2015.03.20 20:48
สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: กระทรวงวัฒนธรรมเตือน ถ่าย “เซลฟี่ครึ่งเต้า” เสี่ยงผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์/ คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลฯ ได้ฤกษ์เดินหน้าจัดสรร 4G ด้วยการ “ประมูล” ด้านสมเกียรติ ทีดีอาร์ไอระบุ คำว่า “ประมูล” ที่คณะกรรมการฯ ใช้ยังไม่ชัดเจนเมื่อดูจากร่างพ.ร.บ.กสทช.ล่าสุด/ ดีแทคและเอไอเอสชี้ปัญหาใช้คลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์อุปกรณ์มือถืออาจยังไม่รองรับ ด้านทรูอ้าแขนรับคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์/ เฟซบุ๊กปรับปรุง “Community Standards” ไม่ต้องใช้ชื่อจริงตามกฎหมายก็ได้ แต่ให้ใช้ชื่อเรียกในชีวิตจริง
16 มีนาคม 2558
เตือน! “เซลฟี่ครึ่งเต้า” ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ผอ.สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ออกมาให้ความเห็นต่อเทรนด์การถ่ายภาพเซลฟี่ครึ่งเต้า (Underboob Selfies) ว่า การกระทำดังกล่าวเสี่ยงที่จะมีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ฐานเผยแพร่ภาพลามกอนาจาร
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์
17 มีนาคม 2558
เฟซบุ๊กปรับปรุง “Community Standards” ไม่จำเป็นต้องตั้งชื่อบัญชีด้วยชื่อจริงตามกฎหมายหรือเอกสารทางการ แต่ใช้ชื่อที่เรียกกันทั่วไปในชีวิตจริงได้
Facebook ปรับปรุงเอกสาร Community Standards (เงื่อนไขการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนบน Facebook) โดยมีเนื้อหาสำคัญมี อาทิ การตั้งชื่อบัญชีผู้ใช้ต้องเป็นใช้ “ชื่อที่ใช้งานจริงๆ” (authentic name) เป็นที่รู้จักกันทั่วไป แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นชื่อตามกฎหมายหรือเอกสารทางการ, หากพบว่ามีบัญชีส่วนตัวมากกว่าหนึ่งบัญชี จะขอให้ปิดจนเหลือบัญชีเดียว, ห้ามโพสต์ภาพกราฟฟิกรุนแรง ภาพถ่ายที่มีอวัยวะเพศ บั้นท้ายแบบเต็ม หน้าอกที่เห็นหัวนม ส่วนภาพหน้าอกตอนให้นมลูก หน้าอกที่ผ่านการผ่าตัดเต้านมออก ภาพวาด รูปปั้น หรือศิลปะนู้ดโดยทั่วไปสามารถโพสต์ได้, ห้ามโพสต์เนื้อหาที่โจมตีบุคคลอื่นโดยเกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ประเทศถิ่นเกิด ศาสนา รสนิยมทางเพศ เพศหรือลักษณะบ่งชี้ทางเพศ อาการพิการหรืออาการป่วย
ที่มา: Blognone (ข่าวเรื่องบัญชีผู้ใช้, ข่าวเรื่องการห้ามโพสต์ข้อความหรือรูปถ่ายที่ไม่เหมาะสม)
รณรงค์ต้าน “การแบ่งแยกทางอิเล็กทรอนิกส์” ในกฎกระทรวงประกอบพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่
change.org เปิดรณรงค์ร่วมลงชื่อต่อต้านการแบ่งแยกทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเรียกร้องให้ตัดข้อ ๑(๑) ที่กำหนด “เป็นข้อมูลการบริหารสิทธิที่อยู่ในรูปอิเล็กทรอนิกส์” ออกจากร่างกฎกระทรวงประกอบพ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ ฉบับใหม่ ก่อนที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะปิดรับประชาพิจารณ์ในวันที่ 30 มีนาคม 2558 นี้ ผู้ริเริ่มรณรงค์ให้เหตุผลว่า ข้อมูลบริหารสิทธิไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม ควรได้รับการคุ้มครองและปฏิบัติโดยเท่าเทียมกัน และ “หากร่างดังกล่าวผ่านการพิจารณาและประกาศใช้นั่นหมายความว่า หนังสือที่ถูกเปลี่ยนปก รวมเล่ม ติดป้ายเลขหมู่หรือบาร์โค้ดทับข้อมูลบริหารสิทธิ หรือการแสกนหน้าปกของห้องสมุดและหอจดหมายเหตุที่มีอยู่จำนวนมาก ก็อาจเข้าข่ายการละเมิดข้อมูลบริหารสิทธิได้”
ครูร้อยเอ็ดใช้ยูทูป บล็อก SlideShare Google Doc เป็นเครื่องมือช่วยสอน
เดอะ เนชั่น ตีพิมพ์สกู๊ปพิเศษเกี่ยวกับวีรชัย มาตรหลุบเลา ครูโรงเรียนบ้านหนองย่างงัว ตำบลโหรา อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ทั้งยูทูป บล็อก และ SlideShare เป็นเครื่องมือช่วยสอนเป่าแคนให้กับนักเรียนและชาวต่างชาติที่สนใจ วีรชัยยังได้ใช้ Google Drive และ Google Doc เป็นเครื่องมือการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ ขณะที่ครูในโรงเรียนทั้ง 17 คนต่างก็ใช้ยูทูปเป็นเครื่องมือช่วยในการเรียนการสอนนักเรียนในโรงเรียนซึ่งมีอยู่ 340 คน (อ่าน รายงานของเดอะ เนชั่น)
ที่มา: The Nation
18 มีนาคม 2558
คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลฯ เปิดประชุมนัดแรก มีมติอนุมัติ 5 แผนงาน
คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลฯ เปิดประชุมนัดแรก มีมติอนุมัติ 5 แผนงานหลัก ดังนี้
1) อนุมัติแผนเครือข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (National Broadband) มีเป้าหมายให้ทุกบ้านสามารถเข้าถึงเครือข่ายได้ภายในปี 2560
2) อนุมัติแผนงานศูนย์ข้อมูลข่าวสาร (Data Center) 40-50 แห่ง สำหรับเก็บข้อมูลเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงกัน
3) อนุมัติแผนเตรียมการการค้าผ่านสื่อดิจิทัล สนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ใช้ระบบดิจิทัลในธุรกิจ
4) อนุมัติแผนเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้ตั้งคณะทำงานเบื้องต้นและให้หารือกับกระทรวงศึกษาธิการ
5) อนุมัติให้กสทช. เริ่มต้นประมูล 4G ทันที ซึ่งการประมูลไม่จำเป็นต้องยึดกับคลื่นความถี่ 900 หรือ 1,800 เมกะเฮิรตซ์เท่านั้น ส่วนรูปแบบประมูลยังเป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. แต่ต้องรายงานต่อคณะรัฐมนตรีทุกเดือนหลังจากนี้
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้อนุมัติมาตรการส่งเสริมเรื่อง 1.การลดสำเนากระดาษของหน่วยงานรัฐในการบริการประชาชน 2. เรื่องจัดทำข้อมูลการขอใบอนุญาตเผยแพร่ด้วย
ที่มา: กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก, ไทยพับลิก้า
คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลฯ ยันไม่ล้วงลูกเรื่องการประมูลคลื่นของกสทช. แต่ให้กสทช.ส่งรายงานต่อคณะกรรมการฯ ทุกเดือนด้วย
ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเผยว่า คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลฯ จะไม่เข้าไปยุ่งกับหน้าที่การประมูลคลื่น 4G ของกสทช. อย่างไรก็ตาม ก่อนที่กสทช.จะเปิดประมูลคลื่น 4G จะต้องรายงานความคืบหน้าให้คณะกรรมการฯ รับทราบทุกเดือน
ที่มา: วอยซ์ทีวี
19 มีนาคม 2558
องค์กรเด็กบุกสภา ค้านร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ
ตัวแทนสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน พร้อมด้วยเครือข่ายที่ทำงานด้านพัฒนาเด็กและเยาวชนกว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยี สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากกังวลว่ากฎหมายจะส่งผลกระทบโดยรวมต่อการสนับสนุนและพัฒนาสื่อที่ดีและสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์
สุภิญญา กรรมการกสทช.ยื่นหนังสือข้อเสนอแนะและความเห็นต่อร่างพ.ร.บ.กสทช.ต่อกฤษฎีกา
สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในกรรมการกสทช. จัดทำข้อเสนอแนะและความเห็นในขั้นตอนการตรวจพิจารณาร่างพ.ร.บ.กสทช. ส่งถึงประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 โดยมีเนื้อหาใน 4 ประเด็นได้แก่ ความเป็นอิสระของ กสทช. (ร่างกฎหมายมีเนื้อหาขัดต่อความเป็นอิสระของ กสทช.), การจัดสรรคลื่นความถี่ (ร่างกฎหมายใหม่อาจทำให้กลับไปสู่สภาพการที่รัฐถือครองคลื่นความถี่จำนวนมาก, ไม่ควรต้องนำเงินไปจ่ายค่าชดเชยการคืนคลื่นให้กับหน่วยงานรัฐที่ถือครองคลื่นโดยไม่ถูกต้อง), การจัดส่งเงินค่าประมูลเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ ขัดกับหลักการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน และสำหรับกองทุน กทปส. กฎหมายไม่จำเป็นต้องให้กระทรวงการคลังกำหนดความจำเป็นของเงินรายได้ในกองทุนนี้หรือขอให้นำเงินส่วนเกินส่งเป็นรายได้แผ่นดิน)
ที่มา: บล็อกของสุภิญญา กลางณรงค์ supinya.com
สมเกียรติ ทีดีอาร์ไอชี้วิธีจัดสรรคลื่น 4G ยังไม่ชัดเจน คำว่า “ประมูล” ในร่างพ.ร.บ.กสทช.ล่าสุดยังคลุมเครือ
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุ มติเห็นชอบให้จัด “ประมูล” 4G ของคณะกรรมการเตรียมการฯ ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะเป็นการจัดสรรโดยใช้วิธีใดเมื่อดูจากร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับล่าสุด
ทั้งนี้ เนื้อหาในร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับล่าสุด ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าการจัดสรรคลื่นโทรคมนาคมจะใช้วิธีการใด แต่ในสรุปสาระสำคัญของร่างกฎหมายที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกามีระบุไว้ว่า การจัดสรรคลื่นโทรคมนาคมเชิงพาณิชย์ ให้ทำโดยวิธีการประมูล “แต่หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ โดยจะคำนึงถึงจำนวนเงินที่เสนอให้แต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้” (สรุปสาระสำคัญฯ ข้อ 4)
ที่มา: เครือข่ายพลเมืองเน็ต
รวมความเห็นนักวิชาการ กรรมการกสทช. และนักกฎหมายต่อการนำคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์มาร่วมประมูล 4G
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการนำคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์มาประมูลว่า อาจมีปัญหาเรื่องการเรียกคืนคลื่นจากอสมท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจและส่วนหนึ่งถูกถือครองโดยเอกชน โดยหากรัฐบาลเรียกคืนคลื่นย่อมส่งผลต่อผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และอาจต้องเสียเงินชดเชยการขอคืนคลื่น ซึ่งไม่แน่ว่าจะคุ้มต่อเม็ดเงินที่ได้จากการประมูลหรือไม่
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.ระบุว่า รัฐบาลจะต้องสร้างความชัดเจนถึงสิทธิในการเป็นเจ้าของความถี่เสียก่อนว่าคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์เป็นของใคร เพราะคลื่นดังกล่าวยังมีปัญหาการตีความทางกฎหมายอยู่ และหากชัดเจนว่าอสมท.ไม่ได้เป็นเจ้าของคลื่นดังกล่าวแล้ว รัฐจะไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย
ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่า การนำคลื่นความถี่ใหม่ (2,300 หรือ 2,600 เมกะเฮิรตซ์) มาประมูล จะทำให้ทุกอย่างเริ่มนับหนึ่งใหม่ ต้องศึกษากันใหม่ทั้งราคาตั้งต้นและความคุ้มค่าในการนำมาประมูล ส่วนวิธีการนำคลื่นคืนและจ่ายเงินชดเชยจะทำอย่างไร ประเด็นนี้ต้องมีการเจรจากันหลายฝ่าย ซึ่งเชื่อว่ากระบวนการจะนานยิ่งกว่าเดิม
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, โพสต์ทูเดย์, เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของภัทราพร ตั๊นงาม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส
ปรีดิยาธรเตรียมเจรจาขอคลื่น 2500-2600 เมกะเฮิรตซ์คืน
ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจให้กสทช. เจรจาขอคลื่นความถี่ 2500-2600 เมกะเฮิรตซ์คืน ระบุหากติดข้อกฎหมายจะขอประมูลแค่คลื่น 900-1800 เมกะเฮิรตซ์ ด้านพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีไอซีทีระบุ การนำคลื่นอื่นมาประมูลเป็นแผนระยะยาว หวังมาเสริมในอนาคตหากคลื่นเดิมเริ่มเต็ม
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
20 มีนาคม 2558
เปิดความเห็น 3 ค่ายมือถือต่อการประมูลคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ด้านกสทช.ส่งไอทียูเคาะราคา 4G
กสทช.เตรียมส่งให้ไอทียูทบทวนราคาเริ่มต้นประมูล 4 จี ขณะที่ 3 ค่ายมือถือ ดีแทคชัดเจนเอาคลื่น 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ดีแทคและเอไอเอสระบุ การใช้คลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์อาจมีปัญหาตรงที่อุปกรณ์อาจไม่รองรับ ด้านทรู อ้าแขนรับคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์
ที่มา: ไทยรัฐ
นายกฯ สั่งหน่วยงานรัฐทำแอปประชาสัมพันธ์ข่าวสารจากรัฐบาล
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทุกกระทรวงจัดทำแอปพลิเคชันเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาลได้ทางโทรศัพท์มือถือ ขณะนี้ทุกกระทรวงจัดทำแอปพลิเคชันรวมแล้วกว่า 80 แอป ทั้งในเรื่องของการเสียภาษี พยากรณ์อากาศ แหล่งท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน ทางสำนักโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีจะเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ ข่าวสารของรัฐบาลทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุมากขึ้นอีกในเดือนเมษายน 2558
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
Tags: 4G, authentic name, Community Standards, digital economy, Digital Weekly, Facebook, National Broadcasting and Telecommunications Commission, Underboob Selfies