สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพิ่มความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกเด็ก/ ครม.อนุมัติลดภาษีสตาร์ตอัป/ เนคเทคตั้งเป้าหนุนคนไทยผลิตอุปกรณ์ IoT หนึ่งล้านอุปกรณ์ใน 3 ปี/ นายกระบุ ปิดยูทูบและเว็บต่างประเทศที่โจมตีนายกฯ ไม่ได้ ส่วนเว็บไทยไล่ปิดอยู่/ คาดแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเสร็จ ต.ค.นี้/ ความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ. กสทช. กระทรวงการคลังเสนอกำหนดเพดานกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล/ กรรมการกสทช.ระบุ อาการแพ้คลื่นไวไฟมีจริง ไทยยังไม่มีมาตรการคุ้มครอง/ กสทช. ออกประกาศจัดการผู้ประกอบการโทรคมนาคมส่งโฆษณาให้รําคาญ-ค้ากําไรเกินควร ฯลฯ
8 กันยายน 2558
แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพิ่มความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกเด็ก
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2558 โดยเพิ่มความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก กฎหมายแก้ไขให้ผู้ที่ทำผิดเกี่ยวกับการค้าหรือทําให้แพร่หลายสื่อลามกอนาจารเด็กต้องได้รับโทษหนักขึ้น และกําหนดให้การครอบครองและส่งต่อซึ่งสื่อลามกอนาจารเด็กเป็นความผิด บทกำหนดโทษมีดังนี้
- ครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก มีโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
- ส่งต่อสื่อลามกอนาจารเด็ก ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
- มีสื่อลามกอนาจารเด็กไว้เพื่อการค้า ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 3-10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000-2000,000 บาท
พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ด้านนักวิชาการ จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้วิพากษ์วิจารณ์การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เอาไว้ อ่านรายละเอียด ขณะที่วิสา เบ็ญจะมโน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิเด็ก สตรี และความเสมอภาคของบุคคล กล่าวสนับสนุนกฎหมายดังกล่าว โดยระบุว่าเป็นประโยชน์ต่อคุ้มครองสิทธิเด็กและป้องกันเด็กจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ
ที่มา: ประชาไท
ครม.อนุมัติลดภาษีเอสเอ็มอีกลุ่มนวัตกรรม รวมถึงสตาร์ตอัป
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีมาตรการยกเว้นภาษีส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up) กลุ่ม “New Engine of Growth” เช่น เกษตรแปรรูป เทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูง ดิจิทัล วิจัย-พัฒนา สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนตั้งแต่ 31 ตุลาคม 58 ถึง 31 ธันวาคม 59 โดยจะได้ยกเว้นภาษีนิติบุคคลนาน 5 รอบระยะบัญชี อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขยังต้องรอกฎเกณฑ์จากกรมสรรพากรอีกครั้งหนึ่ง
ที่มา: Blognone
ทีเคพาร์คเปิดตัวห้องสมุดออนไลน์
สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) เปิดตัวโครงการ “ทีเค พับลิค ออนไลน์ ไลบรารี” (TK Public Online Library) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการสื่อและสิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ (ระบบบริการห้องสมุดออนไลน์) โดยร่วมมือกับบริษัทอุ๊คบี (Ookbee) สำนักพิมพ์อมรินทร์ เนชั่นบุ๊คส์ มติชน นานมีบุ๊คส์ และแปลนฟอร์คิดส์ พัฒนาแพลตฟอร์มดังกล่าว โดยจะให้บริการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-book) และหนังสือเสียง (audiobook) ผ่านเว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่นในสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต (แอปชื่อ “TK Public Online Library”) ปัจจุบันมีหนังสือให้อ่านและยืมประมาณ 7,000 เล่ม และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 10,000 เล่มภายในสิ้นปีนี้
ที่มา: เดลินิวส์
9 กันยายน 2558
คาดแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเสร็จ ต.ค.นี้
อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เผย คาดว่าแนวทางการดำเนินการโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติ โครงการศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ (national data center) และแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลจะเสร็จภายในเดือนต.ค.นี้ และจะส่งให้คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และคณะรัฐมนตรีอนุมัติ โดยแผนดังกล่าววางกรอบการทำงานไว้ 5 ปี (พ.ศ. 2559-2563) อุตตมเผยถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยว่า กระทรวงไอซีทีจะร่วมกับกระทรวงการคลังพัฒนาระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) สำหรับเอสเอ็มอี ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน
ที่มา: เดลินิวส์
กรรมการกสทช.ระบุ อาการแพ้คลื่นไวไฟมีจริง ไทยยังไม่มีมาตรการคุ้มครอง
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกสทช.ระบุว่า อาการแพ้คลื่นความถี่วิทยุมีอยู่จริง ไม่ใช่สิ่งที่คิดไปเอง อาการที่พบคืออาการวิงเวียนศีรษะ อารมณ์ฉุนเฉียว นอนไม่หลับ โดยประเทศไทยยังไม่มีหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองคนกลุ่มนี้ และไม่มีข้อมูลว่ามีคนแพ้คลื่นความถี่วิทยุเท่าใด ซึ่งจากที่ผ่านมา ศาลในฝรั่งเศสตัดสินให้ผู้ที่มีอาการดังกล่าวรายหนึ่งต้องได้รับเงินชดเชย กสทช.จะติดตามความคืบหน้าว่าฝรั่งเศสจะมีมาตรการทางออกสำหรับคนกลุ่มนี้อย่างไร ก่อนจะพิจารณานำมาปรับใช้ในเมืองไทย โดยทางออกเบื้องต้นน่าจะเป็นมาตรการกำหนดให้เขียนป้ายติดไว้ว่าบริเวณไหนบ้าง เพื่อให้ผู้มีอาการได้หลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณดังกล่าว หรือในอาคารสำนักงานแนะนำให้ใช้สาย LAN แทนการใช้ไวไฟ เป็นต้น
ที่มา: ประชาไท
กสทช. ออกประกาศจัดการผู้ประกอบการโทรคมนาคมส่งโฆษณาให้รําคาญ-ค้ากําไรเกินควร
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง การกระทําที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากําไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญ พ.ศ. ๒๕๕๘ กำหนดให้ผู้บริโภคมีสิทธิร้องเรียนมายังคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาเรื่องร้องเรียน หากพบว่าผู้ให้บริการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากําไรเกินควรหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อน เช่น โฆษณาให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ กำหนดเงื่อนไขการคิดค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม ส่งโฆษณามายังเครื่องของผู้บริโภคจนก่อความรำคาญ ทั้งนี้ หากพบว่าผิดจริงและผู้ประกอบการไม่หยุดการกระทำการดังกล่าว จะถูกปรับทางปกครองไม่เกิน 5 ล้านบาท และหากยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการฯ จะถูกปรับทางปกครองอีกวันละไม่เกิน 100,000 บาท
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
กระทรวงไอซีทีพร้อมช่วย กสท โทรคมนาคมจัดการคืนคลื่น 5 เมกะเฮิร์ตซ์ ให้ทันประมูล 4 จี
อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เผย กระทรวงไอซีทีพร้อมสนับสนุนและช่วยเหลือบริษัท กสท โทรคมนาคม เรื่องขั้นตอนทางกฎหมายและการทำเอกสารกรณีขอคืนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ ที่ไม่ได้มีการใช้งานของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) จำนวน 5 เมกะเฮิร์ตซ์ ให้เสร็จโดยเร็วที่สุดเพื่อให้ทันกับการนำคลื่นดังกล่าวมาร่วมประมูล 4 จีในวันที่ 11 พ.ย.นี้ ส่วนคลื่นที่ไม่ได้ใช้งานในย่านเดียวกันจำนวน 20 เมกะเฮิร์ตซ์ของดีแทคที่ กสท ต้องการจะนำมาพัฒนาเพื่อให้บริการ 4 จีบนเทคโนโลยีแอลทีอีนั้น กสท ไม่ควรนำเรื่องคลื่นส่วนนี้มารวมกับเรื่องคลื่น 5 เมกะเฮิร์ตซ์ข้างต้น แต่ตนจะรับเรื่องนี้ไปพิจาณา
ที่มา: เดลินิวส์
10 กันยายน 2558
ประยุทธ์ระบุ ปิดยูทูบและเว็บต่างประเทศที่โจมตีนายกฯ ไม่ได้ ส่วนเว็บไทยไล่ปิดอยู่
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังเป็นประธานประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่า กรณีเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาโจมตีนายกรัฐมนตรี หากเป็นเว็บไซต์ต่างประเทศ เช่น ยูทูป ก็ไม่สามารถสั่งปิดได้ หนึ่งในเหตุผลก็คือ เพราะต่างประเทศไม่มีบางกฎหมายที่ประเทศไทยมี เช่น กฎหมายอาญามาตรา 112 การปิดเว็บไซต์ทำได้เพียงเว็บไซต์ที่มีต้นทางในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งตอนนี้กระทรวงไอซีทีกำลังดำเนินการอยู่ ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวข้อความดังกล่าว หลังจากที่ผู้สื่อข่าวถามว่า จะดำเนินการอย่างไรกับเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาโจมตีนายกรัฐมนตรีซึ่งเริ่มมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
ที่มา: คมชัดลึก
นก สินจัย แจ้งความเอาผิดคนโพสต์เฟซบุ๊กแอบอ้าง เบื้องต้นปอท.ตั้งข้อหาผิด พ.ร.บ.คอมและหมิ่นประมาท
สินจัย เปล่งพานิช นักแสดงเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หลังพบว่ามีผู้ใช้ชื่อบัญชีเฟซบุ๊ก Tanawit Kalanthdepan คนนำรูปของตนไปตัดต่อใส่ข้อความดูถูกคนเสื้อแดงและแชร์ในเฟซบุ๊ก ทำให้ตนถูกต่อว่า เบื้องต้นเจ้าพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหากับบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวฐานความผิด “นำเข้าสู่ระบบความพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ “หมิ่นประมาทและหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” และ”ใส่ความให้เกิดความเสียหายดูถูก หมิ่นหรือเกลียดชัง สร้างความเสียหายให้กับชื่อเสียง” และเตรียมสืบสวนเพื่อติดตามจับกุมตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี
ที่มา: มติชนออนไลน์
11 กันยายน 2558
เนคเทคตั้งเป้าหนุนคนไทยผลิตอุปกรณ์ IoT 1 ล้านอุปกรณ์ใน 3 ปี
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดตัว “NETPIE” แพลตฟอร์มคลาวด์ที่ช่วยในสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ในเครือข่าย Internet of Things (IoT) พนิตา พงษ์ไพบูลย์ นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเครือข่ายเนคเทค หัวหน้าทีมพัฒนาเผยว่า NETPIE จะทำหน้าที่ดูแลการเชื่อมต่ออุปกรณ์ในเครือข่ายให้ไม่ว่าอุปกรณ์นั้นจะอยู่ในเครือข่ายชนิดใด ลักษณะใด หรือเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่ใด โดยจะเปิดให้ใช้งานในรูปแบบโอเพ่นซอร์สและให้นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ โดยจะเปิดให้ใช้อย่างเป็นทางการวันที่ 16 ก.ย.58 นี้ นอกจากนี้ เนคเทคยังตั้งเป้าส่งเสริมให้คนไทยพัฒนาอุปกรณ์ IoT จำนวน 1 ล้านอุปกรณ์ภายใน 3 ปี
ที่มา: เดลินิวส์
เผยความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ. กสทช. กระทรวงการคลังเสนอกำหนดเพดานกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.เผยความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ. กสทช.ว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาใหม่อีกครั้ง ประเด็นที่พิจารณาคือการแบ่งเงินรายได้จากการประมูลคลื่นโทรคมนาคมและกิจการกระจายภาพและเสียงบางส่วนเข้ากองทุนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เนื่องจากกระทรวงการคลังเห็นว่าควรต้องมีการกำหนดเพดานเงินในกองทุน เพราะการนำเงินรายได้จากการประมูลคลื่นดังกล่าวเข้ากองทุนฯ จะทำให้กองทุนฯ มีเงินสมทบมากเกินไป หากคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเสร็จแล้วก็จะส่งเข้าคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อ
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
อสมท.ยินดีคืนคลื่น 2600 หากมีมาตรการเยียวยา
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผยถึงการเรียกคืนคลื่น 2600 เมกะเฮิร์ตซ์จำนวน 60 เมกะเฮิร์ตซ์จาก บมจ.อสมท เพื่อนำมาจัดประมูล 4 จีในปี 2559 ว่า อสมท.ยินดีคืนคลื่นหาก กสทช.มีมาตรการเยียวยาด้วยการแบ่งสัดส่วนเงินที่ได้จากการประมูลให้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ กสทช.ยังไม่มีอำนาจทำเช่นนั้น ต้องรอให้ พ.ร.บ. กสทช.ฉบับใหม่บังคับใช้ก่อน
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
กสทช. ประวิทย์ หนุนจัดประมูลคลื่น 4 จีย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ 15 ธ.ค.นี้ หวั่นจัดประมูล 2 คลื่นใกล้กันเสี่ยงฮั๊วประมูล
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค สนับสนุนให้ประมูลคลื่นย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ในวันที่ 11 พ.ย. 58 และประมูลคลื่นย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ในวันที่ 15 ธ.ค.58 ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไว้แล้ว โดยให้เหตุผลว่า ควรทิ้งระยะเวลาจัดประมูลคลื่นทั้ง 2 ย่านให้ห่างกัน เพราะหากจัดประมูลในช่วงเวลาใกล้กันก็เท่ากับจะมีจำนวนใบอนุญาตรวมกัน 4 ใบอนุญาต เสี่ยงต่อการมีจำนวนคลื่นมากกว่าหรือเท่ากับจำนวนผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดการแข่งขันด้านราคาและอาจทำให้เกิดการฮั๊วราคา และหากเกิดปัญหาทางเทคนิคใดในการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ก็สามารถปรับปรุงแก้ไขในการจัดประมูลคลื่นย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ได้ ส่วนลำดับการประมูลก็ควรเป็นไปตามลำดับการสิ้นสุดสัมปทาน โดยคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์จะถูกนำมาประมูลก่อน
ที่มา: ประชาไท
14 กันยายน 2558
สมาคมโทรคมนาคมฯ เตรียมเสนอแผนผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางไอซีทีอาเซียน
สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยเตรียมเสนอแผนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางไอซีทีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคณะทำงานจัดทำแผนกลยุทธ์ดังกล่าวของสมาคมฯ เตรียมเสนอแผนดังกล่าวต่อรัฐบาลในเร็ววันนี้ ศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมฯ เผยว่า การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางไอซีทีในภูมิภาคนี้ได้นั้นต้องมีศูนย์ข้อมูล พัฒนาอุตสาหกรรม Big Data ทำเกตเวย์ออกสู่ต่างประเทศ วางเคเบิลใต้น้ำ และรัฐต้องใช้นโยบายส่งเสริมการลงทุนของอุตสาหกรรมไอซีทีที่แข่งขันกับสิงคโปร์และมาเลเซียได้
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
กสทช.ชี้แจงแนวทางการทำงานให้ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ ทราบ-ประจินยืนยัน คกก.เตรียมการดิจิทัลเดินหน้าต่อ
พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เข้าหารือเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), รับฟังแนวทางการดำเนินงานและอำนาจบทบาทหน้าที่ตาม พ.ร.บองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ของ กสทช., รับฟังรายละเอียดข้อมูลคลื่นความถี่ตั้งแต่ย่าน 400 – 2600 เมกะเฮิร์ตซว่าอยู่ในการดูแลของหน่วยงานใดบ้าง รวมถึงกรณีข้อพิพาทระหว่างรัฐวิสาหกิจอย่างบริษัท ทีโอที กับกสทช. ส่วนเรื่องคณะกรรมการเตรียมความพร้อมด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมนั้น พลอากาศเอกประจินยืนยันว่าคณะกรรมการฯ ยังคงเดินหน้าทำงานต่อไปแม้จะคณะรัฐมนตรีจะมีการปรับเปลี่ยนก็ตาม
ที่มา: เดลินิวส์
กสท โทรคมนาคม เร่งออกบริการใหม่ สร้างรายได้ชดเชย หลังรัฐบาลยกเลิกระบบการจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกส์
ชัยยุทธ สันทนานุการ ที่ปรึกษาอาวุโส รักษาการในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด เผย หลังรัฐบาลยกเลิกระบบการจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกส์ (e-auction) และเปลี่ยนไปใช้งานระบบการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) กสท จะสูญเสียรายได้กว่าปีละ 100 ล้านบาท กสท จึงเร่งสร้างรายได้ในกลุ่มอื่น เช่น ร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรมทำระบบซื้อขายเวชภัณฑ์ให้โรงพยาบาลภาครัฐ นอกจากนี้ ในปีนี้ กสท ได้ตั้งเป้าหารายได้จากการทำธุรกิจแอปพลิเคชั่นด้านการสื่อสาร (บริการ CAT Chat) บริการมัลติมีเดีย (เช่น การทำแพลตฟอร์มให้บริการ e-learning) และบริการกลุ่มซัพพลายเชน (เช่น การให้บริการ e-logistics, บริการแลกเปลี่ยนข้อมูลเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์)
ที่มา: เดลินิวส์
15 กันยายน 2558
กทค.ปรับเงื่อนไขประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ บังคับขยายโครงข่ายร้อยละ 80 ใน 8 ปี
ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ปรับปรุงร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 900 MHz ดังนี้
- ปรับเงื่อนไขการขยายโครงข่ายของผู้ให้บริการ จากร้อยละ 40 ของประชากรภายใน 4 ปี เป็นร้อยละ 50 และร้อยละ 80 ของประชากรภายใน 8 ปี
- ปรับราคาตั้งต้นประมูลของแต่ละใบอนุญาตจากร้อยละ 70 ของมูลค่าคลื่นเป็น ร้อยละ 80
- กำหนดให้ต้องมีการเคาะราคาประมูลอย่างน้อย 1 ครั้ง (644 ล้านบาท) และหากยังมีการแข่งราคาจนเกินมูลค่าคลื่นแล้วจะปรับการขยับขึ้นของราคาเป็นครั้งละ 322 ล้านบาท [ยกเว้นในกรณีที่มีผู้เข้าประมูล 2 ราย หรือน้อยกว่า จะเริ่มต้นประมูลที่ร้อยละ 100 ของมูลค่าคลื่น (16,080 ล้านบาท) และการขยับราคาแต่ละครั้งจะเพิ่มขึ้น 322 ล้านบาท]
- เงื่อนไขการชำระเงินค่าประมูลนั้นจะแบ่งเป็น 4 งวด เพื่อป้องกันการฮั๊วประมูล เนื่องจากผู้ให้บริการอาจทราบวงเงินที่คู่แข่งยื่นขอเงินกู้จากสถาบันการเงินได้ (อ่านรายละเอียด)
- จัดประมูล 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ10 เมกะเฮิร์ตซ์
โดย กทค. จะสรุปการปรับปรุงแก้ไขทั้งหมดให้คณะกรรมการกสทช.พิจารณาวันที่ 16 ก.ย.นี้
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ