ชู “ความเป็นกลางทางเทคโนโลยี” ตัวส่งเสริมการแข่งขันและนวัตกรรมไอซีที

2015.07.24 17:39

3 ตัวแทนภาคประชาสังคมจากต่างประเทศแลกเปลี่ยนมุมมองว่าด้วยสื่อและการพัฒนา ยกข้อดีของกฎข้อบังคับที่ “เป็นกลางทางเทคโนโลยี” ชี้แนวคิดสิทธิมนุษยชนต้องถูกผนวกรวมอยู่ในกฎหมายสื่อ ระบุปัจจัยการสร้างสื่อพลเมืองคือ โครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม ชุมชนที่มีความสามารถผลิตสื่อ และกฎหมายที่ไม่จำกัดสิทธิ

media-convergence

เช้าวันนี้ (24 ก.ค.) มีการจัดเสวนาหัวข้อ “โครงสร้างพื้นฐานสำหรับอนาคต: การอภิบาลสื่อในยุคหลอมรวมจะส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงนวัตกรรมและสังคมประชาธิปไตยได้อย่างไร?” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเวที “คิดใหม่พรมแดนสื่อ: ประสบการณ์จากต่างประเทศและข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทย” โดยมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชนร่วมกับสำนักส่งเสริมการแข่งขันและกำกับดูแลกันเอง (สส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ

วิทยากรผู้ร่วมเสวนามีได้แก่ ดอนนี บี.ยู. ผู้อำนวยการบริหาร ICT Watch อินโดนีเซีย, จิวอน ปาร์ก หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย OpenNet เกาหลีใต้, มยองจุน คิม ประธาน MediAct เกาหลีใต้, กษิติธร ภูภราดัย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยนโยบาย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และสิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อ

กฎข้อบังคับที่ “เป็นกลางทางเทคโนโลยี” คืออะไร

จิวอน ปาร์ก (Jihwan Park) หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของ OpenNet Korea องค์กรประชาสังคมในเกาหลีใต้ที่ทำงานส่งเสริมเสรีภาพและความเปิดกว้างออนไลน์ กล่าวว่า “ความเป็นกลางทางเทคโนโลยี” (Technology Neutrality) คือแนวคิดที่ว่ากฎข้อบังคับที่กำกับการสื่อสารไอซีทีไม่ควรโน้มเอียงหรือเข้าข้างเทคโนโลยีหนึ่งเทคโนโลยีใดเป็นพิเศษ ซึ่งแนวทางนี้ระบุอยู่ในกรอบแนวทางของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปด้วย (EU Framework Directive 2002/21)

เขาเห็นว่า ผลดีที่จะเกิดขึ้นหากนำแนวทางนี้ไปใช้คือ 1.จะก่อให้เกิดการแข่งขันในตลาด จากการให้แต่ละบริษัทมีอิสระที่จะตัดสินใจใช้เทคโนโลยีใดก็ตามที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับตน 2.จะทำให้ไม่เกิดการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎข้อบังคับบางอย่างควรถูกนำมาบังคับใช้อย่างถ้วนหน้าโดยไม่ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี 3.จะก่อให้เกิดนวัตกรรม จากการที่ผู้กำกับดูแลไม่ผลักดันให้ตลาดเป็นไปในแบบที่ตนเห็นว่าเหมาะสม

ปาร์กกล่าวว่า ในขณะเดียวกัน การบังคับใช้กฎข้อบังคับที่ “ไม่เป็นกลางทางเทคโนโลยี” (Non-Technological Neutral Regulation) จะก่อให้เกิดผลเสียคือ 1.กฎรข้อบังคับนั้นจะล้าสมัยอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขตัวกฎข้อบังคับอยู่บ่อยครั้ง 2.ขัดขวางการแข่งขันกันของเทคโนโลยี อีกทั้งยังลำเอียงเข้าข้างเทคโนโลยีหนึ่งมากกว่าเทคโนโลยีอื่นๆ 3.เป็นอุปสรรคสำหรับบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติ และจะส่งผลให้อินเทอร์เน็ตของประเทศถูกโดดเดี่ยวจากอินเทอร์เน็ตโลก

ทั้งนี้ เขาให้คำแนะนำว่า วิธีที่จะช่วยให้รัฐบาลสามารถออกกฎข้อบังคับที่เป็นกลางทางเทคโนโลยีคือ รัฐต้องยึดเอาผลลัพธ์ที่ต้องการเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ไปกำหนดที่ตัวเทคโนโลยี เขากล่าวด้วยว่ารัฐบาลเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การไปกำหนดดังกล่าวจึงจะทำให้เทคโนโลยีที่เลือกมาล้าสมัยภายในเวลาอันรวดเร็วด้วย

โดยจากประสบการณ์ของประเทศเกาหลีใต้ ก่อนหน้านี้ เกาหลีใต้เคยมีกฎหมายฉบับหนึ่งที่พึ่งพาเทคโนโลยีที่ชื่อ “Active X” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของบริษัทไมโครซอฟท์ การใช้งานเทคโนโลยีนี้เข้ากันได้กับเว็บบราวเซอร์ Internet Explorer ของไมโครซอฟท์เท่านั้น อันเป็นการกีดกันเว็บบราวเซอร์เจ้าอื่นๆ และขัดขวางการพัฒนาของเทคโนโลยี

OpenNet Korea ได้ฟ้องร้องในกรณีนี้จนรัฐบาลยอมปรับเปลี่ยนกฎหมายดังกล่าวให้กลายมาเป็นกฎหมายที่เป็นกลางทางเทคโนโลยีในปี 2014

ปาร์กทิ้งท้ายว่า ความเป็นกลางทางเทคโนโลยีจะสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันและการพัฒนานวัตกรรมไอซีที และเสนอว่ารัฐบาลควรวางบทบาทเป็นเพียงกรรมการเท่านั้น ไม่ใช่ผู้เล่นในสนาม

แนวคิดสิทธิมนุษยชนต้องถูกผนวกรวมอยู่ในกฎหมายสื่อ

มยองจุน คิม (Myong-joon Kim) ประธาน MediaAct องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานส่งเสริมวัฒนธรรมสื่อสร้างสรรค์ การผลิตภาพยนตร์อิสระ และส่งเสริมการผลิตสื่อด้วยตนเองของชุมชนจากเกาหลีใต้กล่าวถึงสื่อพลเมืองว่า มีหลายเหตุการณ์สำคัญที่สื่อหลักไม่นำเสนอ ทำให้ผู้คนต้องหาทางเลือกใหม่ในการเสพข้อมูลข่าวสารด้วยการผันตัวเองมาเป็นสื่อพลเมือง สื่อพลเมืองยังรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนและมีการจัดการ รวมทั้งมีการหาเงินทุนเลี้ยงตัวเองด้วย ในปัจจุบัน ในเกาหลีใต้มีศูนย์สื่อชุมชน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่ออบรมและสนับสนุนให้คนเป็นสื่อพลเมืองจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

คิมกล่าวว่า สื่อพลเมืองช่วยแก้ปัญหาการที่รัฐเข้ามาควบคุมสื่อ รวมทั้งปัญหาความล้มเหลวของตลาดอย่างการครอบงำกิจการของสื่อใหญ่ เขาบอกว่า สื่อพลเมืองเหล่านี้ควรต้องได้รับการสนับสนุนทางนโยบาย ซึ่งนโยบายที่ว่าก็ย่อมต้องแตกต่างจากนโยบายสนับสนุนสื่อแบบเดิม

นอกจากการสนันสนุนสื่อพลเมืองแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ควรต้องได้รับการสนับสนุนคือเนื้อหาในสื่อที่เป็นท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นในสื่อกระแสหลักหรือสื่อพลเมืองก็ตาม

ในประเด็นการกำกับดูแลสื่อแบบเป็นประชาธิปไตย คิมกล่าวว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม โดยไม่ใช่เพียงส่วนร่วมในแง่ของการกำหนดเนื้อหาเท่านั้น แต่รวมทั้งในแง่การออกแบบนโยบายกำกับดูแลสื่อด้วย

คิมยังเน้นย้ำด้วยว่า ในนโยบายกำกับดูแลสื่อ สิ่งที่จำเป็นอีกข้อซึ่งขาดไม่ได้คือการนำเอาแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนไปไว้ในกฎข้อบังคับด้วย และแนวคิดดังกล่าวก็ควรถูกเขียนเอาไว้อย่างชัดเจน

สื่อพลเมืองเกิดได้เมื่อโครงสร้างพื้นฐานพร้อม ชุมชนมีความสามารถ และมีกฎหมายที่ไม่จำกัดสิทธิ

ดอนนี บี.ยู. (Donny B.U.) กรรมการบริหาร Indonesia ICT Partnership (ICT Watch) และผู้ก่อตั้งโครงการ Internet Sehat ซึ่งรณรงค์ด้านอินเทอร์เน็ตปลอดภัยและการคุ้มครองเยาวชนในโลกออนไลน์ ประเทศอินโดนีเซียกล่าวว่า แม้อินโดนีเซียจะมีสื่อจำนวนมาก แต่ความหลากหลายของเนื้อหายังมีน้อย เขามองว่าสื่อพลเมืองจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้

อย่างไรก็ตาม ในสภาพความเป็นจริงของอินโดนีเซีย หลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อินเทอร์เน็ตรองรับ ดังนั้นสิ่งที่อินโดนีเซียจำเป็นต้องทำคือ 1.พัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน 2.พัฒนาความสามารถของชุมชน ในการนี้ เขาเห็นว่า ภาคประชาสังคมเป็นผู้มีบทบาทอย่างยิ่งในการผลักดันสองสิ่งนี้และไม่ปล่อยให้การกำหนดการพัฒนาดังกล่าวเป็นไปแบบบนลงล่าง (top-down) โดยการจะทำเช่นนั้นได้ ภาคประชาสังคมต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์อย่างมากในการทำงานผลักดันดังกล่าว

นอกจากโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ความสามารถของชุมชนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะหากมีเพียงโครงสร้างพื้นฐานให้ใช้ แต่คนในชุมชนไม่สามารถผลิตเนื้อหาเองได้ก็จะไม่มีประโยชน์

นอกจากนี้ เรื่องของกฎหมายก็สำคัญไม่แพ้กัน บี.ยู.กล่าวโดยยกกฎหมายไอซีทีในอินโดเนียเซีย เขากล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวมักถูกใช้เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพในข้อมูลข่าวสาร ที่ผ่านมามีคนจำนวนมากถูกจับกุมด้วยกฎหมายดังกล่าวจากการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารบางอย่าง ดังนั้น นอกเหนือจากโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาความสามารถชุมชน การปรับปรุงกฎหมายก็เป็นสิ่งสำคัญ

โดยที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมได้เชิญตัวแทนรัฐบาลมาพูดคุยถึงปัญหาของกฎหมาย และตอนนี้รัฐบาลก็ได้ตัดสินใจที่จะแก้ไขกฎหมายแล้ว บี.ยู.ทิ้งท้ายว่า การที่พูดคุยทำความเข้าใจและทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมกับรัฐบาลเป็นแนวทางหนึ่งที่อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีได้

อินเทอร์เน็ตสำคัญต่อสื่อพลเมือง ทำไมเราไม่เข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายเน็ต

ในตอนหนึ่งของการเสวนา บี.ยู.ยังได้เอ่ยถึงประเด็นการอภิบาลอินเทอร์เน็ต (internet governance) ด้วยว่า ในการเป็นสื่อพลเมือง เรามักเห็นว่าอินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ดังนั้น เราก็ควรต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในนโยบายอินเทอร์เน็ต หรือมีส่วนร่วมใน “การอภิบาลอินเทอร์เน็ต”

ซึ่งเมื่อวานนี้ (23 ก.ค.) ตนได้ไปร่วมงาน “เวทีระดับชาติว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ตของไทย” (Thailand National Internet Governance Forum) ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแม้ว่าตนจะไม่เข้าใจรายละเอียดประเด็นถกเถียงกัน เนื่องจากเวทีดังกล่าวใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร แต่ก็ได้เห็นบรรยากาศการแลกเปลี่ยนที่ดูมีสีสันและผู้เข้าร่วมดูกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วม ตนมองว่านี่เป็นการเริ่มต้นที่ดีที่ประเทศไทยจะได้เริ่มถกเถียงกันถึงประเด็นนโยบายอินเทอร์เน็ต

คิมกล่าวเสริมในประเด็นการอภิบาลอินเทอร์เน็ตของเกาหลีใต้ว่า แม้ว่าเกาหลีใต้จะเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางเทคโนโลยีสูงมาก แต่เรื่องการอภิบาลอินเทอร์เน็ตก็ยังเป็นประเด็นที่ใหม่มาก

ข่าวเพิ่มเติม

Tags: , , , , , , , , , ,
%d bloggers like this: