ประเทศไทยได้คะแนนในส่วนของ “การจำกัดเนื้อหา” (Limits on Content) 21 จาก 35 คะแนน (0 = ดีที่สุด ไม่มีการจำกัดเนื้อหาเลย, 35 = แย่ที่สุด)
ตอนที่ 3 ของสรุปรายงานประเทศไทยจากรายงานเสรีภาพอินเทอร์เน็ตประจำปี 2556-2557 (Freedom on the Net 2014) โดยฟรีดอมเฮาส์
- สถานการณ์เด่น เสรีภาพอินเทอร์เน็ตหลังรัฐประหาร และวิธีวิจัย
- อุปสรรคในการเข้าถึง (11/25 คะแนน)
- การจำกัดเนื้อหา (21/35)
- การละเมิดสิทธิผู้ใช้อินเทอร์เน็ต (30/40)
พฤษภาคม 2557
การประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ส่งผลต่อการควบคุมเนื้อหาดิจิทัลโดยตรง ผู้บัญชาการทหารบกใช้อำนาจในฐานะผู้นำสูงสุดของกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ออกคำสั่งห้ามการเสนอข่าวทุกรูปแบบที่มีลักษณะ “ปลุกระดมให้สร้างสถานการณ์วุ่นวายแตกแยก ทำให้ประชาชนหวาดกลัว อันจะส่งผลกระทบต่อมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่”[7] ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทันทีที่คณะรัฐประหารประกาศยึดอำนาจ สถานีโทรทัศน์และวิทยุทุกช่องก็ถูกระงับการออกอากาศ มีเพียงจอสีฟ้าประกอบด้วยโลโก้ของหน่วยงานทหารและตำรวจทั้งสิ้น 5 หน่วยงาน
สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสซึ่งเป็นสื่อสาธารณะและมีช่องทางออกอากาศหลักทางฟรีทีวี ยังคงทำงานหน้าที่โดยเสนอข่าวผ่านทางยูทูบ (YouTube) แทน แต่ออกอากาศได้ไม่นาน ในคืนวันรัฐประหาร ทหารเดินทางไปที่สถานีไทยพีบีเอสแล้วสั่งระงับการออกอากาศ พร้อมทั้งพาตัวนายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถานีไปที่ค่ายทหารก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกัน[8]
ในวันที่ 2 มิถุนายน 2557 มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มุ่งประเด็นสื่อออนไลน์โดยเฉพาะ โดยขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสื่อสังคมออนไลน์ระงับการให้บริการในการเสนอเนื้อหาเชิงปลุกระดม สร้างความรุนแรง และต่อต้านการปฏิบัติงานของกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หากละเมิดคำสั่งจะถูกระงับการให้บริการทันที[9] จากนั้น คณะรัฐประหารได้ออกคำสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกรายเข้ารายงานตัวต่อสำนักงานกสทช.[10] ยิ่งกว่านั้น ยังสั่งห้ามสื่อทุกประเภทเชิญบุคคลที่มิได้ดำรงตำแหน่งข้าราชการในปัจจุบันให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นอันจะสร้างความขัดแย้งในสังคม[11] จากนั้น ก็มีคำสั่งให้สื่อทุกประเภทงดเว้นการนำเสนอข่าวสารเท็จ หรือส่อไปในทางหมิ่นประมาทหรือสร้างความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตรย์และพระบรมวงศานุวงศ์ และสั่งห้ามวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของคสช.[12]
สำหรับบรรยากาศการทำงานของสื่อทั่วไปนั้น สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีจำนวนหนึ่งได้รับการอนุโลมให้ออกอากาศในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557[13] ส่วนสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ได้รับอนุญาตให้กลับมาออกอากาศได้ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 แต่ห้ามมิให้เปิดรับข้อความตัวอักษรหรือโทรศัพท์แสดงความคิดเห็นในรายการ[14] อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการแบบบอกรับสมาชิกบางรายออกมาเปิดเผยว่า ต้องระงับการออกอากาศช่องข่าวสารต่างประเทศ เช่น CNN, BBC, CNBC เพราะไม่สามารถควบคุมเนื้อหารายการได้[15] สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมจำนวนหนึ่งทยอยได้รับอนุญาตให้ออกอากาศในวันที่ 4 มิถุนายน 2557[16] ขณะที่สื่อโทรทัศน์ที่เน้นเนื้อหาทางการเมือง เช่น Voice TV และ T-News ได้ออกอากาศอีกครั้งในวันที่ 14 มิ.ย. ภายใต้เงื่อนไขที่จะเสนอข่าวสารโดยไม่กระทบกระเทือนต่อการปกครองของคณะรัฐประหารดังประกาศและคำสั่งที่ได้ออกไป[17]
สำหรับสื่อออนไลน์ คณะรัฐประหารทยอยระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ที่นำเสนอข่าวเชิงวิพากษ์หรือแถลงการณ์ในประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยปลัดไอซีทีเปิดเผยต่อสื่อว่า ในช่วงสัปดาห์แรก กระทรวงไอซีทีได้สั่งปิดเว็บไซต์ไปแล้ว 219 เว็บไซต์[18] ทั้งนี้ บางกรณีเป็นการระงับการเข้าถึงเฉพาะบางหน้า เช่น เว็บไซต์ขององค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) เฉพาะหน้าของประเทศไทย เว็บไซต์สำนักข่าวรอยเตอร์เฉพาะหน้าข่าวที่นำเสนอเรื่องการปิดกั้นเฟซบุ๊กในประเทศไทย บางเว็บไซต์เป็นการปิดกั้นการเข้าถึงทั้งเว็บไซต์ในประเทศไทย เช่น เว็บไซต์ประชาไท ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวสังคมการเมือง เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดลีเมล (Daily Mail) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวจากอังกฤษ เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นเว็บไซต์รวมบทความนักวิชาการ เว็บไซต์ของนักวิชาการนิติศาสตร์ในนามกลุ่มนิติราษฎร์ ขณะที่บางกรณีเป็นการสั่งปิดโดยมีคำสั่งไปยังผู้ให้บริการเว็บโฮสติงเพื่อให้ยุติการให้บริการ เช่น กรณีเว็บไซต์สำนักข่าวประชาธรรม ซึ่งเป็นเว็บข่าวสังคมการเมืองภาคเหนือ นอกจากการสั่งงดแสดงความเห็นและปิดกั้นข่าวสารการเมืองแล้ว เนื่องด้วยคณะรัฐประหารมีดำริจะจัดการปัญหาด้านอื่นๆ อาทิ ปัญหาการพนัน ส่งผลให้เว็บไซต์กีฬาจำนวนมากทุกระงับการเข้าถึงในประเทศไทย[19] เช่น เว็บไซต์ฟุตบอล อย่าง www.soccersuck.com และ www.livescore.com และเว็บไซต์เทนนิส www.atpworldtour.com ซึ่งผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) ให้ข้อมูลในเวลาต่อมาว่า เป็นความผิดพลาดด้านการตรวจสอบข้อมูล เพราะเข้าใจว่าเป็นเว็บที่เปิดให้เล่นการพนัน[20]
การรวมตัวกันเกิน 5 คนถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายภายใต้ภาวะกฎอัยการศึก ผู้ชุมนุมจึงสร้างสรรค์แนวทางในการแสดงออก จึงนำมาสู่การออกแบบการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ในรูปแบบอื่นๆ เช่น การชูนิ้วสามนิ้ว ตามแบบภาพยนตร์เรื่อง “เดอะฮังเกอร์เกมส์” (The Hunger Games) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ถึง เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ และการต่อต้านอำนาจเผด็จการ[21] หรือการนัดรวมตัวแล้วกินแซนด์วิชพร้อมกัน[22] รวมถึงการยืนอ่านหนังสือในที่สาธารณะ[23] ซึ่งแม้ผู้ชุมนุมต้องใช้วิธีการแสดงออกทางสัญญะ แต่ในการนัดหมายก็ต้องใช้ช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางสำคัญที่พอหลบเลี่ยงให้สื่อสารได้ โดยมีช่องทางหลักในการนัดรวมตัวกันผ่านทางโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไลน์ (Line) และเฟซบุ๊ก
ในเวลาบ่ายของวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 เกิดเหตุการณ์ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยไม่สามารถเข้าเว็บไซต์เฟซบุ๊กได้ด้วยช่องทางปกติ แต่สามารถเข้าถึงได้เมื่อลองเข้าผ่าน Tor Browser (เป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้ใช้มีไอพีนอกประเทศ) ปลัดกระทรวงไอซีทีให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนว่า คณะรัฐประหารมีคำสั่งให้ปิดกั้นเฟซบุ๊กชั่วคราวเพื่อระงับเหตุขัดแย้งและรุนแรง[24] สภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นประมาณ 40 นาทีก่อนที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะกลับมาใช้งานเฟซบุ๊กได้ตามปกติ หลังเหตุการณ์ดังกล่าว โฆษกของคสช.ให้สัมภาษณ์ว่า คสช.ไม่ได้มีคำสั่งปิดกั้นเฟซบุ๊กแต่อย่างใด[25] จนในเวลาต่อมา ปลัดกระทรวงไอซีทีออกมาให้ข้อมูลใหม่ว่า เหตุที่เข้าเฟซบุ๊กไม่ได้เพราะมีปัญหาที่เกตเวย์ เนื่องจากมีผู้ใช้งานจำนวนมาก ส่วนกรณีข่าวที่ออกไปก่อนหน้าว่ามีคำสั่งปิดกั้นนั้น เป็นความเข้าใจผิดของผู้รับสาย (ผู้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์)[26] ในเวลาต่อมา ปลัดไอซีทีคนดังกล่าวถูกคสช.สั่งปลดออกจากตำแหน่ง[27]
นอกจากนี้ โฆษก เทเลนอร์ กรุ๊ป เจ้าของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือรายใหญ่ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ Aftenposten ในประเทศนอร์เวย์ ระบุว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้สั่งผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระงับการใช้งานเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557[28] จากการให้ข้อมูลของเทเลนอร์ ส่งผลให้พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ไม่พอใจและกล่าวว่า การให้ข้อมูลดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่สมควรและไม่เคารพในกติกามารยาทของการกำกับดูแลในสถานการณ์เช่นนี้ ดังนั้น กทค. จะเข้มงวดและตรวจสอบการถือครองหุ้นในสัดส่วนของต่างชาติในดีแทค[29] ภายใต้ความสับสนและกดดันครั้งนี้ ในเวลาต่อมา เทเลนอร์ กรุ๊ป ได้ออกแถลงการณ์เพื่อขอโทษที่ให้ข้อมูลอันส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของกสทช.และคสช.[30]
พฤษภาคม 2556 – เมษายน 2557
ในปี 2556 ศาลมีคำสั่งตามที่กระทรวงไอซีทีร้องขอให้ปิดกั้นเว็บไซต์จำนวนทั้งสิ้น 58 ฉบับ มีผลให้ปิดกั้นเว็บไซต์จำนวน 5,369 ยูอาร์แอล สถิติดังกล่าวถือเป็นจำนวนที่ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับปี 2555 ที่มีเว็บไซต์ถูกปิดกั้นกว่าสองหมื่นยูอาร์แอล อย่างไรก็ตาม คำสั่งศาลระบุให้เจ้าหน้าที่ไอซีทีปิดกั้นยูอาร์แอลที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกันโดยไม่ต้องขอหมายศาลใหม่
เนื้อหาของเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นมากที่สุด คือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ คิดเป็นร้อยละ 90 ของยูอาร์แอลทั้งหมดที่ถูกปิดกั้น รองลงมาเป็นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาลามกอนาจาร คิดเป็นร้อยละ 9.8 สัดส่วนที่เหลือเป็นการปิดกั้นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหากระทบต่อศาสนา มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หมิ่นประมาทบุคคลที่มีชื่อเสียง อาทิ พระสงฆ์ นายกรัฐมนตรี[31] รวมเป็นร้อยละ 0.5 น่าสังเกตว่า จำนวนการปิดกั้นเว็บไซต์ว่าจะมีมากหรือน้อยนั้น สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนทางการเมืองด้วย กล่าวคือ ในสมัยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีเว็บไซต์ถูกปิดกั้นทั้งสิ้น 78,072 ยูอาร์แอลจากคำสั่งศาลทั้งสิ้น 129 ฉบับ ในสมัยของนางสาวยิ่งลักษณ์ มีเว็บไซต์ถูกปิดกั้นทั้งสิ้น 27,685 ยูอาร์แอลจากคำสั่งศาลทั้งสิ้น 237 ฉบับ
เนื้อหา | 2550 | 2551 | 2552 | 2553 | 2554 | 2555 | 2556 | 2557 | ||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
คำสั่งศาล | URL | คำสั่งศาล | URL | คำสั่งศาล | URL | คำสั่งศาล | URL | คำสั่งศาล | URL | คำสั่งศาล | URL | คำสั่งศาล | URL | คำสั่งศาล | URL | |
หมิ่นประมาทกษัตริย์ ราชินี หรือรัชทายาท | 0 | 0 | 7 | 1,937 | 30 | 16,525 | 27 | 39,115 | 26 | 3,213 | 132 | 16,813 | 45 | 4,815 | 90 | 60,790 |
ลามกหรืออนาจาร | 0 | 0 | 4 | 96 | 27 | 11,609 | 15 | 6,105 | 6 | 1,585 | 25 | 4,218 | 7 | 526 | 52 | 19,395 |
ยาทำแท้ง | 0 | 0 | 1 | 37 | 3 | 320 | 0 | 0 | 0 | 0 | 0 | 0 | 0 | 0 | 4 | 357 |
สนับสนุนการพนัน | 0 | 0 | 0 | 0 | 2 | 246 | 0 | 0 | 0 | 0 | 0 | 0 | 0 | 0 | 2 | 246 |
กระทบศาสนา | 1 | 2 | 1 | 1 | 1 | 2 | 0 | 0 | 0 | 0 | 1 | 1 | 1 | 2 | 3 | 5 |
อื่นๆ | 0 | 0 | 0 | 0 | 1 | 3 | 3 | 137 | 1 | 280 | 8 | 216 | 5 | 26 | 5 | 420 |
รวม | 1 | 2 | 13 | 2,071 | 64 | 28,705 | 45 | 45,357 | 33 | 5,078 | 166 | 21,248 | 58 | 5,369 | 380 | 107,830 |
เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ คือกระทรวงไอซีที ซึ่งกระทรวงไอซีทีมีระบบสายด่วน[32]ให้ประชาชนทั่วไปแจ้งเบาะแสเว็บไซต์ที่ขัดต่อความมั่นคง วัฒนธรรม และศีลธรรม นอกจากนี้ ยังมีโครงการลูกเสือไซเบอร์ ที่จัดอบรมเยาวชนตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ให้เป็นอาสาสมัครช่วยกันเฝ้าระวังสอดส่องเนื้อหาไม่เหมาะสมออนไลน์ โดยมุ่งเน้นที่การตรวจตราเนื้อหาที่มีลักษณะการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง[33]
ฟรีดอมเฮาส์ระบุว่า ตามกฎหมายไทย แม้เจ้าของเว็บไซต์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลที่สั่งให้ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ แต่ไม่มีบทอนุญาตให้อุทธรณ์คำสั่งได้ และหากเทียบเคียงแนวปฏิบัติของระบบศาลไทยในอดีต อำนาจของศาลที่ใช้ปิดกั้นเว็บไซต์มีลักษณะคล้ายกับอำนาจในการออกหมายจับ ซึ่งเป็นคำขอฝ่ายเดียวของเจ้าหน้าที่รัฐ และเคยมีกรณีในอดีตที่ผู้ถูกจับกุมยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนหมายจับ แต่ศาลวินิจฉัยว่า ไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายมีความประสงค์จะให้ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์ได้ เพราะจะทำให้การดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรมเกิดความล่าช้า[34] ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าอำนาจของศาลในการสั่งปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาและอำนาจในการออกหมายจับมีลักษณะคล้ายกัน
เว็บไซต์นิติราษฎร์ เว็บไซต์ของกลุ่มอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ถูกบล็อคหน้าเว็บซึ่งเผยแพร่ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ซึ่งเจ้าของเว็บไซต์ได้ทำจดหมายไปยังกระทรวงไอซีทีเพื่อขอดูคำสั่งศาลฉบับดังกล่าว ปัจจุบันหน้าเว็บดังกล่าวยังคงถูกปิดกั้น
เว็บไซต์ประชาไทซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวการเมืองที่ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) (ต่อมาจะเปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน – ศอฉ.”) มีคำสั่งให้ปิดเว็บไซต์ตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 ด้วยเหตุผลว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เว็บไซต์ประชาไท[35]ยื่นฟ้องรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องฐานละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เมื่อเดือนมีนาคม 2556 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับศาลชั้นต้นว่า โจทก์จะฟ้องนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ว่ากระทำผิดจากการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ แต่โจทก์ย่อมฟ้องกระทรวงไอซีทีและกระทรวงการคลังให้รับผิดได้ และให้ศาลชั้นต้นเริ่มดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ ในส่วนของคำร้องที่ประชาไทร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งปิดกั้นเว็บไซต์นั้น ศาลเห็นว่าเนื่องจากปัจจุบันยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว การขอให้เพิกถอนคำสั่งจึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลจะพิจารณา
ความเห็นต่างทางการเมืองกลายเป็นไฟเขียวให้เกิดการปิดกั้นช่องทางเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ นอกจากการปิดกั้นเนื้อหาโดยอำนาจรัฐแล้ว สังคมไทยยังมีปรากฏการณ์การระดมคนไปแจ้งลบเนื้อหาต่อเฟซบุ๊ก ปรากฏการณ์ที่เด่นชัดเริ่มเกิดขึ้นในปี 2555 ที่ “สมาคมรีพอร์ต” ซึ่งเริ่มแรกเป็นเพจในเฟซบุ๊กที่มีนโยบายสอดส่องและเชิญชวนให้คนกดแจ้งเฟซบุ๊กให้ลบเพจที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ต่อมาได้ขยายประเด็นไปเรื่องการดูหมิ่นศาสนา รวมถึงการรีพอร์ตเนื้อหาอื่นๆ ที่ออกมาตั้งคำถามต่อการระดมแจ้งลบเนื้อหา กระทั่งมีการตั้งเพจต่อต้านในนาม “ภาคีพิทักษ์สิทธิเสรีภาพในโลกไซเบอร์” ด้วย
ยังพบว่า มีการใช้สื่อเพื่อสร้างความเกลียดชัง การนำข้อมูลส่วนตัวผู้อื่นมาเปิดเผย เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2557 หลังจากศาลแพ่งมีคำพิพากษาในคดีที่แกนนำกปปส.ซึ่งชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ยื่นฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) โดยศาลแพ่งพิพากษาว่า ฝ่ายบริหารสามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ แต่ห้ามมิให้รัฐบาลนำประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มาใช้บังคับกับผู้ชุมนุม และห้ามสลายการชุมนุม[36] จากคำพิพากษาดังกล่าว เพจเฟซบุ๊กหนึ่งได้เผยแพร่รายชื่อคณะผู้พิพากษาศาลแพ่ง พร้อมที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และทะเบียนรถ หลังจากนั้น ในเดือนมีนาคม เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมได้ทำหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อขอให้ระงับการเผยแพร่ข้อความและข้อมูลทางเว็บไซต์ เพราะการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายชี้นำและชักชวนให้มีการใช้กำลังประทุษร้ายต่อองค์คณะผู้พิพากษา และขอให้ดำเนินการตามกฎหมาย เพจดังกล่าวได้นำหนังสือฉบับนั้นมาเผยแพร่พร้อมกับประกาศปิดเพจตัวเองและเปิดเพจสำรองอันใหม่ขึ้นแทน[37]
ย้อนไปในปี 2554 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า การกดไลค์หรือแชร์ข้อความที่ผิดกฎหมายถือเป็นการเผยแพร่เนื้อหาทางอ้อม ซึ่งเข้าข่ายมีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เช่นเดียวกับผู้โพสต์ ส่งผลให้เครือข่ายพลเมืองเน็ตออกแคมเปญยืนยันสิทธิของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตว่า “กดไลค์ไม่ใช่อาชญากรรม”[38]
ต่อมา ในปี 2556 มีข่าวลือแพร่หลายเกี่ยวกับการก่อรัฐประหาร เพื่อรับมือกับข่าวลือดังกล่าว ทั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) และกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ต่างออกมาเตือนประชาชนว่า การใช้โซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นการอ้างซ้ำ กดไลค์ ข่าวลือต่างๆ ก็เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ส่งผลให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหยิบยกเอาวลีที่ว่า “กดไลค์ไม่ใช่อาชญากรรม” มาพูดซ้ำอย่างแพร่หลายเพื่อโต้กลับเจ้าหน้าที่ของรัฐ[39]
อ้างอิง
- Order of the Peace and Order Maintaining Command No. 3/2557 Subject: Prohibition of news reporting, dissemination and selling of publications which undermine internal peace and order. MFA. May 21, 2014. http://www.mfa.go.th/main/en/media-center/3756/45785-Order-of-the-Peace-and-Order-Maintaining-Command-N.html
- Thanyarat Doksone and Jocelyn Gecker. Thai military seizes power in coup, imposes curfew. AP. May 22, 2014. https://news.yahoo.com/thai-military-seizes-power-coup-imposes-curfew-130053106.html
- Announcement of the National Peace and Order Maintaining Council No. 12/2557 Subject: Request for Cooperation from Social Media Networks. MFA. June 2, 2014. http://www.mfa.go.th/main/en/media-center/3756/46185-Announcement-of-the-National-Peace-and-Order-Maint.html
- Announcement of the National Peace and Order Maintaining Council No. 17/2557 Subject: Dissemination of Information and News through the Internet. MFA. June 2, 2014. http://www.mfa.go.th/main/en/media-center/3756/46190-Announcement-of-the-National-Peace-and-Order-Maint.html
- Announcement of the National Peace and Order Maintaining Council No. 14/2557 Subject: Prohibition of Instigation of Conflicts and Opposition to the Function of NPOMC. MFA. June 2, 2014. http://www.mfa.go.th/main/en/media-center/3756/46187-Announcement-of-the-National-Peace-and-Order-Maint.html
- Announcement of the National Peace and Order Maintaining Council No. 18/2557 Subject: Dissemination of Information and News to the Public. MFA. June 2, 2014. http://www.mfa.go.th/main/en/media-center/3756/46191-Announcement-of-the-National-Peace-and-Order-Maint.html
- Five TV stations to resume broadcasts. Bangkok Post. May 23, 2014. http://www.bangkokpost.com/most-recent/411410/channels-3-5-7-9-and-11-to-resume-normal-programming
- “คสช.” สั่งห้ามทีวีมี SMS-โฟนอิน แสดงความเห็น. ASTV. May 24, 2014. http://www.manager.co.th/cyberbiz/viewnews.aspx?NewsID=9570000057945
- True Visions bans 14 international news broadcasts in fear of violating NCPO’s orders. Prachatai. May 27, 2014. http://www.prachatai.com/english/node/4035
- Usanee Mongkolporn. Military eases gag on TV and radio outlets. The Nation. June 4, 2014. http://www.nationmultimedia.com/politics/Military-eases-gag-on-TV-and-radio-outlets-30235406.html
- Voice TV, T-News back on air. Bangkok Post. June 14, 2014. http://www.bangkokpost.com/news/local/415343/voice-tv-t-news-back-on-air
- ICT plans national gateway to curb abuse of internet. Bangkok Post. May 28, 2014. http://www.bangkokpost.com/print/412124/
- รายงานการปิดกั้นสื่อออนไลน์ หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 (in Thai), iLaw, May 31, 2014. http://freedom.ilaw.or.th/blog/OnlineMedia2014
- ‘ผู้การ ปอท.’ รับผิดพลาด สั่งปิดเว็บเทนนิส ATP, Thairath, June 18, 2014. http://www.thairath.co.th/content/430471
- Thai military may crack down on ‘Hunger Games’ protests. June 3, 2014. http://www.washingtonpost.com/blogs/worldviews/wp/2014/06/02/watch-thais-make-hunger-games-salute-in-anti-coup-protest/
- Sandwiches, codes and salutes in Thailand. June 14, 2014. http://www.bbc.com/news/blogs-trending-27833824
- Reading takes on a tone of defiance among coup critics in Thailand. June 2, 2014. http://www.scmp.com/news/asia/article/1523429/reading-takes-tone-defiance-among-coup-critics-thailand
- Thai ministry sparks alarm with brief block of Facebook. Reuters. May 28, 2014. http://in.reuters.com/article/2014/05/28/thailand-politics-facebook-idINKBN0E80U520140528
- Thai authorities block Facebook. Prachatai. May 28, 2014. http://prachatai.com/english/node/4050
- กสทช.-ไอซีที ประสานเสียงยืนยันด้วยความสัตย์จริงไม่ได้ปิดเฟซบุ๊ค ปลัดไอซีทีชี้ “เกตเวย์ล่ม”. Prachachart. May 28, 2014. http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1401269666
- คำสั่ง คสช. ฉ.62 ย้ายเลขาสภาฯ-ปลัด ICT เข้ากรุ. Thairath. June 11, 2014. http://www.thairath.co.th/content/428900
- Telenor Blocked Facebook Access for Thai Junta: Report. Irrawaddy. June 9, 2014. http://www.irrawaddy.org/asia/telenor-blocked-facebook-access-thai-junta-report.html
- Dtac in hot seat after Telenor comment. Bangkok Post. June 11, 2014. http://www.bangkokpost.com/lite/topstories/414754/dtac-has-found-itself-in-the-hot-seat-after-its-parent-company-said-the-national-broadcasting-and-telecommunications-commission-nbtc-had-asked-its-thai-subsidiary-to-block-access-to-facebook
- Telenor apologises to junta, as regulator mulls 4G cap. TeleGeography. June 16, 2014. http://www.telegeography.com/products/commsupdate/articles/2014/06/16/telenor-apologises-to-junta-as-regulator-mulls-4g-cap/
- มีคำสั่งให้ผิดเว็บไซต์หมิ่นประมาทนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีปิดเว็บไซต์หมิ่นยิ่งลักษณ์ http://news.mthai.com/headline-news/236362.html
- กระทรวงไอซีทีเปิดสายด่วน 1212 เพื่อรับแจ้งเว็บไซต์ ที่ขัดต่อความมั่นคงวัฒนธรรม ศีลธรรม ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งทางอีเมล e-mail : 1212@mict.mail.go.th
- โครงการสร้างลูกเสือบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Cyber Scout) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, “คู่มือการอบรมหลักสูตรอาสาสมัครลูกเสือไซเบอร์”, http://www.kc.ac.th/8168.pdf (accessed on 01/08/2014)
- อำนาจเพิกถอนหมายจับ. เอเอสทีวีผู้จัดการ. 11 กรกฎาคม 2555. http://www.manager.co.th/daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000085044&CommentReferID=21608746&CommentReferNo=2&
- “Prachatai Blocked”, Freedom of Expression Documentation Center by iLaw, http://freedom.ilaw.or.th/en/case/116
- ศาลไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ห้ามสลายการชุมนุม เนื่องจากชุมนุมด้วยความสงบ, ASTV, February 19, 2014. http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9570000019784
- เพจเฟซบุ๊ก “กูต้องได้ 10 ล้านจากทักษิณแน่ๆ”. https://www.facebook.com/burntobeamillionaire2/posts/493293790796377?stream_ref=10
- “กดไลค์ ไม่ใช่อาชญากรรม กระทรวงไอซีทีต้องทบทวนมาตรการจัดการ “เฟซบุ๊กหมิ่น” และ ข้อแนะนำต่อพลเมืองเน็ตเมื่อเจอหน้าเว็บที่ไม่ถูกใจ”, Thai Netizen Network, November 30, 2011 https://thainetizen.org/2011/11/click-like-is-not-a-crime/
- “กดไลค์..ไม่ใช่อาชญากรรม”, คมชัดลึก, August 7, 2013 http://www.komchadluek.net/detail/20130807/165280/%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%A5%E0%B8%84%E0%B9%8C..%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1.html