2015.02.05 19:17
- ทุน เจ้าของสื่อ และผู้ชม ต้นตอความ “ดราม่า” ในรายการทีวี
- สื่อมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ปัญหาสื่อละเมิดสิทธิต้องสร้างกลไกกันไว้ดีกว่าแก้
- การแชร์ในสื่อสังคมเหมือนดาบสองคม ผลิตซ้ำการละเมิดต่อจากสื่อกระแสหลัก
- สภาปฏิรูปแห่งชาติ ปิ๊งไอเดีย “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ” หวังแก้ปัญหาสื่อไร้จรรยาบรรณ
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557 มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชนกับจรรยาบรรณในการนำเสนอเรื่องราวผ่านรายการโทรทัศน์” ณ สำนักงานกสทช. โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ เตือนใจ สินธุวณิก สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านสื่อสารมวลชน, จักรกฤษ เพิ่มพูล บรรณาธิการเครือเนชั่นและประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวนการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, รศ.อรุณีประภา หอมเศรษฐี ประธานสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) และอารีวรรณ จตุทอง ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา และทนายความอิสระ ดำเนินรายการโดย สลิลาทิพย์ ทิพยไกรศร ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ TNN24
ทุนและเจ้าของสื่อ ผู้มีอิทธิพลต่อเนื้อหาและวิธีการนำเสนอ
จักรกฤษกล่าวว่า ปัจจุบันมีแนวทางกำกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนเพื่อไม่ให้ไปละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว เช่น ในข้อบังคับของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยมีระบุไว้ว่า ในการนำเสนอข่าวต้องไม่ให้ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นี่เป็นสิ่งที่สื่อทุกคนรับรู้กันอยู่ ทว่ากระนั้น เราจะพบเห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสื่ออยู่เสมอ
ซึ่งสาเหตุของการละเมิดนั้น บ่อยครั้งไม่ได้มาจากตัวนักข่าวเอง แต่มาจากบรรณาธิการข่าวซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ อีกทั้งขึ้นอยู่กับนโยบายขององค์กร รวมทั้งปัจจัยทุนซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการกำหนดเนื้อหาและวิธีการนำเสนอรายการ การจะให้สื่อมีจรรยาบรรณจึงต้องคำนึงถึงในระดับผู้ประกอบการหรือเจ้าของสื่อด้วย เพราะคนเหล่านี้มีเป็นผู้มีอิทธิพลสูงสุดในการกำหนดว่าภาพแบบไหนควรถูกนำเสนออย่างไร
นอกจากนี้ ผู้เสพสื่อเองก็มีบทบาทในการกำหนดเรตติ้ง ซึ่งจะส่งผลต่อเนื้อหาและวิธีการนำเสนอของสื่อเช่นกัน
“ในยุคทีวีดิจิทัล มีการแข่งขันกันมากขึ้น มีทุนเป็นตัวกำหนด เขาก็ต้องคำนึงถึงการตอบสนองสัญชาตญาณความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ นำเสนอข่าวที่ชาวบ้านชอบ เวลาที่มีข่าวผู้ถูกข่มขืน เราอยากเห็นหน้าตาของเหยื่อ เวลามีข่าวทำนองนี้ เราอยากฟังนักเล่าข่าวบรรยายอย่างละเอียดถึงวิธีที่เขาถูกละเมิดทางเพศ”
ซึ่งในบางครั้ง คนทำงานสื่อเองก็อึดอัดและไม่สามารถทำอะไรได้
จักรกฤษกล่าวว่า การจะแก้ปัญหาเรื่องจรรยาบรรณสื่อจึงต้องคำนึงถึงทั้งโครงสร้าง และอาจต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กรที่กำกับดูแลสื่อด้วย
เอาใจเขามาใส่ใจเรา: หลักง่ายๆ ของจรรยาบรรณสื่อ
ปริญญากล่าวว่า เรื่องจรรยาบรรณในการนำเสนอข่าวของสื่อนั้นให้ยึดหลักว่า “ถ้าเราเป็นคนที่อยู่ในเนื้อข่าว เราไม่อยากให้ตัวเองถูกทำอะไรบ้าง ก็อย่าทำ เป็นหลักง่ายๆ คือให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา”
ปริญญากล่าวต่อว่า สื่อมีความรับผิดชอบสองส่วนด้วยกัน หนึ่งคือ เคารพหรือไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น สองคือส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ซึ่งสองอย่างนี้ควรทำคู่ขนานกันไป
โดยในประเด็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนนั้น สื่อเป็นผู้มีบทบาทสำคัญมาก เนื่องจากสื่อสามารถเข้าถึงประชาชนได้ สื่อสามารถช่วยส่งเสริมให้เกิดค่านิยมบางอย่าง อาทิ ค่านิยมต่อความหลากหลาย ไม่ส่งเสริมความรุนแรง ไม่เลือกปฏิบัติ
“สื่อสามารถนำเสนอการถูกละเมิดสิทธิ เช่น นำเสนอสภาพสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายจากโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนได้ และทำให้ผู้มีอำนาจต้องลุกขึ้นมาจัดการอะไรบางอย่าง สื่อทำได้ง่ายมาก และสื่อมีเครื่องไม้เครื่องมืออยู่แล้ว”
หรือสื่ออาจช่วยปกป้องผู้ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ ซึ่งอาจไปขัดแย้งกับผู้มีอิทธิพล ด้วยการทำให้คนเหล่านั้นอยู่ในความสนใจของสังคม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีปกป้องคนเหล่านี้จากอันตราย
ปริญญากล่าวว่า การปกป้องสิทธิของประชาชนยังเป็นหน้าที่หลักของรัฐด้วย แม้ว่าประชาชนกันเองจะช่วยกันส่งเสริมในอีกทางหนึ่ง แต่ประชาชนไม่มีอำนาจในมือ คนที่มีอำนาจสูงสุดก็คือรัฐ
นอกจากนี้ สังคมไทยมักจะมุ่งเน้นไปที่การรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่ค่อยมีกลไกในการป้องกันก่อนที่เรื่องจะเกิดขึ้น จึงจำเป็นที่เราต้องมาหามาตรการในการป้องกันดังกล่าว
ส่วนหากจะมีการจำกัดเสรีภาพ ไม่ว่าจะของสื่อหรือคนทั่วไปก็ตามนั้น จะต้องมีเงื่อนไขดังนี้คือ ข้อจำกัดเหล่านั้นต้องถูกบัญญัติไว้ในกฎหมาย ข้อจำกัดต้องพิสูจน์ได้ว่ามีความจำเป็นและมีสัดส่วนที่พอดีในการปกป้องประโยชน์ของสาธารณะ ซึ่งคำว่า “ประโยชน์ของสาธารณะ” นั้นต้องอาศัยการตีความต่ออีกว่ามีขอบเขตแค่ไหน นอกจากนี้ยังต้องมีมาตรการป้องกันการกำหนดข้อจำกัดที่มากเกินไป และสุดท้าย ข้อจำกัดต้องมีความเฉพาะเจาะจงให้มากที่สุด
แชร์ต่อ: การละเมิดสิทธิในยุคที่ทุกคนเป็นสื่อได้
อารีวรรณกล่าวว่า ในปัจจุบัน มีการละเมิดสิทธิเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการมากขึ้น โดยผู้ที่ละเมิดไม่ใช่เพียงแค่สื่อมืออาชีพเท่านั้น แต่รวมถึงคนทั่วไปด้วย เพราะตอนนี้ประชาชนทุกคนสามารถกลายเป็นสื่อเองได้ด้วยการแชร์เนื้อหาผ่านโซเชียลมีเดีย
“อย่างเหตุการณ์ที่หญิงสูงอายุถูกข่มขืน เราทำเป็นล้อเลียนขบขัน ทั้งๆ ที่นี่เป็นเรื่องที่เจ็บปวด การที่คนเสพสื่อไปแชร์ต่อคือการไปกระทำซ้ำผู้ถูกละเมิด นอกจากที่สื่อกระแสหลักได้ละเมิดไปแล้ว”
นอกจากนี้ หากเนื้อหาดังกล่าวถูกเผยแพร่ต่อบนอินเทอร์เน็ต ก็ยากที่จะตามลบเนื้อหาได้
อารีวรรณกล่าวด้วยว่า การจะแก้ปัญหาดังกล่าวอาจต้องเริ่มที่สื่อกระแสหลักก่อนที่จะทำตนเป็นตัวอย่าง ซึ่งดีกว่าที่สื่อกระแสหลักจะโยนความผิดทั้งหมดให้กับเรตติ้ง ด้วยการโทษว่า “ก็เพราะสังคมต้องการเสพสื่อประเภทนี้”
“และถ้าจะมาอ้างเสรีภาพในการทำหน้าที่สื่อ จริงๆ แล้วในบททั่วไปของร่างรัฐธรรมนูญพูดถึงการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ว่าเราต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นด้วย”
ปิ๊งไอเดีย “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ” แก้ปัญหาสื่อไร้จรรยาบรรณ?
เตือนใจ หนึ่งในสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศกล่าวถึงความคืบหน้าการปฏิรูปสื่อของสปช.ว่า ตอนนี้ สปช.ได้นำเสนอประเด็นปฏิรูปจำนวน 10 ประเด็นให้กับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว โดยหนึ่งในนั้นคือ การให้ผู้ประกอบการสื่อกำกับดูแลกันเองในระยะแรก ซึ่งถ้ายังพบว่ายังมีปัญหาเกิดขึ้นอีก ก็จะจัดตั้งองค์กรสภาวิชาชีพให้มาช่วยดูแลแทน
นอกจากนี้ กรรมาธิการยังมีความคิดที่อยากให้สื่อมวลชนมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อเหมือนวิชาชีพอื่นๆ ซึ่งถ้าทำผิดกฎระเบียบก็สามารถถูกยึดใบอนุญาตได้
“สังคมมองแล้วว่าปล่อยไว้อย่างนี้ไม่ได้ เราจะให้สื่อมวลชนเข้าไปเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพ เมื่อเป็นสมาชิกก็จะมีสวัสดิการให้… ถ้าคุณปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก็จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง ใครไม่ได้เป็นสมาชิกก็ไม่ได้รับการยอมรับ…ถ้าคุณเห็นแก่สังคม เห็นแก่ความมั่นคงของชาติ มีเสรีภาพบนความรับผิดชอบ นอกจากจะได้สวัสดิการแล้ว ยังได้รับการยอมรับ ถ้าคุณผิดระเบียบ จะมีมาตรการตักเตือน แต่ต่อไปอาจถึงขั้นต้องให้คนๆ นั้นออกจากวิชาชีพสื่อไปเลย
“อยากให้มองในแง่ดีว่า เรากำลังขจัดน้ำเสีย ให้ออกไปจากสื่อที่เป็นสื่อน้ำดีส่วนใหญ่ ถ้ารัฐธรรมนูญใหม่ออกมา ก็ขอให้ช่วยกันสนับสนุนโดยเฉพาะในประเด็นของสื่อ เพราะเรากำลังสอนให้สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม ทำหน้าที่อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี และรับผิดชอบต่อสังคม และเรายังมีสวัสดิการและให้ความรู้เพิ่มเติมแก่สื่อด้วย”
ส่วนภารกิจในการปฏิรูปสื่ออื่นๆ ของสปช.มีอาทิ เร่งพัฒนากลไกกำกับกันเองด้านจริยธรรม ส่งเสริมผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพให้มีเสรีภาพควบคู่จริยธรรม มุ่งเน้นความเป็นอิสระของสื่อจากการถูกครอบงำและแทรกแซงจากอำนาจรัฐและอำนาจทุน จัดให้มีกลไกที่กำกับดูแลโดยภาคประชาชน มุ่งเน้นความหลากหลายของสื่อทั้งในด้านเนื้อหาและความเป็นเจ้าของ เพิ่มพื้นที่สาธารณะให้กับสื่อสารภาคประชาชน เป็นต้น
Tags: ethics, journalism, media reform, self-regulation, social media