“กลัวถูกตรวจสอบ” สิ่งกีดขวางการเปิดเผยข้อมูลรัฐ อุปสรรคความโปร่งใส

2015.09.21 20:21

นักวิจัยชี้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ เนื้อหาดีแต่ตกม้าตายตอนบังคับใช้ ตัวแทน สขร.เผย อุปสรรคสำคัญคือหน่วยงานรัฐกลัวถูกตรวจสอบจากประชาชน สฤณี อาชวานันทกุล ระบุ สังคมไทยไม่ใช่สังคมข้อมูลข่าวสาร รัฐหวังรักษาอำนาจในมือ ข้อมูลเปิดจะเกิดได้ ทั้งรัฐและคนไทยต้องเปลี่ยนโลกทัศน์

เสวนา “การเปิดเผยข้อมูล พลังความโปร่งใส โอกาสและอนาคต ประเทศไทย” (21 ก.ย.58)

เสวนา “การเปิดเผยข้อมูล พลังความโปร่งใส โอกาสและอนาคต ประเทศไทย” (21 ก.ย. 2558)

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2558 มีงานเสวนา “การเปิดเผยข้อมูล พลังความโปร่งใส โอกาสและอนาคตประเทศไทย” จัดโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ณ อาคารยูบีซี 2 กรุงเทพฯ

วิริยะ รามสมภพ นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) กล่าวในงานว่า แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ที่กำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชน หากข้อมูลนั้นไม่ใช่ข้อมูลลับ ซึ่งตัวกฎหมายมีเนื้อหาที่ค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว แต่ในทางปฏิบัติพบว่า หน่วยงานรัฐมักไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล เนื่องจากกลัวการตรวจสอบจากประชาชน จึงพยายามไม่ให้ข้อมูลหรือให้ข้อมูลแต่ประวิงเวลาไว้ให้นานที่สุด

ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวคือ การที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่มีการกำหนดบทลงโทษเอาไว้

ธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เห็นด้วยกับวิริยะว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มีเนื้อหาที่ได้มาตรฐานแล้ว “แต่ตกม้าตายตอนบังคับใช้”

ธิปไตรกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา การทำโครงการพัฒนาใหญ่ๆ ของรัฐไม่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอ ทำให้คนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบไม่ทราบถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การไม่ไว้ใจกันระหว่างรัฐและชุมชน ส่งผลให้โครงการดำเนินไปได้ช้า และฉุดรั้งความเจริญของประเทศ

ดังนั้น ในกรณีที่เกี่ยวกับโครงการพัฒนาต่างๆ ความโปร่งใสจะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างรัฐและชุมชน เพิ่มความไว้ใจซึ่งกันและกัน อันจะช่วยส่งเสริมพัฒนาประเทศ และลดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ความโปร่งใสยังจะช่วยเพิ่มบรรยากาศการลงทุนอีกด้วย

ทางด้านวิชา มหาคุณ กรรมการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ข้อมูลข่าวสารนำไปสู่ความโปร่งใส ช่วยทำให้การทุจริตลดน้อยลง แต่ตนพบว่าที่ผ่านมา ปัญหาอยู่ที่หน่วยงานของรัฐไม่แน่ใจว่าข้อมูลหนึ่งๆ สามารถเปิดเผยได้หรือไม่

วิชากล่าวด้วยว่า การที่ภาครัฐไทยเปิดเผยข้อมูลข่าวสารน้อย ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้นี้ทำให้ไทยสอบตกการประเมินความโปร่งใสในระดับโลก

บรรยง พงษ์พานิช หนึ่งในคณะกรรมการต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ (คตช.) กล่าวว่า นอกจากจะช่วยส่งเสริมความโปร่งใสแล้ว การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารยังช่วยในเรื่องประสิทธิภาพการทำงานของรัฐ

บรรยงกล่าวว่า กลไกที่จะผลักดันให้การทำงานของภาครัฐมีประสิทธิภาพได้แก่ 1. การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารในรูปแบบที่ได้มาตรฐาน 2. ต้องมีหน่วยงานหรือผู้เชี่ยวชาญมาคอยติดตามดูข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น โดยกลไกรูปแบบใหม่มักให้ภาคประชาสังคมเข้ามาทำหน้าที่นี้ 3. หลายภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วม และ 4. ข้อมูลข่าวสารต้องสื่อถึงประชาชนได้

ส่วนสฤณี อาชวานันทกุล คณะบรรณาธิการสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และกรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า ภาครัฐไทยและประชาชนไทยต้องเปลี่ยนโลกทัศน์ (mindset) เสียใหม่ หากต้องการทำให้การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเป็นไปได้จริง

สฤณีกล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐมีโลกทัศน์ว่าความมั่นคงเป็นเรื่องหลัก อีกทั้งอยากให้อำนาจอยู่ในมือของตน จึงไม่เห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลควรจะต้องเป็นค่าตั้งต้น และโลกทัศน์ของคนไทยก็ต้องเปลี่ยนด้วยเช่นกัน เพราะทุกวันนี้สังคมไทยไม่ใช่สังคมของข้อมูลข่าวสาร

“เวลาเกิดประเด็นอะไรขึ้นมา แทนที่เราจะเข้าหาข้อมูลข่าวสาร เราเป็นสังคมที่จะวิ่งเข้าหาผู้เชี่ยวชาญ ไม่ได้เข้าหาแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ”

สฤณีกล่าวถึงข้อมูลเปิด (open data) ด้วยว่า ข้อมูลเปิดคือข้อมูลที่เปิดเผยออกมาสู่สาธารณะโดยไม่ต้องให้ใครร้องขอ เปิดแบบทั่วถึง “ไม่ใช่ว่าใครจะขอต้องมาลงทะเบียน” เป็นข้อมูลดิบซึ่งไม่ได้ผ่านการตีความของใครมาก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ข้อมูลดังกล่าวถูกนำไปใช้ได้อย่างแพร่หลายที่สุด ข้อมูลเปิดยังต้องเป็นข้อมูลที่อ่านโดยคอมพิวเตอร์ได้ (machine readable)

โดยจากประสบการณ์ของหลายประเทศพบว่า ไม่ใช่แค่รัฐ เอกชน ประชาชนเท่านั้น แต่อีกหนึ่งผู้ที่จะมาเกี่ยวข้องกับข้อมูลเปิดคือนักเทคนิค ที่จะนำข้อมูลเปิดที่อยู่ในรูปแบบมาตรฐานไปพัฒนาต่อยอด

สฤณีกล่าวด้วยว่า สิ่งที่เราควรจะไปถึงให้ได้ไม่ใช่เพียงแค่การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารภาครัฐ แต่ควรต้องไปให้ถึงการมี “รัฐบาลเปิด” (open government) หรือรัฐบาลที่เปิดเผยและโปร่งใส ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า 1. รัฐบาลต้องเปิดรับการตรวจสอบ โดยข้อมูลเปิดเป็นหัวใจสำคัญหนึ่ง 2. ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องนโยบายของรัฐบาล 3. ต้องเพิ่มพลังของพลเมือง นั่นคือ รัฐต้องสร้างและสนับสนุนกลไกที่ประชาชนเป็นคนคิด

สฤณียกตัวอย่าง หากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดข้อมูลที่เกี่ยวกับปัญหาท่อน้ำแตก แล้วมีประชาชนอยากนำข้อมูลดังกล่าวไปพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ กทม.ก็ต้องสนับสนุน ซึ่งเธอกล่าวว่า นี่เป็นกระแสของประชาคมโลก

ส่วนปัญหาที่หลายคนกังวลว่า ข้อมูลบางอย่างเปิดเผยออกมาก็อาจไม่เป็นประโยชน์ เพราะประชาชนอ่านแล้วไม่เข้าใจ และต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญมาช่วยนั้น สฤณีกล่าวว่า “อยากให้เปิด ใครไม่เข้าใจไม่เป็นไร มันต้องมีคนที่เข้าใจแล้วมาช่วยคนที่ไม่เข้าใจ”

“ความโปร่งใสเป็นเรื่องจำเป็นต่อการพัฒนาทุกอย่าง ตอนนี้สังคมไทยมาถึงจุดที่ควรจะเห็นร่วมกันได้แล้ว ว่าทุกสถาบันจะต้องโปร่งใสมากขึ้น สถาบันไหนที่ไม่พัฒนาเรื่องนี้ ไม่โปร่งใสมากขึ้น ก็สุ่มเสี่ยงที่จะสะสมปัญหาต่างๆ เอาไว้ แล้วสุดท้ายมันก็อาจจะระเบิดขึ้นมา” สฤณีกล่าว

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

Tags: , , , , , , , ,
%d bloggers like this: