Digital Weekly: 29 พ.ค.- 4 มิ.ย.2558 สรุปข่าวนโยบายดิจิทัลรอบสัปดาห์

2015.06.05 14:20

สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: ครม.อนุมัติ 22 หน่วยงานความมั่นคงเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนราษฎร-ภาพใบหน้ากับคอมพิวเตอร์กระทรวงมหาดไทย/ สนช.ยืดพิจารณาร่างกฎหมายตั้งกระทรวงดิจิทัลออกไป 30 วัน รอกระทรวงไอซีทีแจงรายละเอียดเพิ่ม-เถียงไม่ตกเรื่องชื่อและโครงสร้างกระทรวง/ ป.ป.ช.ไม่รับคำร้องคดีสติ๊กเกอร์ LINE ค่านิยม 12 ประการไว้ไต่สวน ชี้ราคา 7 ล้านบาทไม่แพงเกินจริง/ กสทช.เสนอกระทรวงการคลังใช้หนี้คืนภายใน 3 ปี กรณียืมเงินกองทุนพัฒนาโครงการจัดการน้ำและระบบขนส่ง/ กสทช.-อสมท.เห็นพ้อง ใช้ ม.44 เยียวยาการคืนคลื่น/ ประธานทีดีอาร์ไอชี้ กองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ จะเปิดช่องให้ใช้เงินอย่างไม่โปร่งใส/ กระทรวงไอซีทีเตรียมจัดตั้งบริษัทบรอดแบนด์แห่งชาติ/ ดีแทคอุทธรณ์เดินหน้าติดตั้งอุปกรณ์ 3จี/ จับผู้ต้องหา นำข้อมูลบัตรเครดิตผู้อื่นไปซื้อบัตรทรูมันนี่ ก่อนนำไปขายต่อเป็นเงินสด

ครม.อนุมัติให้ 22 หน่วยงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานความมั่นคง สามารถเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนราษฎรที่มีหน้าคนประกอบ เข้ากับข้อมูลทะเบียนราษฎรในระบบคอมพิวเตอร์ของกระทรวงมหาดไทย (2 มิ.ย.58)

ครม.อนุมัติให้ 22 หน่วยงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานความมั่นคง สามารถเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนราษฎรที่มีหน้าคนประกอบ เข้ากับข้อมูลทะเบียนราษฎรในระบบคอมพิวเตอร์ของกระทรวงมหาดไทย (2 มิ.ย.58)

29 พฤษภาคม 2558

กสทช.-อสมท.เห็นพ้อง ใช้ ม.44 เยียวยาการคืนคลื่น

[มติชนออนไลน์รายงานย้อนหลังของวันที่ 28 พ.ค. 2558] กสทช.และ อสมท.เห็นพ้องกันว่าควรเสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เยียวยาการนำคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 35 เมกะเฮิรตซ์คืนจาก อสมท.เพื่อไปจัดสรรสำหรับให้บริการ 4 จี ด้านฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. ระบุว่า ก่อนหน้านี้ อสมท. เคยแจ้งเงินในการขอเยียวยาในเบื้องต้นว่าต้องไม่ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมค่าเยียวยาที่ อสมท. ต้องนำไปชดเชยให้กับเอกชนที่ได้จ่ายค่าสัญญาสัมปทานที่ อสมท. ได้ทำไว้กับบริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด และบริษัท กสท โทรคมนาคม ตั้งแต่ปี 2553

ที่มา: มติชนออนไลน์ 

จับผู้ต้องหา นำข้อมูลบัตรเครดิตผู้อื่นไปซื้อบัตรทรูมันนี่ ก่อนนำบัตรทรูมันนี่ไปขายต่อเป็นเงินสด

เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เข้าจับกุมนายสุริยันต์ ชัยสดมภ์ หลังบริษัท อยุธยาแคปปิตอล เซอร์วิสเซล จำกัด เข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ว่าถูกคนร้ายซึ่งใช้ข้อมูลบัตรเครดิตของบริษัทที่ออกให้ลูกค้าจำนวน 59 ใบ ไปใช้ชำระหนี้สินบัตรเงินสดทรูมันนี่ จำนวน 2,630 ใบ มูลค่าความเสียหายกว่า 1.8 ล้านบาท นายสุริยันต์ให้การสารภาพว่า ตนพบว่ามีการประกาศขายข้อมูลบัตรเครดิตของผู้อื่นเกือบทุกธนาคารทั่วโลกผ่านเว็บไซต์จำนวนกว่า 20 ล้านข้อมูล โดยขายในราคาข้อมูลละ 6-20 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 210-700 บาท จึงสุ่มเลือกซื้อข้อมูลบัตรเครดิตมาก่อนนำข้อมูลบัตรเครดิตไปซื้อบัตรทรูมันนี่แล้วนำรหัสทรูมันนี่ไปขายต่อเป็นเงินสด ด้านเจ้าหน้าที่ บก.ปอท ระบุ ข้อมูลรหัสบัตรเครดิตที่ผู้ต้องหาได้มา ส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลที่ได้มาจากเครือข่ายอาชญากรคอมพิวเตอร์ในต่างประเทศ ที่เจาะข้อมูลจากผู้ใช้งานในคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนทั่วโลก เบื้องต้นเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหานายสุริยันต์ว่าใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และได้ควบคุมตัวไว้เพื่อนำไปดำเนินคดีตามกฎหมาย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

31 พฤษภาคม 2558

ประธานทีดีอาร์ไอชี้ กองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ จะเปิดช่องให้ใช้เงินอย่างไม่โปร่งใส

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วิพากษ์วิจารณ์การจัดตั้งกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ…. (สถานะปัจจุบันของร่างกฎหมายคือ ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และจะกลับเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้) ว่า การจัดตั้งกองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ เป็นเรื่องไม่จำเป็น ทั้งยังเปิดช่องการแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบและสร้างบรรทัดฐานที่ผิด โดยปัญหาที่จะเกิดจากการมีกองทุนเศรษฐกิจดิจิทัลมีได้แก่ 1. เปิดช่องให้มีการใช้จ่ายเงินอย่างไม่โปร่งใสจากดุลพินิจของรัฐบาล โดยไม่มีการตรวจสอบโดยฝ่ายค้าน 2.การใช้เงินกองทุนฯ น่าจะไม่มีประสิทธิภาพ เพราะไม่มีกลไกใด ๆ นอกจากคณะกรรมการกองทุนตรวจสอบเพื่อตัดโครงการที่ไม่เป็นประโยชน์ออกไป 3.ไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องตั้งกองทุนเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะหากรัฐบาลต้องการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลแท้จริง เพราะถือเป็นนโยบายสำคัญ รัฐบาลก็สามารถตั้งโครงการที่เหมาะสมและจัดสรรงบประมาณให้อย่างเพียงพอตามกระบวนการงบประมาณได้อยู่แล้ว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

1 มิถุนายน 2558

กสทช.เสนอกระทรวงการคลังใช้หนี้คืนภายใน 3 ปี กรณียืมเงินกองทุนพัฒนาโครงการจัดการน้ำและระบบขนส่ง

สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ยืมเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ของกสทช. จำนวน 14,300 ล้านบาท ไปใช้ในโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2558 ที่ผ่านมานั้น ล่าสุด ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.เปิดเผยว่า ระหว่างนี้กสทช.กำลังอยู่ระหว่างพูดคุยรายละเอียดการดำเนินการกับกระทรวงการคลัง โดยเบื้องต้น กสทช.เสนอให้แบ่งชำระเงินคืนภายใน 3 ปี ซึ่งอาจแบ่งชำระเงินงวดแรก จำนวนกว่า 1,000 ล้านบาท งวดที่ประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท และงวดที่ 3 ประมาณกว่า 9,000 ล้านบาท

ที่มา: ไทยโพสต์

2 มิถุนายน 2558

ครม.อนุมัติ 22 หน่วยงานความมั่นคงเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนราษฎร-ภาพใบหน้า กับคอมพิวเตอร์กระทรวงมหาดไทยได้

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้หน่วยงานของรัฐ 22 หน่วยงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานความมั่นคง เชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนราษฎรที่มีหน้าคนประกอบ เข้ากับข้อมูลทะเบียนราษฎรในระบบคอมพิวเตอร์ของกระทรวงมหาดไทย จากเดิมที่อนุญาตให้เชื่อมโยงได้เฉพาะข้อมูลที่ปรากฏภายในทะเบียนบ้าน ทะเบียนคนเกิด หรือทะเบียนคนตายเท่านั้น (ทะเบียนตามมาตรา 15 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ. การทะเบียนราษฎร 2534) โดยให้เหตุผลว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีภัยคุกคามรูปแบบใหม่และต้องเผชิญกับปัญหาที่มีความซับซ้อน หน่วยงานด้านความมั่นคงทุกหน่วยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเชื่อมโยงข้อมูลกับทะเบียนราษฎรเพื่อสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และประชาชนไม่ต้องตระหนกตกใจ เพราะข้อมูลส่วนนี้ประชาชนได้เปิดเผยต่อกรมการปกครองอยู่แล้ว

สำหรับหน่วยงานรัฐทั้ง 22 แห่งดังกล่าวประกอบด้วย 1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2. กองบัญชาการกองทัพไทย 3. สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี 4. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 5. สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (กรมการกงสุล) 6. กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง 7. กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน 8. สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ 9. องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 10. โรงพยาบาลศิริราช 11. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 12. กรมกำลังพลทหารอากาศ กระทรวงกลาโหม 13. กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง 14. ธนาคารแห่งประเทศไทย 15. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 16. สำนักงานศาลยุติธรรม 17. โรงพยาบาลรามาธิบดี 18. กรมที่ดิน มท. 19. กองทัพเรือ (กรมข่าวทหารเรือ) 20. โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 21. สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย 22. สำนักราชเลขาธิการ

ที่มา: ประชาไท, มติชนออนไลน์, ผู้จัดการออนไลน์

ดีแทคอุทธรณ์เดินหน้าติดตั้งอุปกรณ์ 3จี

บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด หรือ ดีแทคเตรียมอุทธรณ์ต่อศาลปกครองกลางภายใน 30 วันนี้ เพื่อให้สามารถเดินหน้าติดตั้งอุปกรณ์ 3 จีต่อไป หลังจากที่ศาลดังกล่าวสั่งคุ้มครองชั่วคราวกรณีที่บริษัท กสท โทรคมนาคม ยื่นคำร้องให้ดีแทคยุติการนำเสาและอุปกรณ์โทรคมนาคมไปให้บริษัทในเครือดีแทคใช้งาน เพราะตามสัญญาสัมปทานเสาและอุปกรณ์โทรคมนาคมเป็นกรรมสิทธิ์ของ กสท เท่านั้น ดีแทคให้เหตุผลว่า การห้ามไม่ให้นำอุปกรณ์ไปติดตั้งแก่รายอื่นถือเป็นอุปสรรคในการขัดขวางการขยายโครงข่ายที่ช่วยเหลือแผนเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลและยังขัดต่อนโยบายของ กสทช.เรื่องการเช่าใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (infrastructure sharing)

ที่มา: เดลินิวส์

เจ้าหน้าที่จับกุมโรงงานใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ บางโรงงานมีรายได้กว่า 3 พันล้านบาท/ปี

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เข้าค้นโรงงาน 4 แห่ง ในจังหวัดสมุทรปราการ ปทุมธานี และระยอง หลังจากได้รับแจ้งเหตุจากเพจเฟซบุ๊ก ecdpoliceth ว่าโรงงานดังกล่าวใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยหลังจากตรวจค้นพบว่า โรงงานที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวรวมถึงโรงงานผลิตเครื่องเขียนชื่อดังที่มีรายได้กว่า 400 ล้านบาทต่อปี และโรงงานผลิตรองเท้าชื่อดังที่มีรายได้รวมกว่า 3 พันล้านบาทต่อปีรวมอยู่ด้วย ทั้งนี้ พ.ต.อ.สรรักษ์ จูสนิท รองผบก.ปอศ. ระบุว่า การที่องค์กรธุรกิจใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายเป็นเรื่องที่รับไม่ได้และส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศ โดยไทยติดอยู่ในรายชื่อประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกาติดต่อกันเป็นปีที่ 8 แล้ว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

ผู้ฝากส่งพัสดุไปรษณีย์ต้องแสดงบัตรประชาชนทุกครั้ง

ไปรษณีย์ไทยกำหนดให้ผู้ฝากส่งพัสดุทางไปรษณีย์ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือหลักฐานประจำตัวของผู้ส่งหรือผู้ฝากส่งแก่พนักงานทุกครั้ง ซึ่งนโยบายใหม่นี้เป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันการลักลอบขนส่งยาเสพย์ติด ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2558) เรื่อง “แก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดประเภทสถานประกอบการที่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการ” (ประกาศ ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558) และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2558) เรื่อง “แก้ไขเพิ่มเติมมาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการ” (ประกาศ ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558) โดยประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ฉบับนี้ มีสาระสำคัญคือ กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการขนส่งสินค้าหรือพัสดุภัณฑ์ เป็นสถานประกอบการที่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการ และต้องให้ความร่วมมือดำเนินการโดยผู้ใช้บริการจะต้องแสดงหลักฐานประจำตัว เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ของผู้ฝากส่งหรือผู้ฝากส่งแทน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

3 มิถุนายน 2558

จับชาวเกาหลีเปิดเว็บพนันออนไลน์ เผยใช้ไทยเป็นฐานเพราะกฎหมายโทษเบากว่า

พล.ต.ต.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผบก.สปพ. พ.ต.อ.สำราญ นวลมา ผกก.สายตรวจ พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.มักกะสัน ร่วมกันเข้าจับกุมบ่อนพนันออนไลน์ในคอนโดหรูแห่งหนึ่ง บนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ พบชาวเกาหลีใต้ 2 คนนามว่า Park Changhyeong และ Choi Mingoo กำลังรับพนันออนไลน์อยู่หน้าคอมพิวเตอร์ โดยการจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่มีเบาะแสเกี่ยวกับชาวเกาหลีใต้ลักลอบเข้ามาเปิดฐานข้อมูลเพื่อรับแทงพนันออนไลน์ในเขตพื้นที่ในกรุงเทพ จึงได้ติดตามสืบสวนหาข้อมูลจากเว็บไซต์จนทราบเบาะแสของคนร้าย ผู้ต้องหาให้การสารภาพว่าส่วนใหญ่ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการคือชาวเกาหลีใต้ที่อยู่ในประเทศเกาหลีใต้ทั้งหมด ส่วนสาเหตุที่เลือกประเทศไทยเป็นฐานข้อมูลเพราะกฎหมายไทยมีโทษเบากว่าที่ประเทศเกาหลีใต้ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหา “ลักลอบเปิดให้มีการพนันออนไลน์โดยไม่ได้รับอนุญาต” ก่อนส่งให้พนักงานสอบสวน สน.มักกะสัน ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เคยจับกุมชาวเกาหลีที่ลักลอบเปิดรับแทงพนันกีฬาออนไลน์มาแล้ว  รวมทั้งได้เคยมีคำสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เนื่องจากความบกพร่องของการกวดขันจับกุมบ่อนการพนัน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดตัวแอปแจ้งเหตุร้าย “police i lert u” ดีกว่าระบบแจ้งเหตุด้วย 191

สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับบริษัทผลิตซอฟต์แวร์ไทยที่ชื่อ บริษัท เอนนี่แวร์ ทู โก เปิดตัวแอปพลิเคชั่น “police i lert u” ให้ประชาชนแจ้งเหตุด่วนผ่านสมาร์ทโฟนแทนการโทรเข้าเลขหมาย 191 โดยแอปดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาระบบ 191 ที่มักมีปัญหาคู่สายเต็มและต้องใช้เวลาในการส่งต่อข้อมูล โดยระบบของ “police i lert u” จะรับข้อมูลของผู้แจ้งเหตุพร้อมพิกัด รวมถึงเบอร์โทรศัพท์ของผู้แจ้งทันที สำหรับการใช้งาน ประชาชนต้องลงทะเบียนโดยใช้ชื่อ อีเมล และเบอร์โทรศัพท์ เพื่อป้องกันการแจ้งเหตุปลอม ในปัจจุบัน สถานีตำรวจทั่วกรุงเทพกว่า 88 แห่งและเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 5,000 นายได้ใช้งานแอปนี้แล้ว

ทั้งนี้ แอปพลิเคชั่น “police i lert u” เป็นหนึ่งในแอปตระกูล i lert u อื่นๆ ซึ่งเป็นแอปแจ้งเหตุด่วนที่ใช้กับบริษัทประกันและโรงพยาบาลต่างๆ แอปในตระกูลนี้ได้รับการดาวน์โหลดแล้วกว่า 700,000 ครั้ง

ที่มา: The Nation, ประชาชาติธุรกิจ

4 มิถุนายน 2558

กระทรวงไอซีทีเตรียมจัดตั้งบริษัทบรอดแบนด์แห่งชาติ

พรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มอบหมายให้ทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงไอซีทีคนใหม่รับผิดชอบดำเนินงานการจัดตั้งโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติ โดยจะจัดตั้งบริษัทกลางเพื่อรวมโครงข่ายจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บมจ.กสท โทรคมนาคม และบมจ.ทีโอที รวมทั้งโครงข่ายไฟเบอร์ออพติกของภาคเอกชน ได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และกลุ่มทรู โดยหน่วยงานเหล่านี้ต้องนำทรัพย์สินมารวมกันเพื่อให้บริษัทกลางที่รัฐบาลจะจัดตั้งขึ้นมาบริหารจัดการทำบรอดแบนด์แห่งชาติ แต่ละหน่วยงานจะได้ค่าตอบแทนเป็นการจัดสรรหุ้นในบริษัท เบื้องต้น บริษัทกลางที่จะจัดตั้งขึ้นนี้กำลังอยู่ระหว่างอยู่ระหว่างคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาและคาดว่าการคัดเลือกจะเสร็จไม่เกิน ก.ค.นี้

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

สนช.ยืดระยะเวลาพิจารณาร่างกฎหมายจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลฯ ออกไปอีก 30 วัน รอกระทรวงไอซีทีแจงรายละเอียดเพิ่ม ยังเถียงไม่ตกเรื่องชื่อและโครงสร้างกระทรวง

สมชาย แสวงการ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ซึ่งจะจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) เผยว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ขยายเวลาพิจารณาร่างกฎหมายตั้งกระทรวงของคณะกรรมาธิการ วาระที่ 2 (การพิจารณารายมาตรา) ออกไปอีก 30 วัน จากเดิมจะครบกำหนดในวันที่ 5 มิ.ย.เป็น 5 ก.ค.2558 เนื่องจากร่างกฎหมายยากแก่การพิจารณา เพราะสัมพันธ์กับชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลอีก 7 ฉบับ นอกจากนี้ กรรมาธิการยังไม่เห็นร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นร่างกฎหมายสำคัญที่ยังไม่เข้าสนช. จึงต้องให้เวลากระทรวงไอซีทีมาอธิบายรายละเอียดให้เข้าใจตรงกัน อีกทั้งคณะกรรมาธิการยังคงถกเถียงกันใน 2 ส่วนหลักของกฎหมาย คือชื่อกระทรวงและโครงสร้างกระทรวงใหม่ โดยในข้อหลัง คณะกรรมาธิการเห็นว่าหน่วยงานพิเศษที่จัดตั้งขึ้นนี้มีสิทธิประโยชน์มากกว่าราชการทั่วไป จึงต้องให้มีกลไกตรวจสอบและประเมินผล ซึ่งทั้งหมดนี้ กรรมาธิการจะเร่งพิจารณาเพื่อให้ทันบังคับใช้เดือน ส.ค. 2558

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

ป.ป.ช.ไม่รับคำร้องคดีสติ๊กเกอร์ LINE ค่านิยม 12 ประการไว้ไต่สวน ชี้ราคา 7 ล้านบาทไม่แพงเกินจริง

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติไม่รับคำร้องคดีกล่าวหาพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที และคณะกรรมการกำหนดขอบเขตของงานและราคากลาง ว่าทุจริตโครงการจ้างเหมาจัดทำสติ๊กเกอร์ไลน์ โดยจัดซื้อในราคาแพงเกินจริง ซึ่งทางคณะกรรมการป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า ราคากลางที่ทางคณะกรรมการฯ ประกาศ ไม่ได้มีราคาที่สูงเกินไป เพราะเป็นราคาที่บริษัท Line Company (ประเทศไทย) จำกัด เสนอให้กับลูกค้าโดยตรงและผ่านทางตัวแทน และเหตุที่ต้องจัดจ้างวิธีพิเศษเพราะต้องเร่งรีบดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโครงการจ้างเหมาทำสติ๊กเกอร์ไลน์ เผยแพร่ค่านิยม 12 ประการของรัฐบาล โดยไอซีที ได้ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ช่วงปลายปี 2557 เพราะมีการกำหนดราคากลางไว้สูงถึง 7,117,353 บาท โดยผู้ที่ได้รับการว่าจ้างได้แก่บริษัท ไทยทีวีพูล จำกัด ที่มายื่นเสนอราคาเพียงรายเดียว ที่ 7,117,000 บาท

ที่มา: ไทยพับลิก้า

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , ,
%d bloggers like this: