Thai Netizen Network

เสรีภาพเน็ตไทยปี 2557: อุปสรรคในการเข้าถึง (สรุป Freedom on the Net 2014 ตอนที่ 2)

Freedom on the Net 2014 - Thailand - Access (11/25 points)

Freedom on the Net 2014 - Thailand - Access (11/25 points)

ประเทศไทยได้คะแนนในส่วนของ “อุปสรรคในการเข้าถึง” (Obstacles to Access) 11 จาก 25 คะแนน (0 = ดีที่สุด ไม่มีอุปสรรคในการเข้าถึงเลย, 25 = แย่ที่สุด)

ตอนที่ 2 ของสรุปรายงานประเทศไทยจากรายงานเสรีภาพอินเทอร์เน็ตประจำปี 2556-2557 (Freedom on the Net 2014) โดยฟรีดอมเฮาส์

  1. สถานการณ์เด่น เสรีภาพอินเทอร์เน็ตหลังรัฐประหาร และวิธีวิจัย
  2. อุปสรรคในการเข้าถึง (11/25 คะแนน)
  3. การจำกัดเนื้อหา (21/35)
  4. การละเมิดสิทธิผู้ใช้อินเทอร์เน็ต (30/40)

ฟรีดอมเฮาส์ระบุว่า จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การแพร่หลายของสมาร์ตโฟนเป็นปัจจัยสำคัญ ในปี 2556 มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตราว 23.8 ล้านคน[1] หรือคิดเป็น 37% ของจำนวนประชากร ขณะที่จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 120 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในจำนวนดังกล่าวคิดเป็นผู้ใช้สมาร์ตโฟนอยู่ร้อยละ 34

หากนับตามปริมาณข้อมูลที่สามารถรับส่งได้ ซึ่งคิดตามความกว้างของช่องสัญญาณหรือ “แบนด์วิธ” (bandwidth) ที่มี ในปี 2556 ความกว้างของช่องสัญญาณระหว่างประเทศของผู้ใช้ในไทย อยู่ที่ 708 Gbps และแบนด์วิธในประเทศอยู่ที่ 1,492 Gbps[2] ซึ่งสูงกว่าปีก่อนหน้า 53% และ 48% ตามลำดับ

สำหรับประเด็นการเปลี่ยนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจาก IPv4 (เครือข่ายไอพีรุ่นที่ 4) ไปสู่ IPv6 (เครือข่ายไอพีรุ่นที่ 6) นั้น เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2556 คณะรัฐมนตรีมีมติให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานมีการเชื่อมต่อสู่อินเทอร์เน็ตที่รองรับ IPv6 ภายในเดือนธันวาคม 2558 ให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกรายเปิดให้บริการเชื่อมต่อและใช้งานที่รองรับ IPv6 ภายในเดือนธันวาคม 2557 โดยให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นหน่วยงานหลักทำหน้าที่กำกับดูแลบริหารจัดการตามแผนและจัดเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจาก IPv4 ไปสู่ IPv6 ในประเทศไทยมิให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตด้วย[3]

มีข้อมูลที่น่าสังเกตว่า ส่วนใหญ่ของประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตและประชากรที่ใช้สมาร์ตโฟนอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประชากรมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าภูมิภาคอื่นๆ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต่ำสุด ซึ่งเหตุผลหนึ่งคือ เพราะไม่มีบริการในพื้นที่[4]

ในแง่ของนโยบายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตนั้น ในรอบปีที่ผ่านมายังไม่มีความคืบหน้าอะไรที่โดดเด่น มีเพียงโครงการเดิมของกระทรวงไอซีที ในโครงการสมาร์ตเน็ตเวิร์ก (Smart Network) ซึ่งตั้งเป้าให้มีโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบรนด์ครอบคลุมพื้นที่ 95% ของประเทศ การดำเนินงานหนึ่งคือ โครงการ ICT Free WiFi โดยมีกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม สนับสนุนงบประมาณให้กระทรวงไอซีที 950 ล้านเพื่อดำเนินโครงการ โครงการนี้ติดตั้งอินเทอร์เน็ตในสถานที่ของรัฐและชุมชนต่างๆ โดยผู้ใช้งานต้องลงทะเบียนและกรอกบัตรประชาชนก่อนเข้าใช้งานฟรีได้ครั้งละ 20 นาที รวม 2 ชั่วโมงต่อวัน โดยมีอายุการใช้งาน 6 เดือน และแต่ละ Access Point ใช้งานได้พร้อมกันไม่เกิน 15 คน

โครงการดังกล่าวติดตั้ง Access Point ไปแล้วทั้งสิ้น 120,000 จุดทั่วประเทศ โดยมีเครือข่ายผู้ให้บริการเอกชน 6 ค่ายใหญ่ร่วมในโครงการ ได้แก่ บริษัททีโอที จำกัด, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), และบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB ซึ่งโครงการนี้จะสิ้นสุดในปี 2558 และจากนี้ ภายในปี 2557 โครงการ ICT Free WiFi วางแผนจะติด Access Point ทั่วประเทศเพิ่มอีก 150,000 จุด โดยมีบริษัท ทีโอที จำกัด เป็นผู้ติดตั้งในโครงการแต่เพียงผู้เดียว[5]

ด้านกสทช.เอง มีโครงการ Universal Service Obligation หรือ USO ติดตั้งบริการโทรศัพท์สาธารณะและบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยเพิ่งมีมติเห็นชอบให้นำร่องในสองจังหวัด คือ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งอยู่ภาคเหนือ และจังหวัดหนองคายซึ่งอยู่ภาคอีสานของประเทศไทย ภายใต้งบประมาณ 441.79 ล้านบาท

ในประเด็น Mobile Internet นั้น หลังจากที่กสทช.จัดการประมูลคลื่น 3G และเปิดให้ใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2555 ตามกรอบเวลาแล้ว จะต้องมีการประมูลคลื่น 4G ในเดือนกันยายน 2556 แต่ปรากฏว่าทางกสทช.ได้ขยายเวลาอายุสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz ซึ่งเป็นช่วงสัญญาณที่จะนำมาใช้กับคลื่น 4G ให้แก่บริษัทเอกชนสองรายโดยขยายเวลาออกไปอีก 1 ปี ทำให้การประมูล 4G ไม่เกิดขึ้นตามกำหนด มีผลให้สาธารณะเสียโอกาสที่จะได้ใช้คลื่น 4G ล่าช้าออกไป จากกรณีนี้ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และถูกกสทช.ฟ้องหมิ่นประมาทด้วย (ต่อมาคดีได้รับการไกล่เกลี่ย)[6]

อ่านสรุปรายงานเสรีภาพอินเทอร์เน็ตประจำปี 2556-2557 (Freedom on the Net 2014) ของประเทศไทย

อ้างอิง

  1. Internet Information Research Network Technology Lab, Internet Users, National Electronics and Computer Technology Center, http://internet.nectec.or.th/webstats/internetuser.iir?Sec=internetuser
  2. Internet Information Research Network Technology Lab, Internet Bandwidth, National Electronics and Computer Technology Center, http://internet.nectec.or.th/webstats/bandwidth.iir?Sec=bandwidth
  3. Cabinet Resolution, The Secretariat of the Cabinet. June 4, 2013. http://www.cabinet.soc.go.th/
  4. ศูนย์ข้อมูลและวิจัยเศรษฐกิจโทรคมนาคม, รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการโทรคมนาคมของประชากรไทย พ.ศ. 2555 -2556, The National Broadcasting and Telecommunication Commission. http://www.nbtc.go.th/wps/PA_WCMLocalRendering/jsp/html/NTC/download/NBTC-SurveyReport2556.pdf
  5. ลุยตั้ง “ICT Free Wi-Fi” เพิ่ม 1.5 แสนจุดปี 2557, ASTV, August 11, 2013. http://www.manager.co.th/CBIZreview/ViewNews.aspx?NewsID=9560000099574
  6. NBTC filed a defamation lawsuit against Dr.Deunden and Nattha, Freedom of Expression Documentation Center by iLaw. http://freedom.ilaw.or.th/en/case/488#detail
Exit mobile version