Thai Netizen Network

เสรีภาพเน็ตไทยปี 2557: การละเมิดสิทธิผู้ใช้อินเทอร์เน็ต (สรุป Freedom on the Net 2014 ตอนที่ 4)

การละเมิดสิทธิผู้ใช้  30 จาก 40 คะแนน

ประเทศไทยได้คะแนนในส่วนของ “การละเมิดสิทธิผู้ใช้อินเทอร์เน็ต” (Violations of User Rights) 30 จาก 40 คะแนน (0 = ดีที่สุด ไม่มีการละเมิดสิทธิผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเลย, 40 = แย่ที่สุด)

ตอนที่​ 4 (ตอนสุดท้าย) ของสรุปรายงานประเทศไทยจากรายงานเสรีภาพอินเทอร์เน็ตประจำปี 2556-2557 (Freedom on the Net 2014) โดยฟรีดอมเฮาส์

  1. สถานการณ์เด่น เสรีภาพหลังรัฐประหาร และวิธีวิจัย
  2. อุปสรรคในการเข้าถึง (11/25 คะแนน)
  3. การจำกัดเนื้อหา (21/35)
  4. การละเมิดสิทธิผู้ใช้อินเทอร์เน็ต (30/40)

พฤษภาคม 2557

ภายหลังจากรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมาตรการควบคุมตัวประชาชน สอดแนม ล่วงล้ำในข้อมูลส่วนบุคคลผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และเปิดโอกาสให้บรรยากาศความหวาดกลัวทำงานอย่างเต็มที่ รวมทั้งสร้างโอกาสให้ปฏิบัติการล่าแม่มดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพียงเวลาหนึ่งเดือนหลังการยึดอำนาจ คสช.ออกคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวจำนวนมากกว่า 500 คน ซึ่งประกอบด้วยนักการเมือง แกนนำทางการเมือง นักเคลื่อนไหวอิสระ นักวิชาการ สื่อมวลชน ในจำนวนนี้ มีบุคคลที่ถูกเรียกตัวจากเหตุที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกรวมแล้วมากกว่า 150 คน[40] รูปแบบการเรียกตัวมีทั้งออกคำสั่งอย่างเป็นทางการซึ่งเผยแพร่ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง และการบุกจับไปยังที่บ้านและสถานที่ทำงาน ในการเรียกให้ไปรายงานตัวนี้ ผู้เข้ารายงานตัวต้องเดินทางไปยังค่ายทหาร โดยจะถูกยึดอุปกรณ์การสื่อสารชั่วคราวให้ไม่สามารถติดต่อบุคคลภายนอกได้ และจะถูกนำไปไปควบคุมไว้ในค่ายทหารต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารจะไม่ให้ผู้ถูกควบคุมตัวทราบว่าเขาถูกนำตัวไปไว้ทีแห่งใด บางกรณีถูกปิดตาขณะนั่งรถ ในระหว่างการควบคุมตัวจะถูกสอบสวนเกี่ยวกับทัศนคติทางการเมือง ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึก ซึ่งให้อำนาจในการควบคุมตัวโดยไม่มีทนายหรือบุคคลที่ไว้วางใจได้นาน 7 วัน ก่อนการปล่อยตัว ผู้ถูกควบคุมตัวจะถูกบังคับให้ลงนามในเอกสารเงื่อนไขก่อนการปล่อยตัวว่า จะไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ได้ถูกทรมานขณะควบคุมตัว จะไม่เดินทางออกนอกประเทศก่อนได้รับอนุญาต นอกจากนี้ นักเคลื่อนไหวและนักวิชาการจำนวนมาก ถูกสั่งให้มอบรหัสผ่านเฟซบุคแก่เจ้าหน้าที่ทหารด้วย[41]

มีหลายกรณีที่แม้จะถูกควบคุมตัวครบ 7 วันแล้ว ก็มีการตั้งข้อหาเพิ่มเติม นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน คสช.ได้ออกประกาศฉบับที่ 37[42] และ 38[43]ระบุว่า บรรดาคดีที่เกี่ยวข้องกับความผิดต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ หรือการละเมิดคำสั่งหรือประกาศของคสช. ที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 จะต้องอยู่ภายใต้การพิจารณาคดีของศาลทหาร ซึ่งเป็นศาลชั้นเดียว ไม่มีการอุทธรณ์และฎีกา และองค์คณะผู้พิพากษามีสามนาย ประกอบด้วย ตุลาการทหาร ซึ่งเป็นนายทหารที่ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิด้านนิติศาสตร์ แต่มียศสูงกว่าจำเลยสองนาย และตุลาการพระธรรมนูญ ซึ่งต้องมีวุฒิด้านนิติศาสตร์ หนึ่งนาย

ในสถานการณ์ดังกล่าว ยังมีการเคลื่อนไหวในนามภาคประชาชนซึ่งนำโดยนายทหารที่เรียกกลุ่มตนเองว่า “องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน” ที่แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวโทษว่ามีบุคคลจำนวน 5 รายว่า กระทำการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และกระทำการปลุกปั่นประชาชนให้เกิดความกระด้างกระเดื่องโดยใช้สื่อออนไลน์[44]
ในเวลาหนึ่งเดือนแรกภายหลังการรัฐประหาร มีกรณีซึ่งถูกคณะรัฐประหารออกหมายเรียกตัว และจับกุมตามอำเภอใจ โดยภายหลังการจับกุมได้ถูกตั้งข้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และการโพสต์ข้อความในสื่อออนไลน์ รวมแล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 5 คดี

ตัวอย่างการดำเนินคดีหลังรัฐประหาร อาทิ

นายอภิชาติ (สงวนนามสกุล) ซึ่งถูกจับกุมในการชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร หลังถูกควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึกครบ 7 วัน เขาถูกตั้งข้อหาละเมิดคำสั่งคสช. ที่ไปร่วมชุมนุม แต่ก็มีผู้ส่งหลักฐานให้ตำรวจเพิ่มเติม โดยนำข้อความจากเฟซบุคของเขา ผู้แจ้งเบาะแสตีความว่า ข้อความเหล่านั้นมีลักษณะหมิ่นประมาทกษัตริย์ ส่งผลให้เขาถูกตั้งข้อหาร้ายแรงในหลายการกระทำ[45]

นายสมบัติ งามบุญอนงค์ นักเคลื่อนไหวซึ่งทำงานพัฒนาสังคมโดยใช้สื่อเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนมาโดยตลอด เป็นที่รู้จักกันในงานพัฒนาหลายด้าน ทั้งเรื่องการแก้ปัญหาคนหาย การฟื้นฟูวิกฤตภายหลังเหตุการณ์สึนามิ และการแก้สถานการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 นายสมบัติยังริเริ่มกิจกรรมวันอาทิตย์สีแดง ที่ชวนให้มวลชนรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งโดยไม่พึ่งพาแกนนำหรือพรรคการเมือง นายสมบัติ ถูกคำสั่งเรียกตัวจากคสช. แต่เขาเลือกที่จะไม่ไปรายงานตัวพร้อมทั้งออกแคมเปญในเฟซบุคส่วนตัวของเขาว่า Catch me if you can ต่อมา ในวันที่ 6 มิถุนายน 2557 ปรากฏข่าวว่า เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจสนธิกำลังเข้าควบคุมตัวนายสมบัติ โดยมีเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลแก่ผู้สื่อข่าวว่า สามารถติดตามรอยนายสมบัติได้โดยตรวจสอบจากหมายเลขไอพีแอดเดรสที่เขาใช้งาน[46] เขาถูกควบคุมตัวราวสามสัปดาห์ก่อนจะได้รับอนุญาตให้ประกันตัว

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นอีกกรณีที่ต่อต้านอำนาจคณะรัฐประหาร เขาปฏิเสธที่จะไปรายงานตัวตามคำสั่งเรียก ต่อมา ทหารเข้ารวบตัวกลางเวทีที่เขากำลังปาฐกถาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ต่อมา เขาถูกตั้งข้อหาว่ากระทำผิดพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ เพราะโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุคต่อต้านการทำรัฐประหาร[47]

ภาวะของตัวตนนิรนามในพื้นที่ออนไลน์อยู่ในความสุ่มเสี่ยง หลังจากรัฐประหาร กระทรวงไอซีทีได้เร่งหารือแนวทางการจัดทำเกตเวย์แห่งชาติ (National Internet Gateway) ให้เป็นช่องทางสำหรับเชื่อมต่อข่ายงานคอมพิวเตอร์ที่ต่างชนิดกันให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ เพื่อเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบและปิดกั้นเนื้อหาบนเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายทำได้ดีขึ้น[48] และมีรายงานในเดือนมิถุนายนว่า กระทรวงไอซีทีกำลังอยู่ในขั้นตอนปรึกษากับผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์เพื่อจะติดตั้งระบบควบคุมอินเทอร์เน็ตในประเทศทั้งหมด[49] ภายใต้แผนนี้ พลเมืองทุกคนจะต้องยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนสมาร์ตการ์ดก่อนจะใช้อินเทอร์เน็ตได้ อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อมูลและความคืบหน้าอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว

ด้านเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีมาตรการติดตามการใช้แอปพลิเคชัน Line โดยส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปเป็นสมาชิกของกลุ่มไลน์เพื่อติดตามเฝ้าระวังการใช้งาน และจะตรวจสอบผู้ใช้งานที่มีบทสนทนาที่ไม่เหมาะสม[50] นอกจากนี้ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้อำนวยการกองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตำรวจมีหน้าที่ตรวจสอบเฟซบุคที่มีการโพสต์ข้อความต่อต้านเชิญชวนคนให้มาชุมนุม และหากกดไลค์ก็ถือว่ามีความผิดเพราะถือเป็นการกระจายข่าว แม้ผู้นั้นจะไม่ได้เป็นผู้เขียนขึ้นเองก็ตาม[51]

ฝั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีมาตรการรุกล้ำข้อมูลส่วนบุคคล มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตพบเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ว่า เมื่อเข้าเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้น จะปรากฏหน้าเว็บของกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่แจ้งผลว่า หน้าเว็บดังกล่าวถูกปิดกั้น โดยการแสดงผลดังกล่าวมีปุ่ม “close” เพื่อหวังให้ผู้ใช้กดปุ่มปิดหน้าต่าง แต่เมื่อคลิกไปแล้วแทนที่จะมีผลเป็นการปิดหน้าต่างลง ระบบจะแสดงผลเป็นหน้าแอปพลิเคชันชื่อ “login” ซึ่งถามว่าผู้ใช้จะยินยอมแชร์ข้อมูลส่วนตัวหรือไม่ หากผู้ใช้เผลอกดตกลงก็ทำให้แอปพลิเคชันดังกล่าวสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ได้ หลังจากเครือข่ายพลเมืองเน็ตเผยแพร่เรื่องดังกล่าว[52] ปุ่ม close ก็หายไป โดยมีการชี้แจงผ่านทางเว็บไซต์ว่า การจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการเป็นขั้นตอนการจัดเก็บข้อมูลซึ่งทำได้ตามกฎหมาย หากผู้ใช้ยินยอมล็อกอินในแอปพลิเคชันดังกล่าวก็จะทำให้ผู้ใช้รายนั้นสามารถเป็นเพื่อนกับเพจของกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและช่วยเพิ่มช่องทางเข้าแจ้งเบาะแส ยิ่งมีเบาะแสมาก ก็ยิ่งช่วยให้ดำเนินการกับผู้กระทำความผิดได้มาก เป็นการช่วยให้สังคมออนไลน์ใสสะอาด[53]

พฤษภาคม 2556 – เมษายน 2557

ฟรีดอมเฮาส์ ประมวลเหตุการณ์ ปี 2556-2557 ว่าเป็นปีที่มีสื่อมวลชน นักเคลื่อนไหว และพลเมืองทั่วไป ถูกฟ้องร้องทั้งคดีหมิ่นประมาท และหมิ่นประมาทกษัตริย์ จากการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์เกิดขึ้นใหม่หลายคดี กรณีหนึ่ง ผู้ใช้นามแฝงว่า “เคนจิ”[54] ถูกพิพากษาโทษจำคุก 13 ปี 4 เดือน แต่เนื่องจากเขารับสารภาพจึงได้ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เขาถูกตัดสินว่ากระทำผิด ในข้อหา “พยายาม” หมิ่นประมาท เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจค้นพบภาพถ่ายและข้อความในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตได้ และยังมีคดีที่หลักฐานข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ชัดเจนแต่ศาลลงโทษจำคุกประชาชนคนหนึ่ง 5 ปีในความผิดฐานหมิ่นกษัตริย์ฯ นอกจากนี้ ในช่วงที่ข่าวลือเรื่องการก่อรัฐประหารแพร่สะพัด เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามโน้มน้าวให้บริษัทโซเชียลเน็ตเวิร์ตในนานาประเทศมอบข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้โดยอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงของประเทศ

มาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกไว้อย่างกว้างๆ แต่ขณะเดียวกันก็มีกฎหมายอื่นๆ ที่ใช้จำกัดเสรีภาพของประชาชน อาทิ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายใน พ.ศ. 2550, พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 รวมถึง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งกำหนดความผิดหลายอย่างซ้ำซ้อนกับประมวลกฎหมายอาญา ทว่ามีโทษที่รุนแรงกว่า เช่น มาตราที่ถูกใช้มาก คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) ซึ่งถูกใช้ควบคู่กับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 ว่าด้วยการหมิ่นประมาท ซึ่งนับแต่มีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทำให้ลักษณะการฟ้องคดีหมิ่นประมาทเปลี่ยนไป จากเดิมที่ประมวลกฎหมายอาญาถือว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทถือเป็นความผิดส่วนตัว ผู้ฟ้องคดีจึงต้องเป็นผู้เสียหายเท่านั้น แต่ความผิดตามมาตรา 14 (1) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ถือเป็นอาญาแผ่นดินที่เปิดกว้างให้ผู้ฟ้องคดีไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหายโดยตรง ซึ่งนางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทในการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ปี 2550 ได้ชี้ว่า การบังคับใช้มาตรานี้ไปในทางหมิ่นประมาทเป็นการตีความกฎหมายที่ผิดไปจากเจตนารมณ์[55]

ตำรวจ อัยการ และศาล ยังคงเดินหน้าตีความและดำเนินคดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อาทิ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 โรงงานผลไม้กระป๋องแห่งหนึ่งฟ้องนายอานดี้ ฮอลล์ นักเคลื่อนไหวด้านแรงงาน ซึ่งเผยแพร่งานวิจัยของฟินน์วอทช์ว่า โรงงานผลไม้กระป๋องแห่งหนึ่งในไทยมีการละเมิดสิทธิแรงงาน

ในเดือนเมษายน 2556 จากการปาฐกฐาของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในการประชุมว่าด้วยประชาธิปไตยที่ประเทศมองโกเลีย ที่มีเนื้อหาว่า การรัฐประหารในปี 2549 ส่งผลให้ประเทศไทยถอยหลัง[56] จนต่อมา นายชัย ราชวัตร คอลัมนิสต์และนักเขียนการ์ตูนล้อการเมือง เขียนข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “กะหรี่เร่ขายตัว หญิงชั่วเร่ขายชาติ” เป็นเหตุให้นางสาวยิ่งลักษณ์ แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และกระทำผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์[57]

ในเดือนธันวาคม 2556 กองทัพเรือของไทยฟ้องคดีผู้สื่อข่าวสองคนของเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน (Phuket Wan) คือ Alan Morison และ Chutima Sidasathian ทำรายงานเชิงลึกเกี่ยวกับการลักลอบนำชาวโรฮิงญาเข้ามาในประเทศไทย โดยอ้างข้อมูลจากสำนักข่าวรอยเตอร์ที่มีใจความว่า เรือที่ลักลอบนำคนโรฮิงญาเข้าสู่น่านน้ำไทยต้องจ่ายเงินพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ทหารไทย[58] การรายงานดังกล่าวส่งผลให้ผู้สื่อข่าวสองคนถูกกองทัพเรือฟ้องคดีฐานนำเข้าสู่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหรือเท็จ และฐานหมิ่นประมาท[59] อีก

มาตรา 14 (3) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กำหนดว่า ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท ซึ่งมาตราดังกล่าวมักถูกใช้ฟ้องร้องควบคู่กับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นประมาทกษัตริย์

เดือนกันยายน 2556 มีกรณีที่เกิดขึ้นใหม่ เมื่อน.ส.พรทิพา สุพัฒนุกุล เจ้าของรายการในเคเบิลทีวีแห่งหนึ่งแจ้งความว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนหนึ่งซึ่งใช้นามแฝงว่า อั้ม เนโกะ[60] กระทำผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ โดยอ้างหลักฐานที่นางสาวพรทิพาเคยไปขอสัมภาษณ์อั้ม เนโกะ แต่สุดท้ายไม่ได้ออกอากาศเพราะผู้ฟ้องเห็นว่าเป็นบทสัมภาษณ์ที่พาดพิงเบื้องสูง และยังอ้างถึงหลักฐานการโพสต์ข้อความในเฟซบุคด้วย

เดือนเดียวกันนั้น มีอีกกรณีที่ตำรวจหลายสิบนายเข้าจับกุมตัวสมาชิกเว็บบอร์ดทางการเมือง Internet to Freedom ซึ่งใช้นามแฝงว่า “เคนจิ”[61] เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์จำนวนทั้งสิ้นสองข้อความ และภายหลังการจับกุมครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ได้นำเครื่องคอมพิวเตอร์ไปตรวจและพบข้อมูลเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์อีกจำนวนหนึ่ง ส่งผลให้เขาถูกฟ้องข้อหา “พยายาม” หมิ่นประมาทกษัตริย์ ผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์[62] ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) และ (3) เขาถูกพิพากษาให้จำคุกรวม 13 ปี 4 เดือน แต่เนื่องจากเขาให้การรับสารภาพจึงได้รับการลดโทษลงเหลือโทษจำคุก 5 ปี 20 เดือน คำพิพากษานี้นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่จำเลยถูกลงโทษด้วยเหตุที่ “พยายาม” กระทำผิดมาตรา 112

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่โพสต์เนื้อหาที่เป็นประเด็นถกเถียงอาจสุ่มเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายนอกกระบวนการยุติธรรม รวมถึงความรุนแรงทางกายภาพ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งแสดงความเห็นในที่สาธารณะในประเด็นสถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทย และใช้พื้นที่เฟซบุคของเขาซึ่งมีผู้ติดตามจำนวนกว่า 80,000 คนเป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็น ไม่เพียงแต่คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ที่เขาถูกแจ้งข้อหาไว้เมื่อปี 2011[63] เท่านั้น ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2014 พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบกก็แถลงว่า ทางกองทัพบกตรวจสอบพบว่า ข้อความบนเฟซบุคบางข้อความอาจมีเนื้อหาที่เข้าข่ายผิดกฎหมายมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา[64] ต่อมา วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2014 มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงใส่บ้านพักและรถยนต์ของนายสมศักดิ์ รวมทั้งขว้างก้อนอิฐใส่บ้าน ขณะนั้นนายสมศักด์อยู่ในบ้าน จากเหตุการณ์นี้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ[65] แต่คดีก็ยังไม่มีความคืบหน้า

มาตรา 15 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ระบุถึงความผิดของผู้ให้บริการที่จงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการเผยแพร่เนื้อหาที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ย่อมได้รับโทษเท่ากับผู้โพสต์ ซึ่งต้องรับโทษสูงสุด จำคุก 5 ปี ผลจากการบังคับใช้กฎหมายข้อนี้ทำให้ผู้ให้บริการประเภทเนื้อหาต้องระมัดระวังตัว จัดตั้งทีมงานเพื่อค่อยกลั่นกรองเนื้อหาเว็บไซต์ เว็บไซต์หลายแห่งตัดสินใจยกเลิกบริการเว็บบอร์ด ยิ่งกว่านั้น ในกฎหมายซึ่งกำหนดภาระความรับผิดของตัวกลาง แต่ไม่ได้กำหนดแนวปฏิบัติแง่กรอบเวลาว่าผู้ให้บริการพึงตรวจสอบเนื้อหาภายในเวลาเท่าใด มีคดีในปี 2555 ซึ่งผู้ให้บริการเว็บไซต์ประชาไทถูกลงโทษจำคุก 8 เดือนและถูกปรับสองหมื่นบาทเพราะมีข้อความที่อยู่ในเว็บบอร์ดนาน 20 วัน ต่อมา ในเดือนเมษายน 2556 กระทรวงไอซีทีเผยถึงความคืบหน้าในการแก้ไขกฎหมายข้อนี้[66] สำหรับประเด็นที่เกี่ยวกับความรับผิดของตัวกลางนั้น ร่างกฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้ให้บริการ ที่ “รู้หรือควรได้รู้” ว่ามีข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดต้องดำเนินการแก้ไข มิเช่นนั้นจะมีความผิด ซึ่งแนวทางการเขียนกฎหมายเช่นนี้ ยังมุ่งเน้นที่การเอาผิดตัวกลาง และอาจยิ่งสร้างภาระหน้าที่ที่ผูกมัดตัวกลางมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ภายใต้ความคาดหวังที่ว่า ผู้ให้บริการ “พึงรู้หรือควรได้รู้” เกี่ยวกับเนื้อหาที่อยู่ในระบบของตนเอง อย่างไรก็ดี ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากร่างกฎหมายฉบับนี้

การดำเนินคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในประเทศไทยยังคงปัญหาในกระบวนการทำงาน มีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือของหลักฐานเป็นอย่างมาก คดีส่วนใหญ่ไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ที่เชื่อมโยงได้ว่าผู้ต้องหาว่าเป็นผู้กระทำความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่มีฝ่ายโจทก์เป็นอัยการรัฐ จำเลยมักเลือกที่จะไม่สู้คดี เพราะการยอมแพ้หรือไม่สู้คดีกลับกลายเป็นหนทางที่เป็นประโยชน์กับจำเลยมากที่สุด เพราะหากยอมรับสารภาพก็จะทำให้ได้สิทธิลดอัตราโทษด้วย และเป็นหนทางที่ทำให้เรื่องจบลงเร็วที่สุด

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2556 ศาลอุทธรณ์ลงโทษคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คดีหนึ่ง จำเลยคือ นางสาวนพวรรณ ต.[67] ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ลงในเว็บบอร์ดประชาไท เจ้าหน้าที่พบว่าการกระทำความผิดเกิดขึ้นบนสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเป็นโรงงาน ซึ่งมีคอมพิวเตอร์หลายเครื่องที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้โดยใช้ไอพีเดียวกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาเห็นว่าหลักฐานมีไม่เพียงพอ แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแย้ง โดยให้น้ำหนักกับความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่รัฐที่รวบรวมข้อมูลหลักฐานในคดี จึงเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด และพิพากษาให้จำคุก 5 ปี

ในอีกคดีหนึ่ง เมื่อเดือนมีนาคม 2557 ศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินลงโทษในคดีของนายคธา ป. อดีตโบรกเกอร์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้โพสต์ข้อความในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันจำนวน 2 ข้อความ ข้อความมีเนื้อหาเล่าข่าวลือด้านสุขภาพของพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งศาลอุทธรณ์เห็นว่า เจ้าหน้าที่จากกระทรวงไอซีทีที่อ้างถึงข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่ได้รับจากบริษัทไมโครซอฟท์ ประเทศไทยว่า ผู้โพสต์ข้อความตามฟ้องคือผู้ใช้อีเมลของจำเลย อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงจากการพิจารณาคดีในชั้นต้น ข้อมูลจากบริษัทไมโครซอฟท์ไม่ได้ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงของอีเมลนี้กับการโพสต์เว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน แต่เจ้าหน้าที่กระทรวงไอซีทีเบิกความต่อศาลเอาไว้ว่า ได้ข้อมูลในทางลับจากสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติและหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ไม่สามารถระบุชื่อได้ ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกรวม 2 ปี 8 เดือน[68]

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งประกาศใช้ภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 และถูกบังคับใช้ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายด้านความมั่นคง

เมื่อราวเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2556 มีข่าวลือเกี่ยวกับการรัฐประหารและมีการเผยแพร่ข่าวทางโซเชียลมีเดียเป็นคำแนะนำให้ประชาชนเตรียมตัว เป็นผลให้กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้ออกหมายเรียกบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความที่ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก จำนวน 4 ราย โดยหนึ่งในนั้นคือ นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคงสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส[69] ซึ่งโพสต์การวิเคราะห์ข่าวลือดังกล่าวในพื้นที่เฟซบุคส่วนตัว จากกรณีดังกล่าว พ.ต.ท.สันติพัฒน์ พรหมะจุล รองผู้กำกับการปอท. กล่าวว่า นายเสริมสุขเป็นบุคคลมีชื่อเสียง เมื่อโพสต์ข่าวย่อมมีผู้สนใจ และต้องยอมรับว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ออกมาใช้หลังรัฐประหารในปี 2549 กฎหมายจึงย่อมเน้นที่ความมั่นคงของประเทศ[70] ด้านพล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการปอท. กล่าวว่า กระบวนการตรวจตราข้อความในโซเชียลมีเดียจนได้มาซึ่งผู้ต้องสงสัยทั้ง 4 คนนี้นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้วิธีสืบค้นจากคำว่า “ปฏิวัติ” ก็พบข้อความของผู้ต้องสงสัยทั้ง 4 คนดังกล่าว[71]

ยิ่งไปกว่านั้น ท่ามกลางบรรยากาศของข่าวลือดังกล่าว พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการปอท. ออกมาแถลงผลงานว่า ทางปอท.ได้ ส่งทีมงานไปประเทศญี่ปุ่น เข้าพบกับผู้บริหาร Naver Japan ผู้ให้บริการ Line ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่เป็นที่นิยมในประเทศไทย โดยเชื่อว่ามีผู้ใช้งาน 15 ล้านบัญชี เพื่อขอความร่วมมือเข้าตรวจสอบข้อมูลการสนทนาผ่าน Line และข้อมูลรายชื่อของผู้ใช้ในกรณีที่พบว่ามีการสื่อสารที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง[72] อย่างไรก็ดี ไม่พบว่า ทางไลน์ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่

อ้างอิง

  1. สถิติการเรียก, จับกุม, ปล่อยตัวบุคคล รอบอาทิตย์ที่สาม มิ.ย. 57. iLaw. June 18, 2014. http://www.ilaw.or.th/node/3146
  2. ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ถูกเรียกตัวหลายคน
  3. Announcement of the National Council for Peace and Order No. 37/2557 Subject: Offences under Jurisdiction of the Military Court. MFA. June 2, 2014. http://www.mfa.go.th/main/en/media-center/3756/46209-Announcement-of-the-National-Council-for-Peace-and.html
  4. Announcement of the National Council for Peace and Order No. 38/2557 Subject: Cases comprising various related acts to come under jurisdiction of the Military Court. MFA. June 2, 2014. http://www.mfa.go.th/main/en/media-center/3756/46210-Announcement-of-the-National-Council-for-Peace-and.html
  5. ‘องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน’ แจ้งความ 5 บุคคล ข้อหา 112, 116. Prachatai. June 19, 2014. http://prachatai.com/journal/2014/06/54110
  6. ศาลไม่ให้ประกัน ‘หนุ่มชูป้ายหน้าหอศิลป์’ เจอพ่วง 11. Prachatai. May 30, 2014. http://prachatai.com/journal/2014/05/53667
  7. Thai police arrest ‘taunting’ anti-coup activist. BBC. June 6, 2014. http://www.bbc.com/news/world-asia-27727510
  8. Former minister Chaturon faces Computer Crime charges. Prachatai. June 20, 2014. http://prachatai.com/english/node/4143
  9. ICT plans national gateway to curb abuse of internet. Bangkok Post. May 28, 2014. http://www.bangkokpost.com/news/politics/412124/ict-plans-national-gateway-to-curb-abuse-of-internet
  10. Don Sambandaraksa. Thai Junta Holding the mother of all garage sales. Telecomasia. June 10, 2014. http://www.telecomasia.net/blog/content/thai-junta-holding-mother-all-garage-sales
  11. ที่ปรึกษาปลัด ก.ไอซีทีเผยเน้นควบคุมการใช้งานไลน์เป็นรายบุคคล. ThaiPBS. May 30, 2014. http://bit.ly/1sswaF7
  12. ‘อำนวย’ชี้กดไลต์เฟซบุ๊กชุมนุมต้าน คสช.ถือว่าผิด. Daily News. June 9, 2014. http://bit.ly/1nue6VG
  13. Thai police create fake FB app to get Thai net users’ information, target users trying to open blocked sites. June 20, 2014. http://prachatai.com/english/node/4140
  14. TCSD. June 20, 2014. http://www.tcsd.in.th/news/detail/232
  15. Kittithon: Kenji, Freedom of Expression Documentation Center by iLaw, http://freedom.ilaw.or.th/en/case/490
  16. “สพธอ.เล็งอีก3ปีใช้พ.ร.บ.คอมพ์ใหม่”, Bangkokbiznews, April 3, 2013 http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/it/it/20130403/498684/%E0%B8%AA%E0%B8%9E%E0%B8%98%E0%B8%AD.%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%813%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%9E.%E0%B8%A3.%E0%B8%9A.%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B9%8C%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88.html
  17. “ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ – คำปาฐกถา ณ มองโกเลีย และ โพสต์ (ล้อ) เลียนของ “ชัย ราชวัตร””, Thaipublica, May 4, 2013, http://thaipublica.org/2013/05/hot-issues-social-media-2013-20/
  18. ‘ชัย ราชวัตร’ปัดทุกข้อหาหมิ่น’ปู’, Komchadluek, June 24, 2013, http://www.komchadluek.net/detail/20130624/161769/%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%B9.html
  19. Alan Morison and Chutima Sidasathian, “Thai Military Profiting from Trade in Boatpeople, Says Special Report”, July 17, 2013, http://phuketwan.com/tourism/thai-military-profiting-trade-boatpeople-says-special-report-18454/
  20. Freedom of Expression Documentation Center, “Thai Navy VS Phuketwan”, http://freedom.ilaw.or.th/en/case/554
  21. Aum Neko, Freedom of Expression Documentation Center by iLaw, http://freedom.ilaw.or.th/en/case/486
  22. Kittithon: Kenji, Freedom of Expression Documentation Center by iLaw, http://freedom.ilaw.or.th/en/case/490
  23. Red-shirt sentenced for lese majeste, Bangkokpost, December 12, 2013, http://www.bangkokpost.com/breakingnews/384464/unprecedented-conviction-for-attempted-lese-majeste
  24. Case#141, Freedon of Expression Documentation Center, iLaw. http://freedom.ilaw.or.th/en/case/141#detail
  25. ทบ.ฮึ่ม ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’ โพสต์พาดพิงสถาบัน อาจเข้าข่ายผิด ม.112, ประชาไท, February 6, 2014. http://prachatai.com/journal/2014/02/51646
  26. สมศักดิ์ เจียมฯถูกมือมืดยิงรถ-บ้าน, Post Today, February 12, 2014. http://bit.ly/1bUVmua
  27. ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับ สพธอ.2556: โทษคุกฐานก้อปปี้ไฟล์ เก็บภาพโป๊เด็ก, iLaw, April 14, 2013, http://ilaw.or.th/node/2728
  28. Nopawan:Bento, Freedom of Expression Documentation Center, http://freedom.ilaw.or.th/en/case/27
  29. Case#83, Freedom of Expression Documentation Center, iLaw. http://freedom.ilaw.or.th/en/case/83#detail
  30. เสริมสุขแจงปอท.เจตนาโพสต์ให้รู้ข่าวลือ, Bangkokbiznews, August 9, 2013 http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/politics/20130809/522555/เสริมสุขแจงปอท.เจตนาโพสต์ให้รู้ข่าวลือ.html
  31. เสวนา: เสรีภาพในสื่อสังคมออนไลน์กับประเด็นความมั่นคง, Prachatai, August 16, 2013, http://prachatai.com/journal/2013/08/48234
  32. ปกรณ์ พึ่งเนตร, กดไลค์…อาจกลายเป็นอาชญากร!, Bangkokbiznew, August 11, 2013, http://www.oknation.net/blog/kobkab/2013/08/13/entry-1
  33. ปอท.เตรียมคุมแอพแชท Line อ้างกระทบความมั่นคง, Voice TV, August 13, 2013, http://news.voicetv.co.th/technology/78551.html
Exit mobile version