2015.04.04 16:59
สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: เตรียมจับตามาตรา 44 กับผลกระทบต่อสิทธิบนอินเทอร์เน็ต / Snapchat เผยรายงานความโปร่งใส ไม่พบไทยส่งคำร้องขอข้อมูลหรือให้ปิดกั้นเนื้อหา / ประมูล 4 จี คลื่น 1800 ได้ฤกษ์เดือนพ.ย.ปีนี้ ด้านกรรมการกสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค เสนอปรับเงื่อนไขการประมูล 4 ประเด็น / สรอ.ตั้งคณะกรรมการ Internet of Things / กระทรวงวิทย์ฯ จับมือเอกชนจัดแข่งขันออกแบบ 3D Printing ผู้ชนะได้รางวัลชมงาน Maker Faire ที่โตเกียว
31 มีนาคม 2558
กรรมการกสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค เสนอปรับเงื่อนไขการประมูล 4 จี
ตามที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีมติให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ หลังได้รับความเห็นชอบให้เดินหน้าการประมูลจากคณะรัฐมนตรีนั้น น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา หนึ่งในกรรมการกสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคได้เสนอให้สำนักงานกสทช.แก้เงื่อนไขการประมูล 4 จี ใน 4 ประเด็นได้แก่ 1. ควรจ้างหน่วยงานภายในอีกหนึ่งแห่งหรือนักวิชาการอิสระ มาประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ นอกเหนือจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) เพื่อความโปร่งใส 2. ควรแก้ไขเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่บริการ 4 จี ให้ครอบคลุมกว่านี้ 3. ควรกำหนดอัตราความเร็วขั้นต่ำของการให้บริการหากอยู่บนเทคโนโลยี 4 จี เลย ไม่ใช่ว่าพอหมดแพ็กเกจแล้วความเร็ว 4จี จะให้บริการในระดับต่ำ คือ 64 กิโลบิตเท่านั้น 4. ควรกำหนดอัตราค่าบริการไว้ในเงื่อนไขการประมูลเลย
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
1 เมษายน 2558
รัฐบาลประกาศใช้ ม.44 แทนกฎอัยการศึก
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เข้าควบคุมสถานการณ์ในบ้านเมืองแทนที่กฎอัยการศึก หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึก โดยมาตราดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังจากที่ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ท่ามกลางความเป็นห่วงจากนานาประเทศ ซึ่งมองว่าอำนาจที่ได้มาจากมาตราดังกล่าวจะยิ่งทำให้สถานการณ์ภายในประเทศเลวร้ายลง
ทั้งนี้ เครือข่ายพลเมืองเน็ตจะคอยติดตามเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ว่าจะส่งผลกระทบต่อสิทธิความเป็นส่วนตัว สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิมนุษยชนทางอินเทอร์เน็ตอย่างไรต่อไป
ที่มา: เดลินิวส์
ประเทศไทยจัดตั้งคณะกรรมการ Internet of Things
การแต่งตั้งคณะกรรมการ Internet of Things โดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 58 โดยมีนายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสรอ.เป็นประธานกรรมการ คณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่หลักได้แก่ ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ Internet of Things (IoT) เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนา IoT ของภาครัฐ จัดทำมาตรฐานด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์กับอุปกรณ์ (device to device) และวิเคราะห์ผลกระทบจากการใช้งานอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับ IoT
ที่มา: คำสั่งสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ที่ 10/2558 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการ Internet of Things
2 เมษายน 2558
เคาะวันประมูล 4 จี คลื่น 1800 ประมูลพ.ย.ปีนี้
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.เผยว่า คนไทยจะได้ใช้บริการ 4 จีภายในไตรมาสแรกของปีหน้าอย่างแน่นอน เนื่องจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์แล้ว โดยการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์จะประมูลในวันที่ 11 พ.ย.ปีนี้ จำนวน 2 ใบอนุญาต ส่วนคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์จะประมูลในวันที่ 15 ธ.ค.ปีนี้ จำนวน 2 ใบอนุญาตเช่นกัน โดยเตรียมงบประมาณจัดประมูลไว้ครั้งละ 50 ล้านบาท
- คณะรัฐมนตรีได้ให้หลักการในการจัดประมูลไว้ว่า 1. ต้องเป็นไปตามกฎหมาย 2. รัฐได้ประโยชน์สูงสุดสอดคล้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล 3.ผู้ใช้บริการต้องไม่โดนเอาเปรียบ 3. นำปัญหาในการประมูลครั้งก่อนมาแก้ไข
- กสทช.ยังจะเร่งทำเกณฑ์ “สเป็กตรัมแคป” ที่ห้ามไม่ให้ผู้บริการแต่ละรายถือครองคลื่นความถี่ทุกย่านรวมกันเกิน 45 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อป้องกันการผูกขาดและทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่มีโอกาสเข้ามาแข่งขันในตลาด
- จะมีการเตรียมการเพื่อเจรจาขอคืนคลื่นย่านอื่นๆ มาจัดสรรใหม่ รวมถึงพิจารณาจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชยการเรียกคืนคลื่นด้วย
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
Snapchat เผยรายงานความโปร่งใส ไม่พบไทยส่งคำร้องขอข้อมูลหรือให้ปิดกั้นเนื้อหา
สแน็ปแชต (Snapchat) บริการเครือข่ายสังคม เปิดเผยรายงานความโปร่งใสเกี่ยวกับคำร้องขอข้อมูลผู้ใช้จากรัฐบาลสหรัฐและหน่วยงานด้านกฎหมายทั่วโลก โดยรายงานระบุว่า ประเทศไทยไม่ได้ส่งคำร้องขอข้อมูลของผู้ใช้หรือขอให้มีการปิดกั้นข้อความใดๆ ทั้งนี้ ในระหว่างวันที่ 1 พ.ย.ปีที่แล้วจนถึงวันที่ 28 ก.พ.ปีนี้ บริษัทได้รับคำร้องจำนวน 375 คำร้องจากเจ้าหน้าที่กฎหมายของสหรัฐฯ และได้รับคำร้องจำนวน 28 คำร้องจากสหราชอาณาจักร เบลเยียม ฝรั่งเศส แคนาดา ไอร์แลนด์ ฮังการี และนอร์เวย์ โดยคำร้องส่วนใหญ่มาในรูปของหมายศาลและคำสั่งศาล และมีเพียงส่วนน้อยที่มาในรูปของคำร้องฉุกเฉิน
สแน็ปแชตระบุด้วยว่า บริษัทต่อต้านการกระทำของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายใดๆ ที่พยายามขอเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้ด้วยวิธีการ “ไม่เป็นทางการ” หรือ “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” (through backdoors) ทั้งระบุว่า ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยเป็นหัวใจหลักที่บริษัทให้ความสำคัญ ทั้งนี้ สแน็ปแชตได้ดำเนินการเช่นเดียวกับผู้ให้บริการเอกชนรายใหญ่อื่นๆ อย่าง กูเกิล ยาฮู เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และไมโครซอฟท์ ที่เปิดเผยรายงานความโปร่งใสต่อสาธารณชนเป็นระยะๆ
ที่มา: สำนักข่าวเอเอฟพี (อ้างจาก Bangkok Post)
3 เมษายน 2558
กระทรวงวิทย์ฯ จับมือเอกชนจัดแข่งขันออกแบบ 3D Printing
มีการเปิดตัวโครงการประกวดออกแบบนวัตกรรมการพิมพ์แบบสามมิติ (3D Printing) ภายใต้ชื่อ “Enjoy Science: Let’s Print the World’’ โดยความร่วมมือของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต โดยผู้ร่วมประกวดที่ได้รับคัดเลือกจะได้เข้ารับการอบรมการออกแบบผลงานด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติ และผู้ชนะจะได้รับตั๋วเครื่องบิน พร้อมที่พักเพื่อเข้าชมงาน Tokyo Maker Faire เทศกาลของนักประดิษฐ์และนักสร้างสรรค์ระดับโลก ที่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นและชุดเครื่องพิมพ์แบบสามมิติ รวมมูลค่า 200,000 บาท โดยผู้จัดระบุถึงจุดประสงค์ของการจัดโครงการว่า เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์เชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่เยาวชนและบุคคลทั่วไป และเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศ
ที่มา: ข่าวประชาสัมพันธ์ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
Tags: 3D printing, 4G, Digital Weekly, hard infrastructure, Internet of Things, Maker Faire, National Broadcasting and Telecommunications Commission, politics, privacy, security, Snapchat, telecom