Digital Weekly: 16-22 พ.ค. 2558 สรุปข่าวนโยบายดิจิทัลรอบสัปดาห์

2015.05.22 18:01

สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: อดีต รมว.ไอซีทีปัดทุจริตโครงการทีโอที/ ครม.ผ่านร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์ซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์/ รายงานต่างชาติระบุ นโยบายโมบายบรอดแบนด์ที่เหมาะสมสามารถเพิ่มจีดีพีได้ 766 พันล้าน/ เฟซบุ๊กรับสมัคร Head of Thailand/ บริษัทจีนเข้าพบรองนายกฯ สนใจร่วมพัฒนาบรอดแบนด์และดาต้าเซ็นเตอร์/ เนคเทคเปิดตัวระบบรู้จำเสียงพูดภาษาไทย เริ่มทดลองใช้ในการประชุมรัฐสภา/ กสทช.เคาะราคาประมูล 4 จี ก.ค.นี้ – จัดรับความคิดเห็นการปรับปรุงแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่/ เผยรายงาน ผลการดำเนินการและข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม

เดวิด ซุน ประธานบริหารบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าพบรองนายกฯ แสดงความสนใจลงทุนบรอดแบนด์และดาต้าเซ็นเตอร์ตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล (ที่มาภาพ: กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก)

เดวิด ซุน ประธานบริหารบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าพบรองนายกฯ แสดงความสนใจร่วมพัฒนาบรอดแบนด์และดาต้าเซ็นเตอร์ตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล (ที่มาภาพ: กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก)

17 พฤษภาคม 2558

อดีต รมว.ไอซีทีปัดทุจริตโครงการทีโอที

จุติ ไกรฤกษ์ อดีต รมว.กระทรวงไอซีที และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์คนปัจจุบัน เตรียมหลักฐานชี้แจงต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในสัปดาห์หน้า โดยยืนยันว่าตนไม่ได้ทุจริตโครงการยกเลิกการจัดซื้อบริษัทที่มีคลื่น และกรณีการจ้างบริษัทติดตั้งอุปกรณ์ 3 จีของทีโอที จุติชี้แจงว่า การดำเนินการทั้งหมดไม่ใช่การกระทำของรัฐมนตรี แต่เป็นการกระทำของคณะกรรมการการสื่อสารแห่งประเทศไทย (บอร์ด กสท.) และคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (บอร์ดทีโอที) ตามนโยบายที่ตนให้ไว้ว่าต้องเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประหยัดค่าใช้จ่าย จุติกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ บอร์ดทั้ง 2 ก็สามารถดำเนินการจัดการได้ดี โดยบอร์ด กสท.ดำเนินการให้มี 3 จีได้ในราคาที่ประหยัดกว่าเดิมที่เคยตกลงกัน ขณะที่บอร์ดทีโอทีก็สามารถจ้างบริษัทติดตั้งอุปกรณ์ 3 จีได้ในราคาถูกกว่าสมัยรัฐบาลก่อนหน้าด้วย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

18 พฤษภาคม 2558

บริษัทจีนเข้าพบรองนายกฯ สนใจร่วมพัฒนาบรอดแบนด์และดาต้าเซ็นเตอร์

เดวิด ซุน ประธานบริหารบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าพบ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี โดยแสดงความสนใจที่จะขยายความร่วมมือในการพัฒนาระบบสื่อสารดิจิทัลของไทย และแสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนการพัฒนาระบบบรอดแบนด์และดาต้าเซ็นเตอร์ ตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล ซึ่งระหว่างการเข้าพบ รองนายกรัฐมนตรียังได้เชิญชวนให้บริษัทมาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย โดยใช้ประโยชน์จากการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะทำให้อัตราการจัดเก็บภาษีภายในอาเซียนเท่ากับศูนย์ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนสินค้าของหัวเว่ยในอาเซียนมีราคาลดลง อนึ่ง ที่ผ่านมาผู้บริหารระดับสูงของบริษัทได้เคยเข้าพบเพื่อหารือกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างการเข้าร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและระหว่างการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีมาแล้ว

ที่มา: กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก

กสทช.เปิดรับความคิดเห็นการปรับปรุงแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่

ประชาชาติธุรกิจรายงานย้อนหลังว่า 6 พ.ค. 2558 ที่ผ่านมา กสทช.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ เพื่อปรับปรุงแผนแม่บทให้สอดคล้องกับข้อบังคับวิทยุระหว่างประเทศฉบับล่าสุดของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ก่อนเสนอให้คณะกรรมการกสทช.พิจารณาต่อ โดยคาดว่าแผนแม่บทใหม่จะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ราว ก.ค.นี้ ในเวทีรับฟังความคิดเห็นมีหลายประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมา อาทิ ประเด็นการบริหารคลื่นความถี่ย่าน 50-54 เมกะเฮิร์ตซ์ ย่าน 470-960 เมกะเฮิร์ตซ์ การใช้คลื่นสำหรับกิจการอากาศยานไร้คนขับ (โดรน)

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

19 พฤษภาคม 2558

ครม.ผ่านร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์ซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ครม.เห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์ซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกฎหมายจะให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อซากเหล่านี้ โดยให้ผู้ผลิตรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกำจัดซาก และผลักดันให้ผู้ผลิตปรับปรุงออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

เฟซบุ๊กประกาศรับสมัคร Head of Thailand

เฟซบุ๊กประกาศรับสมัครงานตำแหน่งหัวหน้างานประจำประเทศไทย (Head of Thailand) เพื่อมาดูแลกิจการในไทย หน้าที่งานคือดูแลยุทธศาสตร์ธุรกิจในประเทศไทยโดยรวม โดยเน้นไปที่งานด้านโฆษณาและการตลาด ทำงานร่วมกับเอเยนซี่และฝ่ายการตลาดของบริษัทต่างๆ ที่ซื้อโฆษณาในระบบของเฟซบุ๊ก คุณสมบัติของผู้สมัครคือต้องมีประสบการณ์ด้านการตลาดหรือโฆษณาออนไลน์นาน 10 ปีขึ้นไป มีประสบการณ์งานบริหารนาน 3 ปีขึ้นไป มีความรู้เกี่ยวกับโซเชียลมีเดีย เชี่ยวชาญภาษาไทยและอังกฤษ ฯลฯ

ที่มา: Blognone, เฟซบุ๊ก

กสทช.เคาะราคาประมูล 4 จี ก.ค.นี้

กสทช. เตรียมเคาะราคาประมูลคลื่นความถี่ 4 จี ในเดือน ก.ค.นี้ โดยให้สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) และสถาบันการศึกษาในประเทศร่วมกันประเมินราคาตั้งต้น ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการกสทช. คาดว่า ราคาตั้งต้นจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากราคาที่กำหนดไว้มากนัก โดยคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์กำหนดราคาไว้ที่ใบอนุญาตละ 1.16 หมื่นล้านบาท ส่วนคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์อยู่ที่ 1.12 หมื่นล้านบาท กสทช.ยังคาดด้วยว่า ผู้เข้าประมูลคลื่น 4 จีปลายปีนี้จะมีมากกว่า 3 ราย ทำให้การแข่งขันมีมากขึ้น

ที่มา: โพสต์ทูเดย์ วันที่ 19 พฤษภาคม 2558 

เนคเทคเปิดตัวระบบรู้จำเสียงพูดภาษาไทย เริ่มทดลองใช้ในการประชุมรัฐสภา

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดตัวระบบรู้จำเสียงพูดภาษาไทย หรือระบบ “พาที” (Party) ที่สามารถถอดเสียงภาษาไทยออกเป็นตัวอักษรได้ ประมวลคำศัพท์ได้มากกว่า 140,000 คำ โดยไม่จำกัดเนื้อหา มีความแม่นยำขั้นต่ำ 80% หลังจากที่ผ่านมาองค์กรภาครัฐและธุรกิจไทยที่ต้องการใช้งานระบบดังกล่าวต้องพึ่งพิงระบบที่พัฒนาโดยบริษัทต่างชาติเท่านั้น ทั้งนี้ พาทีอยู่ระหว่างการทดลองใช้งานในระบบของศาลและรัฐสภา เพื่อช่วยงานถอดเสียงการไต่สวนและการประชุมรัฐสภา และเปิดให้เอกชนที่สนใจติดต่อซื้อสิทธิใช้งาน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

20 พฤษภาคม 2558

เผยรายงาน ผลการดำเนินการและข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม

คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ชุด น.ส. สารี อ๋องสมหวัง ซึ่งเพิ่งหมดวาระลง ได้จัดทำรายงานผลการดำเนินการและข้อเสนอแนะให้กับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมชุดปัจจุบัน เพื่อปรับปรุงกระบวนการจัดการเรื่องร้องเรียน รายงานเสนอว่า กทค. ควรทำเรื่องร้องเรียนให้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาทั้งระบบเชิงนโยบาย โดยเฉพาะเรื่องร้องเรียนที่ผิดต่อประกาศอย่างชัดเจน ควรมีการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคที่จะสนับสนุนการรับเรื่องร้องเรียน กทค. ไม่ควรต้องเสียเวลาพิจารณาเรื่องร้องเรียนที่เป็นกรณีผิดกฎหมายอย่างชัดเจนอยู่แล้ว แต่ควรหันมาทำหน้าที่ออกหลักเกณฑ์หรือมาตรการใหม่เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่า

อ่านรายงานฉบับเต็ม http://nbtcrights.com/2015/05/5095

ที่มา: NBTC Rights

21 พฤษภาคม 2558

รายงานต่างชาติระบุ นโยบายโมบายบรอดแบนด์ที่เหมาะสมสามารถเพิ่มจีดีพีได้ 766 พันล้าน

รายงานของสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจมือถือสากลและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง หรือ GSMA ระบุ การมีนโยบายไอซีทีที่มีประสิทธิภาพของไทยจะสามารถผลักดันการเจริญเติบโตของจีดีพีได้ 766 พันล้านบาท รวมทั้งทำให้รัฐบาลสามารถบรรลุนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลได้ตามที่วางไว้ รายงานระบุด้วยว่า โมบายบรอดแบนด์เป็นปัจจัยที่สำคัญมากในเรื่องนี้ โดยรัฐบาลควรเร่งให้มีการนำคลื่นความถี่ 4 จีมาใช้งาน และมีนโยบายที่ส่งเสริมการแข่งขันและการลงทุนในตลาดโทรคมนาคม ขณะที่รายงาน “Building Thailand’s Digital Economy and Society” ของทีมวิจัยจาก Analysys Mason กล่าวถึงนโยบายหลักที่จะทำให้โมบายบรอดแบนด์ในประเทศพัฒนาได้อย่างประสบผลสำเร็จ ซึ่งมีอาทิ ต้องมีการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม โดยเปลี่ยนจากระบบสัมปทานไปเป็นระบบใบอนุญาต ต้องทำให้กสทช.เป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระ ทั้งโครงสร้างและการทำงานอยู่แยกออกมาจากรัฐบาล และมีหน้าที่การทำงานที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน

ที่มา: The Nation

 

Tags: , , , , , , , , , , , , , ,
%d bloggers like this: