เสรีภาพเน็ตไทยปี 2557: การจำกัดเนื้อหา (สรุป Freedom on the Net 2014 ตอนที่ 3)

2014.12.10 10:44

Freedom on the Net 2014 - Thailand - Limits on Content

ประเทศไทยได้คะแนนในส่วนของ “การจำกัดเนื้อหา” (Limits on Content) 21 จาก 35 คะแนน (0 = ดีที่สุด ไม่มีการจำกัดเนื้อหาเลย, 35 = แย่ที่สุด)

ตอนที่ 3 ของสรุปรายงานประเทศไทยจากรายงานเสรีภาพอินเทอร์เน็ตประจำปี 2556-2557 (Freedom on the Net 2014) โดยฟรีดอมเฮาส์

  1. สถานการณ์เด่น เสรีภาพอินเทอร์เน็ตหลังรัฐประหาร และวิธีวิจัย
  2. อุปสรรคในการเข้าถึง (11/25 คะแนน)
  3. การจำกัดเนื้อหา (21/35)
  4. การละเมิดสิทธิผู้ใช้อินเทอร์เน็ต (30/40)

พฤษภาคม 2557

การประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ส่งผลต่อการควบคุมเนื้อหาดิจิทัลโดยตรง ผู้บัญชาการทหารบกใช้อำนาจในฐานะผู้นำสูงสุดของกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ออกคำสั่งห้ามการเสนอข่าวทุกรูปแบบที่มีลักษณะ “ปลุกระดมให้สร้างสถานการณ์วุ่นวายแตกแยก ทำให้ประชาชนหวาดกลัว อันจะส่งผลกระทบต่อมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่”[7] ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทันทีที่คณะรัฐประหารประกาศยึดอำนาจ สถานีโทรทัศน์และวิทยุทุกช่องก็ถูกระงับการออกอากาศ มีเพียงจอสีฟ้าประกอบด้วยโลโก้ของหน่วยงานทหารและตำรวจทั้งสิ้น 5 หน่วยงาน

สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสซึ่งเป็นสื่อสาธารณะและมีช่องทางออกอากาศหลักทางฟรีทีวี ยังคงทำงานหน้าที่โดยเสนอข่าวผ่านทางยูทูบ (YouTube) แทน แต่ออกอากาศได้ไม่นาน ในคืนวันรัฐประหาร ทหารเดินทางไปที่สถานีไทยพีบีเอสแล้วสั่งระงับการออกอากาศ พร้อมทั้งพาตัวนายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถานีไปที่ค่ายทหารก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกัน[8]

ในวันที่ 2 มิถุนายน 2557 มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มุ่งประเด็นสื่อออนไลน์โดยเฉพาะ โดยขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสื่อสังคมออนไลน์ระงับการให้บริการในการเสนอเนื้อหาเชิงปลุกระดม สร้างความรุนแรง และต่อต้านการปฏิบัติงานของกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หากละเมิดคำสั่งจะถูกระงับการให้บริการทันที[9] จากนั้น คณะรัฐประหารได้ออกคำสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกรายเข้ารายงานตัวต่อสำนักงานกสทช.[10] ยิ่งกว่านั้น ยังสั่งห้ามสื่อทุกประเภทเชิญบุคคลที่มิได้ดำรงตำแหน่งข้าราชการในปัจจุบันให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นอันจะสร้างความขัดแย้งในสังคม[11] จากนั้น ก็มีคำสั่งให้สื่อทุกประเภทงดเว้นการนำเสนอข่าวสารเท็จ หรือส่อไปในทางหมิ่นประมาทหรือสร้างความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตรย์และพระบรมวงศานุวงศ์ และสั่งห้ามวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของคสช.[12]

สำหรับบรรยากาศการทำงานของสื่อทั่วไปนั้น สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีจำนวนหนึ่งได้รับการอนุโลมให้ออกอากาศในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557[13] ส่วนสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ได้รับอนุญาตให้กลับมาออกอากาศได้ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 แต่ห้ามมิให้เปิดรับข้อความตัวอักษรหรือโทรศัพท์แสดงความคิดเห็นในรายการ[14] อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการแบบบอกรับสมาชิกบางรายออกมาเปิดเผยว่า ต้องระงับการออกอากาศช่องข่าวสารต่างประเทศ เช่น CNN, BBC, CNBC เพราะไม่สามารถควบคุมเนื้อหารายการได้[15] สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมจำนวนหนึ่งทยอยได้รับอนุญาตให้ออกอากาศในวันที่ 4 มิถุนายน 2557[16] ขณะที่สื่อโทรทัศน์ที่เน้นเนื้อหาทางการเมือง เช่น Voice TV และ T-News ได้ออกอากาศอีกครั้งในวันที่ 14 มิ.ย. ภายใต้เงื่อนไขที่จะเสนอข่าวสารโดยไม่กระทบกระเทือนต่อการปกครองของคณะรัฐประหารดังประกาศและคำสั่งที่ได้ออกไป[17]

สำหรับสื่อออนไลน์ คณะรัฐประหารทยอยระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ที่นำเสนอข่าวเชิงวิพากษ์หรือแถลงการณ์ในประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยปลัดไอซีทีเปิดเผยต่อสื่อว่า ในช่วงสัปดาห์แรก กระทรวงไอซีทีได้สั่งปิดเว็บไซต์ไปแล้ว 219 เว็บไซต์[18] ทั้งนี้ บางกรณีเป็นการระงับการเข้าถึงเฉพาะบางหน้า เช่น เว็บไซต์ขององค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) เฉพาะหน้าของประเทศไทย เว็บไซต์สำนักข่าวรอยเตอร์เฉพาะหน้าข่าวที่นำเสนอเรื่องการปิดกั้นเฟซบุ๊กในประเทศไทย บางเว็บไซต์เป็นการปิดกั้นการเข้าถึงทั้งเว็บไซต์ในประเทศไทย เช่น เว็บไซต์ประชาไท ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวสังคมการเมือง เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดลีเมล (Daily Mail) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวจากอังกฤษ เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นเว็บไซต์รวมบทความนักวิชาการ เว็บไซต์ของนักวิชาการนิติศาสตร์ในนามกลุ่มนิติราษฎร์ ขณะที่บางกรณีเป็นการสั่งปิดโดยมีคำสั่งไปยังผู้ให้บริการเว็บโฮสติงเพื่อให้ยุติการให้บริการ เช่น กรณีเว็บไซต์สำนักข่าวประชาธรรม ซึ่งเป็นเว็บข่าวสังคมการเมืองภาคเหนือ นอกจากการสั่งงดแสดงความเห็นและปิดกั้นข่าวสารการเมืองแล้ว เนื่องด้วยคณะรัฐประหารมีดำริจะจัดการปัญหาด้านอื่นๆ อาทิ ปัญหาการพนัน ส่งผลให้เว็บไซต์กีฬาจำนวนมากทุกระงับการเข้าถึงในประเทศไทย[19] เช่น เว็บไซต์ฟุตบอล อย่าง www.soccersuck.com และ www.livescore.com และเว็บไซต์เทนนิส www.atpworldtour.com ซึ่งผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) ให้ข้อมูลในเวลาต่อมาว่า เป็นความผิดพลาดด้านการตรวจสอบข้อมูล เพราะเข้าใจว่าเป็นเว็บที่เปิดให้เล่นการพนัน[20]

การรวมตัวกันเกิน 5 คนถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายภายใต้ภาวะกฎอัยการศึก ผู้ชุมนุมจึงสร้างสรรค์แนวทางในการแสดงออก จึงนำมาสู่การออกแบบการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ในรูปแบบอื่นๆ เช่น การชูนิ้วสามนิ้ว ตามแบบภาพยนตร์เรื่อง “เดอะฮังเกอร์เกมส์” (The Hunger Games) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ถึง เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ และการต่อต้านอำนาจเผด็จการ[21] หรือการนัดรวมตัวแล้วกินแซนด์วิชพร้อมกัน[22] รวมถึงการยืนอ่านหนังสือในที่สาธารณะ[23] ซึ่งแม้ผู้ชุมนุมต้องใช้วิธีการแสดงออกทางสัญญะ แต่ในการนัดหมายก็ต้องใช้ช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางสำคัญที่พอหลบเลี่ยงให้สื่อสารได้ โดยมีช่องทางหลักในการนัดรวมตัวกันผ่านทางโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไลน์ (Line) และเฟซบุ๊ก

ในเวลาบ่ายของวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 เกิดเหตุการณ์ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยไม่สามารถเข้าเว็บไซต์เฟซบุ๊กได้ด้วยช่องทางปกติ แต่สามารถเข้าถึงได้เมื่อลองเข้าผ่าน Tor Browser (เป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้ใช้มีไอพีนอกประเทศ) ปลัดกระทรวงไอซีทีให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนว่า คณะรัฐประหารมีคำสั่งให้ปิดกั้นเฟซบุ๊กชั่วคราวเพื่อระงับเหตุขัดแย้งและรุนแรง[24] สภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นประมาณ 40 นาทีก่อนที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะกลับมาใช้งานเฟซบุ๊กได้ตามปกติ หลังเหตุการณ์ดังกล่าว โฆษกของคสช.ให้สัมภาษณ์ว่า คสช.ไม่ได้มีคำสั่งปิดกั้นเฟซบุ๊กแต่อย่างใด[25] จนในเวลาต่อมา ปลัดกระทรวงไอซีทีออกมาให้ข้อมูลใหม่ว่า เหตุที่เข้าเฟซบุ๊กไม่ได้เพราะมีปัญหาที่เกตเวย์ เนื่องจากมีผู้ใช้งานจำนวนมาก ส่วนกรณีข่าวที่ออกไปก่อนหน้าว่ามีคำสั่งปิดกั้นนั้น เป็นความเข้าใจผิดของผู้รับสาย (ผู้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์)[26] ในเวลาต่อมา ปลัดไอซีทีคนดังกล่าวถูกคสช.สั่งปลดออกจากตำแหน่ง[27]

นอกจากนี้ โฆษก เทเลนอร์ กรุ๊ป เจ้าของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือรายใหญ่ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ Aftenposten ในประเทศนอร์เวย์ ระบุว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้สั่งผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระงับการใช้งานเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557[28] จากการให้ข้อมูลของเทเลนอร์ ส่งผลให้พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ไม่พอใจและกล่าวว่า การให้ข้อมูลดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่สมควรและไม่เคารพในกติกามารยาทของการกำกับดูแลในสถานการณ์เช่นนี้ ดังนั้น กทค. จะเข้มงวดและตรวจสอบการถือครองหุ้นในสัดส่วนของต่างชาติในดีแทค[29] ภายใต้ความสับสนและกดดันครั้งนี้ ในเวลาต่อมา เทเลนอร์ กรุ๊ป ได้ออกแถลงการณ์เพื่อขอโทษที่ให้ข้อมูลอันส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของกสทช.และคสช.[30]

พฤษภาคม 2556 – เมษายน 2557

ในปี 2556 ศาลมีคำสั่งตามที่กระทรวงไอซีทีร้องขอให้ปิดกั้นเว็บไซต์จำนวนทั้งสิ้น 58 ฉบับ มีผลให้ปิดกั้นเว็บไซต์จำนวน 5,369 ยูอาร์แอล สถิติดังกล่าวถือเป็นจำนวนที่ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับปี 2555 ที่มีเว็บไซต์ถูกปิดกั้นกว่าสองหมื่นยูอาร์แอล อย่างไรก็ตาม คำสั่งศาลระบุให้เจ้าหน้าที่ไอซีทีปิดกั้นยูอาร์แอลที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกันโดยไม่ต้องขอหมายศาลใหม่

เนื้อหาของเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นมากที่สุด คือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ คิดเป็นร้อยละ 90 ของยูอาร์แอลทั้งหมดที่ถูกปิดกั้น รองลงมาเป็นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาลามกอนาจาร คิดเป็นร้อยละ 9.8 สัดส่วนที่เหลือเป็นการปิดกั้นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหากระทบต่อศาสนา มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หมิ่นประมาทบุคคลที่มีชื่อเสียง อาทิ พระสงฆ์ นายกรัฐมนตรี[31] รวมเป็นร้อยละ 0.5 น่าสังเกตว่า จำนวนการปิดกั้นเว็บไซต์ว่าจะมีมากหรือน้อยนั้น สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนทางการเมืองด้วย กล่าวคือ ในสมัยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีเว็บไซต์ถูกปิดกั้นทั้งสิ้น 78,072 ยูอาร์แอลจากคำสั่งศาลทั้งสิ้น 129 ฉบับ ในสมัยของนางสาวยิ่งลักษณ์ มีเว็บไซต์ถูกปิดกั้นทั้งสิ้น 27,685 ยูอาร์แอลจากคำสั่งศาลทั้งสิ้น 237 ฉบับ

เนื้อหา 2550 2551 2552 2553 2554 2555 2556 2557
คำสั่งศาล URL คำสั่งศาล URL คำสั่งศาล URL คำสั่งศาล URL คำสั่งศาล URL คำสั่งศาล URL คำสั่งศาล URL คำสั่งศาล URL
หมิ่นประมาทกษัตริย์ ราชินี หรือรัชทายาท 0 0 7 1,937 30 16,525 27 39,115 26 3,213 132 16,813 45 4,815 90 60,790
ลามกหรืออนาจาร 0 0 4 96 27 11,609 15 6,105 6 1,585 25 4,218 7 526 52 19,395
ยาทำแท้ง 0 0 1 37 3 320 0 0 0 0 0 0 0 0 4 357
สนับสนุนการพนัน 0 0 0 0 2 246 0 0 0 0 0 0 0 0 2 246
กระทบศาสนา 1 2 1 1 1 2 0 0 0 0 1 1 1 2 3 5
อื่นๆ 0 0 0 0 1 3 3 137 1 280 8 216 5 26 5 420
รวม 1 2 13 2,071 64 28,705 45 45,357 33 5,078 166 21,248 58 5,369 380 107,830

เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ คือกระทรวงไอซีที ซึ่งกระทรวงไอซีทีมีระบบสายด่วน[32]ให้ประชาชนทั่วไปแจ้งเบาะแสเว็บไซต์ที่ขัดต่อความมั่นคง วัฒนธรรม และศีลธรรม นอกจากนี้ ยังมีโครงการลูกเสือไซเบอร์ ที่จัดอบรมเยาวชนตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ให้เป็นอาสาสมัครช่วยกันเฝ้าระวังสอดส่องเนื้อหาไม่เหมาะสมออนไลน์ โดยมุ่งเน้นที่การตรวจตราเนื้อหาที่มีลักษณะการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง[33]

ฟรีดอมเฮาส์ระบุว่า ตามกฎหมายไทย แม้เจ้าของเว็บไซต์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลที่สั่งให้ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ แต่ไม่มีบทอนุญาตให้อุทธรณ์คำสั่งได้ และหากเทียบเคียงแนวปฏิบัติของระบบศาลไทยในอดีต อำนาจของศาลที่ใช้ปิดกั้นเว็บไซต์มีลักษณะคล้ายกับอำนาจในการออกหมายจับ ซึ่งเป็นคำขอฝ่ายเดียวของเจ้าหน้าที่รัฐ และเคยมีกรณีในอดีตที่ผู้ถูกจับกุมยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนหมายจับ แต่ศาลวินิจฉัยว่า ไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายมีความประสงค์จะให้ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์ได้ เพราะจะทำให้การดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรมเกิดความล่าช้า[34] ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าอำนาจของศาลในการสั่งปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาและอำนาจในการออกหมายจับมีลักษณะคล้ายกัน

เว็บไซต์นิติราษฎร์ เว็บไซต์ของกลุ่มอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ถูกบล็อคหน้าเว็บซึ่งเผยแพร่ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ซึ่งเจ้าของเว็บไซต์ได้ทำจดหมายไปยังกระทรวงไอซีทีเพื่อขอดูคำสั่งศาลฉบับดังกล่าว ปัจจุบันหน้าเว็บดังกล่าวยังคงถูกปิดกั้น

เว็บไซต์ประชาไทซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวการเมืองที่ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) (ต่อมาจะเปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน – ศอฉ.”) มีคำสั่งให้ปิดเว็บไซต์ตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 ด้วยเหตุผลว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เว็บไซต์ประชาไท[35]ยื่นฟ้องรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องฐานละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เมื่อเดือนมีนาคม 2556 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับศาลชั้นต้นว่า โจทก์จะฟ้องนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ว่ากระทำผิดจากการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ แต่โจทก์ย่อมฟ้องกระทรวงไอซีทีและกระทรวงการคลังให้รับผิดได้ และให้ศาลชั้นต้นเริ่มดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ ในส่วนของคำร้องที่ประชาไทร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งปิดกั้นเว็บไซต์นั้น ศาลเห็นว่าเนื่องจากปัจจุบันยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว การขอให้เพิกถอนคำสั่งจึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลจะพิจารณา

ความเห็นต่างทางการเมืองกลายเป็นไฟเขียวให้เกิดการปิดกั้นช่องทางเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ นอกจากการปิดกั้นเนื้อหาโดยอำนาจรัฐแล้ว สังคมไทยยังมีปรากฏการณ์การระดมคนไปแจ้งลบเนื้อหาต่อเฟซบุ๊ก ปรากฏการณ์ที่เด่นชัดเริ่มเกิดขึ้นในปี 2555 ที่ “สมาคมรีพอร์ต” ซึ่งเริ่มแรกเป็นเพจในเฟซบุ๊กที่มีนโยบายสอดส่องและเชิญชวนให้คนกดแจ้งเฟซบุ๊กให้ลบเพจที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ต่อมาได้ขยายประเด็นไปเรื่องการดูหมิ่นศาสนา รวมถึงการรีพอร์ตเนื้อหาอื่นๆ ที่ออกมาตั้งคำถามต่อการระดมแจ้งลบเนื้อหา กระทั่งมีการตั้งเพจต่อต้านในนาม “ภาคีพิทักษ์สิทธิเสรีภาพในโลกไซเบอร์” ด้วย

ยังพบว่า มีการใช้สื่อเพื่อสร้างความเกลียดชัง การนำข้อมูลส่วนตัวผู้อื่นมาเปิดเผย เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2557 หลังจากศาลแพ่งมีคำพิพากษาในคดีที่แกนนำกปปส.ซึ่งชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ยื่นฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) โดยศาลแพ่งพิพากษาว่า ฝ่ายบริหารสามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ แต่ห้ามมิให้รัฐบาลนำประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มาใช้บังคับกับผู้ชุมนุม และห้ามสลายการชุมนุม[36] จากคำพิพากษาดังกล่าว เพจเฟซบุ๊กหนึ่งได้เผยแพร่รายชื่อคณะผู้พิพากษาศาลแพ่ง พร้อมที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และทะเบียนรถ หลังจากนั้น ในเดือนมีนาคม เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมได้ทำหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อขอให้ระงับการเผยแพร่ข้อความและข้อมูลทางเว็บไซต์ เพราะการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายชี้นำและชักชวนให้มีการใช้กำลังประทุษร้ายต่อองค์คณะผู้พิพากษา และขอให้ดำเนินการตามกฎหมาย เพจดังกล่าวได้นำหนังสือฉบับนั้นมาเผยแพร่พร้อมกับประกาศปิดเพจตัวเองและเปิดเพจสำรองอันใหม่ขึ้นแทน[37]

ย้อนไปในปี 2554 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า การกดไลค์หรือแชร์ข้อความที่ผิดกฎหมายถือเป็นการเผยแพร่เนื้อหาทางอ้อม ซึ่งเข้าข่ายมีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เช่นเดียวกับผู้โพสต์ ส่งผลให้เครือข่ายพลเมืองเน็ตออกแคมเปญยืนยันสิทธิของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตว่า “กดไลค์ไม่ใช่อาชญากรรม”[38]

ต่อมา ในปี 2556 มีข่าวลือแพร่หลายเกี่ยวกับการก่อรัฐประหาร เพื่อรับมือกับข่าวลือดังกล่าว ทั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) และกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ต่างออกมาเตือนประชาชนว่า การใช้โซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นการอ้างซ้ำ กดไลค์ ข่าวลือต่างๆ ก็เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ส่งผลให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหยิบยกเอาวลีที่ว่า “กดไลค์ไม่ใช่อาชญากรรม” มาพูดซ้ำอย่างแพร่หลายเพื่อโต้กลับเจ้าหน้าที่ของรัฐ[39]

อ้างอิง

  1. Order of the Peace and Order Maintaining Command No. 3/2557 Subject: Prohibition of news reporting, dissemination and selling of publications which undermine internal peace and order. MFA. May 21, 2014. http://www.mfa.go.th/main/en/media-center/3756/45785-Order-of-the-Peace-and-Order-Maintaining-Command-N.html
  2. Thanyarat Doksone and Jocelyn Gecker. Thai military seizes power in coup, imposes curfew. AP. May 22, 2014. https://news.yahoo.com/thai-military-seizes-power-coup-imposes-curfew-130053106.html
  3. Announcement of the National Peace and Order Maintaining Council No. 12/2557 Subject: Request for Cooperation from Social Media Networks. MFA. June 2, 2014. http://www.mfa.go.th/main/en/media-center/3756/46185-Announcement-of-the-National-Peace-and-Order-Maint.html
  4. Announcement of the National Peace and Order Maintaining Council No. 17/2557 Subject: Dissemination of Information and News through the Internet. MFA. June 2, 2014. http://www.mfa.go.th/main/en/media-center/3756/46190-Announcement-of-the-National-Peace-and-Order-Maint.html
  5. Announcement of the National Peace and Order Maintaining Council No. 14/2557 Subject: Prohibition of Instigation of Conflicts and Opposition to the Function of NPOMC. MFA. June 2, 2014. http://www.mfa.go.th/main/en/media-center/3756/46187-Announcement-of-the-National-Peace-and-Order-Maint.html
  6. Announcement of the National Peace and Order Maintaining Council No. 18/2557 Subject: Dissemination of Information and News to the Public. MFA. June 2, 2014. http://www.mfa.go.th/main/en/media-center/3756/46191-Announcement-of-the-National-Peace-and-Order-Maint.html
  7. Five TV stations to resume broadcasts. Bangkok Post. May 23, 2014. http://www.bangkokpost.com/most-recent/411410/channels-3-5-7-9-and-11-to-resume-normal-programming
  8. “คสช.” สั่งห้ามทีวีมี SMS-โฟนอิน แสดงความเห็น. ASTV. May 24, 2014. http://www.manager.co.th/cyberbiz/viewnews.aspx?NewsID=9570000057945
  9. True Visions bans 14 international news broadcasts in fear of violating NCPO’s orders. Prachatai. May 27, 2014. http://www.prachatai.com/english/node/4035
  10. Usanee Mongkolporn. Military eases gag on TV and radio outlets. The Nation. June 4, 2014. http://www.nationmultimedia.com/politics/Military-eases-gag-on-TV-and-radio-outlets-30235406.html
  11. Voice TV, T-News back on air. Bangkok Post. June 14, 2014. http://www.bangkokpost.com/news/local/415343/voice-tv-t-news-back-on-air
  12. ICT plans national gateway to curb abuse of internet. Bangkok Post. May 28, 2014. http://www.bangkokpost.com/print/412124/
  13. รายงานการปิดกั้นสื่อออนไลน์ หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 (in Thai), iLaw, May 31, 2014. http://freedom.ilaw.or.th/blog/OnlineMedia2014
  14. ‘ผู้การ ปอท.’ รับผิดพลาด สั่งปิดเว็บเทนนิส ATP, Thairath, June 18, 2014. http://www.thairath.co.th/content/430471
  15. Thai military may crack down on ‘Hunger Games’ protests. June 3, 2014. http://www.washingtonpost.com/blogs/worldviews/wp/2014/06/02/watch-thais-make-hunger-games-salute-in-anti-coup-protest/
  16. Sandwiches, codes and salutes in Thailand. June 14, 2014. http://www.bbc.com/news/blogs-trending-27833824
  17. Reading takes on a tone of defiance among coup critics in Thailand. June 2, 2014. http://www.scmp.com/news/asia/article/1523429/reading-takes-tone-defiance-among-coup-critics-thailand
  18. Thai ministry sparks alarm with brief block of Facebook. Reuters. May 28, 2014. http://in.reuters.com/article/2014/05/28/thailand-politics-facebook-idINKBN0E80U520140528
  19. Thai authorities block Facebook. Prachatai. May 28, 2014. http://prachatai.com/english/node/4050
  20. กสทช.-ไอซีที ประสานเสียงยืนยันด้วยความสัตย์จริงไม่ได้ปิดเฟซบุ๊ค ปลัดไอซีทีชี้ “เกตเวย์ล่ม”. Prachachart. May 28, 2014. http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1401269666
  21. คำสั่ง คสช. ฉ.62 ย้ายเลขาสภาฯ-ปลัด ICT เข้ากรุ. Thairath. June 11, 2014. http://www.thairath.co.th/content/428900
  22. Telenor Blocked Facebook Access for Thai Junta: Report. Irrawaddy. June 9, 2014. http://www.irrawaddy.org/asia/telenor-blocked-facebook-access-thai-junta-report.html
  23. Dtac in hot seat after Telenor comment. Bangkok Post. June 11, 2014. http://www.bangkokpost.com/lite/topstories/414754/dtac-has-found-itself-in-the-hot-seat-after-its-parent-company-said-the-national-broadcasting-and-telecommunications-commission-nbtc-had-asked-its-thai-subsidiary-to-block-access-to-facebook
  24. Telenor apologises to junta, as regulator mulls 4G cap. TeleGeography. June 16, 2014. http://www.telegeography.com/products/commsupdate/articles/2014/06/16/telenor-apologises-to-junta-as-regulator-mulls-4g-cap/
  25. มีคำสั่งให้ผิดเว็บไซต์หมิ่นประมาทนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีปิดเว็บไซต์หมิ่นยิ่งลักษณ์ http://news.mthai.com/headline-news/236362.html
  26. กระทรวงไอซีทีเปิดสายด่วน 1212 เพื่อรับแจ้งเว็บไซต์ ที่ขัดต่อความมั่นคงวัฒนธรรม ศีลธรรม ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งทางอีเมล e-mail : 1212@mict.mail.go.th
  27. โครงการสร้างลูกเสือบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Cyber Scout) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, “คู่มือการอบรมหลักสูตรอาสาสมัครลูกเสือไซเบอร์”, http://www.kc.ac.th/8168.pdf (accessed on 01/08/2014)
  28. อำนาจเพิกถอนหมายจับ. เอเอสทีวีผู้จัดการ. 11 กรกฎาคม 2555. http://www.manager.co.th/daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000085044&CommentReferID=21608746&CommentReferNo=2&
  29. “Prachatai Blocked”, Freedom of Expression Documentation Center by iLaw, http://freedom.ilaw.or.th/en/case/116
  30. ศาลไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ห้ามสลายการชุมนุม เนื่องจากชุมนุมด้วยความสงบ, ASTV, February 19, 2014. http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9570000019784
  31. เพจเฟซบุ๊ก “กูต้องได้ 10 ล้านจากทักษิณแน่ๆ”. https://www.facebook.com/burntobeamillionaire2/posts/493293790796377?stream_ref=10
  32. “กดไลค์ ไม่ใช่อาชญากรรม กระทรวงไอซีทีต้องทบทวนมาตรการจัดการ “เฟซบุ๊กหมิ่น” และ ข้อแนะนำต่อพลเมืองเน็ตเมื่อเจอหน้าเว็บที่ไม่ถูกใจ”, Thai Netizen Network, November 30, 2011 https://thainetizen.org/2011/11/click-like-is-not-a-crime/
  33. “กดไลค์..ไม่ใช่อาชญากรรม”, คมชัดลึก, August 7, 2013 http://www.komchadluek.net/detail/20130807/165280/%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%A5%E0%B8%84%E0%B9%8C..%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1.html
Tags: , , , , ,
%d bloggers like this: