2015.11.26 14:43
ฟรีดอมเฮาส์นำคณะผู้แทนจาก 12 ประเทศสู่เวที Internet Governance Forum 2015 ผลักดันประเด็นสิทธิเสรีภาพออนไลน์
“เมื่อรัฐบาลอเมริกันหรืออังกฤษออกกฎหมายแย่ๆ ออกมา มีใครบ้างที่รัฐบาลของตัวเองพูดว่า นั่นไง ดูประเทศอเมริกาหรืออังกฤษสิ เราก็ควรจะทำอย่างนั้นเหมือนกัน”
ซอนยา เคลลี่ (Sanja Kelly) ผู้อำนวยการโครงการจัดทำรายงานเสรีภาพเน็ต (Freedom of the Net) ของฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House) ถามคณะผู้แทนฟรีดอมเฮาส์จากประเทศต่างๆ จำนวน 12 คน ในเวิร์กช็อปเตรียมความพร้อมให้กับคณะผู้แทน สำหรับเวทีระดับโลกว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ต (Internet Governance Forum) ประจำปี 2015 ที่จัดขึ้น ณ เมืองโจเอา เปสซัว ประเทศบราซิล เมื่อวันที่ 10-13 พ.ย. 58
ผู้แทนฟรีดอมเฮาส์หลายคนยกมือขึ้น พวกเขามาจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งรัสเซีย แกมเบีย ยูกันดา ตูนีเซีย ปากีสถาน เวเนซูเอลา เคิร์กจิสถาน โคลัมเบีย เอกวาดอร์ โมร็อกโก เม็กซิโก และประเทศไทย
ตัวแทนฟรีดอมเฮาส์ กับการผลักดันประเด็นสิทธิเสรีภาพเน็ตในเวที IGF
ในเวิร์กช็อป ซอนยากล่าวว่า จากแผนที่เสรีภาพเน็ตที่ได้จากการทำรายงานประเมินเสรีภาพเน็ตปี 2015 พบว่า มีพื้นที่ “สีม่วง” จำนวนมากในแผนที่ [รายงานแบ่งประเทศออกเป็น 3 กลุ่ม นั่นคือ เสรี (สีเขียว) เสรีบางส่วน (สีเหลือง) และสีม่วง (ไม่เสรี]
ปีนี้ประเทศไทยจัดอยู่ในประเทศกลุ่มสีม่วง ได้คะแนน 63 คะแนน (ใช้ระบบ คะแนนมากกว่าถือว่าแย่กว่า) ทำให้ไทยอยู่ในระดับแย่กว่าหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกันอยางกัมพูชา (48 คะแนน) สิงคโปร์ (41 คะแนน) มาเลเซีย (43 คะแนน) ฟิลิปปินส์ (27 คะแนน) ในขณะที่มีคะแนนเท่ากับพม่า (63 คะแนน)
ซอนยาระบุว่า สำหรับประเทศกึ่งเสรี (สีเหลือง) ประเทศเหล่านี้กำลังตัดสินใจว่าจะมุ่งไปในทิศทางของจีน ที่มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพบนพื้นที่ออนไลน์อย่างหนัก หรือจะมุ่งไปในวิถีของประเทศเสรีอื่นๆ
ซึ่งภารกิจของตัวแทนฟรีดอมเฮาส์ในเวทีว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ตครั้งนี้ คือการผลักดันประเด็นเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนออนไลน์ ในเวทีที่มีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน ทั้งเอกชน รัฐบาล นักเทคนิคคอมพิวเตอร์ นักวิชาการ ภาคประชาชน
เธอกล่าวว่า เวทีว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ตคือ “ตลาดไอเดีย” ที่แต่ละคนมาพร้อมกับความคิดที่ว่าอินเทอร์เน็ตควรจะต้องถูกอภิบาลอย่างไร “บางคนอาจซื้อไอเดียคุณ บางคนก็อาจจะไม่ แต่ที่สำคัญคือ คุณกล้าที่จะขายความคิดนั้น”
และในตลาดไอเดียแห่งนี้ไม่ใช่เวทีที่จะมาคุยกันแต่เรื่องธุรกิจ หรือมาตรฐานในทางเทคนิคของอินเทอร์เน็ต แต่สิทธิมนุษยชนบนอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นเรื่องของ “ความเป็นและความตาย” เป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมสารที่ฟรีดอมเฮาส์และตัวแทนต้องการส่งออกไปจึงมีความสำคัญ
เธอยกตัวอย่าง “ความเป็นและความตาย “ที่ว่า ในประเทศบาห์เรน รัฐบาลบังคับให้นักกิจกรรมคนหนึ่งลบทวีตนับพันทวีตออกจากทวิตเตอร์ของเขา ยกเว้นทวีตนี้ “พวกเขาทรมานผมในคุก” (They torture me in prison)
เหตุผลที่รัฐบาลไม่ลบทวีตนี้ออก น่าจะเป็นเพราะต้องการให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่นักกิจกรรมและผู้ต่อต้านรัฐบาลคนอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงสถานการณ์เสรีภาพเน็ต มีหลายประเทศที่สถานการณ์พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น อาทิ ประเทศแซมเบียและอาร์เจนตินา โดยในแซมเบีย ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดพัฒนาการดังกล่าวคือรัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามา ส่วนในอาร์เจนตินา ผู้เล่นสำคัญที่มีส่วนในพัฒนาการดังกล่าวคือองค์กรศาล ที่ปัดกฎหมายที่มีแนวโน้มละเมิดสิทธิเสรีภาพให้ตกไป
นอกจากนี้ อีกหนึ่งทิศทางที่ดีที่เราได้เห็นคือ ในหลายประเทศ เมื่อรัฐบาลกำลังออกกฎหมายที่จะมาละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้คนก็ได้ออกมาต่อต้าน ทำให้รัฐบาลต้องหยุดร่างกฎหมายดังกล่าวเอาไว้
แต่ในขณะเดียวกัน เราก็เห็นความพยายามของรัฐบาลหลายประเทศที่จะขัดขวางการชุมนุมออนไลน์และการออกมาเคลื่อนไหวของประชาชน เช่น การล่ารายชื่อออนไลน์ ซึ่งนี่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม (right to assembly)
ซอนยายังได้พูดถึงกระแสความพยายามสอดแนมประชาชนในรอบปี 2015 ที่รัฐบาลหลายประเทศใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย โดยเฉพาะการเปิดโปงการขายมัลแวร์และซอฟต์แวร์ให้ของบริษัท แฮ็กกิ้งทีม (Hacking Team) ให้กับรัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกว่า “สิ่งนี้กำลังบอกกับเราว่า การเจาะระบบเป็นสิ่งที่ชอบธรรมตามกฎหมายเมื่อมันกระทำโดยรัฐบาล”
เวิร์กช็อปสำหรับผู้แทนฟรีดอมเฮาส์ดังกล่าวจัดขึ้นวันที่ 8 พ.ย.58 ดูทวีตสดที่ผ่านมาของพวกเขาในเวทีว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็คได้ที่แฮชแท็ก #FHdel
ในตอนท้ายของเวทีประชุม คณะผู้แทนฟรีดอมเฮาส์ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ของคณะผู้แทนฟรีดอมเฮาส์ต่อเวทีระดับโลกว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ต 2015
ฟรีดอมเฮาส์แสดงความเป็นห่วงโครงการซิงเกิลเกตเวย์
ในงาน เครือข่ายพลเมืองเน็ตได้มีโอกาสสัมภาษณ์ซอนยา ถึงความเห็นของฟรีดอมเฮาส์ต่อแนวคิดการจัดตั้งซิงเกิลเกตเวย์ของรัฐบาลไทยด้วย ซึ่งเธอให้ความเห็นว่า
“ฟรีดอมเฮาส์เป็นห่วงอย่างมากเมื่อทราบถึงโครงการซิงเกิลเกตเวย์ของรัฐบาลไทย เพราะมันจะคล้ายกันอย่างมากกับการควบคุมอินเทอร์เน็ตอย่างเข้มงวดดังที่เราได้เห็นมาแล้วในประเทศจีน ถ้ารัฐดำเนินโครงการนี้ก็จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเสรีภาพอินเทอร์เน็ตในประเทศ เช่น มันจะทำให้รัฐปิดกั้นข้อมูลข่าวสารและสอดแนมประชาชนได้ง่ายขึ้น ประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่เป็นปัญหา โดยเฉพาะเมื่อมันเกิดขึ้นในขณะที่ประเทศอยู่ภายใต้การที่ทหารมีอำนาจเหนือรัฐบาล
“ตามที่เข้าใจ อย่างน้อยตอนนี้รัฐบาลได้ชะลอโครงการนี้ไว้ก่อน ดิฉันหวังว่า ด้วยพลังของประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและภาคประชาสังคม รัฐบาลจะตระหนักได้ว่า การทำโครงการนี้ไม่เป็นผลดีต่อตัวเอง เพราะไม่เพียงมันจะส่งผลลบต่อสิทธิมนุษยชนในประเทศ แต่ยังจะส่งผลกระทบในทางลบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย”
ซอนยายังฝากไปยังผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยด้วยว่า เสรีภาพอินเทอร์เน็ตสำคัญต่อทุกคน นี่ไม่ใช่เรื่องที่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนเท่านี้ที่จะสนใจ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกคนควรใส่ใจนโยบายของรัฐบาล เพราะนโยบายเหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อตัวคุณเอง เช่น มันจะกำหนดว่าคุณจะสามารถโพสต์อะไรบนเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ได้หรือไม่ และมันไม่เพียงแต่ทำให้คุณไม่สามารถสื่อสารกับผู้ฟังของคุณได้อย่างเสรีเท่านั้น แต่มันจะกระทบถึงว่าการที่คุณจะสามารถสื่อสารอะไรได้หรือไม่ได้กับสมาชิกในครอบครัวของตัวเองด้วย
เมื่อถามว่าคิดอย่างไรกับคำพูดที่ว่า ในบางสถานการณ์ ความสงบเรียบร้อยของสังคมมีความสำคัญและย่อมมาก่อนสิทธิเสรีภาพ เธอกล่าวว่า
“ความสงบเรียบร้อยในสังคมเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิทธิมนุษยชนยิ่งสำคัญยิ่งกว่า เพราะในท้ายที่สุด สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสากล และมันสำคัญลงไปถึงในระดับของปัจเจก”
เอกสารที่เกี่ยวข้อง
- รายงานเสรีภาพเน็ต 2015 (Freedom of the Net Report 2015) เฉพาะในส่วนของประเทศไทย
- รายงานเสรีภาพเน็ต 2015 (Freedom of the Net Report 2015) ฉบับเต็ม
- แถลงการณ์คณะผู้แทนฟรีดอมเฮาส์ในเวทีระดับโลกว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ต 2015