2014.05.19 11:28
คุยกับนักประวัติศาสตร์สังคมและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ถึงบทบาทของสื่อกับสังคมไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน ในวาระวันเสรีภาพสื่อโลก (3 พ.ค.) และครบรอบเหตุการณ์พฤษภา 35 หมุดหมายสำคัญอันหนึ่งของขบวนการปฏิรูปสื่อในประเทศไทย
- นิธิ: “คนชั้นกลางระดับล่าง” มีส่วนร่วมในการเมืองมาอย่างน้อยตั้งแต่พฤษภา 35 แล้ว แต่คนไม่รู้ เพราะสื่อไม่ทำให้เห็น
- นิธิ: สิ่งที่น่าห่วงที่สุดคือการผูกขาดข่าวสาร สื่อเลือกข้างมาตลอดคือเลือกข้างชนชั้นนำ ตลาดถูกครอบงำ
- นิธิ: สมาคมวิชาชีพอย่าสับสนระหว่างการเป็นสหภาพในการดูแลผลประโยชน์ของตนเองกับการดูแลผลประโยชน์ของสังคม
- ณัฏฐกรณ์: ตลาดจะค่อยๆ คัดรายการที่ไม่มีคุณภาพออกไปเอง กสทช.ต้องกล้าทำลายโครงสร้างผูกขาดเดิม ให้เกิดการแข่งขัน
- ณัฏฐกรณ์: จำนวนช่องมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าความหลากหลายของจุดยืนจะมากขึ้น
- ณัฏฐกรณ์: คนทำสื่อไม่สามารถตรวจสอบการลิดรอนสิทธิของประชาชนได้ เพราะยังไม่ตระหนักถึงโครงสร้างอำนาจในปัจจุบัน
นับแต่ พฤษภาคม 2535 ตอนนี้สื่อไทยเดินทางมาถึงไหนแล้ว ?
นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสนอว่า นับแต่ พ.ค.ปี 35 ส่วนหนึ่งที่สื่อมีส่วนทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดมาตลอด คือการใช้คำว่า “ม็อบมือถือ” ในยุคนั้น
นิธิชี้ว่าไม่ใช่มีแค่คนชั้นกลางเข้าไปมีส่วนร่วม ถ้าไปดูรายชื่อคนเสียชีวิต จะเห็นแต่ “คนชั้นกลางระดับล่าง” อย่างคนขายน้ำแข็ง เกษตรกรที่ปลูกผักไปขาย แต่บทบาทของคนเหล่านี้ กลับหายไปจากความรับรู้ของสังคมไทย
แม้แต่ในช่วงรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญปี 40 รถขนคนงานตามหมู่บ้านก็ปรากฎให้เห็นความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ คนงานผูกผ้าคาดหัวสีเขียวรณรงค์ให้รับร่าง แต่สื่อไม่ได้นำเสนอ
ยังมีคนระดับล่างกว่ากระฎุมพีด้วยซ้ำที่เข้ามามีบทบาทเปลี่ยนแปลงการเมือง แต่ที่สังคมมองไม่เห็น เพราะความไม่ได้เรื่องของสื่อ ไม่มีสื่อตามไปศึกษาว่า นอกจากม็อบมือถือยังมีใครอีกบ้าง
นิธิเรียกคนเหล่านี้ว่า “คนชั้นกลางระดับล่าง” ซึ่งคนกลุ่มนี้เคลื่อนไหวมาก่อนปี 35 ด้วยซ้ำ แต่สื่อก็ไม่สะท้อนออกมา ทำให้คนในสังคมทุกวันนี้ก็ไม่มีแม้แต่สำนึก ว่าเราอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างมากแล้ว และเปลี่ยนมานานแล้วด้วย
ในขณะที่ ณัฏฐกรณ์ เทวกุล มองว่าจากผลสำรวจ อย่างน้อยเรื่องหนึ่งที่เหมือนเดิมตั้งแต่ปี 34 คือ ถ้าเจ้าของสื่อมีความสามารถในการบริหารและมีกองบรรณาธิการเก่งๆ ก็สามารถกำหนดการเคลื่อนไหวของประชาชนให้เป็นไปตามวาระสื่อได้
ทุกวันนี้เทคโนโลยีทำให้คนสื่อสารกันเองง่ายขึ้น แต่สื่อก็หาช่องทางเข้าถึงประชาชนได้รวดเร็วขึ้นเช่นกัน ในช่วงปี 35 แม้ยังไม่มีสื่อสังคมออนไลน์ สังคมก็สามารถตื่นและลุกฮือขึ้นมาได้ ภายใต้ข้อจำกัดทางเทคโนโลยีสมัยนั้น ทุกวันนี้เฟซบุ๊กมีบทบาทเหมือนที่มือถือมีในสมัยนั้น อย่างไรก็ตาม ด้านหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนไป คือความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างเทคโนโลยีและการสื่อสารของประชาชน
ถ้าจะมองในมุมจากปี 35 เฉพาะกรุงเทพ ในตอนนั้นหนังสิอพิมพ์บางฉบับ ทั้งตัวผู้สื่อข่าวหรือเจ้าของซึ่งมีอิทธิพลในวงการสื่อ แม้บางมุมจะคล้อยไปตามกระแส แต่มุมมองตอนนั้นนายกรัฐมนตรีอย่างไรก็ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เวลาผ่านไป 20 กว่าปี ในวันนี้ กลุ่มสื่อมวลชนเดียวกันกลับมีมุมทางการเมืองเปลี่ยนไป “แบบย้อนยุค”
คิดอย่างไร หลังรัฐประหารปี 49 บริบทการเมืองทำให้ มี “สื่อชนเผ่า” เช่น บลูสกาย เอเชียอัพเดต ออกมาให้แฟนคลับเลือกเสพ ขณะเดียวกัน นักวิชาการบางคนก็บอกว่า สื่อเหล่านี้เป็นสื่อเลือกข้าง ไม่ใช่สื่อจริงๆ?
ก่อนตอบเรื่องนั้น นิธิให้ทรรศนะว่า นับจากปี 35 อันที่จริง สื่อยังไม่มีความก้าวหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญเท่าไหร่ โดยดูจาก
1) สื่อโดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ ยังมีการจัดองค์กรที่ล้าสมัย ไม่มีการทำงานเชื่อมโต๊ะข่าว ต่างคนต่างรู้เรื่องของตัวเอง ทำให้ไม่ได้ข่าวเจาะลึกจริง
2) สื่อก้าวไปสู่ธุรกิจแบบทุนนิยมมากขึ้น คือก้าวไปสู่ตลาดหลักทรัพย์
“สิ่งสำคัญของสื่อไม่ได้คิดถึงหน้าที่ตนเองมากกว่าจะรักษาเงินในกระเป๋าหุ้นได้อย่างไร” ตรงนี้เป็นปัญหาสำคัญ หลังอำนาจรัฐควบคุมสื่อลดลง อำนาจทุนขยายมากขึ้น ตัวอย่าง โฆษณาทุนรัฐวิสาหกิจ เช่น ปตท. ซื้อโฆษณาล่วงหน้าไว้ 5 ปี สมมติถ้าเขาระยำไว้ สื่อกล้าแตะไหม สิ่งนี้ทำให้สื่ออ่อนแอ ซึ่งการขายโฆษณาให้รัฐวิสาหกิจแบบนี้มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนยุคทักษิณแล้ว เพียงแต่ทักษิณทำโจ่งแจ้ง
3) พอสื่อเข้าตลาด ยิ่งแข่งขันหนัก จะแข่งอย่างไร ท่ามกลางการจัดองค์กรที่ไม่ได้เรื่อง หรือแข่งในเรื่องเหลวไหล เช่น ใครสามารถลงข่าวได้ไวกว่า ทั้งๆ ที่ปัจจุบันความไวหนังสือพิมพ์ก็แพ้ทีวีหมดแล้ว
อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่เปลี่ยน คือ คนเข้าถึงสื่อมากขึ้น เมื่อเทียบกับปี 35 ราคามันถูกลง เช่น ในต่างจังหวัดแม่ค้าขายผักและลูกชายก็เข้าถึง ถ้าเขาอยากจะเข้า ดังนั้น “อย่าไปคิดว่าคนต่างจังหวัดไม่รู้เรื่องรู้ราว เขารู้มากเหลือเกิน อันนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญ”
เรื่องสื่อชนเผ่า ในฐานะมนุษย์มันเลือกข้างแน่ๆ “ในทางหลักการสื่อเลือกข้างไม่ได้ แต่คนทำสื่อมันเลือกข้าง แต่คุณต้องทำให้ครอบคลุมรอบด้านให้ได้” “แยกระหว่างหน้าที่กับความเห็นส่วนตัวออกจากกันเสีย”
“เราค่อนข้างจำกัดเรื่องการเมืองจนเกินไป ผมคิดว่า สื่อไทยเลือกข้างตลอดมา ก่อนหน้ามีเสื้อเหลือง เขาก็เลือก”
สื่อเลือกข้างกับธุรกิจขนาดใหญ่ เลือกข้างกับนโยบายการพัฒนา โดยไม่ตั้งคำถามเลยว่า เป็นวิธีการพัฒนาที่ดีที่สุดหรือเปล่า มันมีผลกับสังคมมากมายมหาศาล หวังว่า สื่อดิจิทัลจะสื่อภาพของสังคมให้หลากหลายกว่าสมัยก่อน
“ลึกไปกว่านั้นมันเลือกข้างกับชนชั้นนำ ไม่ว่าโดยรู้ตัว หรือโดนหลอมมา”
ขณะที่ณัฏฐกรณ์เสนอว่า ที่ผ่านมา 20 ปี ที่มีแต่ฟรีทีวี ไม่มีเคเบิลท้องถิ่น ฟรีทีวีไม่ได้เป็นช่องทางที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในความเมามันกับการรายงานข่าว ให้ลองนึกดูว่าคุณจำพิธีกรได้กี่คน ทีวีดิจิทัลควรนำเสนอรายการที่สนุกสนานมากขึ้น เพื่อให้คนมีส่วนร่วมมากขึ้น
ปัจจุบันในขณะที่เราดูเหมือนว่ากำลังมีทางเลือก ตอนนี้เรามีทางเลือกจริงๆ หรือเปล่า หรือเป็นการครอบงำสื่อในอีกรูปแบบ
นิธิกล่าวว่า ห่วงการผูกขาดข่าวสารข้อมูล แทนที่จะคิดว่า เขาให้ครองสื่อข้ามกันได้หรือเปล่า แต่เราควรคิดว่าจะป้องกันการผูกขาดข่าวสารข้อมูลอย่างไร
นิธิยอมรับว่าการแข่งขันในตลาดมีส่วนดีของมันด้วย แต่ไม่แน่ใจว่า ตลาดเพียงอย่างเดียว เพียงพอไหม ถ้ามีรัฐเข้ามาควบคุมแล้วห่วยกว่า ก็คิดไม่ออกว่า จะสร้างกลไกเชิงสังคมวัฒนธรรมมาตรวจสอบถ่วงดุล ควรทำอย่างไร แต่อันนี้สำคัญ
ละครที่ถูกมองว่า น้ำเน่า มันส่งสารอะไรกับสังคม มันส่งสารที่ตอกให้เห็นอคิติทางการเมือง วัฒนธรรม ศาสนา ละครน้ำเน่าก็เป็นตลาดผูกขาดข่าวสารข้อมูล และตลาดไม่อาจสร้างดุลยภาพในการผูกขาดเหล่านี้ได้ด้วย
ควรมีองค์กรกำกับดูแลสื่อดิจิทัลไหม? สัดส่วนควรไปอยู่องค์กรใด รัฐ ตลาด มากกว่ากัน?
นิธิมองว่า รัฐไม่น่าไว้วางใจ ไม่ว่าไทยหรือที่อื่น รัฐมักจะเข้ามาคุมสื่อเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง เช่น กลุ่มชนชั้นนำที่คุมผลประโยชน์ตนเองผ่านรัฐ ขณะเดียวกัน มันมีสื่อดิจิทัลทั้งหลายที่ช่วยถ่วงดุลตลาดอยู่ในตัว มีข่าวสารที่แตกต่างไปจากช่อง 3 แม้จะมีผู้รับน้อยกว่าก็ตาม
ต่อคำถามว่า สื่อทั้งหลายควรจะสร้างองค์กรขึ้นมาควบคุมตนเองไหม ไม่ใช่ควบคุมจากรัฐอย่างเดียว นิธิตอบว่า
“อย่าสับสนระหว่างการเป็นสหภาพในการดูแลผลประโยชน์ของตนเอง กับการดูแลผลประโยชน์ของสังคมนะครับ สองอันนี้บางทีอาจแย้งกันด้วยซ้ำไป”
โดยนิธิยังไม่ค่อยอยากให้องค์กรสื่อควบคุมกันเอง อย่าพึ่งมี จนกว่าจะแน่ใจได้ว่า องค์กรนั้นมีเจตนาและสมรรถภาพพอ
ในขณะที่ณัฏฐกรณ์ คิดว่าองค์กรกำกับฟรีทีวีดิจิทัลยังเป็นเรื่องที่ห่างไกลสำหรับสังคมไทย แต่หลังจากนี้ กสทช.ต้องไล่ปรับโทรทัศน์ดาวเทียม 30 กว่าช่องที่ลามก หลอกลวง กสทช.ควรจัดการตรงนี้ก่อน
ที่ณัฏฐกรณ์ห่วงระยะยาวคือ ตอนนี้บริษัทที่จะสามารถหาผลิตรายการที่มีคุณภาพและหาโฆษณาได้มีจำนวนน้อยมาก กลัวว่าที่สุดทีวีดิจิทัลจะไม่ประสบผลสำเร็จเพราะผู้ผลิตขาดคุณภาพ
บางสื่อเรียกเหตุการณ์ที่เราอยู่ว่า “รัฐประหาร พ.ค.57” ตอนนี้เรื่องใบอนุญาต สัมปทาน คลื่นความถี่ ส่งผลต่อเสรีภาพสื่อแค่ไหน และควรปฏิรูปอย่างไร
นิธิกังวลเรื่องตลาด ผลประโยชน์ทางธุรกิจเข้ามากำกับสื่อมากขึ้นๆ จนไม่รู้ว่า นี่คือเสรีภาพหรือไม่ คือเสรีภาพจากการแทรกแซงของรัฐมีมากขึ้น แต่ก็มีปัญหานี้ตามมา จะแก้ยังไง ยังนึกไม่ออก อยากให้มีสื่อทางเลือกออกมาแข่งบ้าง แต่ก็ไม่รู้ทำได้ไหม
นิธิเชื่อว่าเสรีภาพจากรัฐมีมากขึ้น แต่ไม่เชื่อว่าจะเสรีภาพมีมากขึ้นจากทุน
ในขณะที่ณัฏฐกรณ์เชื่อว่า การมีองค์กรอย่าง กสทช. ที่จะสามารถสั่งปรับหรือเพิกถอนใบอนุญาตได้ คิดว่า ดีที่สุด แต่ประเด็นอยู่ที่ในสมัยที่โครงสร้างอำนาจทางกฎหมายหรือสถาปัตยกรรมการปกครองในประเทศไทย การลิดรอนสิทธิประชาชนมันเกิดขึ้นด้วยการปกครองตามรัฐธรรมนูญและฝ่ายตุลาการ ในการก้าวก่ายเข้ามาล่วงเกินอำนาจนิติบัญญัติที่เชื่อมโยงกับประชาชน ผมไม่แน่ใจว่าในสื่อฟรีทีวีที่ทำรายการ และผู้บริหาร คุณมีกี่รายที่ตระหนักปัญหานี้จริงๆ
คือ เมื่อก่อนมีฟรีทีวีแค่ 5 ช่อง คนก็บ่นว่า ผูกขาดกับทหาร รัฐ ฯลฯ ทั้งนั้น ทีนี้ โครงสร้างใหม่ ถ้าไปไล่ดูผู้บริหารและบุคลากร ณัฏฐกรณ์เกรงว่าความพร้อมเพรียงในการที่จะตรวจสอบองค์กรทางรัฐธรรมนูญที่มักหาทางก้าวก่ายเข้ามาล่วงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่แน่ใจว่าจะต้านทานได้
ไปๆ มาๆ ทีวีดิจิทัล 20-30 ช่อง ความหลากหลาย ในจุดยืนของสถานี มันจะไม่ได้มีมากขึ้นเท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้ยังเป็นปัญหาอยู่ การหล่อหลอมให้คนในสังคมตระหนักให้เห็นถึงความไม่เป็นประชาธิปไตย
ประเด็นที่คิดว่าจำเป็นต้องปฏิรูป สำคัญที่สุดคืออะไร
นิธิเสนอว่า หน้าที่ของสื่อคือการให้ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน การให้ข้อมูลข่าวสารที่ขาดดุลยภาพตลอดเวลา
เวลาที่พูดถึงดุลยภาพไม่ใช่แค่เหลืองแดง ดุลยภาพระหว่างกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมก็ยังไม่ได้ถูกสะท้อนออกมา หรือกลุ่มทางการเมืองที่มีมากกว่าเสื้อแดงและกปปส. ก็ยังไม่มีพื้นที่สาธารณะ
ตลอดมา สื่อไทยยังสะท้อนเรื่องราวของคนจำนวนน้อยมาก รู้ว่าพูดง่าย ทำยาก ถ้าไม่ไว้ใจรัฐ ไม่ไว้ใจสื่อเอง ไม่ไว้ใจตลาด
คุณติดอาวุธให้สังคมตรวจสอบมากขึ้น เช่น ให้บริษัทวัดระดับความนิยม (เรตติ้ง) ไม่ใช่วัดแค่จำนวน แต่วัดกลุ่มคนที่ดูด้วย ให้สังคมรู้จักตนเองมากขึ้น รู้วิธีจะต่อรองกับสื่อมากกว่าการต่อรองผ่านการกดปุ่มว่าจะดูหรือไม่ดู คิดว่าส่วนนี้ ถ้า กสทช.จะสร้างความเข้มแข็งต่อสังคม ในการสร้างการต่อรองเพื่อสร้างดุลยภาพของสื่อก็ดี แต่ทำยังไง ยังนึกไม่ทัน
ในขณะณัฏฐกรณ์เสนอว่า กสทช. ต้องทำลายการผูกขาดเดิมของช่องเดิม ควรเลิกประกาศการกำหนด 10 ช่องแรก ให้คนเปลี่ยนที่จะไม่ดูช่องเดิม และให้คนไปดูฟรีทีวีดิจิทัล และให้ฟรีทีวีดิจิทัลทำของดีออกมา
อีกเรื่องคือวิทยุดิจิทัล อันนี้เป็นบททดสอบใหญ่ของกสทช. โครงสร้างเดิมๆ มันผูกอยู่ที่ทหารเป็นเจ้าของวิทยุ ลองจินตนาการดูถ้าเปิดแล้วไม่เจอคลื่นทหาร กรมประชาสัมพันธ์ ให้เปิดประมูลคลื่นสาธารณะ ให้หลายๆ องค์กรลง
นิธิปิดท้ายว่า ผมยังห่วงตลาด ผมไม่ได้ดูฮอร์โมน แต่เท่าที่ดูบทวิจารณ์ในหนังสือพิมพ์ มันก็ตอกย้ำสารน้ำเน่าเดิม แต่เปลี่ยนรูปแบบนำเสนอนั้นล่ะ เว้นแต่คนมันเปลี่ยนจริง ตลาดมันก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่ทุกวันนี้ ตลาดถูกครอบงำ ยัดอันเก่าไว้กับสารอันใหม่
—-
สรุปจากเวทีเสวนาเนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อโลก (3 พฤษภาคม) “เสรีภาพสื่อมวลชน: บทบาทที่ท้าทายในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี” 15 พฤษภาคม 2557 ณ โรงแรมพูลแมน กรุงเทพ คิงเพาเวอร์ จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับ เครือข่ายพลเมืองเน็ต, มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน (FCEM), มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประเทศไทย, มีเดียอินไซด์เอาต์ และ Southeast Asian Press Alliance (SEAPA)
ขอบคุณภาพประกอบจากสำนักข่าวประชาธรรม และ คลิปเสวนาจากหนังสือพิมพ์ประชาไท
Tags: Black May 1992, media reform, National Broadcasting and Telecommunications Commission, Nattakorn Devakula, Nidhi Eoseewong