2015.09.16 13:05
สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพิ่มความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกเด็ก/ ครม.อนุมัติลดภาษีสตาร์ตอัป/ เนคเทคตั้งเป้าหนุนคนไทยผลิตอุปกรณ์ IoT หนึ่งล้านอุปกรณ์ใน 3 ปี/ นายกระบุ ปิดยูทูบและเว็บต่างประเทศที่โจมตีนายกฯ ไม่ได้ ส่วนเว็บไทยไล่ปิดอยู่/ คาดแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเสร็จ ต.ค.นี้/ ความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ. กสทช. กระทรวงการคลังเสนอกำหนดเพดานกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล/ กรรมการกสทช.ระบุ อาการแพ้คลื่นไวไฟมีจริง ไทยยังไม่มีมาตรการคุ้มครอง/ กสทช. ออกประกาศจัดการผู้ประกอบการโทรคมนาคมส่งโฆษณาให้รําคาญ-ค้ากําไรเกินควร ฯลฯ
8 กันยายน 2558
แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพิ่มความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกเด็ก
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2558 โดยเพิ่มความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก กฎหมายแก้ไขให้ผู้ที่ทำผิดเกี่ยวกับการค้าหรือทําให้แพร่หลายสื่อลามกอนาจารเด็กต้องได้รับโทษหนักขึ้น และกําหนดให้การครอบครองและส่งต่อซึ่งสื่อลามกอนาจารเด็กเป็นความผิด บทกำหนดโทษมีดังนี้
- ครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก มีโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
- ส่งต่อสื่อลามกอนาจารเด็ก ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
- มีสื่อลามกอนาจารเด็กไว้เพื่อการค้า ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 3-10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000-2000,000 บาท
พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ด้านนักวิชาการ จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้วิพากษ์วิจารณ์การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เอาไว้ อ่านรายละเอียด ขณะที่วิสา เบ็ญจะมโน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิเด็ก สตรี และความเสมอภาคของบุคคล กล่าวสนับสนุนกฎหมายดังกล่าว โดยระบุว่าเป็นประโยชน์ต่อคุ้มครองสิทธิเด็กและป้องกันเด็กจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ
ที่มา: ประชาไท
ครม.อนุมัติลดภาษีเอสเอ็มอีกลุ่มนวัตกรรม รวมถึงสตาร์ตอัป
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีมาตรการยกเว้นภาษีส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up) กลุ่ม “New Engine of Growth” เช่น เกษตรแปรรูป เทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูง ดิจิทัล วิจัย-พัฒนา สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนตั้งแต่ 31 ตุลาคม 58 ถึง 31 ธันวาคม 59 โดยจะได้ยกเว้นภาษีนิติบุคคลนาน 5 รอบระยะบัญชี อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขยังต้องรอกฎเกณฑ์จากกรมสรรพากรอีกครั้งหนึ่ง
ที่มา: Blognone
ทีเคพาร์คเปิดตัวห้องสมุดออนไลน์
สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) เปิดตัวโครงการ “ทีเค พับลิค ออนไลน์ ไลบรารี” (TK Public Online Library) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการสื่อและสิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ (ระบบบริการห้องสมุดออนไลน์) โดยร่วมมือกับบริษัทอุ๊คบี (Ookbee) สำนักพิมพ์อมรินทร์ เนชั่นบุ๊คส์ มติชน นานมีบุ๊คส์ และแปลนฟอร์คิดส์ พัฒนาแพลตฟอร์มดังกล่าว โดยจะให้บริการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-book) และหนังสือเสียง (audiobook) ผ่านเว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่นในสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต (แอปชื่อ “TK Public Online Library”) ปัจจุบันมีหนังสือให้อ่านและยืมประมาณ 7,000 เล่ม และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 10,000 เล่มภายในสิ้นปีนี้
ที่มา: เดลินิวส์
9 กันยายน 2558
คาดแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเสร็จ ต.ค.นี้
อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เผย คาดว่าแนวทางการดำเนินการโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติ โครงการศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ (national data center) และแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลจะเสร็จภายในเดือนต.ค.นี้ และจะส่งให้คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และคณะรัฐมนตรีอนุมัติ โดยแผนดังกล่าววางกรอบการทำงานไว้ 5 ปี (พ.ศ. 2559-2563) อุตตมเผยถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยว่า กระทรวงไอซีทีจะร่วมกับกระทรวงการคลังพัฒนาระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) สำหรับเอสเอ็มอี ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน
ที่มา: เดลินิวส์
กรรมการกสทช.ระบุ อาการแพ้คลื่นไวไฟมีจริง ไทยยังไม่มีมาตรการคุ้มครอง
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกสทช.ระบุว่า อาการแพ้คลื่นความถี่วิทยุมีอยู่จริง ไม่ใช่สิ่งที่คิดไปเอง อาการที่พบคืออาการวิงเวียนศีรษะ อารมณ์ฉุนเฉียว นอนไม่หลับ โดยประเทศไทยยังไม่มีหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองคนกลุ่มนี้ และไม่มีข้อมูลว่ามีคนแพ้คลื่นความถี่วิทยุเท่าใด ซึ่งจากที่ผ่านมา ศาลในฝรั่งเศสตัดสินให้ผู้ที่มีอาการดังกล่าวรายหนึ่งต้องได้รับเงินชดเชย กสทช.จะติดตามความคืบหน้าว่าฝรั่งเศสจะมีมาตรการทางออกสำหรับคนกลุ่มนี้อย่างไร ก่อนจะพิจารณานำมาปรับใช้ในเมืองไทย โดยทางออกเบื้องต้นน่าจะเป็นมาตรการกำหนดให้เขียนป้ายติดไว้ว่าบริเวณไหนบ้าง เพื่อให้ผู้มีอาการได้หลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณดังกล่าว หรือในอาคารสำนักงานแนะนำให้ใช้สาย LAN แทนการใช้ไวไฟ เป็นต้น
ที่มา: ประชาไท
กสทช. ออกประกาศจัดการผู้ประกอบการโทรคมนาคมส่งโฆษณาให้รําคาญ-ค้ากําไรเกินควร
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง การกระทําที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากําไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญ พ.ศ. ๒๕๕๘ กำหนดให้ผู้บริโภคมีสิทธิร้องเรียนมายังคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาเรื่องร้องเรียน หากพบว่าผู้ให้บริการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากําไรเกินควรหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อน เช่น โฆษณาให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ กำหนดเงื่อนไขการคิดค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม ส่งโฆษณามายังเครื่องของผู้บริโภคจนก่อความรำคาญ ทั้งนี้ หากพบว่าผิดจริงและผู้ประกอบการไม่หยุดการกระทำการดังกล่าว จะถูกปรับทางปกครองไม่เกิน 5 ล้านบาท และหากยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการฯ จะถูกปรับทางปกครองอีกวันละไม่เกิน 100,000 บาท
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
กระทรวงไอซีทีพร้อมช่วย กสท โทรคมนาคมจัดการคืนคลื่น 5 เมกะเฮิร์ตซ์ ให้ทันประมูล 4 จี
อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เผย กระทรวงไอซีทีพร้อมสนับสนุนและช่วยเหลือบริษัท กสท โทรคมนาคม เรื่องขั้นตอนทางกฎหมายและการทำเอกสารกรณีขอคืนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ ที่ไม่ได้มีการใช้งานของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) จำนวน 5 เมกะเฮิร์ตซ์ ให้เสร็จโดยเร็วที่สุดเพื่อให้ทันกับการนำคลื่นดังกล่าวมาร่วมประมูล 4 จีในวันที่ 11 พ.ย.นี้ ส่วนคลื่นที่ไม่ได้ใช้งานในย่านเดียวกันจำนวน 20 เมกะเฮิร์ตซ์ของดีแทคที่ กสท ต้องการจะนำมาพัฒนาเพื่อให้บริการ 4 จีบนเทคโนโลยีแอลทีอีนั้น กสท ไม่ควรนำเรื่องคลื่นส่วนนี้มารวมกับเรื่องคลื่น 5 เมกะเฮิร์ตซ์ข้างต้น แต่ตนจะรับเรื่องนี้ไปพิจาณา
ที่มา: เดลินิวส์
10 กันยายน 2558
ประยุทธ์ระบุ ปิดยูทูบและเว็บต่างประเทศที่โจมตีนายกฯ ไม่ได้ ส่วนเว็บไทยไล่ปิดอยู่
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังเป็นประธานประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่า กรณีเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาโจมตีนายกรัฐมนตรี หากเป็นเว็บไซต์ต่างประเทศ เช่น ยูทูป ก็ไม่สามารถสั่งปิดได้ หนึ่งในเหตุผลก็คือ เพราะต่างประเทศไม่มีบางกฎหมายที่ประเทศไทยมี เช่น กฎหมายอาญามาตรา 112 การปิดเว็บไซต์ทำได้เพียงเว็บไซต์ที่มีต้นทางในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งตอนนี้กระทรวงไอซีทีกำลังดำเนินการอยู่ ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวข้อความดังกล่าว หลังจากที่ผู้สื่อข่าวถามว่า จะดำเนินการอย่างไรกับเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาโจมตีนายกรัฐมนตรีซึ่งเริ่มมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
ที่มา: คมชัดลึก
นก สินจัย แจ้งความเอาผิดคนโพสต์เฟซบุ๊กแอบอ้าง เบื้องต้นปอท.ตั้งข้อหาผิด พ.ร.บ.คอมและหมิ่นประมาท
สินจัย เปล่งพานิช นักแสดงเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หลังพบว่ามีผู้ใช้ชื่อบัญชีเฟซบุ๊ก Tanawit Kalanthdepan คนนำรูปของตนไปตัดต่อใส่ข้อความดูถูกคนเสื้อแดงและแชร์ในเฟซบุ๊ก ทำให้ตนถูกต่อว่า เบื้องต้นเจ้าพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหากับบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวฐานความผิด “นำเข้าสู่ระบบความพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ “หมิ่นประมาทและหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” และ”ใส่ความให้เกิดความเสียหายดูถูก หมิ่นหรือเกลียดชัง สร้างความเสียหายให้กับชื่อเสียง” และเตรียมสืบสวนเพื่อติดตามจับกุมตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี
ที่มา: มติชนออนไลน์
11 กันยายน 2558
เนคเทคตั้งเป้าหนุนคนไทยผลิตอุปกรณ์ IoT 1 ล้านอุปกรณ์ใน 3 ปี
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดตัว “NETPIE” แพลตฟอร์มคลาวด์ที่ช่วยในสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ในเครือข่าย Internet of Things (IoT) พนิตา พงษ์ไพบูลย์ นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเครือข่ายเนคเทค หัวหน้าทีมพัฒนาเผยว่า NETPIE จะทำหน้าที่ดูแลการเชื่อมต่ออุปกรณ์ในเครือข่ายให้ไม่ว่าอุปกรณ์นั้นจะอยู่ในเครือข่ายชนิดใด ลักษณะใด หรือเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่ใด โดยจะเปิดให้ใช้งานในรูปแบบโอเพ่นซอร์สและให้นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ โดยจะเปิดให้ใช้อย่างเป็นทางการวันที่ 16 ก.ย.58 นี้ นอกจากนี้ เนคเทคยังตั้งเป้าส่งเสริมให้คนไทยพัฒนาอุปกรณ์ IoT จำนวน 1 ล้านอุปกรณ์ภายใน 3 ปี
ที่มา: เดลินิวส์
เผยความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ. กสทช. กระทรวงการคลังเสนอกำหนดเพดานกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.เผยความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ. กสทช.ว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาใหม่อีกครั้ง ประเด็นที่พิจารณาคือการแบ่งเงินรายได้จากการประมูลคลื่นโทรคมนาคมและกิจการกระจายภาพและเสียงบางส่วนเข้ากองทุนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เนื่องจากกระทรวงการคลังเห็นว่าควรต้องมีการกำหนดเพดานเงินในกองทุน เพราะการนำเงินรายได้จากการประมูลคลื่นดังกล่าวเข้ากองทุนฯ จะทำให้กองทุนฯ มีเงินสมทบมากเกินไป หากคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเสร็จแล้วก็จะส่งเข้าคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อ
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
อสมท.ยินดีคืนคลื่น 2600 หากมีมาตรการเยียวยา
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผยถึงการเรียกคืนคลื่น 2600 เมกะเฮิร์ตซ์จำนวน 60 เมกะเฮิร์ตซ์จาก บมจ.อสมท เพื่อนำมาจัดประมูล 4 จีในปี 2559 ว่า อสมท.ยินดีคืนคลื่นหาก กสทช.มีมาตรการเยียวยาด้วยการแบ่งสัดส่วนเงินที่ได้จากการประมูลให้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ กสทช.ยังไม่มีอำนาจทำเช่นนั้น ต้องรอให้ พ.ร.บ. กสทช.ฉบับใหม่บังคับใช้ก่อน
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
กสทช. ประวิทย์ หนุนจัดประมูลคลื่น 4 จีย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ 15 ธ.ค.นี้ หวั่นจัดประมูล 2 คลื่นใกล้กันเสี่ยงฮั๊วประมูล
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค สนับสนุนให้ประมูลคลื่นย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ในวันที่ 11 พ.ย. 58 และประมูลคลื่นย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ในวันที่ 15 ธ.ค.58 ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไว้แล้ว โดยให้เหตุผลว่า ควรทิ้งระยะเวลาจัดประมูลคลื่นทั้ง 2 ย่านให้ห่างกัน เพราะหากจัดประมูลในช่วงเวลาใกล้กันก็เท่ากับจะมีจำนวนใบอนุญาตรวมกัน 4 ใบอนุญาต เสี่ยงต่อการมีจำนวนคลื่นมากกว่าหรือเท่ากับจำนวนผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดการแข่งขันด้านราคาและอาจทำให้เกิดการฮั๊วราคา และหากเกิดปัญหาทางเทคนิคใดในการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ก็สามารถปรับปรุงแก้ไขในการจัดประมูลคลื่นย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ได้ ส่วนลำดับการประมูลก็ควรเป็นไปตามลำดับการสิ้นสุดสัมปทาน โดยคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์จะถูกนำมาประมูลก่อน
ที่มา: ประชาไท
14 กันยายน 2558
สมาคมโทรคมนาคมฯ เตรียมเสนอแผนผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางไอซีทีอาเซียน
สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยเตรียมเสนอแผนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางไอซีทีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคณะทำงานจัดทำแผนกลยุทธ์ดังกล่าวของสมาคมฯ เตรียมเสนอแผนดังกล่าวต่อรัฐบาลในเร็ววันนี้ ศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมฯ เผยว่า การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางไอซีทีในภูมิภาคนี้ได้นั้นต้องมีศูนย์ข้อมูล พัฒนาอุตสาหกรรม Big Data ทำเกตเวย์ออกสู่ต่างประเทศ วางเคเบิลใต้น้ำ และรัฐต้องใช้นโยบายส่งเสริมการลงทุนของอุตสาหกรรมไอซีทีที่แข่งขันกับสิงคโปร์และมาเลเซียได้
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
กสทช.ชี้แจงแนวทางการทำงานให้ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ ทราบ-ประจินยืนยัน คกก.เตรียมการดิจิทัลเดินหน้าต่อ
พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เข้าหารือเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), รับฟังแนวทางการดำเนินงานและอำนาจบทบาทหน้าที่ตาม พ.ร.บองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ของ กสทช., รับฟังรายละเอียดข้อมูลคลื่นความถี่ตั้งแต่ย่าน 400 – 2600 เมกะเฮิร์ตซว่าอยู่ในการดูแลของหน่วยงานใดบ้าง รวมถึงกรณีข้อพิพาทระหว่างรัฐวิสาหกิจอย่างบริษัท ทีโอที กับกสทช. ส่วนเรื่องคณะกรรมการเตรียมความพร้อมด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมนั้น พลอากาศเอกประจินยืนยันว่าคณะกรรมการฯ ยังคงเดินหน้าทำงานต่อไปแม้จะคณะรัฐมนตรีจะมีการปรับเปลี่ยนก็ตาม
ที่มา: เดลินิวส์
กสท โทรคมนาคม เร่งออกบริการใหม่ สร้างรายได้ชดเชย หลังรัฐบาลยกเลิกระบบการจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกส์
ชัยยุทธ สันทนานุการ ที่ปรึกษาอาวุโส รักษาการในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด เผย หลังรัฐบาลยกเลิกระบบการจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกส์ (e-auction) และเปลี่ยนไปใช้งานระบบการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) กสท จะสูญเสียรายได้กว่าปีละ 100 ล้านบาท กสท จึงเร่งสร้างรายได้ในกลุ่มอื่น เช่น ร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรมทำระบบซื้อขายเวชภัณฑ์ให้โรงพยาบาลภาครัฐ นอกจากนี้ ในปีนี้ กสท ได้ตั้งเป้าหารายได้จากการทำธุรกิจแอปพลิเคชั่นด้านการสื่อสาร (บริการ CAT Chat) บริการมัลติมีเดีย (เช่น การทำแพลตฟอร์มให้บริการ e-learning) และบริการกลุ่มซัพพลายเชน (เช่น การให้บริการ e-logistics, บริการแลกเปลี่ยนข้อมูลเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์)
ที่มา: เดลินิวส์
15 กันยายน 2558
กทค.ปรับเงื่อนไขประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ บังคับขยายโครงข่ายร้อยละ 80 ใน 8 ปี
ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ปรับปรุงร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 900 MHz ดังนี้
- ปรับเงื่อนไขการขยายโครงข่ายของผู้ให้บริการ จากร้อยละ 40 ของประชากรภายใน 4 ปี เป็นร้อยละ 50 และร้อยละ 80 ของประชากรภายใน 8 ปี
- ปรับราคาตั้งต้นประมูลของแต่ละใบอนุญาตจากร้อยละ 70 ของมูลค่าคลื่นเป็น ร้อยละ 80
- กำหนดให้ต้องมีการเคาะราคาประมูลอย่างน้อย 1 ครั้ง (644 ล้านบาท) และหากยังมีการแข่งราคาจนเกินมูลค่าคลื่นแล้วจะปรับการขยับขึ้นของราคาเป็นครั้งละ 322 ล้านบาท [ยกเว้นในกรณีที่มีผู้เข้าประมูล 2 ราย หรือน้อยกว่า จะเริ่มต้นประมูลที่ร้อยละ 100 ของมูลค่าคลื่น (16,080 ล้านบาท) และการขยับราคาแต่ละครั้งจะเพิ่มขึ้น 322 ล้านบาท]
- เงื่อนไขการชำระเงินค่าประมูลนั้นจะแบ่งเป็น 4 งวด เพื่อป้องกันการฮั๊วประมูล เนื่องจากผู้ให้บริการอาจทราบวงเงินที่คู่แข่งยื่นขอเงินกู้จากสถาบันการเงินได้ (อ่านรายละเอียด)
- จัดประมูล 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ10 เมกะเฮิร์ตซ์
โดย กทค. จะสรุปการปรับปรุงแก้ไขทั้งหมดให้คณะกรรมการกสทช.พิจารณาวันที่ 16 ก.ย.นี้
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
Tags: 4G, CAT Telecom, censorship, child pornography, Computer-related Crime Act, consumer protection, development, digital economy, Digital Economy Fund, DTAC, e-payment, education, Facebook, freedom of information, hard infrastructure, innovation, Internet of Things, Ministry of Finance, Ministry of Information and Communication Technology, national broadband, National Broadcasting and Telecommunications Commission, National Broadcasting and Telecommunications Commission Bill, National Data Center, National Electronics and Computer Technology Center, NETPIE, online library, online service, publishers, Revenue Department, SMEs, social media, spectrum, startups, tax, telecom, TK Park