Thai Netizen Network

Digital Weekly: 14-20 มีนาคม 2558 สรุปข่าวนโยบายดิจิทัลรอบสัปดาห์

สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: กระทรวงวัฒนธรรมเตือน ถ่าย “เซลฟี่ครึ่งเต้า” เสี่ยงผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์/ คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลฯ ได้ฤกษ์เดินหน้าจัดสรร 4G ด้วยการ “ประมูล” ด้านสมเกียรติ ทีดีอาร์ไอระบุ คำว่า “ประมูล” ที่คณะกรรมการฯ ใช้ยังไม่ชัดเจนเมื่อดูจากร่างพ.ร.บ.กสทช.ล่าสุด/ ดีแทคและเอไอเอสชี้ปัญหาใช้คลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์อุปกรณ์มือถืออาจยังไม่รองรับ ด้านทรูอ้าแขนรับคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์/ เฟซบุ๊กปรับปรุง “Community Standards” ไม่ต้องใช้ชื่อจริงตามกฎหมายก็ได้ แต่ให้ใช้ชื่อเรียกในชีวิตจริง

Facebook ปรับปรุงเงื่อนไขการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนบน Facebook หรือ "Community Standards"

Facebook ปรับปรุงเงื่อนไขการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนบน Facebook หรือ “Community Standards”

16 มีนาคม 2558

เตือน! “เซลฟี่ครึ่งเต้า” ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ผอ.สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ออกมาให้ความเห็นต่อเทรนด์การถ่ายภาพเซลฟี่ครึ่งเต้า (Underboob Selfies) ว่า การกระทำดังกล่าวเสี่ยงที่จะมีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ฐานเผยแพร่ภาพลามกอนาจาร

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

17 มีนาคม 2558

เฟซบุ๊กปรับปรุง “Community Standards” ไม่จำเป็นต้องตั้งชื่อบัญชีด้วยชื่อจริงตามกฎหมายหรือเอกสารทางการ แต่ใช้ชื่อที่เรียกกันทั่วไปในชีวิตจริงได้

Facebook ปรับปรุงเอกสาร Community Standards (เงื่อนไขการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนบน Facebook) โดยมีเนื้อหาสำคัญมี อาทิ การตั้งชื่อบัญชีผู้ใช้ต้องเป็นใช้ “ชื่อที่ใช้งานจริงๆ” (authentic name) เป็นที่รู้จักกันทั่วไป แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นชื่อตามกฎหมายหรือเอกสารทางการ, หากพบว่ามีบัญชีส่วนตัวมากกว่าหนึ่งบัญชี จะขอให้ปิดจนเหลือบัญชีเดียว, ห้ามโพสต์ภาพกราฟฟิกรุนแรง ภาพถ่ายที่มีอวัยวะเพศ บั้นท้ายแบบเต็ม หน้าอกที่เห็นหัวนม ส่วนภาพหน้าอกตอนให้นมลูก หน้าอกที่ผ่านการผ่าตัดเต้านมออก ภาพวาด รูปปั้น หรือศิลปะนู้ดโดยทั่วไปสามารถโพสต์ได้, ห้ามโพสต์เนื้อหาที่โจมตีบุคคลอื่นโดยเกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ประเทศถิ่นเกิด ศาสนา รสนิยมทางเพศ เพศหรือลักษณะบ่งชี้ทางเพศ อาการพิการหรืออาการป่วย

ที่มา: Blognone (ข่าวเรื่องบัญชีผู้ใช้, ข่าวเรื่องการห้ามโพสต์ข้อความหรือรูปถ่ายที่ไม่เหมาะสม)

รณรงค์ต้าน “การแบ่งแยกทางอิเล็กทรอนิกส์” ในกฎกระทรวงประกอบพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่

change.org เปิดรณรงค์ร่วมลงชื่อต่อต้านการแบ่งแยกทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเรียกร้องให้ตัดข้อ ๑(๑) ที่กำหนด “เป็นข้อมูลการบริหารสิทธิที่อยู่ในรูปอิเล็กทรอนิกส์” ออกจากร่างกฎกระทรวงประกอบพ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ ฉบับใหม่ ก่อนที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะปิดรับประชาพิจารณ์ในวันที่ 30 มีนาคม 2558 นี้ ผู้ริเริ่มรณรงค์ให้เหตุผลว่า ข้อมูลบริหารสิทธิไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม ควรได้รับการคุ้มครองและปฏิบัติโดยเท่าเทียมกัน และ “หากร่างดังกล่าวผ่านการพิจารณาและประกาศใช้นั่นหมายความว่า หนังสือที่ถูกเปลี่ยนปก รวมเล่ม ติดป้ายเลขหมู่หรือบาร์โค้ดทับข้อมูลบริหารสิทธิ หรือการแสกนหน้าปกของห้องสมุดและหอจดหมายเหตุที่มีอยู่จำนวนมาก ก็อาจเข้าข่ายการละเมิดข้อมูลบริหารสิทธิได้”

ที่มา: change.org เรื่องรณรงค์ “ยกเลิกข้อกำหนดข้อที่ ๑(๑) ออกจากร่างกฏกระทรวงกําหนดลักษณะของข้อมูลการบริหารสิทธิฯ และสำเนางานตามมาตรา ๕๓/๓ (๒) และ ๕๓/๓(๓)” 

ครูร้อยเอ็ดใช้ยูทูป บล็อก SlideShare Google Doc เป็นเครื่องมือช่วยสอน

เดอะ เนชั่น ตีพิมพ์สกู๊ปพิเศษเกี่ยวกับวีรชัย มาตรหลุบเลา ครูโรงเรียนบ้านหนองย่างงัว ตำบลโหรา อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ทั้งยูทูป บล็อก และ SlideShare เป็นเครื่องมือช่วยสอนเป่าแคนให้กับนักเรียนและชาวต่างชาติที่สนใจ วีรชัยยังได้ใช้ Google Drive และ Google Doc เป็นเครื่องมือการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ ขณะที่ครูในโรงเรียนทั้ง 17 คนต่างก็ใช้ยูทูปเป็นเครื่องมือช่วยในการเรียนการสอนนักเรียนในโรงเรียนซึ่งมีอยู่ 340 คน (อ่าน รายงานของเดอะ เนชั่น)

ที่มา: The Nation

18 มีนาคม 2558

คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลฯ เปิดประชุมนัดแรก มีมติอนุมัติ 5 แผนงาน

คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลฯ เปิดประชุมนัดแรก มีมติอนุมัติ 5 แผนงานหลัก ดังนี้
1) อนุมัติแผนเครือข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (National Broadband) มีเป้าหมายให้ทุกบ้านสามารถเข้าถึงเครือข่ายได้ภายในปี 2560
2) อนุมัติแผนงานศูนย์ข้อมูลข่าวสาร (Data Center) 40-50 แห่ง สำหรับเก็บข้อมูลเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงกัน
3) อนุมัติแผนเตรียมการการค้าผ่านสื่อดิจิทัล สนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ใช้ระบบดิจิทัลในธุรกิจ
4) อนุมัติแผนเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้ตั้งคณะทำงานเบื้องต้นและให้หารือกับกระทรวงศึกษาธิการ
5) อนุมัติให้กสทช. เริ่มต้นประมูล 4G ทันที ซึ่งการประมูลไม่จำเป็นต้องยึดกับคลื่นความถี่ 900 หรือ 1,800 เมกะเฮิรตซ์เท่านั้น ส่วนรูปแบบประมูลยังเป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. แต่ต้องรายงานต่อคณะรัฐมนตรีทุกเดือนหลังจากนี้

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้อนุมัติมาตรการส่งเสริมเรื่อง 1.การลดสำเนากระดาษของหน่วยงานรัฐในการบริการประชาชน 2. เรื่องจัดทำข้อมูลการขอใบอนุญาตเผยแพร่ด้วย

ที่มา: กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก, ไทยพับลิก้า

คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลฯ ยันไม่ล้วงลูกเรื่องการประมูลคลื่นของกสทช. แต่ให้กสทช.ส่งรายงานต่อคณะกรรมการฯ ทุกเดือนด้วย

ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเผยว่า คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลฯ จะไม่เข้าไปยุ่งกับหน้าที่การประมูลคลื่น 4G ของกสทช. อย่างไรก็ตาม ก่อนที่กสทช.จะเปิดประมูลคลื่น 4G จะต้องรายงานความคืบหน้าให้คณะกรรมการฯ รับทราบทุกเดือน

ที่มา: วอยซ์ทีวี

19 มีนาคม 2558

องค์กรเด็กบุกสภา ค้านร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ

ตัวแทนสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน พร้อมด้วยเครือข่ายที่ทำงานด้านพัฒนาเด็กและเยาวชนกว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยี สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากกังวลว่ากฎหมายจะส่งผลกระทบโดยรวมต่อการสนับสนุนและพัฒนาสื่อที่ดีและสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

สุภิญญา กรรมการกสทช.ยื่นหนังสือข้อเสนอแนะและความเห็นต่อร่างพ.ร.บ.กสทช.ต่อกฤษฎีกา

สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในกรรมการกสทช. จัดทำข้อเสนอแนะและความเห็นในขั้นตอนการตรวจพิจารณาร่างพ.ร.บ.กสทช. ส่งถึงประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 โดยมีเนื้อหาใน 4 ประเด็นได้แก่ ความเป็นอิสระของ กสทช. (ร่างกฎหมายมีเนื้อหาขัดต่อความเป็นอิสระของ กสทช.), การจัดสรรคลื่นความถี่ (ร่างกฎหมายใหม่อาจทำให้กลับไปสู่สภาพการที่รัฐถือครองคลื่นความถี่จำนวนมาก, ไม่ควรต้องนำเงินไปจ่ายค่าชดเชยการคืนคลื่นให้กับหน่วยงานรัฐที่ถือครองคลื่นโดยไม่ถูกต้อง), การจัดส่งเงินค่าประมูลเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ ขัดกับหลักการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน และสำหรับกองทุน กทปส. กฎหมายไม่จำเป็นต้องให้กระทรวงการคลังกำหนดความจำเป็นของเงินรายได้ในกองทุนนี้หรือขอให้นำเงินส่วนเกินส่งเป็นรายได้แผ่นดิน)

ที่มา: บล็อกของสุภิญญา กลางณรงค์ supinya.com

สมเกียรติ ทีดีอาร์ไอชี้วิธีจัดสรรคลื่น 4G ยังไม่ชัดเจน คำว่า “ประมูล” ในร่างพ.ร.บ.กสทช.ล่าสุดยังคลุมเครือ

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุ มติเห็นชอบให้จัด “ประมูล” 4G ของคณะกรรมการเตรียมการฯ ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะเป็นการจัดสรรโดยใช้วิธีใดเมื่อดูจากร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับล่าสุด

ทั้งนี้ เนื้อหาในร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับล่าสุด ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าการจัดสรรคลื่นโทรคมนาคมจะใช้วิธีการใด แต่ในสรุปสาระสำคัญของร่างกฎหมายที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกามีระบุไว้ว่า การจัดสรรคลื่นโทรคมนาคมเชิงพาณิชย์ ให้ทำโดยวิธีการประมูล “แต่หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ โดยจะคำนึงถึงจำนวนเงินที่เสนอให้แต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้” (สรุปสาระสำคัญฯ ข้อ 4)

ที่มา: เครือข่ายพลเมืองเน็ต

รวมความเห็นนักวิชาการ กรรมการกสทช. และนักกฎหมายต่อการนำคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์มาร่วมประมูล 4G

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการนำคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์มาประมูลว่า อาจมีปัญหาเรื่องการเรียกคืนคลื่นจากอสมท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจและส่วนหนึ่งถูกถือครองโดยเอกชน โดยหากรัฐบาลเรียกคืนคลื่นย่อมส่งผลต่อผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และอาจต้องเสียเงินชดเชยการขอคืนคลื่น ซึ่งไม่แน่ว่าจะคุ้มต่อเม็ดเงินที่ได้จากการประมูลหรือไม่

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.ระบุว่า รัฐบาลจะต้องสร้างความชัดเจนถึงสิทธิในการเป็นเจ้าของความถี่เสียก่อนว่าคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์เป็นของใคร เพราะคลื่นดังกล่าวยังมีปัญหาการตีความทางกฎหมายอยู่ และหากชัดเจนว่าอสมท.ไม่ได้เป็นเจ้าของคลื่นดังกล่าวแล้ว รัฐจะไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย

ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่า การนำคลื่นความถี่ใหม่ (2,300 หรือ 2,600 เมกะเฮิรตซ์) มาประมูล จะทำให้ทุกอย่างเริ่มนับหนึ่งใหม่ ต้องศึกษากันใหม่ทั้งราคาตั้งต้นและความคุ้มค่าในการนำมาประมูล ส่วนวิธีการนำคลื่นคืนและจ่ายเงินชดเชยจะทำอย่างไร ประเด็นนี้ต้องมีการเจรจากันหลายฝ่าย ซึ่งเชื่อว่ากระบวนการจะนานยิ่งกว่าเดิม

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, โพสต์ทูเดย์, เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของภัทราพร ตั๊นงาม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

ปรีดิยาธรเตรียมเจรจาขอคลื่น 2500-2600 เมกะเฮิรตซ์คืน

ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจให้กสทช. เจรจาขอคลื่นความถี่ 2500-2600 เมกะเฮิรตซ์คืน ระบุหากติดข้อกฎหมายจะขอประมูลแค่คลื่น 900-1800 เมกะเฮิรตซ์ ด้านพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีไอซีทีระบุ การนำคลื่นอื่นมาประมูลเป็นแผนระยะยาว หวังมาเสริมในอนาคตหากคลื่นเดิมเริ่มเต็ม

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

20 มีนาคม 2558

เปิดความเห็น 3 ค่ายมือถือต่อการประมูลคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ด้านกสทช.ส่งไอทียูเคาะราคา 4G

กสทช.เตรียมส่งให้ไอทียูทบทวนราคาเริ่มต้นประมูล 4 จี ขณะที่ 3 ค่ายมือถือ ดีแทคชัดเจนเอาคลื่น 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ดีแทคและเอไอเอสระบุ การใช้คลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์อาจมีปัญหาตรงที่อุปกรณ์อาจไม่รองรับ ด้านทรู อ้าแขนรับคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์

ที่มา: ไทยรัฐ

นายกฯ สั่งหน่วยงานรัฐทำแอปประชาสัมพันธ์ข่าวสารจากรัฐบาล

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทุกกระทรวงจัดทำแอปพลิเคชันเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาลได้ทางโทรศัพท์มือถือ ขณะนี้ทุกกระทรวงจัดทำแอปพลิเคชันรวมแล้วกว่า 80 แอป ทั้งในเรื่องของการเสียภาษี พยากรณ์อากาศ แหล่งท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน ทางสำนักโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีจะเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ ข่าวสารของรัฐบาลทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุมากขึ้นอีกในเดือนเมษายน 2558

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

Exit mobile version