในเรื่องความเป็นส่วนตัว ตัวแทนจากวิกิมีเดียกล่าวว่า Wikipedia Zero ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ เพียงแต่เก็บไอพีแอดเดรสของผู้ใช้ซึ่งจำเป็นต่อการให้บริการเท่านั้น ขณะที่เฟซบุ๊กระบุว่า บริการของตนไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เช่นกัน เพียงแต่เก็บข้อมูลแบบรวม (aggregated data) เพื่อที่บริษัทจะรู้ได้ว่าบริการใดมีผู้ใช้มากน้อยเพียงใด

ก่อนจบเวิร์กช็อป หนึ่งในผู้เข้าร่วมได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจ โดยระบุว่า เมื่อพูดถึง zero rating อาจจะดีกว่าเมื่อวิเคราะห์ประเด็นนี้จากกรอบของเศรษฐศาสตร์ โดยมองว่านี่เป็นเรื่องของตลาด และดูว่าบริการนี้ทำให้ตลาดบิดเบือนมากน้อยแค่ไหน ผลดีผลเสียที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร

อนึ่ง เฟซบุ๊กเพิ่งเปิดตัวบริการ Free Basic ในประเทศไทยโดยร่วมกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นและดีแทค

เวิร์กช็อป “Big Data เพื่อการพัฒนา: โอกาสและความเสี่ยงในเรื่องความเป็นส่วนตัว” & ช่วงเปิดไมค์ก่อนพิธีปิด

อ่านสรุปเวิร์กช็อป “Big Data เพื่อการพัฒนา: โอกาสและความเสี่ยงในเรื่องความเป็นส่วนตัว” และรายงานช่วงเปิดไมค์ก่อนพิธีปิด

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง
[1] “ความเป็นกลางทางเน็ต” โดยจิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล

Tags: , , , , , , , , , ,
%d bloggers like this: