Digital Weekly: 16-22 ต.ค. 2558 สรุปข่าวนโยบายดิจิทัลรอบสัปดาห์

2015.10.23 14:32

สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: กสท.เตรียมเสนอ “อินเทอร์เน็ตเกตเวย์แห่งชาติ” ปัดไม่ใช่ซิงเกิลเกตเวย์/ กลุ่มต้านซิงเกิลเกตเวย์หลายสังกัด อ้างได้โจมตีเว็บหน่วยงานรัฐอีกครั้ง/ กองทัพเตรียมตั้ง “กองสงครามไซเบอร์”/ ยกฟ้องคดี 112 ศาลชี้ แค่ IP address บอกไม่ได้ว่าจำเลยเกี่ยวโยงกับข้อความ/ รมว.ไอซีทีเผย ร่างกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิทัล จะเปิดรับฟังความคิดเห็นวงกว้างกว่าเดิม ฯลฯ

กลุ่มต้านซิงเกิลเกตเวย์หลายสังกัด อ้างได้โจมตีเว็บหน่วยงานรัฐอีกครั้ง (21-23 ต.ค.58)

กลุ่มต้านซิงเกิลเกตเวย์หลายสังกัด อ้างได้โจมตีเว็บหน่วยงานรัฐอีกครั้ง (21-23 ต.ค.58)

19 ตุลาคม 2558

กองทัพเตรียมตั้ง “กองสงครามไซเบอร์” รับมือสงครามไซเบอร์

พล.อ.สมหมาย เกาฏีระ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้สัมภาษณ์หลังประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 1/2559 ว่า เพื่อรับมือกับสงครามทางไซเบอร์ ทหารจะจัดตั้งกองสงครามไซเบอร์และจัดทำยุทธศาสตร์ไซเบอร์ของกองทัพ ทั้งนี้ยังไม่มีรายละเอียดละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกองสงครามไซเบอร์ดังกล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, สำนักข่าวไทย

20 ตุลาคม 2558

ยกฟ้องคดี 112 นพวรรรณ ศาลชี้ แค่ IP address บอกไม่ได้ว่าจำเลยเกี่ยวโยงกับข้อความ

ศาลฎีกายกฟ้องคดีที่ “นพวรรรณ เบนโตะ” ถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ด้วยการโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระราชินีและรัชทายาทลงในเว็บบอร์ดประชาไทเมื่อปี 2551 คำพิพากษาระบุว่า ที่อยู่ไอพี (IP address) บ่งชี้ไม่ได้ว่าจำเลยมีความเกี่ยวโยงกับข้อความที่โพสต์ ประกอบกับคำเบิกความของโจทก์ไม่สอดคล้องกัน และจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอด จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย อนึ่ง คดีนี้เป็นคดีแรกที่มีการฟ้องตามความผิดอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และผู้ต้องหาต่อสู้คดีจนกระทั่งมีการตัดสินคดี โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ระบุว่า คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีนี้เป็นการวางบรรทัดฐานของการใช้หมายเลขไอพีแอดเดรสเป็นหลักฐานในการระบุตัวผู้กระทำความผิดต่อไปในอนาคต

ที่มา: ประชาไท, ประชาชาติธุรกิจ, เฟซบุ๊กโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

นายกย้ำ แค่สั่งให้ศึกษาซิงเกิลเกตเวย์ ด้านรมว.ไอซีทียืนยัน แผนซิงเกิลเกตเวย์แบบที่มีประตูเชื่อมต่อประตูเดียวนั้น “ไม่มี”

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ตนเพียงแต่สั่งการให้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการซิงเกิลเกตเวย์เท่านั้น ยังไม่ได้สั่งให้ดำเนินการจัดตั้ง ขณะที่เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารยืนยันในงาน POST FORUM 2015 ว่า โครงการซิลเกิลเกตเวย์ในความหมายที่ว่ามีประตูเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตต่างประเทศเพียงทางเดียวนั้น โครงการเช่นว่า ‘ไม่มี’

ที่มา: Voice TV, โพสต์ทูเดย์

รมว.ไอซีทีระบุ ร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล จะเปิดรับฟังความคิดเห็นวงกว้างกว่าเดิม

ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีเผยว่า ร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลที่อยู่ระหว่างทบทวนใหม่ทั้ง 8 ฉบับนั้น จะมีการเปิดรับฟังความเห็นในวงกว้างกว่าเดิม เนื่องจากเป็นกฎหมายสำคัญที่จะประกาศใช้ได้ในปีหน้า

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

สมาคมโทรคมนาคมหารือกระทรวงไอซีที ทำกองทุนสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน 

ศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯ เข้าหารือกับกระทรวงไอซีทีเพื่อเสนอแนวทางพัฒนาประเทศไทยไปสู่ความเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของอาเซียน (ดิจิทัลฮับ) โดยสมาคมฯ มีแนวคิดทำกองทุนสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ที่มา: เดลินิวส์

21 ตุลาคม 2558

กสท.เตรียมเสนอ “อินเทอร์เน็ตเกตเวย์แห่งชาติ” ปัดไม่ใช่ซิงเกิลเกตเวย์

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการและรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม เผย กสท กำลังเตรียมทำร่างโครงการเสนอให้จัดตั้ง “อินเทอร์เน็ตเกตเวย์แห่งชาติ” (National Internet Gateway) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการ โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อนำประเทศไทยไปสู่การเป็นดิจิทัลฮับของอาเซียน และเพื่อดึงดูดผู้ผลิตเนื้อหาต่างชาตินำเซิร์ฟเวอร์มาไว้ในประเทศ โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงาน (โดยมีตัวแทนมาจาก กสท และ ทีโอที ผู้ประกอบการภาคเอกชน) ซึ่งอาจอยู่ภายใต้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที) หรือคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.อ.สรรพชัยระบุด้วยว่า โครงการดังกล่าวไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อรวมการจราจรทางอินเทอร์เน็ตทั้งหมดให้ผ่านเกตเวย์เดียวหรือเป็น “ซิงเกิลเกตเวย์” อย่างที่กังวล

อนึ่ง แนวคิด “อินเทอร์เน็ตเกตเวย์แห่งชาติ” ได้มีการพูดถึงมาก่อนแล้วในสมัยที่สุรชัย ศรีสารคาม  เป็นปลัดกระทรวงเไอซีที โดยยกข้อดีของประหยัดจากการร่วมกันลงทุน และทำให้การบล็อกเว็บไซต์ รวมทั้งการป้องกันจากโจมตีทางไซเบอร์ด้วยการก่อการร้ายทำได้ง่ายขึ้น

ที่มา: The Nation, ผู้จัดการออนไลน์

22 ตุลาคม 2558

ทีดีอาร์ไอ-ซิป้า เผยผลศึกษา SMEs ยังไม่ตระหนักถึงประโยชน์จากการใช้ซอฟต์แวร์

สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกันแถลงผลการจัดทำกรณีศึกษาการใช้ซอฟต์แวร์ของภาคธุรกิจไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลประจำปี 2558 พบ การใช้ซอฟต์แวร์เข้ามาช่วยบริหารจัดงานในภาคธุรกิจช่วยเพิ่มรายได้และประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนการจ้างพนักงาน การศึกษาพบด้วยว่า SMEs ยังขาดความตระหนักในเรื่องประโยชน์ที่ได้จากซอฟต์แวร์ และยังมีการสะท้อนความต้องการสนับสนุนมาถึงภาครัฐ ให้มีการสนับสนุนผู้ผลิตซอฟต์แวร์ไทยกลุ่มสตาร์ทอัพ โดยอาจใช้มาตรการจูงใจด้านการเงิน

ที่มา: ประชาไท

กลุ่มต้านซิงเกิลเกตเวย์หลายสังกัด อ้างได้โจมตีเว็บหน่วยงานรัฐอีกครั้ง (21-22 ตุลาคม 2558)

21 ต.ค.58

เวลา 03.17 น. ตามเวลาประเทศไทย มีกลุ่มไม่ทราบฝ่ายโพสต์แถลงการณ์ หัวข้อ “Anonymousasia #OpsingleGateway” ลงในเว็บไซต์ pastebin.com (เว็บที่ให้บริการโพสต์ข้อความเปล่าแบบไม่ได้จัดรูปแบบ เป็นที่นิยมใช้ส่งซอร์สโค้ดของโปรแกรมเมอร์) แถลงการณ์ระบุว่า ไม่มีระบบดักข้อมูลใดหยุดภัยคุกคามความมั่นคงได้ และเสรีภาพประชาชนจะลดน้อยลง พร้อมขู่ว่าบริษัทหรือบุคคลใดที่ช่วยเหลือผลักดันโครงการซิงเกิลเกตเวย์อาจตกเป็นเป้าหมายการโจมตีด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (ประชาไท)

Blognone รายงานว่า เว็บไซต์ cyberguerrilla.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์กระจายข่าวที่สนับสนุนกลุ่ม Anonymous ได้เผยแพร่ปฏิบัติการโจมตีเว็บไซต์ราชการไทย โดยในเว็บระบุว่า มีเว็บที่ถูกโจมตีและมีข้อมูลรั่วไหลออกไปแล้วคือเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข ผู้โจมตีคือแฮกเกอร์กลุ่ม “OpIsrael” ที่พุ่งเป้าไปที่ประเด็นของสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในเรื่องของประเด็นการค้ามนุษย์ที่มีชาวโรฮีนจาตกเป็นเหยื่อที่ผ่านมา (Blognone, “Anonymous Hacked Thailand Government Sites”)

22 ต.ค.58

เฟซบุ๊กเพจของกลุ่ม “พลเมืองต่อต้าน Single Gateway : Thailand Internet Firewall” ได้อ้างความสำเร็จว่า  ในวันที่ 22 ต.ค. ระหว่างเวลา 10.00 น. – 13.15 น. ได้ทำให้ “ระบบบัญชีและการเงิน ของกรมการเงินทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ไม่สามารถทำงานได้ไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง” และมีการนัดหมายเป้าหมายต่อไปในวันที่ 27 ต.ค. เวลา 13.00 น.

ทวิตเตอร์ @F5CyberArmy โพสต์รูปภาพพร้อมอ้างว่า ตนได้เข้าถึงฐานข้อมูลลูกค้าของ กสท โทรคมนาคม มากกว่า 1,000 รายชื่อ เพื่อเปิดโปงว่าระบบความปลอดภัยของ กสท โทรคมนาคมมีช่องโหว่ (Blognone)

วันรุ่งขึ้น (23 ต.ค.58) อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีกระทรวงไอซีทีให้สัมภาษณ์ว่า ฐานข้อมูลที่กลุ่ม F5CyberArmy โพสต์นั้น ทาง กสท โทรคมนาคม ยืนยันว่าเป็นฐานข้อมูลปลอม (Blognone)

Tags: , , , , , , , , , , , , , ,
%d bloggers like this: