เปิดข้อเสนอการกำกับกิจการสื่อใหม่ ต้องส่งเสริมการแข่งขันเต็มที่

2015.06.16 12:16

ระดมความเห็นผู้เกี่ยวข้องต่อการกำกับกิจการสื่อใหม่ยุคหลอมรวมเทคโนโลยี ตัวแทนวอยซ์ทีวีหนุนเสรีกิจการสื่อ พีซทีวีถามหาความชอบธรรมของผู้กำกับกิจการ บรรณาธิการประชาไทชี้ต้องส่งเสริมการแข่งขัน สร้างบรรยากาศการถกเถียงในสังคม

media-convergence-regulation

เมื่อวันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชนได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ เรื่องข้อเสนอและกรอบเวลาส่งเสริมการกำกับกันเองของสื่อใหม่ในยุคหลอมรวม ณ โรงแรมเอทัส กรุงเทพ

โดยช่วงแรกของงานเป็นการนำเสนอข้อเสนอเพื่อการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง โดยทีมวิจัยโครงการศึกษาแนวทางการส่งเสริมจริยธรรมจรรยาบรรณและการกํากับดูแลสื่อใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี ก่อนที่จะเปิดเวทีระดมความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

ทำไมต้องหาโมเดลใหม่มากำกับสื่อใหม่ยุคหลอมรวมเทคโนโลยี

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล หนึ่งในคณะผู้วิจัยกล่าวนำเสนอว่า การกำกับกิจการสื่อของไทยในปัจจุบันใช้การกำกับแยกตามประเภทของช่องทาง เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ใช้พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 สื่ออินเทอร์เน็ตใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ส่วนวิทยุและโทรทัศน์ใช้พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551

ทว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีสื่อหลอมรวมกันมากขึ้น เนื้อหาเดียวกันอาจปรากฎในหลายช่องทาง การกำกับกิจการแบบเดิมที่แต่ละช่องทางมีกฎไม่เหมือนกันจึงอาจมีปัญหา เช่น เนื้อหาอย่างหนึ่ง ถ้าปรากฎในทีวีจะมีความผิดอย่างหนึ่ง ถ้าปรากฎในอินเทอร์เน็ตจะมีความผิดอีกอย่างหนึ่ง ไม่เท่ากัน หรือกรณีหนังฉายบนโทรทัศน์ไม่ต้องผ่านกองเซ็นเซอร์ก่อนฉาย ในขณะที่หนังเรื่องเดียวกันที่จะฉายในโรงหนังต้องผ่านกองเซ็นเซอร์ก่อนฉาย

อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยกล่าวว่า ไม่จำเป็นว่าทุกสื่อต้องถูกกำกับเสียทั้งหมด อีกทั้งกิจการสื่อนั้นก็มีหลากหลาย รวมถึงประเด็นที่ต้องการกำกับก็มีหลายอย่าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีได้หลายหน่วยงานทำงานในแต่ละส่วน และไม่จำเป็นต้องเป็นกสทช.หน่วยงานเดียว

โดยสำคัญของการกำกับดูแลสื่อใหม่คือ ใครจะเป็นผู้กำกับ กำกับอะไร และกำกับอย่างไร

สำหรับคำถามที่ว่า ใครควรจะเป็นผู้กำกับนั้น ผู้วิจัยกล่าวว่า การกำกับดูแลสื่อแบ่งเป็น 3 แบบคือ การกำกับฝ่ายเดียวหรือกำกับดูแลตัวเอง (ผู้กำกับและถูกกำกับเป็นคนเดียวกัน), การกำกับสองฝ่าย ซึ่งมีผู้กำกับและผู้ถูกกำกับ, และการกำกับสามฝ่าย ซึ่งมีผู้กำกับ ผู้ถูกกำกับ และคนกลางซึ่งมักเล่นบทบาทผู้ตรวจสอบ โดยแนวโน้มการกำกับสื่อในโลกต่างเป็นไปในแบบที่สาม และการกำกับดูแลสื่อของไทยก็เป็นแบบที่สามเช่นกัน นั่นคือ รัฐเป็นผู้กำกับเอกชน โดยมี กสทช.เป็นคนกลางที่เล่นบทบาทผู้ตรวจสอบ

ส่วนสิ่งที่จะถูกกำกับ ก็เช่น ราคา การเข้าสู่และออกจากตลาด เนื้อหา พฤติกรรม และการใช้ทรัพยากร

นอกจากนี้ สำหรับข้อเสนอเบื้องต้นสำหรับการกำกับกิจการสื่อใหม่ ผู้วิจัยเสนอว่าควรพิจารณาประเด็นเหล่านี้ คือ การแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ผลกระทบทางสังคม เช่น ช่องว่างทางทักษะดิจิทัลและความเป็นส่วนตัว การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาและประกันคุณภาพบริการ และต้องคำนึงถึงโอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน

โดยในเรื่องการส่งเสริมการแข่งขันนั้น ทีมวิจัยมีข้อเสนอด้วยว่า เนื่องจากในปัจจุบัน กสทช.มีบทบาทน้อยมากในเรื่องการส่งเสริมการแข่งขัน ซึ่งเป็นไปได้ว่า กสทช.อาจไม่ถนัดในเรื่องนี้ ดังนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ส่งเสริมและกำกับการแข่งขันกิจการในสื่อใหม่แทน ทีมวิจัยยังเสนอด้วยว่า การส่งเสริมการแข่งขันควรควรส่งเสริมให้มีผู้เล่นหน้าใหม่จากในประเทศและต่างประเทศ  โดยการให้ผู้เล่นหน้าใหม่ที่มีศักยภาพจากต่างประเทศเข้ามาจะส่งผลดีกับประเทศ

เปิดฟลอร์: วอยซ์ทีวีหนุนเปิดให้ต่างชาติเข้ามาในตลาด พีซทีวีถามหาความชอบธรรมของผู้กำกับดูแลสื่อ

ธีรัตถ์ รัตนเสวี ผู้บริหารวอยซ์ทีวีให้ความเห็นว่า ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอที่เปิดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาในตลาดมากขึ้น (เข้ามาถือหุ้นในกิจการสื่อ) ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ทำให้สื่อมีเนื้อหาที่หลากหลายขึ้น โดยต่างชาติที่เข้ามายังคงต้องทำตามกฎหมายในประเทศไทยอยู่

ขณะที่การกำกับดูแล ธีรัตถ์กล่าวว่า เรื่องเนื้อหาควรให้สื่อกำกับดูแลกันเอง โดยกสทช.ควรมีบทบาทเพียงคอยดูแลผังรายการ แต่ตนยังเห็นด้วยกับการต้องกำกับเนื้อหาประเภทโฆษณาอยู่ ทั้งนี้ก็เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

นอกจากนี้ ธีรัตถ์กล่าวด้วยว่า ไม่ควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตอย่างเจาะจงเกินไป เช่น กำหนดว่าสื่อบนเทคโนโลยีนี้ต้องถูกบังคับให้ดำเนินการได้เท่านี้ แต่ควรคำนึงถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

ทางด้านบูรพา เล็กล้วนงาม บรรณาธิการข่าวพีซทีวี (Peace TV) ตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของรัฐหรือหน่วยงานที่จะมากำกับดูแลสื่อ ว่าหน่วยงานเหล่านี้มีความชอบธรรมมากแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากกระบวนการประชาธิปไตย รัฐบาลซึ่งมีที่มาเช่นนี้ย่อมไม่อยากฟังเสียงของผู้เห็นต่าง การจะให้รัฐในขณะนี้มากำกับดูแลสื่อจึงขาดความชอบธรรม บูรพายังกล่าวด้วยว่า แทนที่จะมาหากลไกกำกับกิจการสื่อ สิ่งที่เราต้องการในตอนนี้คือหากลไกที่จะทำให้สื่อมีเสรีภาพในการทำงานเสียก่อน

ทางด้านชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไทกล่าวว่า สื่อใหม่แตกต่างจากสื่อเดิมและต้องการรูปแบบการกำกับที่ต่างจากเดิมด้วย ซึ่งสิ่งที่สำคัญในการกำกับดูแลสื่อใหม่คือต้องสร้างกลไกให้ประชาชนสามารถตรวจสอบสื่อได้ เช่นการให้แต่ช่องมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียน (call center) ของตัวเอง

ชูวัสมองการส่งเสริมการแข่งขันโดยเปิดโอกาสให้ผู้เล่นหน้าใหม่จากต่างชาติเข้ามาด้วยว่า ตนสนับสนุนในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะทั้งผู้เล่นหน้าใหม่ในประเทศและต่างประเทศ เพราะในยุคเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป อนาคตผู้ชมจะดูทีวีผ่านสมาร์ตทีวีมากขึ้น ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ที่คนจะบริโภคผ่านสมาร์ตทีวีคือเนื้อหาในยูทูบ “แล้วเช่นนี้คุณจะไปห้ามต่างชาติทำไม” ชูวัสมองว่าควรต้องส่งเสริมการแข่งขันให้เต็มที่ อันจะส่งผลให้เกิดการถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ และจะทำให้ผู้บริโภคแข็งแรงขึ้น

—-

ติดต่อคณะวิจัยได้ทางอีเมล jiranan@prachatai.com

มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน ชั้น 1 อาคารมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
409 ซอยประชาราษฎร์บำเพ็ญ 5 เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10320

Tags: , ,
%d bloggers like this: